ส่งออกเดือนเม.ย. ชะลอตัวลง … แนวโน้มยังต้องระวังความเสี่ยงเศรษฐกิจโลก และผลข้างเคียงจากการเมือง

การส่งออกในเดือนเมษายน 2553 โดยเฉพาะการส่งออกที่ไม่รวมทองคำ มีอัตราการขยายตัวชะลอตัวลงค่อนข้างมาก จากที่ขยายตัวสูงกว่าร้อยละ 40 ในเดือนก่อนหน้า และเมื่อเปรียบเทียบในเชิงมูลค่า (ที่ปรับผลของฤดูกาลแล้ว) นับว่าเป็นระดับที่ลดลงจากเดือนมีนาคม ซึ่งสัญญาณการชะลอตัวดังกล่าว เป็นสิ่งที่ต้องติดตามว่าจะเป็นเพียงปัจจัยชั่วคราว หรือว่าเป็นจุดเริ่มของการชะลอตัวในระยะต่อไป เนื่องจากมีความกังวลเพิ่มมากขึ้นต่อความเสี่ยงของเศรษฐกิจโลกจากวิกฤตหนี้สินของกรีซที่อาจลุกลามไปสู่ประเทศเสี่ยงอื่นๆ ในภูมิภาคยุโรป ขณะเดียวกัน ปัญหาทางการเมืองในประเทศก็อาจเป็นปัจจัยที่ต้องให้ความระมัดระวัง แม้ว่าไม่มีผลกระทบโดยตรงต่ออุปสงค์ของการส่งออกของไทย แต่อาจมีผลข้างเคียงจากเหตุการณ์ไม่คาดคิด ที่อาจเป็นอุปสรรคต่อกิจกรรมการส่งออกได้

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้วิเคราะห์ถึงแนวโน้มปัจจัยต่างๆ ที่จะมีผลต่อการส่งออกในระยะข้างหน้า โดยมีประเด็นสำคัญ ดังนี้
การส่งออกของไทยในเดือนเมษายน 2553 ชะลอตัวลงจากเดือนก่อนหน้า
โดยการส่งออกมีมูลค่า 14,091 ล้านดอลลาร์ฯ ขยายตัวร้อยละ 35.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (Year-on-Year) ชะลอลงจากที่เติบโตในอัตราสูงสุดในรอบ 20 เดือนที่ร้อยละ 40.9 เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากพิจารณาถึงมูลค่าการส่งออกที่ไม่รวมทองคำ มีอัตราการขยายตัวชะลอค่อนข้างแรงโดยอยู่ที่ร้อยละ 26.6 จากที่ขยายตัวร้อยละ 43.6 ในเดือนก่อนหน้า และเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า มูลค่าการส่งออกโดยรวมที่ปรับฤดูกาลของเดือนเมษายนก็หดตัวลงประมาณร้อยละ 2 (Seasonally Adjusted Month-on-Month) ด้านการนำเข้าในเดือนเมษายนมีมูลค่า 14,357 ล้านดอลลาร์ฯ ขยายตัวร้อยละ 46.0 (YoY) ชะลอลงจากร้อยละ 59.7 ในเดือนก่อน แต่ยังเป็นระดับที่ดีกว่าการส่งออก จึงส่งผลให้ดุลการค้าในเดือนเมษายนขาดดุล 266 ล้านดอลลาร์ฯ เป็นการขาดดุลครั้งแรกในรอบ 17 เดือน

การชะลอตัวของการส่งออกในเดือนเมษายน มีปัจจัยสำคัญมาจากการชะลอตัวของสินค้ากลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งเป็นสินค้าส่งออกสำคัญอันดับ 1 ของไทย ที่ขยายตัวเหลือเพียงร้อยละ 7.3 (YoY) ชะลอลงอย่างมากจากร้อยละ 46.6 ในเดือนมีนาคม และเฉลี่ยร้อยละ 52.7 ในไตรมาสแรกของปี 2553 ซึ่งอาจเป็นผลของการชะลอคำสั่งซื้อในต่างประเทศหลังจากผู้ซื้อในต่างประเทศปรับเพิ่มระดับสินค้าคงคลังขึ้นมาแล้วในไตรมาสที่ผ่านมา จึงทำให้การส่งออกสินค้าประเภทคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ แผงวงจรไฟฟ้า และวงจรพิมพ์ ล้วนแต่ชะลอลงอย่างมาก นอกจากนี้ เป็นที่สังเกตว่า สินค้ากลุ่มอาหารบางรายการก็มีการส่งออกหดตัว เช่น ข้าว ที่หดตัวร้อยละ 9.6 (YoY) และอาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป หดตัวร้อยละ 0.9 ไก่แปรรูป หดตัวร้อยละ 3.0 ส่วนสินค้าอีกประเภท คือ เสื้อผ้าสำเร็จรูปก็หดตัวลงร้อยละ 5.5 อย่างไรก็ดี สินค้าบางกลุ่มยังมีการขยายตัวได้ดีอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะรถยนต์และส่วนประกอบ ที่ขยายตัวสูงถึงร้อยละ 118.7 จากร้อยละ 87.5 ในเดือนก่อน ซึ่งสาเหตุนอกจากเป็นผลของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกแล้ว ยังมีผลของการเริ่มต้นเขตการค้าเสรีอาเซียนอย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง ทั้งในด้านอุปสงค์ที่มีต่อรถยนต์ของไทยที่เพิ่มขึ้นในกลุ่มประเทศอาเซียนจากการปรับลดลงของราคารถยนต์นำเข้าจากไทย และในด้านการผลิตที่มีการขยายกำลังการผลิตของบริษัทรถยนต์ชั้นนำของโลกในประเทศไทย นอกจากนี้ สินค้าสำคัญอื่นๆ ที่ขยายตัวดี เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้า ยางพารา ผลิตภัณฑ์ยาง เหล็ก พลาสติก เคมีภัณฑ์ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เป็นต้น

ภาพการชะลอตัวปรากฏค่อนข้างชัดเจนในตลาดหลัก ขณะที่ในตลาดใหม่ ถ้าไม่รวมการส่งออกทองคำ ก็ชะลอลงเช่นกัน โดยการส่งออกไปยังตลาดหลักขยายตัวร้อยละ 21.0 (YoY) ในเดือนเมษายน ต่ำลงจากร้อยละ 50.1 ในเดือนก่อนหน้า โดยเป็นการชะลอตัวในทุกตลาด ทั้งสหรัฐฯ สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น และอาเซียน 5 ประเทศ สำหรับตลาดใหม่ (รวมตลาดรอง) ขยายตัวร้อยละ 48.4 ในเดือนเมษายน สูงขึ้นจากร้อยละ 33.5 ในเดือนก่อนหน้า แต่ส่วนหนึ่งเป็นผลของการส่งออกทองคำที่มีตลาดเป้าหมายหลักคือ ออสเตรเลีย สวิตเซอร์แลนด์ และฮ่องกง ซึ่งหากไม่รวมทองคำ การส่งออกไปยังตลาดใหม่ก็มีทิศทางขยายตัวชะลอลงเช่นกัน โดยมาอยู่ที่ประมาณร้อยละ 32 จากร้อยละ 38 ในเดือนก่อน ขณะที่ตลาดจีนก็ชะลอตัวมาอยู่ที่ร้อยละ 26.9 จากร้อยละ 48.8 ในเดือนก่อน

สำหรับแนวโน้มในระยะต่อไป ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า แม้การส่งออกในเดือนเมษายนเริ่มมีทิศทางชะลอตัวลง แต่การส่งออกในไตรมาสที่ 2/2553 น่าจะยังคงขยายตัวสูงในระดับประมาณร้อยละ 30 ใกล้เคียงกับในไตรมาสแรก ซึ่งส่วนหนึ่งเนื่องจากผลของฐานเปรียบเทียบที่ต่ำในช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า สำหรับแนวโน้มในช่วงครึ่งหลังของปี 2553 แม้การส่งออกของไทยยังมีปัจจัยหนุนหลายด้าน แต่ก็มีปัจจัยเสี่ยงที่ต้องเฝ้าระวัง ที่สำคัญได้แก่
ปัญหาหนี้สินของกรีซ และโอกาสที่เศรษฐกิจจีนอาจชะลอตัว ซึ่งในกรณีปัญหาวิกฤตหนี้สาธารณะของกรีซนั้น หากลุกลามกระทบประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ของยุโรป ก็อาจมีผลต่อการส่งออกของไทยไปยังภูมิภาคยุโรปได้ ขณะเดียวกัน ก็เริ่มมีความกังวลถึงการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนในระยะข้างหน้า ซึ่งที่ผ่านมา เศรษฐกิจจีนนับว่าเป็นแกนหลักที่หมุนการค้าภายในภูมิภาคเอเชีย ท่ามกลางภาวะที่เศรษฐกิจประเทศพัฒนาแล้วยังฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป ดังนั้น หากเศรษฐกิจจีนชะลอตัว ก็จะส่งผลให้การส่งออกของหลายประเทศในเอเชียที่พึ่งพาการส่งออกไปยังตลาดจีน อาจชะลอลงตามไปด้วย
ประเด็นทางการเมือง ก็เป็นปัจจัยที่ต้องให้ความระมัดระวัง แม้ว่าสถานการณ์การเมืองภายในประเทศจะไม่กระทบต่ออุปสงค์ต่อสินค้าไทยในตลาดโลก แต่เหตุการณ์ความวุ่นวายทางการเมืองอาจทำให้เกิดปัญหาอุปสรรคต่อระบบขนส่งภายในประเทศ และการลำเลียงสินค้าผ่านท่าเรือหรือสนามบิน ซึ่งจะทำให้การส่งออกมีความล่าช้าได้ แต่ ณ ขณะนี้ ถือได้ว่ามาตรการเคอร์ฟิวยังไม่ส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพในการขนส่งมากนัก โดยภาครัฐได้ผ่อนผันให้ผู้ประกอบการขนส่งซึ่งจำเป็นต้องขนส่งสินค้าในช่วงเวลาที่ประกาศห้ามออกนอกเคหะสถาน สามารถเดินรถได้ เพื่อไม่ให้เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินธุรกิจ นอกจากประเด็นด้านโลจิสติกส์แล้ว ปัญหาการเมืองภายในประเทศของไทยอาจทำให้ผู้ซื้อในต่างประเทศที่กังวลต่อความตรงต่อเวลาของการส่งมอบสินค้า อาจกระจายคำสั่งซื้อไปยังประเทศอื่นเพื่อกระจายความเสี่ยง ซึ่งจะทำให้สูญเสียโอกาสของการรับออร์เดอร์ของผู้ประกอบการไทยได้

โดยสรุป แม้ว่าอัตราการขยายตัวของการส่งออกของไทยในเดือนเมษายน 2553 ยังคงมีระดับสูง แต่สัญญาณการส่งออกซึ่งไม่รวมทองคำที่ชะลอตัวลงอย่างมากนั้น ทำให้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ทิศทางการส่งออกนับจากนี้ยังเป็นสิ่งที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด แม้จะคาดว่าการส่งออกในไตรมาสที่ 2/2553 น่าจะยังคงขยายตัวในระดับร้อยละ 30 ใกล้เคียงกับในไตรมาสแรก เนื่องจากผลของฐานที่ต่ำในปีก่อน ขณะที่ยังคงประมาณการอัตราการขยายตัวของการส่งออกของทั้งปี 2553 ไว้ที่ระดับเดิมที่ร้อยละ 17.0-24.0

สำหรับประเด็นสำคัญที่ควรจับตาในระยะต่อไป ได้แก่
การติดตามว่าการชะลอตัวในเดือนเมษายนที่ผ่านมาจะเป็นปัจจัยชั่วคราวหรือเป็นสัญญาณของการชะลอตัวต่อไปในระยะข้างหน้า : เนื่องจากการชะลอลงของการส่งออกสินค้าชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ของไทย เกิดขึ้นสอดคล้องกับอุปสงค์ต่อสินค้าอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ในสหรัฐฯ ที่มีสัญญาณชะลอตัวในเดือนล่าสุด

ผลกระทบของทิศทางค่าเงินบาท : โดยการส่งออกสินค้ากลุ่มอาหารและเสื้อผ้าสำเร็จรูปที่หดตัวลง ในเดือนนี้ อาจต้องมีการประเมินถึงผลของทิศทางการแข็งค่าของเงินบาท ที่แข็งค่าเมื่อเทียบกับประเทศคู่แข่งสำคัญอย่างเวียดนาม และเมื่อเทียบกับค่าเงินยูโร จะมีผลต่อความสามารถในการแข่งขันของสินค้าในกลุ่มเหล่านี้มากน้อยเพียงใด และควรมีมาตรการในการสนับสนุนการปรับตัวของผู้ประกอบการอย่างไร

ผลกระทบจากปัจจัยทางการเมือง : เนื่องจากภาพความรุนแรงทางการเมืองที่ปรากฏสู่สายตาโลก อาจกระทบต่อความเชื่อมั่นของคู่ค้าในการจัดสรรคำสั่งซื้อมาให้แก่ผู้ผลิตในไทย หรือการเดินทางเข้ามาติดต่อเจรจาการค้าในไทย ภาครัฐและผู้ส่งออกเอกชนจึงควรมีมาตรการในการประชาสัมพันธ์เชิงรุก เพื่อลดความกังวลของลูกค้าในต่างประเทศ ขณะที่ควรมีการจัดกิจกรรมในต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สินค้าเข้าถึงคู่ค้าในตลาดเป้าหมาย รวมทั้งการส่งเสริมการใช้ช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ในการประชาสัมพันธ์และการสื่อสารกับคู่ค้าในต่างประเทศ ขณะเดียวกัน ภาครัฐควรต้องมีมาตรการเข้มงวดในการดูแลความปลอดภัยของระบบขนส่งและโลจิสติกส์ ท่าเรือ และสนามบิน ไม่ให้เกิดเหตุการณ์ที่อาจจะเป็นอุปสรรคต่อกิจกรรมการส่งออกของประเทศ