การประชุม 2 มิ.ย. : คาด กนง.คงดอกเบี้ย ติดตามความเสี่ยงทางเศรษฐกิจ

ในวันที่ 2 มิถุนายน 2553 คณะกรรมการนโยบายการเงินของไทย (กนง.) จะมีการประชุมรอบที่ 4 ของปีเพื่อกำหนดทิศทางนโยบายการเงิน หรืออัตราดอกเบี้ยซื้อคืนพันธบัตรระยะ 1 วัน ซึ่งกำหนดอยู่ที่ร้อยละ 1.25 มาตั้งแต่ต้นเดือนเมษายน 2552 จนถึงปัจจุบัน

ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาความเสี่ยงหลักของเศรษฐกิจไทยโดยรวมทั้ง 2 ด้าน คือ ความเสี่ยงด้านการขยายตัวทางเศรษฐกิจ และความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เห็นว่า น้ำหนักความเสี่ยงยังคงเทไปที่ความเสี่ยงด้านการขยายตัวทางเศรษฐกิจมากกว่าความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อ จากปัจจัยลบทั้งในและต่างประเทศ ในขณะที่การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายจากปัจจุบันที่ถือว่าเป็นระดับต่ำไปสู่ระดับที่เป็นปกติมากขึ้น (Normalized) คงต้องรอจังหวะเวลาที่เอื้ออำนวยกว่านี้ โดยประเด็นเกี่ยวกับความเสี่ยงหลักทั้ง 2 ด้านดังกล่าว กล่าวโดยสรุปได้ดังนี้

ความเสี่ยงด้านการขยายตัวทางเศรษฐกิจ … การเยียวยาผลกระทบทางการเมือง อาจต้องใช้เวลา ขณะที่วิกฤตการคลังในภูมิภาคยุโรป และความตึงเครียดทางการเมืองในคาบสมุทรเกาหลี เป็นปัจจัยเสี่ยงจากต่างประเทศ

แม้ว่าขณะนี้สถานการณ์ความวุ่นวายทางการเมืองในประเทศจะคลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้น แต่การฟื้นฟูและเยียวยาผลกระทบจากเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในช่วงเดือนเมษายนและพฤษภาคม ตลอดจนการเรียกคืนความเชื่อมั่นของนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ น่าที่จะยังต้องใช้เวลาอีกพอสมควร ในขณะที่ ความขัดแย้งทางการเมืองที่ยังมีอยู่ ก็อาจมีโอกาสนำไปสู่การเผชิญหน้าของฝ่ายต่างๆ ได้อีกในอนาคต นอกจากนี้ แม้ว่าตัวเลขเศรษฐกิจเบื้องต้นในเดือนเมษายน 2553 อาทิ การส่งออก จะยังปรับตัวอยู่ในเกณฑ์ที่ดี แต่ปัจจัยเสี่ยงจากต่างประเทศ ทั้งวิกฤตหนี้ของบางประเทศในยุโรปที่มีแนวโน้มจะลุกลามไปสู่ภาคธนาคาร และสถานการณ์ความตึงเครียดในคาบสมุทรเกาหลี รวมทั้งแนวโน้มเศรษฐกิจจีนที่อาจชะลอตัวลง อาจส่งผลกระทบในเชิงลบต่อแนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก และมีผลต่อเส้นทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในระยะที่เหลือของปีนี้อย่างยากที่จะหลีกเลี่ยง

ด้วยเหตุนี้ แม้ว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวในอัตราที่แข็งแกร่งสุดในรอบ 15 ปีที่ร้อยละ 12.0 (Year-on-Year: YoY) ในไตรมาส 1/2553 แต่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยยังคงมีมุมมองในเชิงที่ระมัดระวังต่อเส้นทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในระยะที่เหลือของปีนี้ โดยมองว่า ตัวเลขจีดีพีอาจมีแนวโน้มเติบโตชะลอลงในไตรมาสที่เหลือของปี 2553 จากปัจจัยเสี่ยงทั้งในและต่างประเทศที่ยังคงมีอยู่ โดยเศรษฐกิจไทยอาจทรุดตัวลงแรงหรือหดตัวประมาณร้อยละ 5.0 ในไตรมาส 2/2553 เมื่อเทียบกับในไตรมาสแรก (Seasonally Adjusted Quarter-on-Quarter) ขณะที่เมื่อเปรียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน (YoY) แม้จีดีพีไตรมาส 2/2553 จะยังมีค่าในแดนบวกได้ จากผลของฐานเปรียบเทียบ แต่ก็คาดว่าอาจจะขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงมาเหลือเพียงร้อยละ 2.5-3.5 ส่วนตัวเลขจีดีพีทั้งปี 2553 คาดว่าอาจขยายตัวในกรอบประมาณร้อยละ 2.6-4.5

ความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อ … แรงกดดันเงินเฟ้อที่ยังไม่เร่งตัวในระยะสั้น น่าจะเอื้อต่อการดำเนินนโยบายอัตราดอกเบี้ยที่ระดับต่ำได้อย่างต่อเนื่อง

แม้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยจะยังคงคาดการณ์ว่าแรงกดดันเงินเฟ้อของไทยจะมีแนวโน้มขยับสูงขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง โดยอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอาจมีแนวโน้มขยับเข้าใกล้ขอบบนของกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ร้อยละ 1.5-3.0 ในช่วงท้ายปี ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและผลของฐานเปรียบเทียบ แต่อัตราเงินเฟ้อที่ยังมีแนวโน้มไม่เร่งตัวขึ้นมากในระยะอันใกล้นี้ (โดยเฉพาะหลังจากการอ่อนตัวลงของราคาน้ำมันตลาดโลกในระยะที่ผ่านมา และเหตุการณ์ความวุ่นวายทางการเมืองที่อาจส่งผลกระทบต่อแรงกดดันเงินเฟ้อด้านอุปสงค์) น่าจะทำให้ กนง.ยังพอมีพื้นที่สำหรับการคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับต่ำต่อไปอีกระยะหนึ่ง และรอจังหวะเวลาที่เหมาะสมกว่านี้จึงค่อยพิจารณาปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเข้าสู่ระดับที่เป็นปกติมากขึ้น

โดยสรุป ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า คณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทย (กนง.) คงจะมีมติให้ตรึงอัตราดอกเบี้ยซื้อคืนพันธบัตรระยะ 1 วันไว้ที่ร้อยละ 1.25 ตามเดิมในการประชุมรอบที่ 4 ของปีในวันที่ 2 มิถุนายน 2553 เพื่อติดตามความเสี่ยงด้านการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ยังคงมีน้ำหนักเมื่อเทียบกับความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อ ยิ่งในสภาวะที่สถานการณ์การเมืองในประเทศเพิ่งเริ่มคลี่คลาย และยังต้องใช้เวลาพอสมควรในการฟื้นฟูและบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้น ประกอบกับสถานการณ์แวดล้อมทางเศรษฐกิจโลกยังมีความเสี่ยงจากความเป็นไปได้ที่วิกฤตการคลังอาจลุกลามไปสู่ภาคธนาคารในภูมิภาคยุโรป รวมถึงความตึงเครียดทางการเมืองในคาบสมุทรเกาหลีที่ปะทุขึ้น ซึ่งท้ายที่สุดอาจมีผลต่อเส้นทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยอย่างยากที่จะหลีกเลี่ยง ในขณะเดียวกัน แรงกดดันเงินเฟ้อของไทยที่ยังมีแนวโน้มไม่เร่งตัวขึ้นในระยะสั้น ก็น่าที่จะเอื้อให้ กนง.สามารถดำเนินนโยบายอัตราดอกเบี้ยที่ระดับต่ำได้อย่างต่อเนื่อง และรอจังหวะเวลาของสภาพเศรษฐกิจที่เอื้ออำนวยกว่านี้จึงค่อยพิจารณาปรับอัตราดอกเบี้ยเข้าสู่ระดับที่เป็นปกติมากขึ้นต่อไป

ทั้งนี้ การคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับเดิมของ กนง. คงจะส่งผลให้ต้นทุนทางการเงินในประเทศยังมีแนวโน้มทรงตัวอยู่ที่ระดับต่ำต่อไปอีกระยะหนึ่ง (แม้ต้นทุนทางการเงินในต่างประเทศอาจขยับสูงขึ้นจากปัจจัยความไม่แน่นอนทางการเมืองเป็นหลัก) ซึ่งก็น่าจะเป็นปัจจัยที่เอื้อต่อการฟื้นตัวของการใช้จ่ายและการลงทุนในประเทศ สำหรับการแข่งขันทางด้านราคาในเชิงรุกผ่านการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากทั่วไปของสถาบันการเงินนั้น คงจะต้องรอสัญญาณการฟื้นตัวที่ชัดเจนของความต้องการสินเชื่อของภาคธุรกิจและครัวเรือนซึ่งเชื่อมโยงอย่างมากของภาวะเศรษฐกิจ ตลอดจนขึ้นอยู่กับการดำเนินกลยุทธ์เพื่อรับมือกับทางเลือกการออมประเภทอื่นๆ เป็นสำคัญ