อัตราเงินเฟ้ออาจชะลอในระยะสั้น แต่คาดว่าจะกลับมาเร่งขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง

อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนกุมภาพันธ์ 2553 ชะลอลงมาอยู่ที่ร้อยละ 3.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และคาดว่าอาจจะเห็นตัวเงินเฟ้อชะลอลงในระยะสั้นจากผลของฐานที่เทียบกับปีก่อนหน้า อย่างไรก็ตาม ทิศทางราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่มีโอกาสปรับเพิ่มขึ้นจากอุปสงค์ต่อสินค้า เช่น น้ำมัน และสภาพอากาศที่เลวร้ายในภูมิภาคต่างๆ ของโลก จะเป็นปัจจัยที่หนุนให้ระดับราคาสินค้าอุปโภคบริโภคขยับสูงขึ้น และจะทำให้อัตราเงินเฟ้อกลับมาเร่งตัวขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี ซึ่งทิศทางดังกล่าวจะมีผลต่อการกำหนดแนวทางดำเนินนโยบายการเงินและนโยบายด้านราคาสินค้าของทางการ โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มีมุมมองต่อทิศทางเงินเฟ้อของไทย และผลต่อการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจในระยะข้างหน้า ดังนี้

อัตราเงินเฟ้อทั่วไปของเดือนกุมภาพันธ์ 2553 เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.7 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน (Year-on-Year) ชะลอตัวลงจากที่ขึ้นไปแตะระดับสูงสุดในรอบ 16 เดือนที่ร้อยละ 4.1 ในเดือนมกราคม โดยแม้ว่าดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปในเดือนกุมภาพันธ์ปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.6 (Month-on-Month) จากระดับ 106.3 ในเดือนมกราคม มาอยู่ที่ระดับ 106.9 เนื่องจากผลของเทศกาลตรุษจีนที่ทำให้ราคาอาหารสด โดยเฉพาะเนื้อสัตว์ ผักและผลไม้ เพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก แต่การที่อัตราเงินเฟ้อที่เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนชะลอลงนั้น มีสาเหตุเนื่องมาจากผลของฐานเปรียบเทียบที่สูง ซึ่งในเดือนกุมภาพันธ์ 2552 เป็นช่วงที่รัฐบาลได้ยกเลิกมาตรการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันเชื้อเพลิง และคงเหลือมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพไว้เพียง 5 มาตรการที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน

ประเด็นที่น่าสังเกต คือ ระดับดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน ซึ่งเป็นเครื่องชี้ราคาสินค้าที่ไม่รวมอาหารสดและพลังงานยังคงไม่เปลี่ยนแปลงจากเดือนก่อนหน้า โดยเพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 0.02 จากเดือนมกราคม (MoM) ซึ่งสะท้อนว่าผู้ประกอบการส่วนใหญ่ยังคงตรึงราคาสินค้าอุปโภคบริโภค โดยแม้ว่าส่วนหนึ่งอาจเนื่องจากกระทรวงพาณิชย์ได้มีการขอความร่วมมือผู้ประกอบการในการคงราคาสินค้าไว้ แต่ในอีกด้านหนึ่งก็เป็นเครื่องสะท้อนว่าภาวะการใช้จ่ายของผู้บริโภคยังไม่ดีขึ้นมากนัก จึงทำให้ผู้ประกอบการไม่สามารถขึ้นราคาสินค้าได้แม้ว่าต้นทุนหลายด้านเริ่มขยับขึ้นมาบ้างแล้ว เช่น วัตถุดิบและค่าจ้างแรงงาน (ที่มีการปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ) ทั้งนี้ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.3 (YoY) ในเดือนกุมภาพันธ์ ชะลอลงจากร้อยละ 0.5 ในเดือนก่อนหน้า และลงไปอยู่ต่ำกว่ากรอบเป้าหมายเงินเฟ้อของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่กำหนดไว้ที่ร้อยละ 0.5-3.0 อีกครั้ง หลังจากที่กลับเข้ามาสู่กรอบล่างของกรอบเป้าหมายดังกล่าวได้เพียง 1 เดือน

สำหรับแนวโน้มเงินเฟ้อในเดือนถัดๆ ไปนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอาจชะลอลงในระยะสั้น โดยการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าอาหารสดน่าจะชะลอลงในเดือนมีนาคม หลังผ่านพ้นเทศกาลตรุษจีนไปแล้ว ซึ่งจะช่วยให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปชะลอลงและมีระดับไม่เกินร้อยละ 3.5 ในระยะ 2-3 เดือนข้างหน้า แม้ว่ารัฐบาลได้มีมติยกเลิกมาตรการค่าน้ำประปาฟรีที่จะสิ้นสุดในเดือนมีนาคม 2553 โดยขยายอายุมาตรการที่เหลือ 4 มาตรการ คือ ค่าไฟฟ้าฟรี รถเมล์และรถไฟฟรี และการตรึงราคาก๊าซหุงต้ม ออกไปถึงสิ้นเดือนมิถุนายน 2553 ซึ่งการยกเลิกการอุดหนุนค่าน้ำประปาคงมีผลให้ดัชนีราคาผู้บริโภคเพิ่มขึ้นในเดือนเมษายน แต่คาดว่าผลคงมีไม่มากนัก เนื่องจากก่อนหน้านี้มีการลดการให้ความช่วยเหลือมาเป็นลำดับแล้ว แต่ประเด็นที่ต้องจับตาในระยะต่อไป ที่สำคัญคือ ทิศทางราคาน้ำมัน ซึ่งแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่อาจดีกว่าคาดการณ์ก่อนหน้านี้ ได้ส่งผลให้หลายหน่วยงาน เช่น สำนักงานพลังงานสากล หรือ IEA (International Energy Agency) และ JP Morgan Chase & Co. ล่าสุด ได้ปรับเพิ่มประมาณการปริมาณความต้องการใช้น้ำมันในปี 2553 ซึ่งอาจจะมีผลให้ราคาน้ำมันขยับสูงกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้ นอกจากนี้ ภาวะแล้งและการขาดแคลนน้ำที่มีทีท่าว่าจะรุนแรงขึ้น อาจจะส่งผลให้ราคาพืชผลทางการเกษตรพุ่งสูงยิ่งขึ้น ซึ่งอาจผลักดันให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในช่วงครึ่งปีหลังกลับมาเร่งตัวขึ้น อย่างไรก็ดี การที่รัฐบาลขยายระยะเวลามาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพส่วนใหญ่ออกไปถึงเดือนมิถุนายนก็มีส่วนช่วยบรรเทาแรงกดดันเงินเฟ้อลงได้ในระดับหนึ่ง

ด้านอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานมีแนวโน้มที่จะเริ่มเข้าสู่ระยะแรกของช่วงขาขึ้นในไตรมาสที่ 2/2553 โดยคาดว่านับจากนี้ อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานจะค่อยๆ เริ่มขยับขึ้น กลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อของ ธปท. แต่ในระยะแรก คือในช่วงไตรมาสที่ 2/2553 คาดว่าอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานจะยังคงมีระดับไม่เกินร้อยละ 1.5 แต่จะค่อยๆ เพิ่มขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี และจะเข้าใกล้กรอบบนของกรอบเป้าหมายของ ธปท. ที่ร้อยละ 3.0 มากขึ้นในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ยังคงกรอบประมาณการอัตราเงินเฟ้อในปี 2553 ไว้ที่ระดับเดิม โดยเป็นผลมาจากการที่รัฐบาลยังคงดำเนินมาตรการช่วยเหลือค่าสาธารณูปโภคดังที่กล่าวมาข้างต้น โดยคาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 3.0-4.0 ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอาจเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.5-2.5 สูงขึ้นจากปี 2552 ที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปติดลบร้อยละ 0.9 และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.3

โดยสรุป แม้ว่าในระยะสั้นอัตราเงินเฟ้อทั่วไปอาจมีทิศทางชะลอตัวลง แต่จากแนวโน้มราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ปรับตัวสูงขึ้น และมีโอกาสที่จะสูงกว่าที่คาดการณ์ไว้ หากเศรษฐกิจโลกมีการฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่ง ซึ่งจะเป็นแรงหนุนต่อราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์อื่นๆ รวมทั้งสภาวะอากาศทั่วโลกแปรปรวนอย่างหนัก โดยในประเทศไทยมีแนวโน้มที่ภาวะแล้งจะมีความรุนแรงขึ้น ซึ่งอาจเป็นแรงผลักดันราคาสินค้าเกษตรให้พุ่งสูงยิ่งขึ้น ด้วยเหตุนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จึงมองว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีโอกาสที่จะกลับมาเร่งตัวขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี 2553 ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานมีแนวโน้มที่จะเข้าสู่ระยะแรกของช่วงขาขึ้น แม้ภายในช่วงครึ่งปีแรกจะยังคงมีระดับที่ไม่สูงนัก แต่มีแนวโน้มที่จะเร่งขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี และมีโอกาสเข้าใกล้กรอบบนของกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อของธนาคารแห่งประเทศไทย ที่กำหนดไว้ที่ร้อยละ 0.5-3.0 มากขึ้นในไตรมาสสุดท้ายของปี

จากแรงกดดันเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มสูงขึ้นดังกล่าว คงจะมีผลต่อการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งการปรับทิศทางนโยบายการเงินมาสู่การเริ่มต้นปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายนั้น คงขึ้นอยู่กับความเร่งของแรงกดดันเงินเฟ้อ และทิศทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย เป็นสำคัญ ซึ่งแม้ขณะนี้มีสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่แข็งแรงขึ้น แต่แนวโน้มระยะข้างหน้ายังมีปัจจัยเสี่ยงหลายด้าน โดยเฉพาะปัญหาการเมืองในประเทศ ขณะเดียวกัน การตัดสินใจของรัฐบาลต่อการดำเนินมาตรการอุดหนุนราคาสินค้าและค่าสาธารณูปโภคอาจเผชิญความท้าทายมากยิ่งขึ้น โดยมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพแก่ประชาชน ที่ยังคงไว้อยู่ 4 มาตรการจะมีกำหนดสิ้นสุดในเดือนมิถุนายน 2553 ส่วนมาตรการช่วยเหลือด้านราคาพลังงานจะมีกำหนดสิ้นสุดในเดือนสิงหาคม 2553 ซึ่งการตัดสินใจว่าจะขยายอายุมาตรการออกไปอีกหรือไม่นั้น คงขึ้นอยู่กับทิศทางราคาน้ำมันและราคาสินค้าเกษตร ที่จะมีผลต่อภาระค่าครองชีพของประชาชน ขณะที่มาตรการตรึงราคาพลังงาน รัฐอาจมีต้นทุนในการรับภาระในส่วนนี้เพิ่มขึ้นหากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกเพิ่มขึ้นไปเหนือระดับ 80 ดอลลาร์ฯ ต่อบาร์เรลเป็นระยะเวลาต่อเนื่อง ซึ่งจะส่งผลให้การตรึงราคาน้ำมันดีเซลไว้ที่ระดับ 30 บาทต่อลิตรเป็นไปได้ยากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงต้องเข้าไปรับภาระการตรึงราคาก๊าซหุงต้ม (LPG) ที่ต้องมีการนำเข้าจากต่างประเทศมากขึ้น หากต้องเข้ามาช่วยอุดหนุนส่วนต่างราคาน้ำมันดีเซลในระดับที่เพิ่มขึ้นอีกทางหนึ่ง ก็อาจจะมีผลต่อฐานะของกองทุนในระยะข้างหน้าได้

ทั้งนี้ หากทิศทางเศรษฐกิจฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่องแล้วนั้น การทยอยถอนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ หรือมาตรการที่อุดหนุนเป็นการพิเศษลงก็น่าจะทำได้โดยไม่กระทบกระเทือนต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจมากนัก แต่หากเกิดสถานการณ์ที่ทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจต้องสะดุดหรือชะลอลงไป การพิจารณาถอนมาตรการเศรษฐกิจอาจต้องเผชิญการตัดสินใจที่ยากลำบากมากขึ้น ?

——————————————

Disclaimer
รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงปรับปรุงข้อมูลได้ตลอดเวลาโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณของตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็นหรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น