เกษตรปี 2553 : สภาพอากาศแปรปรวน…ผลผลิตลด ราคาพุ่ง

ในปี 2553 นี้ความต้องการสินค้าเกษตรทั่วโลกคาดว่าจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น อันเป็นผลมาจากสภาพอากาศที่แปรปรวน และภาวะการแพร่ระบาดของแมลงศัตรูพืช สร้างความเสียหายให้กับผลผลิตทางการเกษตร รวมทั้งการฟื้นตัวของภาวะเศรษฐกิจ ที่ส่งผลให้กำลังซื้อในแต่ละประเทศกระเตื้องขึ้น ทำให้คาดการณ์ว่าราคาสินค้าเกษตรในปี 2553 มีแนวโน้มสูงขึ้น นับว่าเป็นโอกาสสำหรับประเทศไทย ซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศผู้ส่งออกสินค้าเกษตรที่สำคัญของโลก อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่ยังต้องติดตาม คือ ราคาสินค้าเกษตรที่พุ่งสูงขึ้นนี้จะคงอยู่นานเท่าใด เนื่องจากยังมีปัจจัยที่อาจส่งผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร โดยเฉพาะปริมาณการผลิตของทั้งประเทศคู่แข่งและประเทศคู่ค้า การเปลี่ยนแปลงนโยบายการนำเข้าของประเทศคู่ค้า ซึ่งอาจส่งผลต่อความต้องการสินค้าเกษตรลดลง และจะเป็นปัจจัยกดดันราคาสินค้าเกษตร โดยเฉพาะในช่วงครึ่งหลังของปี 2553

การผลิต…ขยายตัว แต่มีปัญหาแมลงศัตรูพืช
ปริมาณการผลิตสินค้าเกษตรในปีเพาะปลูก 2552/53 ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของแมลงศัตรูพืช โดยเฉพาะข้าวจากปัญหาการแพร่ระบาดของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล และมันสำปะหลังจากการแพร่ระบาดของเพลี้ยแป้งมันสำปะหลัง ส่งผลให้คาดการณ์ว่าปริมาณผลผลิตทั้งข้าวและมันสำปะหลังในปีเพาะปลูก 2552/53 มีแนวโน้มลดลง แม้ว่าจะมีนโยบายประกันรายได้เกษตรกร และคาดการณ์ความต้องการในตลาดโลกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นแรงจูงใจให้เกษตรกรขยายพื้นที่ปลูกก็ตาม นอกจากนี้ การคาดการณ์ว่าในช่วงกลางปี 2553 อาจจะเกิดปัญหาปริมาณน้ำไม่เพียงพอสำหรับการปลูกพืชฤดูแล้ง ดังนั้น กระทรวงเกษตรฯจึงเข้มงวดในการขยายพื้นที่ปลูกข้าวนาปรัง อันจะส่งผลให้ปริมาณผลผลิตข้าวนาปรังมีแนวโน้มลดลงด้วย

สำหรับปริมาณการผลิตสินค้าเกษตรสำคัญอื่นๆ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามการคาดการณ์ว่าความต้องการตลาดโลกจะกระเตื้องขึ้น ตามการฟื้นตัวของสภาพเศรษฐกิจที่ส่งผลต่อกำลังซื้อของผู้บริโภคฟื้นตัวตามไปด้วย โดยเฉพาะยางพาราที่มีการเปิดกรีดเพิ่มขึ้น เนื่องจากความต้องการยางในตลาดโลกฟื้นตัวตามอุตสาหกรรมรถยนต์ ส่วนปริมาณการผลิตอ้อยโรงงานมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น อันเป็นผลมาจากราคาในปีที่ผ่านมาจูงใจให้เกษตรกรขยายพื้นที่ปลูก

อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยที่ยังต้องติดตามในด้านการผลิตสินค้าเกษตร คือ
-การกำจัดและป้องกันการแพร่ระบาดของแมลงศัตรูที่สร้างความเสียหายอย่างมากให้กับผลผลิตทางการเกษตร โดยเฉพาะข้าวและมันสำปะหลัง เนื่องจากทำให้ไทยเสียโอกาสในการผลิตสินค้าป้อนตลาดในขณะที่ความต้องการตลาดโลกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ในขณะที่การกำจัดการแพร่ระบาดแมลงศัตรูที่ได้ผลคือ ต้องพักพื้นที่ปลูกเพื่อตัดวงจรชีวิตของแมลงศัตรู แต่ต้องเร่งทำความเข้าใจกับเกษตรกร เนื่องจากเป็นช่วงที่ราคามีแนวโน้มสูงขึ้น

-นโยบายการแทรกแซงตลาดโดยมาตรการประกันรายได้เกษตรกร เนื่องจากปัจจุบันทั้งราคาข้าวและมันสำปะหลังสูงกว่าราคาประกันที่กำหนดไว้ ดังนั้น ต้องติดตามการกำหนดราคาประกันสำหรับข้าวนาปรังในช่วงกลางปีนี้ว่าจะมีส่วนสร้างแรงจูงใจให้ชาวนาขยายพื้นที่การปลูกข้าวนาปรังหรือไม่ และการขยายพื้นที่ปลูกข้าวนาปรังอาจจะส่งผลให้ชาวนาเผชิญปัญหาการขาดแคลนน้ำ ซึ่งอาจจะนำไปสู่ปัญหาการแย่งชิงน้ำ เนื่องจากมีการคาดการณ์ว่าปริมาณน้ำจะไม่เพียงพอในช่วงฤดูแล้ง

ราคาพุ่ง…ความต้องการตลาดโลกเพิ่ม ยังต้องจับตาจีน
คาดการณ์ว่าในปี 2553 ราคาสินค้าเกษตรมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม ราคาที่ปรับเพิ่มขึ้นนั้น คาดว่าจะไม่ปรับเพิ่มขึ้นแรงเท่ากับในช่วงปี 2551 ที่ทุกประเทศเกิดความกังวลว่าจะเกิดปัญหาการขาดแคลนสินค้าอาหาร ทำให้ต่างเร่งนำเข้าเพื่อเก็บสต็อกไว้ นอกจากนี้ การปรับเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าเกษตรนั้นต้องพิจารณาปัจจัยด้านปริมาณการผลิต และความต้องการในต่างประเทศ ตลอดจนความรุนแรงของการแข่งขันในตลาดต่างประเทศด้วย รวมถึงความต้องการลงทุนในสินค้าโภคภัณฑ์เพื่อใช้เป็นสินทรัพย์ป้องกันความเสี่ยงจากเงินเฟ้อมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น

สินค้าเกษตรที่ราคามีแนวโน้มเพิ่มขึ้นมาก ได้แก่ น้ำตาล มันสำปะหลัง ยางพารา และข้าว เนื่องจากปัญหาสภาพอากาศแปรปรวนทั่วโลก สร้างความเสียหายอย่างมากให้กับประเทศผู้ผลิตสินค้าเกษตรสำคัญของโลก รวมทั้งความเสียหายจากการแพร่ระบาดของแมลงศัตรู ในขณะที่ความต้องการสินค้าเกษตรในตลาดโลกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เนื่องจากประเทศผู้ส่งออกสินค้าเกษตรบางประเทศพลิกมาเป็นประเทศผู้นำเข้า ส่วนประเทศผู้นำเข้าบางประเทศก็มีความต้องการนำเข้าเพิ่มขึ้น อันเป็นผลมาจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ที่ส่งผลให้กำลังซื้อของผู้บริโภคฟื้นตัว ความต้องการบริโภคเพิ่มขึ้นตามไปด้วย รวมทั้งการฟื้นตัวของการผลิตสินค้าอุตสาหกรรม โดยเฉพาะอุตสาหกรรมรถยนต์ ซึ่งส่งผลให้ความต้องการยางธรรมชาติมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ราคาน้ำมันที่มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น ทำให้ความต้องการพืชผลทางการเกษตรที่เกี่ยวข้องกับพลังงานทดแทนปรับตัวเพิ่มขึ้นเช่นกัน

การที่ราคาสินค้าเกษตรมีแนวโน้มสูงขึ้นนี้ ส่งผลให้รายได้ของเกษตรกรในปี 2553 มีแนวโน้มสูงขึ้น ซึ่งส่งผลให้ยอดจำหน่ายรถยนต์นั่งเชิงพาณิชย์หรือรถกระบะ รถมอร์เตอร์ไซค์ และเครื่องจักรกลการเกษตร โดยเฉพาะรถเกี่ยวหรือรถไถขนาดเล็ก และเครื่องยนต์ดีเซลขนาดเล็ก รวมถึงยอดจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภคในต่างจังหวัด

ประเด็นที่ยังต้องติดตามว่าเกษตรกรไทยได้อานิสงส์จากราคาสินค้าเกษตรที่ปรับเพิ่มขึ้น คือ
-ต้นทุนการผลิต
การที่ราคาสินค้าเกษตรปรับเพิ่มขึ้น ซึ่งโยงไปถึงรายได้ของเกษตรกรที่เพิ่มขึ้นนั้น ต้องพิจารณาถึงต้นทุนการผลิตของเกษตรกรประกอบกันไปด้วย เนื่องจากต้นทุนการผลิตสินค้าเกษตรมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะต้นทุนค่าปุ๋ยและยากำจัดศัตรูพืช ดังนั้น การจัดทำส่วนเหลื่อมทางการตลาดของสินค้าเกษตรแต่ละชนิดจะเป็นดัชนีที่ชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนถึงรายได้ที่แท้จริงที่เกษตรกรจะได้รับจากการที่ราคาสินค้าเกษตรปรับเพิ่มสูงขึ้น

-ผลกระทบจากการเปิดเขตการค้าเสรี การเปิดเขตการค้าเสรีอาเซียนหรืออาฟตา และการเปิดเขตการค้าเสรีอาเซียน-จีนที่มีผลบังคับตั้งแต่เดือนมกราคม 2553 นี้ทำให้เกษตรกรไทยไม่ได้รับอานิสงส์จากการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าเกษตร กล่าวคือ การเปิดเขตการค้าเสรีอาเซียนอาจจะส่งผลให้มีการนำเข้าสินค้าเกษตรราคาถูกจากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาผสมหรือสวมสิทธิ์แทนสินค้าเกษตรของไทย ทำให้ผลประโยชน์ตกอยู่กับพ่อค้าคนกลาง ส่วนการเปิดเขตการค้าเสรีอาเซียน-จีนทำให้สินค้าเกษตรของจีนเข้ามาเป็นคู่แข่งในตลาดประเทศ ซึ่งสินค้าเกษตรนำเข้าเหล่านี้จะเป็นตัวกดดันไม่ให้ราคาสินค้าเกษตรของไทยเพิ่มขึ้นมากนัก

-การระบายสต็อกของรัฐบาล ปัจจุบันรัฐบาลยังมีสต็อกข้าวและมันสำปะหลังจากนโยบายการรับจำนำสินค้าเกษตรในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งสต็อกยังคงอยู่ในปริมาณสูง เนื่องจากภาวะราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลกในปี 2552 ไม่เอื้ออำนวยต่อการระบายสต็อก รวมทั้งการระบายสต็อกยังส่งผลทางจิตวิทยาต่อราคาสินค้าเกษตร ทำให้ปริมาณสต็อกที่อยู่ในปริมาณสูงนี้เป็นปัจจัยกดดันที่ทางประเทศผู้นำเข้าใช้เป็นข้อต่อรองการรับซื้อสินค้าเกษตรของไทย คาดว่าในปี 2553 น่าจะเป็นช่วงที่เหมาะสมสำหรับการระบายสต็อกสินค้าเกษตรของรัฐบาล เนื่องจากจะเป็นการเพิ่มปริมาณสินค้าเกษตรในตลาด โดยเฉพาะข้าวและผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง

-การแข่งขันในตลาดโลก สินค้าเกษตรที่สำคัญของไทยหลายชนิดต้องเผชิญกับการแข่งขันที่รุนแรง โดยเฉพาะการแข่งขันกับเวียดนาม ซึ่งใช้กลยุทธ์ทางด้านราคาเป็นสำคัญ ทำให้การส่งออกสินค้าเกษตรของไทยเผชิญปัญหา ดังนั้น การที่ราคาสินค้าเกษตรในปี 2553 มีแนวโน้มสูงขึ้นนั้น อาจจะส่งผลต่อการแข่งขันกับประเทศคู่แข่งในตลาดโลก

-ความต้องการนำเข้าสินค้าโภคภัณฑ์ของจีนอาจมีแนวโน้มลดลง ธนาคารแห่งชาติจีนประกาศมาตรการคุมเข้มตลาดการเงินอย่างต่อเนื่อง เช่น การควบคุมการปล่อยสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ในประเทศซึ่งขยายตัวอย่างรวดเร็ว การเพิ่มสัดส่วนการกันสำรองเงินฝากของธนาคารพาณิชย์ร้อยละ 0.5 ซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 18 มกราคม 2553 ที่ผ่านมา เนื่องจากหวั่นเกรงว่าการขยายตัวของสินเชื่อที่สูงเกินไปจะส่งผลให้เกิดเงินเฟ้อและภาวะฟองสบู่ในสินทรัพย์ และในวันที่ 21 มกราคม 2553 ธนาคารกลางจีนประกาศขึ้นดอกเบี้ยตั๋วเงินคลังอายุ 3 เดือนเป็น 1.4088% จากระดับ 1.3684% ในสัปดาห์ก่อน หลังจากที่ในช่วงต้นปี 2553 ธนาคารแห่งชาติของจีนได้ขึ้นดอกเบี้ยตั๋วเงินคลังอายุ 1 ปี 0.166% ซึ่งเป็นการเน้นย้ำให้เห็นถึงความพยายามของจีนในการดูดซับสภาพคล่องส่วนเกิน และคุมเข้มปริมาณเงินหมุนเวียน คาดการณ์ว่าผลของมาตรการดังกล่าวอาจจะส่งผลกระทบมาถึงความต้องการสินค้าโภคภัณฑ์ของจีน ซึ่งปัจจุบันจีนเป็นประเทศผู้นำเข้าสำคัญของสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรจากไทย การลดการนำเข้าของจีนน่าจะเป็นปัจจัยกดดันราคาสินค้าเกษตร โดยเฉพาะในช่วงครึ่งหลังของปี 2553

ส่งออกสินค้าเกษตร…จะพลิกกลับมาขยายตัวในปี 2553
คาดการณ์ว่ามูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรในปี 2553 จะพลิกกลับมาขยายตัวได้อีกครั้ง หลังจากในปี 2552 มูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรหดตัวอย่างรุนแรง เนื่องจากได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจโลก ที่ส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อของผู้บริโภคทั่วโลก ทำให้ประเทศผู้นำเข้าสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรต่างชะลอการนำเข้า ในขณะที่การส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรของไทยยังเผชิญปัญหาการแข่งขันที่รุนแรงในตลาดโลก โดยเฉพาะการแข่งขันในด้านราคาจากเวียดนาม และจีน รวมทั้งปัญหาความเข้มงวดในด้านสุขอนามัยของประเทศผู้นำเข้า และการใช้มาตรการตอบโต้ทางภาษีเพื่อปกป้องเกษตรกรในประเทศของประเทศผู้นำเข้าสินค้าเกษตร

แม้ว่าการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศต่างๆยังอยู่ในลักษณะค่อยเป็นค่อยไป และค่อนข้างเปราะบาง แต่ก็คาดว่าจะส่งผลให้มูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรของไทยในปี 2553 เพิ่มขึ้นเป็น 17,580.0-18,070.0 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อเทียบกับปี 2552 แล้วเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.0-10.0 โดยคาดว่าสินค้าในหมวดกสิกรรมจะมีการขยายตัวในการส่งออกดีขึ้น โดยเฉพาะการส่งออกข้าว ยาง และผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง นอกจากนี้ คาดว่ามูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์กุ้ง และไก่แปรรูปก็มีแนวโน้มดีขึ้นเช่นกัน ส่วนมูลค่าการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมเกษตรในปี 2553 เพิ่มขึ้นเป็น 11,890.0-12,460.0 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.0-10.0 ทั้งนี้เนื่องจากมูลค่าการส่งออกอาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป น้ำตาลและผลิตภัณฑ์ และผลิตภัณฑ์ยางมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น

ประเด็นที่ยังต้องติดตามที่อาจจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร คือ
-ปริมาณการผลิตของทั้งประเทศคู่แข่งและประเทศคู่ค้า เนื่องจากปริมาณการผลิตของทั้งประเทศคู่แข่งและประเทศคู่ค้านั้น เป็นตัวกำหนดปริมาณความต้องการสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรของไทย และกำหนดถึงความรุนแรงของการแข่งขัน โดยในช่วงครึ่งแรกของปี 2553 คาดการณ์ว่าปริมาณความต้องการสินค้าเกษตรในตลาดโลกยังอยู่ในเกณฑ์สูง เนื่องจากหลายประเทศได้รับความเสียหายจากความแปรปรวนของสภาพอากาศ และการแพร่ระบาดของแมลงศัตรู ประเด็นที่ยังต้องติดตาม คือ ในช่วงกลางปี 2553 ซึ่งจะเป็นช่วงที่ผลผลิตสินค้าเกษตรช่วงฤดูแล้งออกสู่ตลาด และในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2553 ซึ่งเป็นช่วงที่ผลผลิตสินค้าเกษตรปีเพาะปลูก 2553/54 ออกสู่ตลาด คาดการณ์ว่าจะมีปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดในปริมาณมาก อันเป็นผลจากราคาที่จูงใจให้เกษตรกรขยายพื้นที่เพาะปลูก

อย่างไรก็ตาม ผู้ส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรของไทยยังต้องจับประเทศผู้ผลิตสินค้าเกษตรรายใหม่ของโลก โดยเฉพาะพม่า กัมพูชา และลาว ซึ่งปริมาณการผลิตสินค้าเกษตรในประเทศเหล่านี้มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยได้รับการช่วยเหลือในการพัฒนาระบบชลประทาน และเทคโนโลยีในการผลิต รวมทั้งการที่ประเทศเหล่านี้เปิดสัมปทานให้นักลงทุนต่างประเทศเข้าไปลงทุนทางด้านการเกษตร ตั้งแต่การปลูกไปจนถึงการแปรรูป แม้ว่าในปัจจุบันปริมาณการส่งออกสินค้าเกษตรของประเทศเหล่านี้ยังไม่มากนัก แต่ก็มีอัตราการขยายตัวที่น่าจับตามอง

-การเปลี่ยนแปลงนโยบายการนำเข้าของประเทศคู่ค้า ซึ่งนโยบายของประเทศคู่ค้าส่งผลกระทบโดยตรงต่อความได้เปรียบเสียเปรียบ ในการแข่งขันของสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรในแต่ละตลาด ประเด็นที่ต้องติดตามคือ การลดค่าเงินด่องของเวียดนาม ซึ่งเป็นคู่แข่งสำคัญของไทย ทำให้สินค้าเกษตรของเวียดนามมีความได้เปรียบในการแข่งขันเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะข้าว และผลิตภัณฑ์อาหารทะเล นอกจากนี้ นโยบายที่ต้องจับตามองคือ นโยบายที่เกี่ยวกับสินค้าสีเขียว โดยเฉพาะนโยบายการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และการลดโลกร้อน สินค้าที่เกี่ยวข้องกับการใช้แรงงานเด็ก และสินค้าที่มีการผลิตที่ไม่ถูกต้องตามกฎระเบียบสากล โดยมีแนวโน้มว่าประเทศคู่ค้าจะเพิ่มความเข้มงวดในการตรวจสอบสินค้าไปจนถึงแหล่งผลิต และการขอใบรับรองการผลิตในการนำเข้าสินค้า ซึ่งประเด็นเหล่านี้เป็นเรื่องที่ทางหน่วยงานรัฐบาลและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง ต้องเตรียมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงนโยบายการนำเข้าของประเทศคู่ค้า

สรุป
สินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรเป็นความหวังของปี 2553 ที่จะช่วยให้มูลค่าการส่งออกของประเทศพลิกฟื้นจากที่เคยหดตัวอย่างรุนแรงในปี 2552 กลับมาขยายตัวได้อีกครั้งในปี 2553 อย่างไรก็ตาม ยังมีหลากหลายประเด็นที่ยังต้องติดตาม ทั้งในด้านการผลิต และการส่งออก กล่าวคือ ความแปรปรวนของสภาพอากาศและการแพร่ระบาดของแมลงศัตรู ซึ่งสร้างความเสียหายให้กับปริมาณการผลิตสินค้าเกษตร อาจส่งผลให้ไทยเสียโอกาสในการขยายการผลิตสินค้าเกษตรเพื่อการส่งออกในปี 2553 ส่วนในด้านตลาดต่างประเทศยังต้องจับตาสภาพการแข่งขันที่รุนแรง โดยเฉพาะจากเวียดนามและจีน รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงนโยบายการนำเข้าของประเทศคู่ค้าที่อาจจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทยได้