จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ โชว์ผลประกอบการปี 2552  มีรายได้รวม 8,124 ล้านบาท กำไรสุทธิ 511 ล้านบาท

นายไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม ประธานกรรมการ บริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) และบริษัท จีเอ็มเอ็ม มีเดีย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยถึงผลประกอบการปี 2552 บริษัทฯ มีรายได้รวม 8,124 ล้านบาท เติบโต 4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีรายได้รวม 7,806 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 511 ล้านบาท ลดลงประมาณ 28% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 705 ล้านบาท

                โดยปี 2552 ถือเป็นปีแห่งการลงทุนของบริษัท โดยมีต้นทุนและค่าใช้จ่ายที่เพิ่มมากขึ้น จากการขยายธุรกิจ 2 ส่วนคือ 1. ลงทุนในธุรกิจโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม โดยมีการผลิตรายการเพิ่มขึ้นอีก 3 ช่อง คือ แบง ชาแนล , กรีน ชาแนล และแอกซ ชาแนล ตามเป้าหมายของบริษัทที่ต้องการขยายแพลทฟอร์มมีเดียให้ครอบคลุมทุกเซกเมนต์ และเพื่อให้สอดรับกับแทรนด์การเคลื่อนย้ายงบโฆษณาจากแมสมีเดียไปสู่เซกเมนต์มีเดีย  ปี 2552 ธุรกิจโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมมีรายได้ 117 ล้านบาท ซึ่งดีกว่าที่คาดไว้ 2. ขยายการลงทุนในธุรกิจอีเว้นท์ เน้นการให้บริการลูกค้าที่ครบวงจรมากขึ้นจากกลยุทธ์การขยายส่วนแบ่งการตลาดตามเทรนด์ตลาดที่ธุรกิจ Event Marketing ยังได้รับความนิยม ปี 2552 บริษัทฯ มีรายได้จากธุรกิจอีเว้นท์ 1,388 ล้านบาท เติบโต 18% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีรายได้รวม 1,180 ล้านบาท

                ธุรกิจที่ยังเติบโตอย่างต่อเนื่องคือธุรกิจทีวี โดยเติบโต 14% มากกว่าอุตสาหกรรมที่เติบโต 3.5% มีรายได้1,647 ล้านบาท จากความโดดเด่นของละครหลังข่าว ซิทคอม และรายการวาไรตี้สำหรับกลุ่มวัยรุ่น เป็นต้น
   
อีกธุรกิจที่มีแนวโน้มดีเด่นชัดคือภาพยนตร์ ปี 2552 มีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นถึง 49% เมื่อเทียบกับปี 51 โดยมีรายได้ 329 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 109 ล้านบาท จากการที่ภาพยนตร์ทุกเรื่องประสบความสำเร็จ โดยเฉพาะเรื่องรถไฟฟ้ามาหานะเธอที่ทำรายได้ Box Office 145 ล้านบาท สูงสุดของภาพยนตร์ไทยในปีก่อน

 สำหรับรายได้ธุรกิจเพลงโดยรวมของปี 2552 อยู่ที่ 3,572 ล้านบาท ลดลง 3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน  แต่ดิจิตอลยังคงมีการเติบโตดีต่อเนื่องคือ เติบโต 46% ขณะที่รายได้ของธุรกิจสื่อวิทยุและสื่อสิ่งพิมพ์ ก็ยังได้รับผลกระทบใกล้เคียงกับตลาด รายได้ธุรกิจวิทยุ อยู่ที่ 580 ล้านบาท ลดลง 13% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่รายได้ธุรกิจสิ่งพิมพ์อยู่ที่ 189 ล้านบาท ลดลง 25% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน