การค้าไทยปี 53 … นำเข้าขยายตัวแรง แต่คาดทั้งปีจะยังเกินดุลกว่า 6 พันล้านบาท

จากการรายงานภาวะการค้าระหว่างประเทศของไทยในเดือนมกราคม 2553 โดยกระทรวงพาณิชย์ การนำเข้ากลับมาขยายตัวด้วยอัตราเร่งสูงขึ้นกว่าการส่งออกติดต่อกันเป็นเดือนที่ 2 หลังจากที่ทรุดลงอย่างหนักนับตั้งแต่ต้นปี 2552 ที่ผ่านมา จนเป็นผลให้การนำเข้าตลอดช่วงปี 2552 หดตัวลงถึงร้อยละ 25.3 โดยมีสาเหตุจากการหดตัวของอุปสงค์ภายในประเทศ โดยเฉพาะการลงทุนของภาคเอกชน ที่หดตัวลงกว่าร้อยละ 10 รวมทั้งยังมีผลของปริมาณความต้องการวัตถุดิบและปัจจัยการผลิตที่ลดลงตามการส่งออกและการปรับลดระดับสินค้าคงคลังของภาคธุรกิจ ขณะที่ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ต่างๆ ที่ต้องนำเข้าก็ปรับตัวลดลงอย่างมาก การนำเข้าที่ลดลงอย่างมากในขณะที่การส่งออกแม้ว่าหดตัวแต่เป็นอัตราที่น้อยกว่า คือ ลดลงร้อยละ 14.2 จึงส่งผลให้ไทยเกินดุลการค้าเป็นมูลค่าสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในปี 2552

ย่างเข้าสู่ปี 2553 เป็นที่คาดหมายว่าการส่งออกของไทยจะกลับมาขยายตัวดีขึ้น จากอานิสงส์ของการฟื้นตัวอย่างชัดเจนขึ้นของเศรษฐกิจในภูมิภาคต่างๆ ของโลก ส่วนการนำเข้าอาจมีปัจจัยหลายด้านที่หนุนให้เร่งตัวขึ้น จึงมีแนวโน้มที่ดุลการค้าของไทยในปี 2553 แม้ว่าจะยังคงมีฐานะเกินดุล แต่อาจเกินดุลลดลงค่อนข้างมากจากปีก่อนหน้า โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย วิเคราะห์สถานการณ์และแนวโน้มการค้าระหว่างประเทศของไทย โดยมีประเด็นสำคัญ ดังนี้

การส่งออกของไทยในเดือนมกราคม 2553 ขยายตัวสูงร้อยละ 30.8 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (Year-on-Year) ยังคงขยายตัวเป็นตัวเลข 2 หลักต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 และเป็นอัตราขยายตัวสูงสุดในรอบ 18 เดือน อย่างไรก็ตาม มูลค่าการส่งออกลดลงจาก 14,629 ล้านดอลลาร์ฯ ในเดือนธันวาคม มาอยู่ที่ 13,723 ล้านดอลลาร์ฯ ทั้งนี้ การขยายตัวสูงดังกล่าวนี้ส่วนหนึ่งเป็นผลของการเปรียบเทียบกับฐานที่ต่ำในเดือนมกราคม 2552 ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าเป็นช่วงตกต่ำสุดของการส่งออกของไทยท่ามกลางปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจถดถอยทั่วโลก (การส่งออกหดตัวลงร้อยละ 26.5) นอกจากนี้ การเติบโตของการส่งออกยังเป็นผลมาจากการฟื้นตัวของภาวะเศรษฐกิจโลกและภาวะราคาสินค้าโภคภัณฑ์ประเภทต่างๆ ในด้านการนำเข้าในเดือนมกราคมขยายตัวเร่งขึ้นมาถึงร้อยละ 44.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) ขยายตัวสูงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 จากร้อยละ 28.2 ในเดือนธันวาคม แต่มูลค่าการนำเข้าลดลงจาก 14,424 ล้านดอลลาร์ฯ ในเดือนธันวาคม มาอยู่ที่ 13,208 ล้านดอลลาร์ฯ โดยส่วนหนึ่งก็ยังเป็นผลของฐานเปรียบเทียบที่ต่ำในเดือนมกราคมปีก่อน (ซึ่งการนำเข้าหดตัวถึงร้อยละ37.6) ทั้งนี้ ดุลการค้าของไทยในเดือนมกราคมเกินดุล 515 ล้านดอลลาร์ฯ สูงขึ้นจาก 277 ล้านดอลลาร์ฯ ในเดือนก่อนหน้า

สำหรับแนวโน้มในเดือนถัดๆ ไป ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า การส่งออกและนำเข้าอาจมีระดับมูลค่าที่ชะลอลงบ้างในเดือนกุมภาพันธ์ เนื่องจากเป็นช่วงเทศกาลตรุษจีนซึ่งเป็นวันหยุดยาวของธุรกิจในประเทศแถบเอเชียเชื้อสายจีน แต่อัตราการขยายตัวของการส่งออก-นำเข้าของไทยน่าจะยังคงสูงเป็นตัวเลข 2 หลัก โดยเฉพาะการนำเข้าที่อาจเติบโตสูงถึงกว่าร้อยละ 50 เนื่องจากผลของฐานที่ต่ำในปีก่อน ขณะที่ทิศทางโดยรวมในเดือนต่อๆ ไปน่าจะเห็นการปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง แม้อัตราการขยายตัวอาจจะค่อยๆ ชะลอลงในช่วงครึ่งหลังของปี ซึ่งก็ยังคงมีสาเหตุจากฐานเปรียบเทียบที่เริ่มขยับสูงขึ้นหลังจากการค้าของไทยมีการฟื้นตัวชัดเจนขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี 2552 ที่ผ่านมา

สำหรับภาพรวมแนวโน้มการค้าระหว่างประเทศในปี 2553 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า :-

– การส่งออกมีแนวโน้มดีกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้ โดยจากการประเมินสถานการณ์เศรษฐกิจโลกในขณะนี้ เศรษฐกิจของหลายประเทศมีแนวโน้มที่จะขยายตัวได้สูงกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้ ดังที่สะท้อนจากตัวเลขเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 4/2552 ของหลายประเทศที่บ่งชี้การฟื้นตัวค่อนข้างดี สอดคล้องกับการปรับเพิ่มประมาณการเศรษฐกิจโลกของหน่วยงานด้านเศรษฐกิจระหว่างประเทศชั้นนำ อาทิ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF (International Monetary Fund) และธนาคารโลก

อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจโลกยังคงเผชิญความเสี่ยงหลายด้าน ที่สำคัญได้แก่ ปัญหาฟองสบู่ในสินทรัพย์ของประเทศจีน ซึ่งเป็นประเด็นที่ทางการจีนกำลังเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด และได้มีการออกมาตรการควบคุมการเติบโตของสินเชื่อและภาคอสังหาริมทรัพย์มาเป็นลำดับตั้งแต่กลางเดือนมกราคมที่ผ่านมา โดยมาตรการดังกล่าวอาจมีผลในการชะลอความร้อนแรงของเศรษฐกิจจีน แต่ก็ต้องแลกกับอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจจีนที่อาจต่ำกว่าที่ IMF คาดการณ์ว่าจะเติบโตได้ร้อยละ 10 ซึ่งจะมีผลต่อการส่งออกของประเทศในแถบเอเชียที่มีการพึ่งพาตลาดจีนสูง นอกจากนี้ ในภูมิภาคยุโรปกำลังเผชิญแรงกดดันจากปัญหาการขาดดุลการคลังและหนี้สาธารณะในบางประเทศที่มีระดับสูงจนน่าวิตก โดยเฉพาะประเทศกรีซ โปรตุเกส สเปน ไอร์แลนด์ หรืออาจรวมถึงอิตาลี ซึ่งแผนการลดการขาดดุลการคลังของกลุ่มประเทศเหล่านี้จะจำกัดศักยภาพในการฟื้นตัวของประเทศ รวมทั้งอาจส่งผลให้กลุ่มยูโรโซนขยายตัวได้ช้ากว่าที่คาด ขณะที่ประเทศที่พัฒนาแล้วส่วนใหญ่ ทั้งสหรัฐฯ ยูโรโซน และญี่ปุ่น ก็เผชิญปัญหาการว่างงานที่อาจยังลดลงค่อนข้างช้า และเป็นข้อจำกัดต่อศักยภาพการฟื้นตัวของเศรษฐกิจอยู่แล้ว จากทิศทางดังกล่าว ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จึงคาดว่า การส่งออกของไทยในปี 2553 อาจขยายตัวประมาณร้อยละ 10.0-14.0 และมีโอกาสเพิ่มมุมมองเชิงบวกมากขึ้นหากปัจจัยที่เป็นกังวลเกี่ยวกับเศรษฐกิจจีนและภูมิภาคยุโรปคลี่คลายลง

การนำเข้ามีแนวโน้มเร่งตัวสูงขึ้น โดยที่สำคัญเป็นผลของฐานเปรียบเทียบที่ต่ำมากในปีก่อนหน้า ขณะที่ในปี 2553 แม้แนวโน้มการใช้จ่ายของภาคเอกชนทั้งการบริโภคและการลงทุนของภาคเอกชนอาจค่อยๆ ฟื้นตัวอย่างช้าๆ แต่ก็มีปัจจัยหลายด้านที่อาจหนุนให้การนำเข้าเร่งตัวขึ้น ทั้งราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์ต่างๆ ที่มีทิศทางปรับตัวสูงขึ้น การลดภาษีศุลกากรภายใต้กรอบความตกลงการค้าเสรีหลายกรอบ ส่งผลให้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า การนำเข้าของไทยในปี 2553 อาจขยายตัวประมาณร้อยละ 20.0-25.0

จากทิศทางการนำเข้าที่มีแนวโน้มเติบโตในอัตราเร่งสูงกว่าการส่งออก จะส่งผลให้ดุลการค้าของไทยในปี 2553 มีฐานะเกินดุลลดลงจากปีก่อน แต่อาจกล่าวได้ว่ายังคงเป็นมูลค่าที่ค่อนข้างสูงที่ประมาณ 6.6-9.3 พันล้านดอลลาร์ฯ

โดยสรุป ภาพรวมการค้าระหว่างประเทศของไทยในปี 2553 น่าจะมีทิศทางปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง ทั้งในด้านการส่งออกและการนำเข้า ขณะที่ดุลการค้ายังมีระดับเกินดุล สะท้อนถึงเสถียรภาพด้านต่างประเทศของไทยที่ยังคงแข็งแกร่ง ซึ่งอาจเป็นปัจจัยหนึ่งที่สนับสนุนการแข็งค่าของเงินบาท

แต่ทั้งนี้ แม้ว่าเงินบาทน่าจะยังคงได้รับแรงหนุนจากฐานะการเกินดุลการค้าในปี 2553 ซึ่ง ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า อาจมีระดับประมาณ 6.6-9.3 พันล้านดอลลาร์ฯ หรือประมาณ 2.2-3.0 แสนล้านบาทนี้ แต่ก็ยังคงต้องจับตาทิศทางค่าเงินของสหรัฐฯ ที่ได้รับแรงหนุนจากการคาดการณ์การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ เฟด หลังจากที่เฟดได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยมาตรฐานขึ้นมาเป็นร้อยละ 0.75 จากเดิมที่ร้อยละ 0.50 ขณะที่เศรษฐกิจโลกยังมีความเปราะบางต่อความเสี่ยงด้านเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของบางประเทศ ซึ่งอาจส่งผลให้ทิศทางอัตราแลกเปลี่ยนมีแนวโน้มผันผวนสูง ปัจจัยดังกล่าวจึงเป็นสิ่งที่ผู้ส่งออกและนำเข้าต้องติดตามและเตรียมรับมือ ที่สำคัญ ผู้ส่งออกสินค้ากลุ่มที่ต้องแข่งขันในตลาดที่มีความอ่อนไหวด้านราคา อาจต้องปรับตัวค่อนข้างมาก เนื่องจากนอกจากจะมีประเด็นความผันผวนของค่าเงินบาทแล้ว ยังมีกรณีที่คู่แข่งรายสำคัญอย่างเวียดนามได้มีการลดค่าเงินด่องลงมาแล้ว 2 ครั้ง รวมแล้วประมาณเกือบร้อยละ 9 และยังมีความเป็นไปได้ที่อาจจะลดค่าเงินลงได้อีก ซึ่งเป็นผลให้สินค้าของเวียดนามมีความได้เปรียบด้านราคาส่งออกมากขึ้น โดยสินค้าที่ไทยมีการแข่งขันโดยตรงกับเวียดนาม ที่สำคัญ ได้แก่ สินค้ากลุ่มเกษตรกรรม เช่น ข้าว กุ้ง และสินค้ากลุ่มที่พึ่งพาแรงงาน เช่น สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม รองเท้า เป็นต้น