คณะรัฐมนตรีชุดใหม่ของญี่ปุ่น … กับการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจภายใต้ปัจจัยท้าทายหลายด้าน

ประเด็นการย้ายฐานทัพฟูเตมมะของสหรัฐฯ บนเกาะโอกินาวา กลายเป็นชนวนปัญหานำมาสู่การลาออกจากตำแหน่งของนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น นายยูคิโอะ ฮาโตยามะ ในวันที่ 2 มิถุนายน ที่ผ่านมา การลาออกเกิดขึ้นท่ามกลางแรงกดดันจากปัญหาความเชื่อมั่นของประชาชน เนื่องจากการไม่สามารถหาข้อสรุปในการย้ายฐานทัพฟูเตมมะของสหรัฐฯ ออกไปตามที่ได้กล่าวไว้ตอนหาเสียงเลือกตั้งได้ นอกจากนั้น ยังมีแรงกดดันจากปัญหาทุจริตคอรัปชัน นอกจากนั้นการที่พรรคสังคมประชาธิปไตย หรือพรรค SDP ซึ่งเป็นหนึ่งในพรรคร่วมรัฐบาล 3 พรรคได้ถอนตัวออกไป ยิ่งเพิ่มแรงกดดันมากขึ้นจนนำไปสู่การตัดสินใจลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในที่สุด

การตัดสินใจลาออกของนายฮาโตยามะ ตามมาด้วยการลาออกของคณะรัฐมนตรีทั้งชุดในวันที่ 4 มิถุนายน แม้การตัดสินใจลาออกของนายฮาโตยามะและคณะรัฐมนตรีไม่น่าจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจญี่ปุ่นมากนัก เนื่องจากบุคคลที่ได้รับเลือกเข้ามารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนต่อไป คือนายนาโอโตะ คัง เคยทำหน้าที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังมาก่อนในคณะรัฐมนตรีชุดที่แล้วและมาจากพรรคประชาธิปไตย (DPJ) เช่นเดียวกัน จึงไม่น่าจะมีผลกระทบด้านความต่อเนื่องของนโยบาย อย่างไรก็ดี ยังมีหลายประเด็นท้าทายเกี่ยวกับเศรษฐกิจญี่ปุ่นสำหรับคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ให้เข้ามาดำเนินการ เพื่อให้การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจดำเนินต่อไปได้อย่างต่อเนื่อง ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้สรุปประเด็นสำคัญเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจและปัจจัยท้าทายต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่นในขณะนี้ ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญสำหรับคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ รวมไปถึงผลกระทบของปัจจัยท้าทายเศรษฐกิจญี่ปุ่นที่อาจส่งผลต่อภาคส่งออกของไทย ดังนี้

ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของญี่ปุ่นกำลังฟื้นตัวดีขึ้น ขับเคลื่อนโดยการส่งออก
ในไตรมาสแรกของปี 2553 ตัวเลข GDP ของญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.6 (YoY) ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นของ GDP รายไตรมาสในอัตราสูงที่สุดในรอบกว่า 12 ปี แม้ว่าตัวเลขที่เพิ่มขึ้นมากส่วนหนึ่งจะเป็นผลจากฐานเทียบที่ต่ำในช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว แต่อีกส่วนหนึ่งก็เป็นผลจากการฟื้นตัวของการส่งออก ซึ่งเป็นตัวจักรขับเคลื่อนที่สำคัญของเศรษฐกิจญี่ปุ่น

การส่งออกของญี่ปุ่นมีทิศทางฟื้นตัวดีขึ้นในไตรมาสสุดท้ายของปี 2552 ต่อเนื่องถึง 4 เดือนแรกของปี 2553 โดยในเดือนเมษายน 2553 มูลค่าการส่งออกขยายตัวถึงกว่าร้อยละ 40 (YoY) ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 ทำให้ความต้องการนำเข้าสินค้าจากญี่ปุ่นฟื้นตัวขึ้น โดยในปี 2552 ตลาดส่งออกหลักของญี่ปุ่นได้แก่ จีน สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป เกาหลีใต้ และไต้หวันตามลำดับ โดยมีสัดส่วนมูลค่าการส่งออกรวมกันเป็นร้อยละ 61.8 ของการส่งออกทั้งหมด

การฟื้นตัวของประเทศคู่ค้าหลัก โดยเฉพาะการเติบโตอย่างก้าวกระโดดของจีน เป็นปัจจัยสำคัญอย่างยิ่งต่อการส่งออกของญี่ปุ่น เนื่องจากเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าที่ฟื้นตัวขึ้น ส่งผลให้กำลังซื้อของประเทศคู่ค้าเพิ่มสูงขึ้น ทำให้มีคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นต่อสินค้าส่งออกหลักของญี่ปุ่น ทั้งสินค้าขั้นสุดท้าย เช่น ยานยนต์ และเครื่องใช้ไฟฟ้า และสินค้าที่เป็นวัตถุดิบอุตสาหกรรม เช่น สารกึ่งตัวนำ วงจรรวม และชิ้นส่วนเครื่องจักร ทำให้การส่งออกของญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นอย่างมากถึงกว่าร้อยละ 40 ใน 4 เดือนแรกของปีนี้ และส่งผลให้ตัวเลข GDP ไตรมาสแรกของญี่ปุ่นกลับมาขยายตัวเป็นบวกได้เป็นไตรมาสแรก

เงินฝืด … ปัญหาสำคัญที่ท้าทายความสามารถรัฐบาลชุดใหม่

ประเทศญี่ปุ่นประสบปัญหาเงินฝืดมาอย่างยาวนานตั้งแต่ช่วงทศวรรษที่ 1990s และเคยฟื้นตัวดีขึ้นได้บ้างในบางปี แต่ผลจากวิกฤตเศรษฐกิจโลกช่วงปลายปี 2551 ก็ส่งผลกระทบให้ญี่ปุ่นกลับไปมีภาวะเงินฝืดอีกครั้ง โดยอัตราเงินเฟ้อของญี่ปุ่นติดลบต่อเนื่องตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2552 จนล่าสุดในเดือนเมษายน 2553 อัตราเงินเฟ้อของญี่ปุ่นติดลบร้อยละ 1.2 (YoY) ติดลบติดต่อกันเป็นเดือนที่ 14 โดยอัตราติดลบเร่งขึ้นจากที่อยู่ที่ร้อยละ 1.1 ในเดือนก่อนหน้า (YoY)

ปัญหาเงินฝืดในญี่ปุ่นมีแรงผลักดันจากปัญหากำลังซื้อภายในประเทศซึ่งตกต่ำลงในปี 2552 จากวิกฤตเศรษฐกิจ สะท้อนโดยดัชนีการขายส่งและขายปลีกภายในประเทศของญี่ปุ่นที่มีทิศทางลดลงตั้งแต่ปี 2552 และได้ฟื้นตัวขึ้นเพียงเล็กน้อยในช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้ แต่ก็ยังคงอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับเมื่อก่อนเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ ปัญหาเงินฝืดที่เกิดขึ้นส่วนหนึ่งเป็นผลกระทบจากอัตราการว่างงานที่เพิ่มขึ้น ทั้งนี้ในเดือนเมษายน อัตราการว่างงานในญี่ปุ่นอยู่ที่ร้อยละ 5.4 เป็นการเพิ่มขึ้นติดต่อกันเป็นเดือนที่ 4 สะท้อนว่าญี่ปุ่นยังมีปัญหาเรื่องภาวะการมีงานทำของประชากร ซึ่งเป็นปัจจัยฉุดรั้งการฟื้นตัวของการบริโภคในประเทศ

อย่างไรก็ดี ปัญหาเงินฝืดในญี่ปุ่นมีสัญญาณการฟื้นตัวดีขึ้นจากความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่มีทิศทางเพิ่มสูงขึ้นหลังวิกฤตเศรษฐกิจช่วงปลายปี 2551 โดยเริ่มเพิ่มขึ้นตั้งแต่ราวไตรมาสที่ 2 ของปี 2552 ต่อเนื่องถึง 4 เดือนแรกของปี 2553 โดยล่าสุดในเดือนเมษายน 2553 ดัชนีอยู่ที่ระดับ 42.1 จุด เป็นการเพิ่มขึ้นติดต่อกันเป็นเดือนที่ 4 เป็นสัญญาณที่ดีว่าผู้บริโภคเริ่มมีความเชื่อมั่นเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากช่วงไตรมาสแรกของปี 2552 ซึ่งอยู่ในภาวะเศรษฐกิจหดตัวต่ำสุด ดังนั้น หนึ่งในประเด็นสำคัญสำหรับผู้ออกนโยบายเศรษฐกิจญี่ปุ่นคือ การกระตุ้นการจ้างงานให้เพิ่มขึ้น รวมไปถึงการรักษาเสถียรภาพของค่าจ้างแรงงาน ซึ่งจะทำให้ประชาชนมีกำลังซื้อเพิ่มขึ้นและมีการจับจ่ายใช้สอยจริงตามมา

ปัญหาสถานะการคลังรัฐบาล จากการที่หนี้ภาครัฐบาลสูงแต่เก็บภาษีได้น้อยลง และอัตราผลตอบแทนตราสารหนี้รัฐบาลที่ต่ำ อีกหนึ่งความท้าทายด้านงบประมาณที่รัฐบาลใหม่ต้องเผชิญ

ในปัจจุบัน ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีหนี้ภาครัฐบาลสูง กล่าวคือในปี 2552 มีสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP เท่ากับร้อยละ 218.6 สูงที่สุดในกลุ่มประเทศ OECD (Organization for Economic Co-operation and Development) และสูงกว่ากรีซซึ่งมีสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ร้อยละ 114.9 หนี้ภาครัฐบาลของญี่ปุ่นมีทิศทางเพิ่มขึ้นมาโดยตลอดกว่า 10 ปีที่ผ่านมา ในขณะที่มูลค่าภาษีที่เก็บได้มีทิศทางลดลงตั้งแต่ประมาณปี 2550 เป็นต้นมา โดยมีสาเหตุสำคัญมาจากการมีประชากรในช่วงวัยทำงานลดลง ส่งผลให้ญี่ปุ่นมีฐานะการคลังรัฐบาลที่ตึงตัวมากขึ้นเรื่อยๆ นอกจากนั้น การที่ประชากรวัยทำงานลดลงแต่กลับมีจำนวนผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้น ทำให้ภาครัฐต้องมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นในการเลี้ยงดูผู้สูงอายุ ซึ่งเป็นการเพิ่มภาระต่อการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐมากยิ่งขึ้น

นอกจากจะต้องเผชิญกับปัญหาการคลังรัฐบาลที่ตึงตัวจากการก่อหนี้ที่สูงในขณะที่เก็บภาษีได้น้อยลงแล้ว ญี่ปุ่นยังอาจต้องเผชิญกับปัญหาข้อจำกัดในการหาแหล่งกู้ยืมในอนาคต เนื่องจากอัตราผลตอบแทนตราสารหนี้รัฐบาลญี่ปุ่นอยู่ในระดับต่ำ ทำให้หนี้ภาครัฐบาลกว่าร้อยละ 90 เป็นการกู้ภายในประเทศเนื่องจากไม่สามารถดึงดูดนักลงทุนต่างชาติได้ ดังนั้นหากในอนาคตรัฐบาลไม่สามารถพึ่งพิงแหล่งเงินกู้ในประเทศได้อีกต่อไป ญี่ปุ่นอาจตกอยู่ในภาวะยากลำบากในการจัดหางบประมาณมาให้เพียงพอแก่การใช้จ่ายตามงบประมาณที่ตั้งไว้

ค่าเงินเยนอยู่ในทิศทางแข็งค่าขึ้น … ปัจจัยกดดันการส่งออกไปยุโรป
วิกฤตหนี้ของกรีซที่กำลังเป็นปัญหาอยู่ในขณะนี้ ส่งผลกระทบต่อสกุลเงินยูโรให้อ่อนค่าลง ทำให้มีความต้องการถือครองสกุลเงินเยนทดแทนเงินยูโรมากขึ้นส่งผลให้ค่าเงินเยนแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับเงินยูโร การแข็งค่าขึ้นของเงินเยนต่อยูโร เป็นปัจจัยกดดันการส่งออกของญี่ปุ่นไปประเทศในยุโรป แม้ว่ามูลค่าการส่งออกใน 4 เดือนแรกของปี 2553 จะเพิ่มขึ้นถึงกว่าร้อยละ 40 (YoY) ติดต่อกันทุกเดือนก็ตาม แต่ความเสี่ยงจากค่าเงินเยนต่อยูโรที่มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นปัจจัยซึ่งรัฐบาลใหม่ควรให้ความสำคัญ เนื่องจากอาจส่งผลกระทบต่อการส่งออกไปยังสหภาพยุโรป ซึ่งเป็นคู่ค้าหลักของญี่ปุ่นได้ ในส่วนของค่าเงินเยนต่อดอลลาร์สหรัฐฯ แม้ค่าเงินเยนต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ค่อนข้างแกว่งตัวในช่วงที่ผ่านมาตั้งแต่ต้นปี แต่อัตราปัจจุบันก็ไม่เปลี่ยนแปลงมากนักเมื่อเทียบกับช่วงต้นปี ทำให้ปัจจัยจากค่าเงินเยนต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ไม่น่าจะกระทบต่อการส่งออกของญี่ปุ่นไปสหรัฐฯ มากนัก ทั้งนี้สหรัฐฯ และสหภาพยุโรป เป็นตลาดส่งออกที่สำคัญอันดับ 1 ของญี่ปุ่น ในปี 2552 สินค้าส่งออกที่สำคัญคือยานยนต์ เครื่องจักร และอุปกรณ์ไฟฟ้า

อย่างไรก็ดี ประเด็นการแข็งค่าขึ้นของเงินเยน เป็นประเด็นสำคัญที่นายนาโอโตะ คัง นายกรัฐมนตรีคนใหม่ของญี่ปุ่นให้ความสำคัญเป็นพิเศษ นอกจากนั้นนายคังยังมีนโยบายควบคุมเงินเยนให้อ่อนค่าลง ดังนั้นหลังการเข้ามารับตำแหน่งน่าจะมีการควบคุมค่าเงินเยนไม่ให้แข็งค่าจนเกินไป ซึ่งอาจช่วยให้การส่งออกของญี่ปุ่นฟื้นตัวได้ดียิ่งขึ้น

ผลกระทบทางอ้อมของการแข็งค่าขึ้นของค่าเงินเยนเมื่อเทียบกับยูโร ต่อการส่งออกของไทย
เนื่องจากสินค้าส่งออกของญี่ปุ่นไปยังสหภาพยุโรป โดยส่วนใหญ่เป็นสินค้ากลุ่มยานยนต์ เครื่องจักร และอุปกรณ์ไฟฟ้า ซึ่งต้องนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศ แนวโน้มการแข็งค่าขึ้นของเงินเยนเมื่อเปรียบเทียบกับยูโรในช่วงที่เหลือของปีนี้ ซึ่งจะส่งผลให้สินค้าส่งออกไปสหภาพยุโรปมีราคาสูงขึ้นในสายตาของผู้นำเข้ายุโรป จึงอาจส่งผลกระทบต่อเนื่องถึงการนำเข้าสินค้าวัตถุดิบจากประเทศไทยสำหรับผลิตเป็นสินค้าส่งออกไปยุโรปที่อาจได้รับผลกระทบให้ชะลอลงตามไปด้วย โดยสินค้าส่งออกที่สำคัญที่อาจได้รับผลกระทบได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ แผงวงจรไฟฟ้า รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบของเครื่อง เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เครื่องใช้ไฟฟ้าและส่วนประกอบ และผลิตภัณฑ์ยาง (เช่น ยางรถยนต์)

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของค่าเงินเยนต่อดอลลาร์สหรัฐฯ แม้ค่าเงินเยนต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ค่อนข้างแกว่งตัวในช่วงที่ผ่านมาตั้งแต่ต้นปี แต่อัตราปัจจุบันก็ไม่เปลี่ยนแปลงมากนักเมื่อเทียบกับช่วงต้นปี ทำให้การส่งออกของญี่ปุ่นไปสหรัฐฯซึ่งเป็นตลาดส่งออกอันดับที่ 1 ของญี่ปุ่นไม่ได้รับผลกระทบมากนัก สำหรับค่าเงินเยนต่อบาท แม้จะค่อนข้างผันผวนในช่วงที่ผ่านตั้งแต่ต้นปี แต่อัตราปัจจุบันก็ไม่เปลี่ยนแปลงมากนักเมื่อเทียบกับช่วงต้นปีเช่นเดียวกับค่าเงินเยนต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ส่งผลให้การส่งออกของไทยไปญี่ปุ่นในปีนี้น่าจะไม่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของค่าเงินเยนต่อดอลลาร์สหรัฐฯเช่นกัน

จากผลกระทบทางอ้อมของการแข็งค่าขึ้นของค่าเงินเยนเมื่อเทียบกับยูโร ทำให้คาดการณ์ว่า แม้การส่งออกของไทยไปญี่ปุ่นในปีนี้มีแนวโน้มขยายตัวเป็นบวก แต่อัตราการขยายตัวอาจชะลอลงในช่วงที่เหลือของปีนี้ หลังจากที่เติบโตกว่าร้อยละ 40 ในช่วง 4 เดือนแรก ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงจากแนวโน้มการแข็งค่าของเงินเยนต่อยูโร ทำให้ความต้องการสินค้าวัตถุดิบขั้นกลางจากไทยเพื่อผลิตส่งออกไปญี่ปุ่นอาจต้องชะลอลงตามไปด้วย และอีกส่วนหนึ่งเนื่องจากฐานเปรียบเทียบที่สูงขึ้นในช่วงที่เหลือของปี 2552

สรุป นายยูคิโอะ ฮาโตยามะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นได้ลาออกจากตำแหน่งเมื่อวันที่ 2 มิถุนายน ตามมาด้วยการลาออกของคณะรัฐมนตรีทั้งคณะในวันที่ 4 มิถุนายน แม้การตัดสินใจลาออกของนายฮาโตยามะไม่น่าจะส่งผลต่อเศรษฐกิจญี่ปุ่นมากนัก เนื่องจากบุคคลที่ได้รับเลือกเข้ามารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนต่อไป คือนายนาโอโตะ คัง ซึ่งเคยทำหน้าที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังมาก่อนและมาจากพรรคประชาธิปไตย (DPJ) เช่นเดียวกัน จึงไม่น่าจะมีผลกระทบด้านความต่อเนื่องของนโยบาย อย่างไรก็ดี ยังมีหลายประเด็นท้าทายเกี่ยวกับเศรษฐกิจญี่ปุ่นสำหรับคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ให้เข้ามาดำเนินการ เพื่อให้การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจดำเนินต่อไปได้อย่างต่อเนื่อง

ในปัจจุบัน เศรษฐกิจญี่ปุ่นกำลังปรับตัวดีขึ้น บ่งชี้โดยผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ที่กำลังฟื้นตัวดีขึ้น โดยในไตรมาสแรกของปี 2553 ตัวเลข GDP ของญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.6 (YoY) ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นของ GDP รายไตรมาสในอัตราสูงที่สุดในรอบกว่า 12 ปี ตัวเลข GDP ที่เพิ่มขึ้นส่วนหนึ่งเป็นผลจากการฟื้นตัวของการส่งออก ซึ่งเป็นตัวจักรขับเคลื่อนที่สำคัญของเศรษฐกิจญี่ปุ่น ทั้งนี้ การส่งออกของญี่ปุ่นมีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้นในไตรมาสสุดท้ายของปี 2552 ต่อเนื่องถึง 4 เดือนแรกของปี 2553 โดยในเดือนเมษายน 2553 มูลค่าการส่งออกขยายตัวถึงกว่าร้อยละ 40 (YoY) ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 ทำให้ความต้องการนำเข้าสินค้าจากญี่ปุ่นฟื้นตัวขึ้น

อย่างไรก็ตาม ความท้าทายทางเศรษฐกิจหลายประการสำหรับรัฐบาลชุดใหม่ของญี่ปุ่น ประการแรก คือปัญหาเงินฝืด ล่าสุดในเดือนเมษายน 2553 อัตราเงินเฟ้อของญี่ปุ่นติดลบร้อยละ 1.2 เป็นการติดลบติดต่อกันเป็นเดือนที่ 14 ปัญหาเงินฝืดในญี่ปุ่นมีแรงผลักดันจากปัญหากำลังซื้อภายในประเทศซึ่งตกต่ำลงในปี 2552 จากวิกฤตเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นผลกระทบจากอัตราการว่างงานที่เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ดี ปัญหาเงินฝืดในญี่ปุ่นมีสัญญาณการฟื้นตัวดีขึ้นจากความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่มีทิศทางเพิ่มสูงขึ้นตั้งแต่ราวไตรมาสที่ 2 ของปี 2552 ต่อเนื่องถึง 4 เดือนแรกของปี 2553 ดังนั้น แม้ว่าญี่ปุ่นจะยังมีปัญหาเรื่องการว่างงานและการบริโภคที่ยังไม่ฟื้นตัวมากนัก แต่ก็มีสัญญาณที่ดีว่าผู้บริโภคเริ่มมีความเชื่อมั่นเพิ่มขึ้นกว่าช่วงไตรมาสแรกของปี 2552 ซึ่งเป็นช่วงที่เศรษฐกิจชะลอตัวต่ำที่สุด

ประการที่สอง คือปัญหาสถานะการคลังรัฐบาล จากการที่ญี่ปุ่นมีหนี้ภาครัฐบาลต่อ GDPสูง แต่เก็บภาษีได้น้อยลง โดยมีสาเหตุสำคัญจากการมีประชากรในช่วงวัยทำงานลดลง ส่งผลให้ญี่ปุ่นมีฐานะการคลังรัฐบาลที่ตึงตัวมากขึ้นเรื่อยๆ และข้อจำกัดในการก่อหนี้เพิ่ม เนื่องจากอัตราผลตอบแทนตราสารหนี้รัฐบาลที่ต่ำทำให้ไม่สามารถดึงดูดแหล่งกู้ยืมจากต่างประเทศได้ ทำให้คณะรัฐมนตรีชุดใหม่จะต้องเผชิญกับความท้าทายในการจัดหางบประมาณเพื่อนำมาบริหารประเทศให้ได้เพียงพอ ในภาวะที่เศรษฐกิจต้องการการกระตุ้นให้มีการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง

ประการที่สาม ค่าเงินเยนต่อยูโรที่อยู่ในทิศทางแข็งค่าขึ้น เป็นปัจจัยกดดันการส่งออกของญี่ปุ่นไปยุโรป เนื่องจากวิกฤตหนี้ของกรีซที่กำลังเป็นปัญหาอยู่ในขณะนี้ ส่งผลทำให้มีความต้องการถือเงินยูโรน้อยลงและมีความต้องการถือครองสกุลเงินเยนทดแทนเงินยูโรมากขึ้นส่งผลให้ค่าเงินเยนแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับเงินยูโร ความเสี่ยงจากค่าเงินเยนต่อยูโรที่มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นดังกล่าว อาจส่งผลกระทบต่อการส่งออกไปยังสหภาพยุโรป ซึ่งเป็นคู่ค้าหลักของญี่ปุ่นในช่วงที่เหลือของปีนี้ อย่างไรก็ตาม ผลกระทบต่อมูลค่าการส่งออกโดยรวมของญี่ปุ่นอาจไม่มากนัก เนื่องจากค่าเงินเยนต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ไม่ได้เปลี่ยนแปลงมากนักจากระดับ ณ ต้นปี ทำให้สินค้าส่งออกของญี่ปุ่นไปสหรัฐฯ ซึ่งเป็นคู่ค้าอันดับ 1 ยังคงมีแนวโน้มเติบโตตามเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ปรับตัวดีขึ้น

สำหรับประเทศไทย แนวโน้มการแข็งค่าขึ้นของค่าเงินเยนเมื่อเทียบกับยูโรในช่วงที่เหลือของปีนี้อาจมีผลกระทบต่อการส่งออกของไทยไปญี่ปุ่น เนื่องจากสินค้าส่งออกของญี่ปุ่นไปยังสหภาพยุโรป โดยส่วนใหญ่เป็นสินค้ากลุ่มยานยนต์ เครื่องจักร และอุปกรณ์ไฟฟ้า ซึ่งต้องนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศ การแข็งค่าขึ้นของเงินเยนจึงอาจส่งผลกระทบต่อเนื่องถึงการนำเข้าสินค้าวัตถุดิบจากประเทศไทยสำหรับผลิตเป็นสินค้าส่งออก โดยสินค้าส่งออกหลักของไทยที่อาจได้รับผลกระทบคือกลุ่มสินค้าทุนที่ใช้ผลิตเพื่อส่งออก ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ แผงวงจรไฟฟ้า รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบของเครื่อง เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เครื่องใช้ไฟฟ้าและส่วนประกอบ และผลิตภัณฑ์ยาง (เช่น ยางรถยนต์)