ส่งออกของไทยไปสหรัฐฯในเดือนกุมภาพันธ์ยังคงขยายต่อเนื่อง 19.3%

การส่งออกของไทยไปสหรัฐฯในเดือนกุมภาพันธ์ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 โดยเติบโตร้อยละ 19.3(YoY) สูงขึ้นจากร้อยละ 15.9 ในเดือนมกราคม(YoY)เป็นการขยายตัวสูงสุดนับตั้งแต่เดือนกรกฎาคมปี 2551 คาดว่าการส่งออกของไทยไปยังสหรัฐฯในช่วงครึ่งแรกของปีจะขยายตัวสูงเนื่องจากฐานเปรียบเทียบในปีก่อนอยู่ในระดับต่ำ ซึ่งการส่งออกของไทยไปสหรัฐฯที่ขยายตัวจะช่วยสนับสนุนการส่งออกทั้งหมดของไทยให้เติบโตดีขึ้นเนื่องจากสหรัฐฯเป็นตลาดส่งออกที่สำคัญของไทยคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 9.9 ของการส่งออกทั้งหมดของไทยในช่วง 2 เดือนแรกของปี 2553 แม้ว่าสัดส่วนนี้ได้ปรับลดลงจากร้อยละ 12.6 ในปี 2550 ที่เป็นช่วงก่อนเกิดวิกฤตเศรษฐกิจในรอบนี้

ทั้งนี้ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เห็นว่า การส่งออกของไทยไปสหรัฐฯขยายตัวค่อนข้างดีในช่วง 2 เดือนแรกของปีนี้เนื่องจากมีปัจจัยที่สนับสนุนการส่งออกจากเศรษฐกิจสหรัฐฯที่ฟื้นตัวได้ดีขึ้น โดยเศรษฐกิจสหรัฐฯไตรมาส 4 ปี 2552 ขยายตัวร้อยละ 5.9 ขยายตัวสูงสุดในรอบ 6 ปี ส่งผลให้เศรษฐกิจสหรัฐฯปี 2552 หดตัวไม่สูงนักโดยหดตัวร้อยละ 2.4 และคาดว่าน่าจะฟื้นตัวต่อเนื่องโดยอาจขยายตัวได้ร้อยละ 2.8 ในไตรมาสแรกของปี 2553 แนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯจะมีบทบาทขับเคลื่อนการส่งออกของไทยไปสหรัฐฯให้ขยายตัวในอัตราเร่งขึ้นในช่วงครึ่งแรกของปี 2553 อย่างไรก็ตามยังมีปัจจัยท้าทายหลายประการที่อาจส่งผลต่อเศรษฐกิจและการค้าของสหรัฐฯในช่วงครึ่งหลังของปีซึ่งอาจกระทบต่อส่งออกของไทยไปสหรัฐฯให้ชะลอตามไปด้วย โดยมีประเด็นสำคัญ ดังนี้

การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกส่งผลให้การส่งออกของสหรัฐฯปรับตัวดีขึ้น โดยในเดือนมกราคมการส่งออกของสหรัฐฯขยายตัวร้อยละ 18.3(YoY) ขยายตัวสูงสุดในรอบ 17 เดือน การส่งออกที่ขยายตัวสนับสนุนการผลิตในประเทศให้ขยายตัวโดยดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรม(Industrial Production Index)เดือนกุมภาพันธ์ขยายตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 2 ในอัตราร้อยละ 0.5 โดยเฉพาะการผลิตยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ขยายตัวร้อยละ 4.9 และร้อยละ 0.3 ตามลำดับ ภาคการผลิตของสหรัฐฯที่ปรับตัวดีขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจโลกทำให้มีความต้องการนำเข้าสินค้าเพื่อการผลิตเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะสินค้าทุนและวัตถุดิบขั้นกลางส่งผลให้สินค้าส่งออกของไทยไปสหรัฐฯหลายรายการปรับตัวดีขึ้น เช่น อุปกรณ์/ส่วนประกอบคอมพิวเตอร์ ผลิตภัณฑ์ยาง และส่วนประกอบเครื่องใช้ไฟฟ้า เป็นต้น

การส่งออกของไทยไปสหรัฐฯในเดือนกุมภาพันธ์มีอัตราเติบโตสูงที่สุดในรอบ 18 เดือน โดยขยายตัวร้อยละ 19.3 เนื่องจากฐานเปรียบเทียบในปี 2552 ที่อยู่ในระดับต่ำเพราะวิกฤตเศรษฐกิจทำให้การส่งออกของไทยไปสหรัฐฯปี 2552 หดตัวร้อยละ 17.8 ถือว่าเป็นการลดลงค่อนข้างมากเมื่อเทียบกับการส่งออกทั้งหมดของไทยไปทั่วโลกที่ลดลงร้อยละ 14.2 ซึ่งการส่งออกของไทยไปสหรัฐฯที่ขยายตัวต่อเนื่องแสดงถึงการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯที่ส่งผลให้ความต้องการนำเข้าสินค้าจากไทยเพิ่มขึ้นทำให้การส่งออกของไทยไปสหรัฐฯฟื้นตัวจากจุดต่ำสุดที่หดตัวร้อยละ 30 ในเดือนพฤษภาคม 2552

อัตราการว่างงานของสหรัฐฯในเดือนกุมภาพันธ์ชะลอลงอยู่ที่ระดับร้อยละ 9.7 เมื่อเทียบกับช่วงปลายปี 2552 ที่อยู่ที่ระดับร้อยละ 10.1 คาดว่าสิ้นปี 2553 อัตราการว่างงานจะชะลอลงเหลือร้อยละ 9.25 ส่งผลให้การบริโภคของสหรัฐฯมีสัญญาณปรับตัวดีขึ้น สะท้อนจากยอดค้าปลีกเดือนกุมภาพันธ์ที่ขยายตัวร้อยละ 4.37 ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 ภายหลังจากที่หดตัวติดต่อกันนานถึง 14 เดือน ส่งผลให้มีความต้องการบริโภคสินค้าและวัตถุดิบ/สินค้าจากต่างประเทศให้ขยายตัวตามไปด้วยจะเห็นได้จากการนำเข้าของสหรัฐฯเดือนมกราคมขยายตัวร้อยละ 11.3(YoY) โดยการส่งออกสินค้าไทยที่ขยายตัวตามความต้องการบริโภคของสหรัฐฯ ได้แก่ คอมพิวเตอร์ การสื่อสาร และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น แต่อย่างไรก็ตามอัตราการว่างงานที่ยังอยู่ในระดับสูงแม้ว่าจะชะลอลงบ้างแล้วอาจกดดันการบริโภคทำให้ไม่สามารถขยายตัวได้เต็มที่

เป็นที่น่าสังเกตว่าการส่งออกของไทยไปสหรัฐฯในช่วง 2 เดือนแรกปี 2553 ขยายตัวร้อยละ 17.6 ถือได้ว่าเป็นการเติบโตในอัตราที่ต่ำกว่าการขยายตัวของการส่งออกโดยรวมของไทยที่อยู่ที่ร้อยละ 26.8 ในช่วงเดียวกัน รวมทั้งต่ำกว่าการส่งออกไปตลาดญี่ปุ่นที่ขยายตัวร้อยละ 22.1 และสหภาพยุโรปขยายตัวร้อยละ 20.6 สาเหตุสำคัญน่าจะเป็นเพราะผลกระทบของวิกฤตเศรษฐกิจโลกที่มีต้นกำเนิดจากสินเชื่อคุณภาพต่ำในภาคอสังหาริมทรัพย์ของสหรัฐฯ และส่งผลลุกลามไปภาคเศรษฐกิจต่างๆ กดดันให้ภาคการบริโภคของสหรัฐฯยังอ่อนแรงทำให้การฟื้นตัวของภาคเศรษฐกิจต่างๆของสหรัฐฯจึงเป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยสินค้าส่งออกหลักของไทยไปสหรัฐฯที่ขยายตัวค่อนข้างดี(YoY) ได้แก่ คอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ(+31.5%) อาหารทะเลกระป๋อง/แปรรูป(+29.4%) ผลิตภัณฑ์ยาง(+33.9%) อัญมณีและเครื่องประดับ(+46.3%) เครื่องใช้ไฟฟ้า/ส่วนประกอบ(+39.9%) แต่สำหรับบางสินค้าแม้ว่าจะปรับตัวดีขึ้นแต่ยังคงหดตัว ได้แก่ เสื้อผ้าสำเร็จรูป(-19.1%) แผงวงจรไฟฟ้า(-0.01%) ข้าว(-11.5%) กุ้งสดแช่เย็น/แช่แข็ง(-0.6%) เครื่องจักร/ส่วนประกอบ(-2.5%) เป็นต้น

การส่งสัญญาณเพิกถอนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจบางส่วนของสหรัฐฯ เพื่อชะลอภาวะเงินเฟ้อและบรรเทาปัญหาการขาดดุลงบประมาณการคลังที่อยู่ในระดับสูง เช่น การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย Discount Rate และการยกเลิกมาตรการสนับสนุนการซื้อบ้านใหม่ เป็นต้น อาจส่งผลให้การบริโภครวมถึงการใช้จ่ายของประชาชนชะลอลง แม้ว่าธนาคารกลางสหรัฐฯส่งสัญญาณขยายเวลาคงอัตราดอกเบี้ยระดับต่ำที่ร้อยละ 0-0.25 จนถึงสิ้นปี 2553 เพื่อช่วยลดต้นทุนการกู้ยืมและกระตุ้นการบริโภคให้ขยายตัวได้มากขึ้น แต่เศรษฐกิจสหรัฐฯยังมีปัจจัยเสี่ยงจากสถานะการขาดดุลการคลังของรัฐบาลที่มีมูลค่าขาดดุลสูงถึง 1.4 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณร้อยละ 10 ต่อ GDP และภาวะเงินเฟ้อในเดือนกุมภาพันธ์ที่อยู่ที่ร้อยละ 2.2(YoY) หากทิศทางเงินเฟ้อปรับตัวสูงขึ้นตามราคาสินค้าโภคภัณฑ์อาจกดดันให้ทางการสหรัฐฯปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางเพื่อชะลออัตราเงินเฟ้อคาดว่าอย่างเร็วการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯน่าจะอยู่ในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปีนี้ซึ่งอาจส่งผลต่อการบริโภคของประชาชนให้อ่อนแรงลงในที่สุด

อัตราแลกเปลี่ยนของไทยต่อเหรียญสหรัฐฯในช่วงไตรมาสแรกของปีที่แข็งค่ามากขึ้นราวร้อยละ 3.1 จากช่วงต้นปี ซึ่งทิศทางการแข็งค่าเริ่มมาตั้งแต่ไตรมาสแรกของปี 2552 ต่อเนื่องมาจนปัจจุบัน ซึ่งค่าเงินบาทที่แข็งค่าอาจส่งผลต่อการส่งออกสินค้าของไทยให้มีความลำบากมากขึ้นเนื่องจากทำให้ราคาสินค้าไทยในสายตาสหรัฐฯมีราคาสูงขึ้นแม้ว่าทิศทางค่าเงินบาทจะปรับตัวในทิศทางเดียวกับค่าเงินในภูมิภาคอาเซียน แต่ราคาสินค้าโดยเปรียบเทียบระหว่างอาเซียนด้วยกันไทยอาจเสียเปรียบ โดยเฉพาะสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมการเกษตร รวมทั้งสินค้าที่ใช้แรงงานมากซึ่งไทยมีต้นทุนแรงงานสูงกว่าหลายประเทศอย่างเวียดนามและอินโดนีเซีย ก็อาจได้รับผลกระทบด้วย ได้แก่ เสื้อผ้าและเครื่องนุ่งห่ม และสินค้าเกษตร เป็นต้น

กล่าวโดยสรุปได้ว่า การส่งออกของไทยไปสหรัฐฯในเดือนกุมภาพันธ์ที่ขยายตัวเร่งขึ้นเป็นร้อยละ 19.3 ได้รับปัจจัยบวกจากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ รวมทั้งฐานเปรียบเทียบการส่งออกในปีก่อนหน้าที่อยู่ในระดับต่ำ ส่งผลให้การส่งออกของไทยไปยังสหรัฐฯในปี 2553 มีทิศทางปรับตัวดีขึ้น โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย เห็นว่า ในช่วงครึ่งแรกของปีการส่งออกของไทยไปสหรัฐฯมีแนวโน้มขยายตัวเป็นบวกในอัตราเร่งค่อนข้างสูง เนื่องจากฐานเปรียบเทียบในปีก่อนหน้าที่อยู่ในระดับต่ำ สำหรับในช่วงครึ่งหลังของปีคาดว่าจะมีการขยายตัวชะลอลงกว่าในช่วงครึ่งแรกของปีเนื่องจากฐานเปรียบเทียบของการส่งออกไทยไปสหรัฐฯในครึ่งหลังของปี 2552 ที่ปรับตัวดีขึ้น โดยการส่งออกของไทยไปยังสหรัฐฯในช่วงครึ่งหลังของปี 2552 เริ่มฟื้นตัวมากขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจสหรัฐฯที่มีทิศทางฟื้นตัวอย่างชัดเจนขึ้นจะเห็นได้ว่าการขยายตัวทางเศรษฐกิจสหรัฐฯไตรมาสที่ 4 ของปี 2552 มีอัตราสูงที่สุดในรอบ 6 ปี โดยขยายตัวร้อยละ 5.9(YoY) แต่อย่างไรก็ตามการส่งออกของไทยไปยังสหรัฐฯยังมีปัจจัยท้าทายที่ต้องจับตา ได้แก่ ทิศทางอัตราแลกเปลี่ยนของไทยต่อเหรียญสหรัฐฯที่มีแนวโน้มแข็งค่าอาจส่งผลให้ไทยเสียเปรียบด้านความสามารถในการแข่งขันด้านราคากับสินค้าของประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะหากอัตราการแข็งค่าสูงกว่าประเทศอื่นๆ รวมทั้งการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯที่อยู่ในระยะเริ่มแรกโดยได้รับแรงสนับสนุนจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของทางการสหรัฐฯ แต่ปัญหาการว่างงานที่คาดว่าจะยังคงอยู่ระดับสูงประมาณร้อยละ 9 ตลอดปี 2553 ประกอบกับภาวะการขาดดุลการคลังที่ค่อนข้างสูง อาจส่งผลให้สหรัฐฯอาจต้องทยอยถอนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรวมถึงการใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้น ซึ่งอาจส่งผลให้เศรษฐกิจสหรัฐฯเติบโตชะลอลงทำให้ภาคการบริโภคของสหรัฐฯอาจอ่อนแรงตามไปด้วย ซึ่งในที่สุดแล้วอาจกระทบต่อการส่งออกของไทยไปสหรัฐฯให้ชะลอลงได้ในช่วงครึ่งหลังของปี ส่งผลให้สินค้าส่งออกสำคัญของไทยไปสหรัฐฯยังอาจไม่สามารถฟื้นตัวอย่างเต็มที่ เช่น สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม และเครื่องใช้ไฟฟ้า เป็นต้น