โทรศัพท์เคลื่อนที่ปี 2553 : คึกคักเร่งเปิดตัวเครื่องรุ่นใหม่ … รับกำลังซื้อฟื้น

ตลาดโทรศัพท์เคลื่อนที่นับได้ว่าเป็นตลาดที่มีความน่าสนใจ โดยเฉพาะเมื่อโทรศัพท์เคลื่อนที่ได้เข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันมากขึ้น ซึ่งโทรศัพท์เคลื่อนที่ในปัจจุบันได้ถูกพัฒนาและออกแบบให้สามารถใช้บันทึกภาพ เสียง ฟังเพลง ดูหนัง เก็บข้อมูล เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตเพื่อรับข้อมูลข่าวสาร และการสนทนาแบบเรียลไทม์ได้ และวิวัฒนาการของโทรศัพท์เคลื่อนที่ยังไม่หยุดเพียงแค่นี้ ทั้งนี้จะเห็นได้ว่าในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา มีบริษัทรายใหม่เกิดขึ้นในตลาดและมาพร้อมกับเทคโนโลยี หรือนวัตกรรมใหม่ที่เข้ามาสร้างความตื่นตัวในตลาดโทรศัพท์เคลื่อนที่ตลอดเวลา เช่น โทรศัพท์เคลื่อนที่ที่สามารถส่งข้อความตอบโต้กันเรียลไทม์ที่สร้างปรากฏการณ์ใหม่ในตลาด และสามารถสร้างความต้องการใช้ให้เกิดขึ้นในผู้บริโภคบางกลุ่ม โดยใช้กลยุทธ์เครือข่ายสังคมเป็นจุดขาย และล่าสุดการเปิดตัวโทรศัพท์เคลื่อนที่รุ่นใหม่ในงาน Consumer Electronics Show 2010 จัดขึ้นที่เมืองลาสเวกัส ในช่วงต้นเดือนมกราคม ที่ผ่านมา มีการเปิดตัวโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่มาพร้อมกับระบบปฏิบัติการใหม่บนโทรศัพท์อย่าง Android เพื่อสร้างความสะดวกสบายในการใช้งาน เพิ่มรูปแบบให้มีลูกเล่นในการใช้งานที่หลากหลาย และน่าจะเข้ามาช่วยสร้างสีสันในตลาดของปีนี้ได้อย่างดี

สำหรับตลาดโทรศัพท์เคลื่อนที่ในประเทศไทยดูเหมือนว่าจะเริ่มมีความคึกคักมากขึ้นตั้งแต่เริ่มต้นปี 2553 เมื่อผู้ผลิตสินค้าต่างมีการนำสินค้ารุ่นใหม่ออกมาเปิดตัว โดยเฉพาะโทรศัพท์เคลื่อนที่สมาร์ทโฟน ที่คาดว่าจะเป็นสินค้าที่นำตลาดในปีนี้ สำหรับแนวโน้มตลาดโทรศัพท์เคลื่อนที่ปี 2553 นี้ คาดว่า น่าจะเห็นการเติบโตที่ดีกว่าในปีที่ผ่านมา และการแข่งขันคงจะมีความเข้มข้นมากขึ้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้วิเคราะห์ถึงแนวโน้มการเติบโตของธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่ และภาวะการแข่งขันในตลาด ดังนี้

โทรศัพท์เคลื่อนที่ปีเสือแข่งขันรุนแรง : คาดมูลค่าตลาดประมาณ 53,000 – 58,500 ล้านบาท

ในประเทศไทยมีผู้ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ไม่ต่ำกว่า 65 ล้านเครื่อง (ส่วนหนึ่งจะเป็นผู้ที่มีเลขหมายโทรศัพท์มากกว่า 1 เลขหมาย ทั้งบุคคลและองค์กร) ขณะที่มีมูลค่าตลาดโทรศัพท์เคลื่อนที่ไม่ต่ำกว่า 50,000 ล้านบาทในแต่ละปี สำหรับลูกค้าส่วนใหญ่ในตลาดจะเป็นกลุ่มที่มีโทรศัพท์อยู่แล้ว แต่ต้องการเปลี่ยนเครื่องรุ่นใหม่ที่มีเทคโนโลยีที่สามารถตอบสนองความต้องการใช้งานที่เพิ่มขึ้น ในปี 2552 ที่ผ่านมา ภาวะเศรษฐกิจไทยที่ชะลอตัวลง และปัญหาความไม่สงบของการเมืองในประเทศ ได้ส่งผลกระทบต่อตลาดอุปกรณ์สื่อสารและเทคโนโลยีในระดับหนึ่ง อย่างไรก็ตามในปี 2553 คาดว่าตลาดจะมีแนวโน้มคลี่คลายไปในทิศทางที่ดีขึ้น โดยเฉพาะเมื่อเศรษฐกิจไทยเริ่มฟื้นตัว ทำให้ผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นในการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น น่าจะส่งผลดีต่อการเติบโตของตลาด ซึ่งโทรศัพท์เคลื่อนที่ยังจัดว่าเป็นสินค้าที่ยังอยู่ในความนิยมและยังมีความต้องการซื้ออย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้สรุปปัจจัยสนับสนุนการเติบโตของตลาดโทรศัพท์เคลื่อนที่ในปี 2553 ดังนี้

ความต้องการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในปี 2553 ยังขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยมีแรงซื้อจากผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ 2 กลุ่ม คือ ตลาดเลขหมายใหม่และตลาดเครื่องทดแทน
o ตลาดเลขหมายใหม่ (New subscribers) ยังคงขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง
เลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่เปิดใช้ใหม่ในช่วงปี 2553 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าจะมีจำนวนประมาณ 78.5 ล้านเลขหมาย ขยายตัวร้อยละ 9.0 ชะลอตัวลงจากที่ขยายตัวร้อยละ 13.1 ในปี 2552 อย่างไรก็ตามในจำนวนเลขหมาย 72 ล้านเลขหมายในปัจจุบันนั้น ส่วนหนึ่งจะเป็นผู้ที่มีเลขหมายโทรศัพท์มากกว่า 1 เลขหมาย สำหรับผู้ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ในปัจจุบันน่าจะมีประมาณ 35 ล้านคน ทำให้ปริมาณการจำหน่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ในตลาดลูกค้าใหม่น่าจะยังคงขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง

o ตลาดเครื่องทดแทน (Replacement market) ยังคงเติบโตได้ดี ซึ่งเป็นตลาดที่สำคัญและเริ่มมีบทบาทมากยิ่งขึ้น โดยมีเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาช่วยกระตุ้นตลาดทั้งทางด้านการใช้งานด้านความบันเทิง การออกแบบตัวเครื่องที่โดดเด่นและจูงใจ เช่น ระบบหน้าจอสัมผัสที่กำลังเป็นที่นิยมในขณะนี้ และสีสันของตัวเครื่องที่มีให้เลือกมากขึ้น เป็นต้น ซึ่งการมีโทรศัพท์รุ่นใหม่บ่งบอกถึงรสนิยมของผู้ใช้ และความทันสมัย ทำให้ความต้องการที่จะเปลี่ยนเครื่องรุ่นใหม่จึงมีอย่างต่อเนื่องในผู้บริโภคบางกลุ่ม

ระบบปฏิบัติการใหม่ การพัฒนารูปแบบของเครื่องที่มีสีสันและคุณสมบัติหลากหลาย…กระตุ้นการขยายตัวของตลาด ปัจจุบันมีผู้ผลิตโทรศัพท์เคลื่อนที่รายใหม่เข้ามาสู่ตลาดมากขึ้น ทั้งที่มาจากผู้ผลิตที่ขยายไลน์สินค้าจากผลิตภัณฑ์คอมพิวเตอร์ เครื่องใช้ไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ หรือบริษัท Search Engine ชั้นนำของโลก เข้ามาผลิตโทรศัพท์เคลื่อนที่มากขึ้น ทำให้ตลาดโทรศัพท์เคลื่อนที่มีผู้เล่นที่เป็นแบรนด์เนมระดับโลกในตลาดไม่ต่ำกว่า 10 ราย

จากการแข่งขันในตลาดที่ทวีความรุนแรง ทำให้ผู้ผลิตจำเป็นต้องพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ เพื่อสร้างความแปลกใหม่ให้เกิดขึ้นในตลาดอยู่ตลอดเวลา โดยมีการออกแบบรูปลักษณ์ตัวเครื่องและคุณสมบัติใหม่ให้แตกต่างจากผู้ผลิตรายอื่นๆ ปรับรูปแบบของสินค้าให้ตรงกับความต้องการในลักษณะเฉพาะกลุ่มมากยิ่งขึ้นและสร้างความแตกต่างในผลิตภัณฑ์ในแต่ละแบรนด์ (Product differentiation) เพื่อใช้เป็นจุดขายสินค้า ซึ่งที่ผ่านมาก็ได้พิสูจน์แล้วว่าการออกแบบรูปลักษณ์ของเครื่องนั้นมีผลต่อยอดจำหน่ายค่อนข้างมาก และผลักดันให้ผู้ผลิตในเอเชียหลายแบรนด์ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นในระดับโลก สำหรับแนวโน้มตลาดโทรศัพท์เคลื่อนที่ในปีนี้ คาดว่า การเปิดตัวโทรศัพท์เคลื่อนที่พร้อมระบบปฏิบัติการใหม่ น่าจะช่วยกระตุ้นตลาดให้มีสีสันมากขึ้น และน่าจะส่งผลดีต่อการเติบโตของตลาดในปีนี้

การพัฒนา Application ใหม่ทำให้เกิดความต้องการที่จะเปลี่ยนเครื่อง ในปัจจุบันบริษัทผู้ผลิตโทรศัพท์ และผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่มีการพัฒนาแอปพลิเคชั่นใหม่ๆ ทั้งในด้านบันเทิงและด้านสนับสนุนความคล่องตัวในชีวิตประจำวัน อาทิเช่น การสื่อสารในรูปแบบการส่งข้อความที่มีการโต้ตอบแบบเรียลไทม์ หรือ Mobile Instant Messaging ที่กำลังเป็นที่นิยม การใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่เป็นตัวกลางในการชำระค่าสินค้าหรือบริการที่ร้านค้า การทำธุรกรรมทางการเงินบนโทรศัพท์เคลื่อนที่ เช่น การโอนเงิน การเช็คดูยอดบัญชี เป็นต้น รวมถึงแอปพลิเคชั่นเกมส์ต่างๆ สำหรับการพัฒนาแอปพลิเคชั่นยังคงมีอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะแนวโน้มของแอปพลิเคชั่นใหม่ที่จะมาพร้อมกับการขยายตัวของเครือข่ายบรอดแบรนด์อินเทอร์เน็ต อย่างเช่น ไอพีทีวี (Internet Protocol Television) ที่น่าจะเข้ามามีบทบาทมากขึ้นในเมืองไทย และในช่วงมหกรรมกีฬาฟุตบอลโลกที่จะมีขึ้นในช่วงกลางปีนี้ อาจจะเห็นผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่บางรายใช้แอปพลิเคชั่นที่ให้ผู้ใช้สามารถเลือกชมไฮไลท์ผลการแข่งขันฟุตบอลในแต่ละคู่ได้ ซึ่งเป็นกีฬาที่ได้รับความนิยมอย่างมากในเมืองไทยมาเป็นจุดขายโทรศัพท์เคลื่อนที่บางรุ่นได้ ซึ่งปัจจัยเหล่านี้อาจทำให้ผู้บริโภคบางกลุ่มมีความต้องการเปลี่ยนเครื่องเพื่อให้รองรับกับแอปพลิเคชั่นใหม่ที่เกิดขึ้น

สำหรับแนวโน้มตลาดโทรศัพท์เคลื่อนที่ในปี 2553 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ยอดจำหน่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่รวมในปี 2553 จะมีประมาณ 9.5 – 10.0 ล้านเครื่อง เติบโตขึ้นร้อยละ 11.5-17.5 เพิ่มขึ้นจากที่หดตัวร้อยละ 10.5 ในปี 2552 สำหรับมูลค่าของยอดขายโทรศัพท์เคลื่อนที่ คาดว่า น่าจะมีมูลค่าประมาณ 53,000 – 58,500 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 12.5-22.5 จากที่หดตัวร้อยละ 17.1 ในปี 2552 โดยตลาดที่มีการเติบโตที่ดีน่าจะเป็นโทรศัพท์เคลื่อนที่สมาร์ทโฟน (ซึ่งเป็นโทรศัพท์ที่มีคุณสมบัติมากกว่าโทรศัพท์เคลื่อนที่ธรรมดา อย่างเช่น สามารถเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต บันทึกตารางแผนงาน สามารถลงโปรแกรมต่างๆ เพื่อใช้ในการทำงาน เช่น โปรแกรมตกแต่งภาพ รวมถึงสามารถเชื่อมต่อกับคอมพิวเตอร์ได้ เป็นต้น ) โดยคาดว่าสัดส่วนมูลค่าตลาดในปีนี้จะอยู่ที่ประมาณร้อยละ 33.2 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 25.0 ในปี 2552 ซึ่งมีสาเหตุมาจากราคาเครื่องที่มีแนวโน้มลดลง และผู้ผลิตเองได้มีการเปิดตัวสินค้าหลายรุ่น ตั้งแต่ระดับกลางจนถึงระดับบน เพื่อเจาะกลุ่มลูกค้าที่มีกำลังซื้อต่างกัน ทำให้ฐานลูกค้าในตลาดมีจำนวนเพิ่มขึ้น

ในขณะที่สัดส่วนของโทรศัพท์เคลื่อนที่ทั่วไป (Traditional Mobile Handset) แม้ว่าสัดส่วนมูลค่าตลาดจะลดลงจากปีก่อน แต่ยังคงมีสัดส่วนมากกว่าครึ่งในตลาด เนื่องจากราคาจำหน่ายต่อเครื่องที่ไม่แพงนัก และราคาต่อเครื่องสอดคล้องกับกำลังซื้อส่วนใหญ่ของผู้บริโภคในตลาด สำหรับตลาด PDA (Personal Digital Assistant Phone) คาดว่าจะมียอดขายใกล้เคียงหรือเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากปีก่อน เนื่องจากต้องเผชิญกับคู่แข่งอย่างสมาร์ทโฟนบางรุ่นที่มีคุณสมบัติใกล้เคียงกับ PDA

โดยสรุป การแข่งขันในตลาดโทรศัพท์เคลื่อนที่มีความรุนแรงมากขึ้นในทุกกลุ่มสินค้า โดยเฉพาะการแข่งขันระหว่างผู้ผลิตโทรศัพท์เคลื่อนที่ชั้นนำจากเอเชีย อย่างแบรนด์จากประเทศเกาหลีใต้ ที่เริ่มเข้ามารุกตลาดในไทยอย่างหนัก ทำให้ผู้ผลิตโทรศัพท์เคลื่อนที่ชั้นนำจากประเทศในยุโรปที่ครองส่วนแบ่งการตลาดอันดับ 1 ในเมืองไทย คงต้องเร่งปรับตัวตามการแข่งขันที่รุนแรง นอกจากนี้การรุกตลาดอย่างหนักของแบรนด์จากประเทศเกาหลีใต้ทำให้โทรศัพท์เคลื่อนที่เฮ้าส์แบรนด์ (ซึ่งเป็นแบรนด์ของผู้ประกอบการค้าปลีกโทรศัพท์เคลื่อนที่ของไทย) ก็คงจะต้องเตรียมรับมือเช่นกัน แม้ว่าเครื่องเฮ้าส์แบรนด์จะมีจุดเด่นตรงที่ราคาไม่สูงนัก และคุณสมบัติในตัวเครื่องบางรุ่นใกล้เคียงกับเครื่องอินเตอร์แบรนด์ก็ตาม แต่ผู้ผลิตสินค้าจากประเทศเกาหลีใต้ จะใช้กลยุทธ์ด้านราคาที่ไม่แพง รูปแบบตัวเครื่องที่ดูทันสมัย และคุณสมบัติของเครื่องสามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้มาเป็นจุดเด่นการแย่งชิงส่วนแบ่งการตลาด อย่างไรก็ดีการแข่งขันที่รุนแรงระหว่างผู้ผลิตสินค้าจากต่างประเทศ น่าจะส่งผลดีต่อตลาดผู้บริโภคในไทยที่จะได้เลือกซื้อสินค้าที่หลากหลาย มีคุณภาพที่ดี และราคาที่ไม่แพงนัก

สำหรับตลาดค้าปลีกโทรศัพท์เคลื่อนที่ในปี 2553 คาดว่าจะเห็นยอดขายที่เติบโตดีขึ้นกว่าปีก่อน ทั้งผู้ประกอบการร้านค้าทั่วไป ร้านตัวแทนจำหน่ายจากผู้ผลิตโดยตรง และตู้จำหน่าย (โดยส่วนใหญ่จะตั้งอยู่ตามห้างสรรพสินค้า ซึ่งบางร้านจะมีการนำเข้าโทรศัพท์เคลื่อนที่รุ่นที่ไม่มีในเมืองไทยมาขาย) ภายใต้ปัจจัยเศรษฐกิจที่คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 2.5 ถึง 3.5 ในปี 2553 ที่มีผลต่อความเชื่อมั่นและการใช้จ่ายของผู้บริโภค และน่าจะส่งผลดีต่อธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่ให้เติบโตได้ นอกจากปัจจัยด้านเศรษฐกิจที่จะช่วยให้ตลาดขยายตัวในปีนี้แล้ว การเปิดตัวเทคโนโลยีใหม่บนโทรศัพท์เคลื่อนที่ รูปลักษณ์ที่ทันสมัย และคุณสมบัติของตัวเครื่องที่ดีขึ้น เช่น ความละเอียดของกล้องสูงขึ้น และหน่วยความจำภายในเครื่องสูงขึ้น เป็นต้น ซึ่งน่าจะช่วยสร้างสีสันในตลาดมากขึ้น นอกจากนี้กระแสเครือข่ายสังคมที่กำลังขยายตัวเป็นวงกว้างมากขึ้นน่าจะเป็นตัวช่วยกระตุ้นยอดขายโทรศัพท์บางรุ่นในปีนี้ได้ดีเช่นกัน