6 มหาวิทยาลัย ลงนามสัญญาความร่วมมือกับเครือไบโอฟาร์ม เคมิคัลส์

ในการพัฒนาวิชาการระดับอุดมศึกษาและคุณภาพนักศึกษาด้านเภสัชศาสตร์ของประเทศไทยให้ก้าวไกลและมีมาตรฐานทัดเทียมนานาประเทศนั้นมีบทบาทสำคัญยิ่งต่อการคิดค้นพัฒนาเวชภัณฑ์ยาตลอดจนเสริมสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีของคนไทย 6 มหาวิทยาลัยชั้นนำที่เปิดดำเนินการเรียนการสอนคณะเภสัชศาสตร์ ประกอบด้วยรองศาสตราจารย์ เภสัชกรหญิง ดร.พรเพ็ญ  เปรมโยธิน  คณะเภสัชศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย,รองศาสตราจารย์ ดร.บังอร   ศรีพานิชกุลชัย  คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ,รองศาสตราจารย์ ดร.ภญ. จุฑามณี  สุทธิสีสังข์  คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล , รองศาสตราจารย์   ภญ..ดร. จุไรรัตน์   นันทานิช   คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร , . รองศาสตราจารย์ ภญ. อรวรรณ   ทิตย์วรรณ   คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ,รองศาสตราจารย์ ดร.จันทรา   ชัยพานิช   คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ จับมือภาคเอกชนลงนามในสัญญาความร่วมมือกับนายรชฏ ถกลศรี (คนที่ 6 จากซ้าย) กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไบโอแลบ จำกัด ในเครือไบโอฟาร์ม เคมิคัลส์ ซึ่งเป็นผู้นำนวัตกรรมและเทคโนโลยีการผลิตเวชภัณฑ์ที่ก้าวหน้าทันสมัยที่สุดในอาเซียน ภายใต้มาตรฐานระดับโลก EU GMP (PIC/S) ข้อตกลงสัญญาความร่วมมือกับ 6 สถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษา การฝึกประสบการณ์วิชาชีพนักศึกษาคณะเภสัชศาสตร์ 200 ชั่วโมง และการสนับสนุนส่งเสริมงานค้นคว้าวิจัยและแลกเปลี่ยนข้อมูลวิชาการเภสัชศาสตร์เพื่อนำมาใช้ประโยชน์ต่อการสร้างสรรค์คุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน

นายรชฏ ถกลศรี กรรมการผู้จัดการ บ.ไบโอแลบ จก.ในเครือไบโอฟาร์ม เคมิคัลส์ กล่าวว่า “ ปัจจุบันหลักสูตรการเรียนการสอนเภสัชศาสตร์เปิดสอน 15 คณะในมหาวิทยาลัยต่างๆทั่วประเทศไทย มหาวิทยาลัยหลายแห่งได้ปรับหลักสูตรปริญญาตรีเภสัชศาสตร์ จากเดิม 5 ปี เป็น 6 ปี สอดคล้องกับแนวโน้มทั่วโลกที่ได้ปรับหลักสูตรเป็น 6 ปี เช่น สหรัฐอเมริกามีการพัฒนาหลักสูตร 6 ปี มากว่า 20 ปีแล้ว ส่วนประเทศญี่ปุ่นได้ออกกฏหมายปรับหลักสูตรเภสัชศาสตร์เป็น 6 ปีตั้งแต่ปี 2548, สำหรับประเทศไทยผู้สำเร็จการศึกษาหลักสูตร 6 ปี และผ่านการฝึกงาน 2,000 ชั่วโมงจะได้รับใบประกอบวิชาชีพเภสัชกรรมซึ่งรับรองโดยสภาเภสัชกรรมตั้งแต่ปี 2557 เป็นต้นไป เนื่องจากต้องใช้เวลาในการปรับเปลี่ยน ในการสร้างเสริมคุณภาพมาตรฐานนักศีกษาเภสัชศาสตร์ของไทยนั้นนอกจากความรู้วิชาการทางทฤษฎีแล้ว สิ่งสำคัญอีกด้านหนึ่งคือ การฝึกงานภาคปฏิบัติที่เข้มข้นในสถานประกอบการ โรงงานเวชภัณฑ์ ปัจจุบันประเทศไทยยังขาดแคลนเภสัชกร โดยจำนวนเภสัชกรที่กำลังทำงานอยู่มีประมาณ 15,000 คน และตลาดยังมีความต้องการเภสัชกรอีกจำนวนมาก เนื่องจากการขยายตัวของตลาดเวชภัณฑ์ยาและเสริมอาหารในประเทศไทยมูลค่าปีละกว่า 113,000 ล้านบาท การเติบโตของโรงพยาบาล บริการด้านสุขภาพที่เกิดขึ้นมากมาย โดยจำนวนนักศึกษาเภสัชศาสตร์ทั่วประเทศมีการผลิตมากขึ้นต่อเนื่องเฉลี่ยเพิ่มปีละ 6 – 7 % ,จำนวนผู้จบการศึกษาเภสัชศาสตร์ประมาณปีละ 1,300 คน ขณะที่สถานที่ฝึกงานที่มีมาตรฐานในประเทศมีจำนวนจำกัดและไม่เพียงพอต่อความต้องการ

ความร่วมมือระหว่าง 6 มหาวิทยาลัยกับ ไบโอแลบ ครั้งนี้ ทางไบโอแลบ มีความพร้อมที่จะมีส่วนร่วมในการเสริมประสบการณ์ตรงให้นักศึกษาและสนับสนุนการดำเนินงานของมหาวิทยาลัย เนื่องจากไบโอแลบเป็นโรงงานผลิตเวชภัณฑ์ครบวงจรที่ทันสมัยที่สุดในอาเซียน ตั้งอยู่ณ นิคมอุตสาหกรรมบางปู เป็นรายแรกและรายเดียวที่กระบวนการผลิตได้รับการรับรองมาตรฐานโลก EU GMP (PIC/S)ทั้งระบบจากสหภาพยุโรป นักศึกษาจะได้เรียนรู้จากการปฎิบัติจริง สัมผัสประสบการณ์ฝึกงาน 200 ชั่วโมง ในห้องปฏิบัติการวิจัยอันทันสมัย ทีมงานผู้เชี่ยวชาญที่มีประสบการณ์และความรู้ เพื่อให้ยาที่มีคุณภาพเทียบเท่ากับยาต้นแบบจากต่างประเทศ ระบบการผลิต การควบคุมคุณภาพที่เคร่งครัดและเข้มงวดกว่า GMP แบบเดิมหลายเท่าตัว เทคโนโลยีและเครื่องจักรทันสมัยต่างๆ ในสายการผลิต อาทิ เครื่อง Freeze Dry ในด้านการตรวจสอบคุณภาพ อาทิ เครื่อง HPLC เพื่อตรวจจับสารปนเปื้อน(impurity) ของสารเคมี เป็นต้น นอกจากนี้ยังเปิดโลกทัศน์ในการทำงานร่วมกันเป็นทีม แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็น ข้อมูลการบริหารจัดการ การพัฒนานวัตกรรมเวชภัณฑ์ การตลาดเภสัชกรรมในประเทศและส่งออก “