สถาบันรหัสสากลเปิดตัวโครงการ “ออกแบบนวัตกรรมจัดทำระบบฐานข้อมูลของสินค้าตามมาตรฐานสากล”

นางพิชญา วัชโรทัย ผู้อำนวยการสถาบันรหัสสากล สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า จากสภาพธุรกิจในปัจจุบัน การดำเนินธุรกิจมีการแข่งขันที่รุนแรงและรวดเร็ว เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมขององค์กรเพื่อเพิ่มมูลค่าให้มากที่สุดและกระตุ้นให้ประสบความสำเร็จ ความต้องการข้อมูลในการวางแผนและกำกับติดตามประเมินผล สารสนเทศกลายเป็นทรัพยากรที่สำคัญที่สุดขององค์กร สถาบันฯ จึงตระหนักถึงการบริหารข้อมูลได้อย่างมีคุณภาพเป็นเรื่องที่สำคัญ จึงได้จัดทำ “โครงการออกแบบนวัตกรรมจัดทำระบบฐานข้อมูลของสินค้าตามมาตรฐานสากล (Data Pool)” ขึ้นเพื่อเป็นต้นแบบให้กับภาคอุตสาหกรรมอันจะนำไปสู่การปรับกระบวนการบริหารจัดการระบบโลจิสติกส์และซัพพลายเชนของภาคอุตสาหกรรมไทยได้อย่างเต็มรูปแบบ

ปัจจุบัน การดำเนินธุรกิจประสบกับภาวะการณ์แข่งขันที่รุนแรงอย่างสูง ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมต่าง ๆ จึงต้องเร่งปรับปรุงประสิทธิภาพในทุกขั้นตอนของการดำเนินงาน ปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งของกระบวนการทางธุรกิจคือข้อมูลสินค้า ทั้งนี้จากการสำรวจพบว่าโดยเฉลี่ยในทุก ๆ อุตสาหกรรมนั้นจะมีข้อมูลของสินค้าที่ไม่ถูกต้องอยู่ประมาณ 30% ของการทำธุรกรรมทั้งหมด ข้อมูลเฉพาะตัวหรือรายละเอียดของสินค้าที่ไม่ถูกต้องนั้นทำให้การแลกเปลี่ยนข้อมูลและประสิทธิภาพในโซ่อุปทานลดลง อีกทั้งยังก่อให้เกิดปัญหากับการไหลของอุปทานทั้งระบบ ได้มีการประมาณการว่าค่าใช้จ่ายในการตามแก้ไขข้อมูลที่ผิดพลาดนี้มีมูลค่าสูงกว่า 30,000 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปี การแลกเปลี่ยนข้อมูลสินค้าที่มีมาตรฐานโดยอัตโนมัติระหว่างผู้ผลิตและผู้ประกอบการค้าทุกระดับ ทั้งในส่วนของ ค้าปลีก และค้าส่งนั้น จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดการโซ่อุปทานได้อย่างดียิ่ง

ดังนั้น จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมไทยที่ถือเป็นฐานราก และสำคัญยิ่งของเศรษฐกิจประเทศ ต้องพัฒนาศักยภาพให้เทียบเท่าและสามารถแข่งขันกับต่างประเทศได้อย่างดีเยี่ยม โดยอาศัยเทคโนโลยีมาตรฐานสากลที่มีอยู่แล้วและสามารถรองรับความต้องการของผู้บริโภคได้อย่างกว้างขวางทั่วโลก ด้วยแคตตาล็อกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ GDSN: Global Data Synchronization Network ซึ่งได้มีการใช้งานอยู่แล้วในปัจจุบัน โดย แคตตาล็อกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์นี้จะเป็นที่จัดเก็บข้อมูลของสินค้าตามมาตรฐานสากล และเปิดโอกาสให้ผู้ที่สนใจสามารถเข้าไปดูข้อมูลของสินค้านั้นได้ ซึ่งเป็นการเพิ่มช่องทางการค้าและช่องทางการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมไทยได้อย่างไร้พรมแดน โดยสามารถสื่อสารข้อมูลของสินค้าได้ตรงกันด้วยมาตรฐานสากลทั่วโลก อันจะเป็นการเพิ่มความสะดวกรวดเร็วและลดความผิดพลาดในสื่อสารข้อมูลของสินค้าในการทำธุรกรรม และการนำไปใช้งานเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับผู้ประกอบการตลอดทั้งระบบโซ่อุปทาน ด้วยระบบแคตตาล็อกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์

ในการนี้สถาบันฯ จึงขอเรียนเชิญผู้ประกอบการ SME ที่มีความสนใจสมัครเข้าร่วมโครงการ สำหรับ SME ที่เป็นสมาชิกเก่าของสถาบันฯ จะได้รับการพิจารณาในการเข้าร่วมโครงการเป็นพิเศษ โดยการเข้าร่วมโครงการจะพิจารณาจากคุณสมบัติและลำดับการสมัคร และหาก SME ใดสนใจก็สามารถเข้าดูรายละเอียดได้ที่ www.gs1thailand.org หรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ คุณวลีรัตน์ มีกุล หรือคุณทมนี สุขใส โทร 02 345 1192 (ด่วนรับจำนวนจำกัด ตั้งแต่วันนี้จนถึง 31 มีนาคม 2553)