แนวโน้มธุรกิจก่อสร้างปี 2553…งานก่อสร้างรัฐ-เอกชน อาจหนุนมูลค่าตลาดเพิ่มขึ้นเป็นกว่า 8 แสนล้านบาท

อุตสาหกรรมก่อสร้างของไทยในช่วงต้นปี 2552 หดตัวลงต่อเนื่องจากปีก่อนหน้า โดยมีสาเหตุสำคัญจากภาวะเศรษฐกิจที่ถดถอย และปัญหาทางการเมือง อย่างไรก็ตาม การผลักดันโครงการขนาดเล็กในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศภายใต้แผนกระตุ้นเศรษฐกิจระยะที่ 1 และระยะที่ 2 (หรือแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็งปี 2555: SP2) ของรัฐบาล ทำให้การลงทุนก่อสร้างภาครัฐขยายตัวค่อนข้างดีในไตรมาส 2 และ 3 ของปี 2552 สำหรับในปี 2553 ภาคก่อสร้างเป็นสาขาหนึ่งที่ถูกคาดว่าจะมีแนวโน้มขยายตัวได้ค่อนข้างดี โดยนอกเหนือจากความคาดหวังที่จะมีการลงทุนของรัฐภายใต้โครงการไทยเข้มแข็งเพิ่มขึ้นแล้ว การก่อสร้างภาคเอกชนก็อาจได้รับแรงหนุนจากการฟื้นตัวของการก่อสร้างประเภทที่อยู่อาศัยและค้าปลีกด้วยเช่นกัน

ตลาดก่อสร้างปี 2552 มีมูลค่าลดลง แม้ปริมาณงานก่อสร้างใกล้เคียงกับปีก่อน

สำหรับสถานการณ์ในช่วงไตรมาส 4 ปี 2552 เริ่มมีทิศทางปรับตัวดีขึ้น โดยตลาดที่อยู่อาศัยได้รับผลบวกจากการเร่งตัดสินใจซื้อของผู้บริโภคก่อนที่มาตรการทางด้านภาษีเพื่อกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์บางส่วนจะสิ้นสุดในช่วงปลายปี 2552 รวมทั้งอัตราดอกเบี้ยและราคาวัสดุก่อสร้างที่ยังไม่สูงมาก อีกทั้งความเชื่อมั่นของผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่ปรับตัวดีขึ้น ทำให้มีการเปิดตัวโครงการใหม่ๆ โดยเฉพาะคอนโดมิเนียมระดับกลางถึงบนในพื้นที่ใจกลางเมือง และติดแนวรถไฟฟ้า อย่างไรก็ตาม การก่อสร้างภาคอุตสาหกรรมน่าจะยังคงได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจ และปัญหาความไม่ชัดเจนด้านกฎหมาย และหลักเกณฑ์ในการลงทุนที่เกี่ยวกับปัญหาสิ่งแวดล้อม สุขภาพ และชุมชน ดังเช่นปัญหาในพื้นที่มาบตาพุด สำหรับการลงทุนก่อสร้างของภาครัฐ แม้ภาพรวมในปี 2552 จะขยายตัวค่อนข้างดี จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง (SP2) แต่ยังประสบปัญหาความล่าช้าในการเบิกจ่ายงบประมาณของหน่วยราชการต่างๆ แต่ถึงกระนั้น ด้วยฐานที่ต่ำในไตรมาสสุดท้ายของปีก่อนหน้า คาดว่าจะมีผลให้การก่อสร้างภาครัฐในไตรมาส 4 ปี 2552 ยังคงขยายตัว

สำหรับภาพรวมการลงทุนในธุรกิจก่อสร้างในปี 2552 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า มูลค่าการลงทุนด้านก่อสร้าง ณ ราคาคงที่ซึ่งเป็นเครื่องชี้ที่สะท้อนปริมาณกิจกรรมด้านการก่อสร้างน่าจะค่อนข้างใกล้เคียงกับปีก่อน โดยอาจมีอัตราการขยายตัวร้อยละ 1.2 ซึ่งเป็นผลจากการขยายตัวของการก่อสร้างภาครัฐเป็นสำคัญ แต่จากภาวะราคาวัสดุและต้นทุนการก่อสร้างที่ลดลงในปีนี้ คาดว่าจะส่งผลให้มูลค่าการลงทุนในด้านก่อสร้าง (ราคาปีปัจจุบัน) อยู่ที่ 743,400 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 5.5 เทียบกับ 786,634 ล้านบาทในปีก่อนหน้า

ตลาดที่อยู่อาศัยและพาณิชยกรรมปี 2553…มีแรงหนุนจากประเด็นนโยบาย

สำหรับแนวโน้มอุตสาหกรรมก่อสร้างภาคเอกชนในปี 2553 มีทิศทางการฟื้นตัวดีขึ้น โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากประเด็นด้านการเปลี่ยนแปลงมาตรการและกฎหมายบางด้าน เช่น การเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์บ้านบีโอไอ และการแก้ไขพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การประกอบกิจการค้าปลีกค้าส่ง เป็นต้น

การก่อสร้างประเภทที่อยู่อาศัย: สำหรับการก่อสร้างที่อยู่อาศัยน่าจะมีการปรับตัวดีขึ้นทุกๆ กลุ่มอย่างค่อยเป็นค่อยไป ตามสภาวะเศรษฐกิจที่มีสัญญาณการฟื้นตัวเป็นลำดับ อีกทั้งการตัดสินใจซื้อที่อยู่อาศัยในช่วงไตรมาสแรกของปี 2553 เพื่อใช้ประโยชน์จากมาตรการลดหย่อนค่าธรรมเนียมการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ที่จะสิ้นสุดลงในวันที่ 28 มีนาคม 2553 นอกจากนี้ การก่อสร้างที่อยู่อาศัยทั้งแนวราบและแนวสูงจะได้รับปัจจัยบวกจากการปรับเงื่อนไขของโครงการบ้านบีโอไอ ซึ่งลดข้อจำกัดในการเข้าถึงสิทธิประโยชน์ทางภาษี โดยจะส่งผลให้ผู้ประกอบการสามารถพัฒนาโครงการให้สอดคล้องกับต้นทุนและความต้องการของตลาดในปัจจุบัน จึงคาดว่าจะให้มีการแข่งขันในตลาดที่อยู่อาศัยราคาระดับกลางและล่างมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ บีโอไอได้ปรับหลักเกณฑ์เฉพาะในพื้นที่เขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล (พื้นที่เขต 1) สำหรับกรณีการก่อสร้างอาคารชุด และบ้านแถวหรือบ้านเดียว จะต้องมีราคาจำหน่ายไม่เกิน 1 ล้านบาท และ 1.2 ล้านบาทต่อหน่วย (รวมค่าที่ดิน) จากเดิมราคาไม่เกิน 6 แสนบาท จึงอาจทำให้ผู้ประกอบการหันมาน้ำหนักในการพัฒนาโครงการแนวราบมากขึ้น ขณะที่การพัฒนาที่อยู่อาศัยประเภทคอนโดมิเนียมอาจชะลอลงจากความต้องการที่ถูกดูดซับออกไปจำนวนมากจากโครงการที่เกิดขึ้นในช่วงปี 2550-2552 .

การก่อสร้างประเภทพาณิชยกรรม: มีทิศทางที่ดีขึ้นในปี 2553 ซึ่งจะเห็นได้จากความเคลื่อนไหวและการลงทุนขยายสาขาของธุรกิจค้าปลีกตั้งแต่ช่วงครึ่งหลังของปี 2552 โดยเน้นไปที่รูปแบบร้านค้าขนาดเล็ก และคอมมูนิตี้มอลล์ เพื่อรองรับความต้องการของผู้บริโภคที่ฟื้นตัว อีกทั้งการรุกขยายสาขารูปแบบดิสเคานท์สโตร์ที่มีขนาดเล็กลงในหลายรูปแบบขึ้นเพื่อให้สอดรับกับการขยายตัวของชุมชนในพื้นที่ต่างๆ และอาจมีการเร่งขยายสาขาธุรกิจค้าปลีกก่อนที่จะมีการประกาศใช้ร่างพ.ร.บ.การประกอบธุรกิจปลีกค้าส่ง พ.ศ…. ซึ่งอาจกำหนดและควบคุมการลงทุนของกลุ่มค้าปลีกขนาดใหญ่ และกลุ่มร้านสะดวกซื้อ เช่น กำหนดหลักเกณฑ์ของพื้นที่ของโครงการขนาดใหญ่ให้อยู่นอกพื้นที่ชุมชน การขออนุญาตเพื่อขยายสาขา เป็นต้น

การก่อสร้างประเภทอุตสาหกรรม และอื่นๆ: อาจยังชะลอตัวต่อไป เนื่องจากระดับการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนยังไม่ฟื้นตัวดี และกำลังการผลิตส่วนเกินที่ยังคงสูงอยู่ จึงยังไม่มีความจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องขยายการลงทุน รวมทั้งนักลงทุนยังมีความกังวลเกี่ยวกับการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ ขณะที่บางภาคอุตสาหกรรมต้องเผชิญกับปัญหากฎเกณฑ์ และกฎระเบียบของภาครัฐที่มีการเปลี่ยนแปลงและขาดความชัดเจน โดยเฉพาะในประเด็นเรื่อง ปัญหาสิ่งแวดล้อม สุขภาพ และชุมชน ซึ่งจะส่งผลกระทบให้ระงับการก่อสร้างโครงการที่กำลังดำเนินอยู่ และการลงทุนใหม่ๆ

ปี 2553 การลงทุนภาครัฐหนุนโดยโครงการไทยเข้มแข็ง

การลงทุนภาครัฐได้ถูกคาดหวังให้เป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญของการก่อสร้างโดยรวม จนกว่าเศรษฐกิจจะมีการฟื้นตัวอย่างมีเสถียรภาพ ซึ่งจะผลักดันการก่อสร้างภาคเอกชนให้เติบโตได้ต่อไป โดย คาดว่าโครงการลงทุนขนาดเล็กภายใต้ SP2 ที่พร้อมที่จะดำเนินการจะยังเป็นปัจจัยผลักดันธุรกิจก่อสร้างช่วงต้นปี ซึ่งส่วนใหญ่เป็นโครงการขนาดเล็กที่กระจายไปทั่วประเทศ เช่น โครงการบริหารจัดการ จัดหาแหล่งน้ำ และเพิ่มพื้นที่ชลประทาน โครงการพัฒนาทางหลวง และโครงการถนนไร้ฝุ่น จึงน่าจะส่งผลบวกต่อผู้รับเหมารายย่อยทั่วประเทศ นอกจากนี้ ความชัดเจนในโครงการลงทุน SP2 อื่นๆ ที่มีมากขึ้นตามลำดับก็จะส่งผลดีต่อการก่อสร้างภาครัฐเช่นกัน ซึ่งคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้อนุมัติการจัดสรรเงินกู้ภายใต้พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อฟื้นฟูและเสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ พ.ศ.2552 แล้ว อย่างไรก็ตาม ในส่วนโครงการพื้นฐานขนาดใหญ่นั้น กว่าที่จะเริ่มต้นได้อย่างเร็วน่าจะเป็นช่วงครึ่งหลังของปี เนื่องจากจะต้องผ่านขั้นตอนต่างๆ อีก ซึ่งโครงการระบบขนส่งมวลชนรูปแบบราง คาดว่าโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงบางซื่อ-บางใหญ่ จะสามารถเริ่มต้นก่อสร้างได้ก่อน

แนวโน้มธุรกิจก่อสร้างฟื้นตัว…แต่ยังมีปัจจัยเสี่ยงที่ต้องระวัง

แม้ว่าภาพรวมธุรกิจก่อสร้างในปี 2553 น่าจะกลับมาขยายตัวค่อนข้างดี จากปัจจัยหนุนต่างๆ ที่กล่าวมาข้างต้น อย่างไรก็ตาม ธรุกิจก่อสร้างยังคงต้องเผชิญปัจจัยเสี่ยงในหลายด้าน ได้แก่ ปัจจัยความไม่แน่นอนทางการเมือง รวมทั้งการเบิกจ่ายงบประมาณของหน่วยงานภาครัฐ อีกทั้งความกังวลเกี่ยวกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลก นอกจากนี้ อาจต้องเผชิญกับต้นทุนวัสดุก่อสร้างที่มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นตามทิศทางราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์ รวมทั้งการแย่งชิงทรัพยากรสำหรับก่อสร้างโครงการลงทุนภาครัฐ ประกอบกับภาวะเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยที่มีทิศทางปรับเพิ่มขึ้นด้วย นอกจากนี้ ยังมีปัญหาหลักเกณฑ์ และกฎระเบียบของภาครัฐที่ขาดความชัดเจนในประเด็นปัญหาสิ่งแวดล้อม สุขภาพ และชุมชน จะส่งผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน ส่วนการกำหนดประเภทกิจการที่ดำเนินกิจการหรือกิจกรรมที่อาจส่งผลร้ายแรงต่อสิ่งแวดล้อม สุขภาพและชุมชน อาจครอบคลุมไปถึงโครงการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานบางสาขา จึงอาจส่งผลให้การลงทุนของรัฐบางประเภทล่าช้าออกไป

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า การลงทุนในการก่อสร้างภาครัฐในปี 2553 นี้ อาจมีอัตราการขยายตัว ณ ราคาคงที่ประมาณร้อยละ 3.5-8.0 ขณะที่การก่อสร้างภาคเอกชนอาจขยายตัวร้อยละ 2.5-5.0 ส่งผลให้มูลค่าการลงทุนด้านการก่อสร้างโดยรวม ณ ราคาคงที่ ขยายตัวประมาณร้อยละ 3.0-6.5 สำหรับมูลค่าตลาดการก่อสร้าง เนื่องจากต้นทุนค่าก่อสร้างมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นค่อนข้างมากในปี 2553 ส่งผลให้มูลค่าการลงทุนด้านก่อสร้าง ณ ราคาปีปัจจุบันอาจเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 819,000-847,000 ล้านบาท หรือเติบโตร้อยละ 10.0-14.0

โดยสรุปอุตสาหกรรมก่อสร้างในปี 2553 มีแนวโน้มที่จะขยายตัวได้ดีขึ้น โดยการลงทุนก่อสร้างภาครัฐถูกคาดหวังว่าจะเป็นปัจจัยที่จะช่วยผลักดันการก่อสร้างโดยรวม อย่างไรก็ตาม การก่อสร้างภาคเอกชนในกลุ่มที่อยู่อาศัยและพาณิชยกรรมมีแนวโน้มขยายตัวได้จากประเด็นด้านการเปลี่ยนแปลงมาตรการและกฎหมายบางด้าน ได้แก่ การปรับเงื่อนไขของโครงการบ้านบีโอไอให้ครอบคลุมบ้านระดับราคาไม่เกิน 1.2 ล้านบาท และคอนโดมิเนียมระดับราคาไม่เกิน 1 ล้านบาท จากเดิมที่มีราคาเกิน 6 แสนบาท ซึ่งน่าจะทำให้ราคาที่อยู่อาศัยในโครงการดังกล่าวลดลงได้ จึงอาจส่งผลให้ตลาดที่อยู่อาศัยระดับราคาปานกลางและล่างทั้งแนวราบและคอนโดมิเนียมน่าจะคึกคักมากขึ้น ขณะที่การแก้ไข พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจค้าปลีกค้าส่งอาจมีผลให้มีการเร่งลงทุนขยายสาขาของธุรกิจค้าปลีกก่อนที่พ.ร.บ.ดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้ ส่วนการก่อสร้างในภาคอุตสาหกรรมยังต้องใช้เวลาในการฟื้นตัว เนื่องจากกำลังการผลิตส่วนเกินที่ยังคงสูงอยู่ และบางอุตสาหกรรมยังเผชิญปัญหาความไม่ชัดเจนด้านกฎระเบียบของภาครัฐเกี่ยวกับโครงการลงทุนที่อาจส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สุขภาพ และชุมชน สำหรับโครงการลงทุนภาครัฐ คาดว่าโครงการลงทุนขนาดเล็กของรัฐที่พร้อมที่จะดำเนินการได้จะยังเป็นปัจจัยผลักดันธุรกิจก่อสร้างในช่วงครึ่งปีแรก สำหรับโครงการใหม่ที่เป็นโครงการพื้นฐานขนาดใหญ่นั้น กว่าที่จะเริ่มต้นได้อย่างเร็วน่าจะเป็นช่วงครึ่งหลังของปี ซึ่งในส่วนของระบบขนส่งมวลชนรูปแบบราง คาดว่าโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงบางซื่อ-บางใหญ่ น่าจะเริ่มการก่อสร้างได้ก่อน ขณะที่โครงการอื่นๆ

ทั้งนี้ปัจจัยด้านเสถียรภาพทางการเมืองยังปัจจัยเสี่ยงสำคัญต่อธุรกิจการก่อสร้างที่ยังต้องพึ่งพิงการลงทุนก่อสร้างจากภาครัฐเป็นสำคัญ รวมทั้งความต่อเนื่องของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลก ที่ควรติดตามความเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่อง
โดยรวมแล้ว ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าการลงทุนด้านการก่อสร้าง ณ ราคาคงที่ ในปี 2553 จะมีอัตราการขยายตัวประมาณร้อยละ 3.0-6.5 ส่วนมูลค่าตลาดก่อสร้างมีแนวโน้มที่จะปรับเพิ่มขึ้นมากจากผลของต้นทุนค่าก่อสร้างที่จะเพิ่มขึ้น โดยคาดว่ามูลค่าการลงทุนด้านการก่อสร้าง ณ ราคาปีปัจจุบันจะอยู่ที่ 819,000-847,000 ล้านบาท หรือเติบโตร้อยละ 10.0-14.0