เครื่องชี้เศรษฐกิจโลกแผ่ว … สัญญาณเตือนส่งออกไทยครึ่งปีหลังอาจชะลอ

ในช่วงครึ่งแรกของปี 2553 การส่งออกของไทยเติบโตสูงเกินความคาดหมายของหลายฝ่าย โดยเฉพาะตัวเลขการส่งออกล่าสุดในเดือนมิถุนายน 2553 ทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ทั้งในด้านมูลค่าและอัตราการขยายตัว สำหรับทิศทางการส่งออกของไทยในช่วงครึ่งปีหลัง แม้ยังมีปัจจัยบวกบางด้านที่อาจเป็นแรงสนับสนุนให้การส่งออกยังขยายตัวเป็นบวกในแต่ละเดือนของช่วงเวลาที่เหลือของปี อย่างไรก็ตาม สัญญาณเศรษฐกิจโลกที่ปรากฏภาพการชะลอตัวในประเทศชั้นนำของโลกเป็นตัวแปรสำคัญที่อาจส่งผลให้การส่งออกของไทยได้รับผลกระทบตามไปด้วย

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย วิเคราะห์แนวโน้มการส่งออกของไทยในช่วงครึ่งหลังของปี 2553 โดยประเด็นสำคัญ มีดังนี้
แรงส่งจากเศรษฐกิจโลก และ FTA หนุนส่งออกครึ่งปีแรกขยายตัวถึง 36.6% (YoY)
จากข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์ การส่งออกของไทยในเดือนมิถุนายน 2553 บันทึกสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ทั้งมูลค่าการส่งออกรายเดือนที่สูงถึง 18,038 ล้านดอลลาร์ฯ และอัตราการขยายตัวที่สูงร้อยละ 46.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (Year-on-Year) เร่งตัวขึ้นจากร้อยละ 42.1 ในเดือนก่อนหน้า (ก่อนหน้านี้ การส่งออกเคยมีมูลค่ารายเดือนสูงสุดที่ระดับ 17,370 ล้านดอลลาร์ฯ และบันทึกอัตราการเติบโตที่ร้อยละ 45.1 เมื่อเดือนกรกฎาคม 2551) โดยสินค้ารายการสำคัญส่วนใหญ่ยังคงขยายตัว มีเพียงข้าวที่ยังหดตัวอย่างต่อเนื่องจากปัญหาด้านการแข่งขัน สำหรับสินค้าที่ขยายตัวในระดับสูง ได้แก่ กลุ่มรถยนต์และชิ้นส่วน (+100.7%) ยางพารา (+129.5%) น้ำตาลทราย (+86.6%) ผลิตภัณฑ์ยาง (+51.9%) เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ (+54.5%) เครื่องใช้ไฟฟ้า (+48%) เป็นต้น นอกจากนี้ การส่งออกยังได้รับอานิสงส์จากการส่งออกทองคำที่พุ่งสูงถึงร้อยละ 535 ต่อเนื่องจากเดือนพฤษภาคมที่ขยายตัวร้อยละ 521 และร้อยละ 1,138 ในเดือนเมษายน เนื่องจากราคาทองคำที่พุ่งสูงขึ้นอย่างมาก สำหรับมูลค่าการส่งออกที่ไม่รวมทองคำ ขยายตัวร้อยละ 40.4 ในเดือนมิถุนายน สูงขึ้นจากร้อยละ 32.8 ในเดือนก่อน

จากการส่งออกที่เติบโตสูงดังกล่าว ขณะที่การนำเข้าในเดือนมิถุนายนขยายตัวในอัตราที่ช้ากว่า (โดยเติบโตร้อยละ 37.9 YoY) จึงเป็นผลให้ดุลการค้าในเดือนมิถุนายน มีการเกินดุล 2,322 ล้านดอลลาร์ฯ สูงขึ้นกว่าระดับเกินดุลที่ 2,211 ล้านดอลลาร์ฯ ในเดือนก่อนหน้า

โดยภาพรวมแล้ว การเร่งตัวของการส่งออกในช่วงไตรมาสที่ 2/2553 ที่ขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 41.5 (YoY) สูงกว่าในไตรมาสที่ 1/2553 ซึ่งขยายตัวร้อยละ 31.6 นั้น ได้ส่งผลให้การส่งออกของไทยในช่วงครึ่งแรกของปี 2553 ขยายตัวถึงร้อยละ 36.6 และทางกระทรวงพาณิชย์จึงมีการปรับเป้าหมายการเติบโตของการส่งออกในปีนี้ขึ้นมาเป็นร้อยละ 19 จากเป้าหมายเดิมที่ร้อยละ 14

แนวโน้มเศรษฐกิจโลก … สัญญาณการชะลอตัวชัดเจนขึ้น
สถานการณ์การชะลอตัวของประเทศต่างๆ เริ่มปรากฏในไตรมาสที่ 2/2553 และคาดว่าจะยิ่งชัดเจนขึ้นในครึ่งหลังของปี 2553 โดยแนวโน้มเศรษฐกิจโลกยังมีความเปราะบางจากปัญหาวิกฤตหนี้และการขาดดุลการคลังในภูมิภาคยุโรป ซึ่งเป็นผลให้รัฐบาลของหลายประเทศต้องดำเนินมาตรการรัดเข็มขัด ขณะที่มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศส่วนใหญ่ทั่วโลกได้หมดลงไปแล้ว อีกทั้งในฟากของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิค การเติบโตสูงอย่างโดดเด่นในช่วงที่ผ่านมา หรือบางประเทศอาจถึงขั้นร้อนแรงเกินไปนั้น ได้สร้างแรงกดดันต่อเงินเฟ้อและก่อความเสี่ยงจากภาวะฟองสบู่ จึงเป็นสาเหตุให้ธนาคารกลางของชาติต่างๆ เริ่มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ทั้งออสเตรเลีย อินเดีย มาเลเซีย เกาหลีใต้ ไต้หวัน รวมทั้งไทย ส่วนจีนนั้นแม้ยังเลือกที่จะไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย แต่ได้มีการใช้เครื่องมืออื่นๆ ในการควบคุมการเติบโตอย่างร้อนแรงของเศรษฐกิจ เช่น การปรับเพิ่มระดับสำรองเงินฝากของธนาคารพาณิชย์ มาตรการคุมเข้มต่อการเก็งกำไรในภาคอสังหาริมทรัพย์ และตามมาด้วยการผ่อนปรนให้ค่าเงินหยวนมีความยืดหยุ่นมากขึ้น

การดำเนินมาตรการทั้งหลายทั้งปวงนี้ เริ่มปรากฏผลในการแตะเบรกเศรษฐกิจ ดังที่เห็นได้จากเศรษฐกิจของจีนในไตรมาสที่ 2/2553 มีอัตราการขยายตัวชะลอลงมาที่ร้อยละ 10.3 (YoY) จากร้อยละ 11.9 ในไตรมาสแรก นอกจากนี้ การชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ก็สะท้อนภาพที่น่ากังวล จากเครื่องชี้เศรษฐกิจล่าสุดที่อ่อนแอลง รวมทั้งจากข้อมูลของศูนย์วิจัยวัฏจักรเศรษฐกิจของสหรัฐฯ (The Economic Cycle Research Institute: ECRI) ยังได้ปรากฏสัญญาณความเป็นไปได้ที่เพิ่มขึ้นของโอกาสการเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย โดยดัชนีชี้นำเศรษฐกิจสหรัฐฯ รายสัปดาห์ (Weekly Leading Index: WLI) ณ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 9 กรกฎาคม ทรงตัวอยู่ที่ระดับ 120.6 เท่ากับสัปดาห์ก่อนหน้า ต่ำสุดในรอบ 1 ปี และดัชนีที่ปรับเป็นรายปี (Annualized) ติดลบร้อยละ 9.8 จากที่ติดลบร้อยละ 9.1 ในสัปดาห์ก่อน เข้าใกล้ระดับที่เป็นสัญญาณเริ่มของเศรษฐกิจถดถอย ที่ระดับค่าติดลบ 10 โดยการฟื้นตัวจากกิจกรรมการผลิตและการเพิ่มระดับสินค้าคงคลังเริ่มชะงัก หลังมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลและธนาคารกลางสหรัฐฯ สิ้นอายุลง

ขณะเดียวกัน เครื่องชี้ในภาคการผลิตของประเทศต่างๆ ส่วนใหญ่มีทิศทางที่ชะลอตัว สะท้อนว่าผลกระตุ้นของการเร่งผลิตและสะสมสินค้าคงคลังของภาคธุรกิจทั่วโลก ซึ่งผลักดันการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและการจ้างงานในช่วงที่ผ่านมานั้น เริ่มเบาบาง และภาพของการชะลอตัวน่าจะยิ่งชัดเจนมากขึ้นในครึ่งหลังของปี

โดยสรุป แม้ครึ่งปีแรก การส่งออกของไทยมีทิศทางที่สดใส โดยได้รับแรงส่งจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก และการขยายการส่งออกภายใต้กรอบความตกลงการค้าเสรี แต่แนวโน้มการส่งออกในช่วงครึ่งปีหลังยังมีปัจจัยเสี่ยงจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่ประเทศพัฒนาแล้วต้องมุ่งรักษาวินัยทางการคลัง ทำให้การใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจดังเช่นที่เคยผ่านมาคงเป็นไปได้ยากขึ้น ขณะที่นโยบายการเงินของประเทศกำลังพัฒนาเริ่มกลับคืนสู่ระดับปกติที่เป็นกลาง (Neutral) มากขึ้น เพื่อรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ ยิ่งไปกว่านั้น ปัญหาวิกฤตหนี้ในยุโรปยังไม่คลี่คลายลงอย่างสมบูรณ์ ทำให้ความวิตกกังวลต่อโอกาสที่จะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยรอบสอง (Double-Dip Recession) ในบางประเทศ รวมถึงสหรัฐฯ นั้นยังคงมีอยู่ แม้ความเป็นไปได้ (Probability) อาจยังไม่สูงในขณะนี้

จากปัจจัยที่กล่าวมาข้างต้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า มูลค่าการส่งออกของไทยในช่วงครึ่งหลังของปี 2553 อาจเติบโตในอัตราที่ชะลอลงมาอยู่ที่เฉลี่ยประมาณร้อยละ 17 (YoY) จากที่ขยายตัวสูงถึงร้อยละ 36.6 ในช่วงครึ่งปีแรก โดยในไตรมาสที่ 3/2553 แม้คาดว่าชะลอตัวแต่น่าจะเติบโตได้ในอัตราประมาณร้อยละ 25 เนื่องจากผลของฐานเปรียบเทียบในปีก่อนที่ยังเป็นช่วงหดตัว แต่อัตราการขยายตัวจะค่อยๆ ต่ำลงจนเหลือเป็นตัวเลขหลักเดียวในช่วงปลายปี อย่างไรก็ตาม จากผลของการเติบโตสูงในช่วงครึ่งปีแรก โดยเฉพาะการเร่งตัวเกินคาดของการส่งออกใน 2 เดือนล่าสุด (พฤษภาคม-มิถุนายน 2553) ทำให้ คาดว่า การส่งออกของไทยตลอดทั้งปี 2553 น่าจะขยายตัวในอัตราที่เคลื่อนเข้าใกล้กรอบบนของประมาณการของศูนย์วิจัยกสิกรไทย ที่ร้อยละ 22.0-27.0

ทั้งนี้ การเติบโตสูงของการส่งออกนี้ จะหนุนให้ระดับการเกินดุลการค้าของไทยอาจมีมูลค่าสูงเกิน 10,000 ล้านดอลลาร์ฯ ในปี 2553 ซึ่งจะเป็นเหตุผลหนึ่งที่จะผลักดันให้ค่าเงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นต่อไปได้อีก และอาจมีผลต่อความสามารถในการแข่งขันด้านราคาของผู้ส่งออกไทย เมื่อเปรียบเทียบกับบางประเทศที่มีค่าเงินแข็งค่าน้อยกว่า โดยเฉพาะเวียดนาม ที่มีการลดค่าเงินมาก่อนหน้านี้ ซึ่งเป็นทิศทางที่ผู้ประกอบการควรต้องเตรียมรับมือ