เครื่องปรับอากาศในประเทศปี 2553 : อานิสงส์อากาศร้อนจัด … ผู้ประกอบการระดมแคมเปญสู้

ภาวะตลาดเครื่องปรับอากาศนับได้ว่ามีการแข่งขันที่รุนแรงไม่แพ้สภาพอากาศที่กำลังร้อนระอุอยู่ในขณะนี้ ผู้ผลิตต่างขับเคี่ยวกันอย่างเข้มข้น เพื่อแย่งชิงกันเป็นผู้นำตลาด โดยต่างชูนวัตกรรมใหม่ๆ ในผลิตภัณฑ์สินค้าที่แตกต่างจากคู่แข่งมาเป็นจุดขาย อาทิเช่น เทคโนโลยีที่ประหยัดพลังงานมากขึ้น ระบบปรับอากาศที่สามารถปรับปริมาณและควบคุมสารทำความเย็นหรือน้ำยาแอร์ได้อัตโนมัติ ประสิทธิภาพระบบฟอกอากาศที่สามารถขจัดกลิ่น และยับยั้งการกระจายตัวของเชื้อโรค ไวรัส เชื้อรา การชูนวัตกรรมความเงียบ และเทคโนโลยีที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เป็นต้น รวมถึงการออกแบบรูปลักษณ์ให้เข้ากลับไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคมากขึ้น โดยในช่วงฤดูการขายเครื่องปรับอากาศนี้ (เดือนมีนาคม และเดือนเมษายน) ผู้ผลิตและผู้ประกอบการตัวแทนจำหน่ายมีการนำสินค้าที่เหลือค้างสต๊อกจากปีก่อน มาจัดโปรโมชั่นพิเศษลดราคา เพื่อเร่งระบายสินค้า รวมถึงการเปิดตัวสินค้ารุ่นใหม่เข้าสู่ตลาดกันอย่างคึกคัก จากรายงานของสถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ พบว่า ในช่วงเดือนมกราคม ถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2553 ปริมาณการจำหน่ายเครื่องปรับอากาศในประเทศมีอัตราการเติบโตกว่าร้อยละ 44.7 เมื่อเทียบกับในช่วงเดียวกันของปีก่อน

นอกจากการเติบโตของตลาดเครื่องปรับอากาศจะมีปัจจัยหนุนจากสภาวะอากาศที่ร้อนอบอ้าวอย่างมากในปีนี้แล้ว ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มีความเห็นว่า ตลาดเครื่องปรับอากาศยังน่าจะได้รับปัจจัยบวกที่น่าจะเป็นแรงหนุนที่ดีต่อตลาดเครื่องปรับอากาศในปี 2553 ดังนี้

ภาวะรายได้และการจ้างงานที่ปรับตัวดีขึ้น ส่งผลต่ออำนาจซื้อของผู้บริโภค จากตัวเลขเศรษฐกิจที่สะท้อนการฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่ง และคาดว่าจะฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องในระยะข้างหน้า ซึ่งการฟื้นตัวของเศรษฐกิจทำให้ผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นต่อรายได้ความมั่นคงในหน้าที่การงาน และเอื้ออำนวยต่ออารมณ์การจับจ่ายของผู้บริโภค จึงคาดว่าการจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภคในปีนี้จะปรับตัวดีขึ้น ซึ่งจะส่งผลต่อดีต่อตลาดเครื่องปรับอากาศ โดยเฉพาะตลาดสินค้าทดแทน (Replacement Market) ให้ปรับตัวดีขึ้น ภายหลังจากที่ชะลอตัวลงในปีที่ผ่านมา

แนวโน้มการเติบโตของตลาดอสังหาริมทรัพย์เป็นปัจจัยหนุนต่อตลาดเครื่องปรับอากาศ การเติบโตของตลาดเครื่องปรับอากาศ ส่วนหนึ่งขึ้นอยู่กับการลงทุนพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์ใหม่ๆ ซึ่งช่องทางการตลาดอีกช่องทางหนึ่งของผู้ผลิตเครื่องปรับอากาศ คือ การจำหน่ายผ่านโครงการอสังหาริมทรัพย์ทั้งโครงการบ้านเดี่ยว ทาวเฮาส์ อาคารชุด (ซึ่งผู้ประกอบการโครงการอสังหาริมทรัพย์บางรายมีการจัดโปรโมชั่นแคมเปญแจกของสมนาคุณเครื่องปรับอากาศให้แก่ลูกค้าของโครงการ) นอกจากนี้ ยังมีแรงหนุนจากการเร่งซื้อและโอนที่อยู่อาศัย เพื่อให้ทันมาตรการกระตุ้นธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ โดยคาดว่า ในปี 2553 นี้ จะมีจำนวนที่อยู่อาศัยใหม่ในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑลเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาหรือประมาณ 76,500 หน่วย (ไม่รวมโครงการบ้านเอื้ออาทร)1

ในด้านอสังหาริมทรัพย์ประเภทพาณิชยกรรมในปี 2553 มีแนวโน้มดีขึ้น โดยภาคเอกชนส่วนใหญ่เริ่มเปิดตัวแผนการลงทุนโครงการใหม่ออกสู่ต่างจังหวัดมาก อาทิ ดิสท์เคานท์สโตร์ คอนวิเนียนสโตร์ อาคารพาณิชย์ เป็นต้น อีกทั้งการลงทุนโครงการต่างๆ ของภาครัฐภายใต้โครงการไทยเข้มแข็ง เช่น การก่อสร้างโรงพยาบาล เป็นต้น ทำให้ตลาดเครื่องปรับอากาศพาณิชยกรรมน่าจะมีทิศทางเติบโตได้ดีในปีนี้เช่นกัน

ภาวะการแข่งขันในตลาดที่รุนแรงมีผลต่อราคาเครื่องปรับอากาศ แนวโน้มเศรษฐกิจและการเติบโตของอสังหาริมทรัพย์ของประเทศที่มีทิศทางการเติบโตที่ดีในปี 2553 นี้ ทำให้ผู้ผลิตและตัวแทนจำหน่ายสินค้าต่างโหมแคมเปญกระตุ้นตลาด เพื่อเร่งยอดขายให้เป็นไปตามเป้า โดยผู้ผลิตต่างพยายามนำจุดเด่นของสินค้ามาเป็นจุดขายในการจูงใจให้ลูกค้าเลือกซื้อสินค้าของตน อาทิ การชูนวัตกรรมใหม่ทางด้านเทคโนโลยีของเครื่องปรับอากาศ ที่สร้างความแตกต่างของผลิตภัณฑ์ด้วยเทคโนโลยีเฉพาะตัว รวมถึงการใช้กลยุทธ์ด้านราคา เข้ามาช่วงชิงส่วนแบ่งทางการตลาด จะเห็นได้ว่าในปัจจุบันผู้บริโภคสามารถซื้อเครื่องปรับอากาศขนาด 9,000 บีทียู ในราคาที่ต่ำกว่า 10,000 บาท ได้ จากการแข่งขันที่รุนแรงในตลาด คาดว่าจะส่งผลให้แนวโน้มราคาเครื่องปรับอากาศในปี 2553 นี้ ลดลงจากปีที่ผ่านมา เมื่อเทียบกับเครื่องปรับอากาศที่มีคุณสมบัติที่ใกล้เคียงกัน ซึ่งการปรับลดราคาลงมาจะช่วยให้ฐานลูกค้าของผู้ผลิตมีจำนวนเพิ่มขึ้นเช่นกัน

อย่างไรก็ดี ราคาเครื่องปรับอากาศที่ปรับลดลงในปีนี้ สาเหตุส่วนหนึ่งมาจากเมื่อเดือนสิงหาคม ปี 2552 ที่ผ่านมา รัฐบาลได้มีมติยกเว้นการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตเครื่องปรับอากาศที่มีขนาดทำความเย็นไม่เกิน 72,000 บีทียูต่อชั่วโมง (ชนิดที่ใช้กับอาคารสำนักงานและบ้านพักอาศัย แต่ไม่รวมถึงเครื่องปรับอากาศชนิดที่ใช้กับรถยนต์) ลงเหลือร้อยละ 0.0 จากเดิมที่จัดเก็บภาษีตามมูลค่าที่ร้อยละ 15.0

อย่างไรก็ตามแนวโน้มตลาดเครื่องปรับอากาศในปี 2553 นี้ ยังมีปัจจัยเสี่ยงที่อาจส่งผลต่อการเติบโตของตลาด ได้แก่ ปัจจัยการเมืองในประเทศ ซึ่งหากการชุมนุมของกลุ่มผู้ชุมนุมต่อต้านรัฐบาล ยังคงยืดเยื้อก็อาจส่งผลกระทบต่ออารมณ์การจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภค โดยเฉพาะผู้บริโภคที่มีความต้องการจะเปลี่ยนเครื่องปรับอากาศใหม่ในช่วงนี้ ทำให้ผู้ผลิตอาจต้องปรับกลยุทธ์การตลาด อาทิเช่น การเพิ่มช่องทางการจัดจำหน่ายผ่านทางร้านค้าตัวแทนจำหน่าย ผ่านช่องทางเว็บไซต์ การจัดกิจกรรมร่วมมือกับพันธมิตรร้านค้าตัวแทนจำหน่าย เพื่อกระตุ้นและจูงใจผู้บริโภค เป็นต้น นอกจากนี้เสถียรภาพการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกยังคงเป็นประเด็นที่ต้องติดตาม แม้ว่าตัวเลขสำคัญทางเศรษฐกิจในสหรัฐ และในยุโรปบางประเทศ เริ่มปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้นก็ตาม แต่ปัญหาด้านการคลังของประเทศสมาชิกยูโรโซนบางประเทศที่ยังคงกดดันการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก รวมถึงอาจกระทบการเติบโตของเศรษฐกิจไทยได้เช่นกัน

จากปัจจัยดังกล่าวข้างต้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ยอดจำหน่ายเครื่องปรับอากาศในประเทศในปี 2553 จะมีประมาณ 1,090,000 – 1,150,000 เครื่อง ขยายตัวประมาณร้อยละ 10.0 -15.0 จากที่ขยายตัวประมาณร้อยละ 9.3 ในปี 2552 ในขณะที่มูลค่าตลาดเครื่องปรับอากาศในปี 2553 น่าจะมีประมาณ 16,500 – 17,250 ล้านบาท เติบโตร้อยละ 10.0 -15.0 จากที่ขยายตัวประมาณร้อยละ 7.8 ในปี 2552

โดยสรุป แนวโน้มตลาดเครื่องปรับอากาศในปี 2553 นี้ น่าจะมีการเติบโตในทิศทางที่ดีขึ้น ซึ่งนอกจากจะมีสาเหตุมาจากภาวะอากาศที่ร้อนอย่างมากแล้ว ตลาดยังได้รับปัจจัยหนุนจากภาวะเศรษฐกิจไทยที่ฟื้นตัวอย่างชัดเจน และคาดว่าจะฟื้นตัวต่อเนื่องในระยะข้างหน้า รวมถึงการดำเนินนโยบายการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องของรัฐบาลน่าจะมีผลต่อเนื่องไปสู่การกระตุ้นการลงทุนของภาคเอกชน โดยเฉพาะการลงทุนในด้านอสังหาริมทรัพย์ที่คาดว่าจะมีโครงการใหม่เปิดตัวเพิ่มขึ้นจากในปีที่ผ่านมา และกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่กระเตื้องขึ้นน่าจะส่งผลต่อกำลังซื้อของผู้บริโภค รวมทั้งความมั่นใจต่อรายได้ให้ปรับตัวดีขึ้น ซึ่งเป็นปัจจัยสนับสนุนการเติบโตของตลาดเครื่องปรับอากาศในปีนี้ ทำให้ผู้ผลิตคงจะเผชิญกับการแข่งที่รุนแรงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ภาวะการแข่งขันที่กำลังขับเคี่ยวกันอย่างเข้มข้นในตลาดเครื่องปรับอากาศ โดยเฉพาะในตลาดผู้บริโภคซึ่งมีสัดส่วนการตลาดที่สูงกว่าตลาดเครื่องปรับอากาศสำหรับอาคารพาณิชยกรรม หรือตลาดองค์กร โดยผู้ผลิตคงจะมีการปรับกลยุทธ์การตลาดในเชิงรุกมากขึ้น ซึ่งผู้ผลิตส่วนหนึ่งคงจะเน้นกลยุทธ์ทางด้านราคาจำหน่ายมาช่วงชิงส่วนแบ่งการตลาด โดยบางรายมีการปรับลดราคาลงให้ใกล้เคียงกับคู่แข่ง การจัดรายการส่งเสริมการขายร่วมกับพันธมิตรตัวแทนจำหน่ายด้วยการนำระบบเงินผ่อนในอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำ เพื่อเร่งการตัดสินใจของลูกค้า ในขณะที่ผู้ผลิตบางรายเลือกที่จะไม่ใช้กลยุทธ์ด้านราคาเข้ามาสู้ในตลาด แต่จะใช้การชูจุดเด่น และนวัตกรรมทางเทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อสร้างความแตกต่างในตัวสินค้า โดยเฉพาะเทคโนโลยีประหยัดพลังงาน การชูเครื่องปรับอากาศเพื่อสุขภาพ โดยการเพิ่มเทคโนโลยีระบบฟอกอากาศที่สามารถยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อโรคประเภทต่างๆ ได้ เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่มีความแตกต่างกัน รวมถึงกลุ่มผู้บริโภคที่เน้นคุณสมบัติในตัวเครื่องมากกว่าปัจจัยด้านราคา สำหรับตลาดแอร์ที่คาดว่าจะมีการเติบโตมากในปีนี้ คือ เครื่องปรับอากาศในครัวเรือนขนาด 9,000-13,000 บีทียู เนื่องจากมีราคาที่ไม่สูงนัก

อย่างไรก็ดีภาวะการแข่งขันในตลาดผู้ผลิตเครื่องปรับอากาศในประเทศยังต้องเผชิญกับการแข่งขันจากสินค้านำเข้าจากต่างประเทศ ซึ่งจะมีราคาที่ถูกกว่าเครื่องปรับอากาศที่ผลิตในประเทศ ทำให้ผู้ผลิตในประเทศบางรายจำต้องปรับกลยุทธ์ โดยมีการเพิ่มไลน์สินค้าให้ครอบคลุมกับทุกตลาดมากขึ้น เช่น การผลิตสินค้ารุ่นใหม่โดยมีการปรับเปลี่ยนคุณสมบัติให้เหมาะสมกับราคา หรือ Fighting product ที่มีราคาไม่สูงนัก และคาดว่าจะมีการเติบโตมากในปีนี้ เพื่อที่ผู้ผลิตจะสามารักษาส่วนแบ่งในตลาดได้ โดยเฉพาะตลาดระดับกลาง และตลาดล่าง ซึ่งเป็นกลุ่มลูกค้าที่มีขนาดใหญ่ และจากการแข่งขันในตลาดที่มีความรุนแรงขึ้น ย่อมที่จะผลดีต่อผู้บริโภคที่จะมีโอกาสเลือกสินค้าที่มีความหลากหลายทั้งคุณสมบัติ และราคามากขึ้น อย่างไรก็ตามภายใต้สภาพแวดล้อมที่มีการเปิดนำเข้าสินค้าภายใต้กรอบการค้าเสรีมากขึ้นนี้ ภาครัฐอาจมีการกำหนดมาตรฐานสินค้า ที่จะคุ้มครองผู้บริโภคและป้องกันการนำเข้ามาของสินค้าด้อยคุณภาพจากต่างประเทศควบคู่ด้วยเช่นกัน