ธุรกิจ Wealth Management…ตลาดใหม่ที่ต้องจับตา

สำหรับในประเทศไทยนั้น ธุรกิจ Wealth Management ถือเป็นตลาดที่ทั้งสถาบันการเงินและผู้เล่นประเภทอื่นๆ ให้ความสนใจมากขึ้นในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ โดยทั่วไป Wealth Management คือบริการทางการเงินให้กับลูกค้าที่มีความมั่งคั่งสูง โดยส่วนใหญ่จะมีสินทรัพย์เพื่อการลงทุนไม่น้อยกว่า 1,000,000 ดอลลาร์ (ประมาณ 32 ล้านบาท)1 โดยมีกระบวนการในการจัดการให้เกิดความยั่งยืนของความมั่งคั่งสุทธิ (Net assets or Wealth)

สำหรับในปี 2552 สินทรัพย์ของผู้ที่มีความมั่งคั่งสูง (High Net Worth Individuals : HNWIs) ขยายตัว 18.9% โดยมีมูลค่าประมาณ 39 ล้านล้าน ดอลลาร์ฯ สำหรับประเทศไทยนั้น มีการประมาณว่าประชากรที่มีความมั่งคั่งสูงมีจำนวนประมาณ 42,000 คน โดยมีทรัพย์สินครอบครองประมาณ 190 พันล้านดอลลาร์ฯ (ประมาณ 6.1 ล้านล้านบาท) ในปี 2551 ซึ่งแม้จะคิดเป็น 2.6%ของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (0.58% จากทั่วโลก) แต่ประชากรกลุ่มดังกล่าวมีขนาดของความมั่งคั่งคิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 70% ของ GDP และมีขนาด 0.97เท่าของขนาดของตลาดหุ้นไทย
จำนวนประชากรที่มีความมั่งคั่งสูงและสินทรัพย์ในครอบครอง ปี 2552

หมายเหตุ HNWIs คือจำนวนประชากรที่มีความมั่งคั่งสูง (หน่วย : ล้านคน) Wealth คือสินทรัพย์ของประชากรที่มีความมั่งคั่งสูง (หน่วย : ล้านล้านดอลลาร์ฯ) ตัวเลขในวงเล็บคือเปอร์เซนต์การเปลี่ยนแปลง
ที่มา : ศูนย์วิจัยกสิกรไทย, Capgemini

ดังนั้นจึงถือได้ว่าตลาด Wealth Management มีความน่าสนใจไม่น้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อ ผลตอบแทนจากการทำธุรกิจ Wealth Management ยังคงอยู่ในระดับสูง โดยมีการทำการศึกษา2ซึ่งพบว่ากลุ่มลูกค้า HNWIs สามารถสร้างรายได้สุทธิต่อลูกค้าโดยเฉลี่ยสูงกว่าร้อยละ 1 ของสินทรัพย์ภายใต้การจัดการ ซึ่งทางศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ขนาด/ทิศทางผลตอบแทนของธุรกิจ Wealth Management ในไทยน่าจะอยู่ในลักษณะใกล้เคียงกัน

อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าสังเกตว่า HNWIs ในภูมิภาคเอเชียรวมถึงในประเทศไทยยังคงเน้นลงทุนในลักษณะระมัดระวัง (Conservative) โดยนิยมถือครองผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับเงินสด เงินฝาก และตราสารหนี้เป็นหลัก
รายได้ และ รายได้ต่อทรัพย์สินภายใต้การบริหารของธุรกิจ Wealth Management

ธุรกิจ Wealth Management ในช่วงครึ่งแรกของปี 2553 ที่ผ่านมา
สำหรับธุรกิจ Wealth Management ในช่วงครึ่งแรกของปี 2553 นั้น ความมั่งคั่ง (Wealth) ของลูกค้า HNWIs น่าจะเติบโตในอัตราที่เร่งขึ้น ตามภาวะเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวขึ้นชัดเจนขึ้นจากปีก่อน ซึ่งส่งผลดีต่อกระแสรายรับเชิงธุรกิจ (Revenue) ของลูกค้ากลุ่มนี้4 หลังจากที่ภาวะการชะลอตัวทางเศรษฐกิจในช่วง1-2 ปีก่อนหน้า มีผลกดดันความมั่นคั่งของลูกค้าดังกล่าวให้ลดลง ทั้งนี้ ความมั่งคั่งที่เติบโตเร่งขึ้นดังกล่าว คาดว่าจะส่งผลดีกับขนาดสินทรัพย์ภายใต้การจัดการ ( Asset Under Management : AUM) ของธุรกิจ Wealth Managementให้เร่งขึ้นตามไปด้วย ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับภูมิภาคเอเซียแปซิฟิก

กระนั้นก็ดี สำหรับรายได้ค่าธรรมเนียมจากธุรกิจ Wealth Management นั้นแม้จะได้รับผลดีจาก AUM ที่เติบโตขึ้น แต่ก็น่าจะเผชิญแรงกดดันจาก 3 ปัจจัยหลัก อันได้แก่ ประการแรก อำนาจการต่อรองของลูกค้ากลุ่มนี้ยังอยู่ในระดับสูง ประการที่สอง ผลิตภัณฑ์ที่เสนอแก่ลูกค้ายังคงค่อนข้างจำกัด โดยส่วนใหญ่ผลิตภัณฑ์ที่เสนอขายในปัจจุบันยังเป็นผลิตภัณฑ์พื้นฐานและไม่ซับซ้อน (Plain Vanilla Products) และประการสุดท้าย พฤติกรรมของลูกค้า (ซึ่งส่วนใหญ่มักเป็นผู้บริหาร เจ้าของกิจการ ซึ่งอยู่ในวัยกลางคนขึ้นไป ) ที่มักเน้นการลงทุนแบบระมัดระวัง (Conservative) ซึ่งทำให้การสร้างความแตกต่างของผลิตภัณฑ์จากคู่แข่งในธุรกิจเพื่อเพิ่มศักยภาพในการสร้างรายได้จากค่าธรรมเนียมทำได้ยาก ทั้งนี้เป็นที่น่าสังเกตว่า ที่ปรึกษาทางการเงิน (FA) ยังมีส่วนสำคัญอย่างมากในการดึงลูกค้า โดยอาศัยความสัมพันธ์และความเชี่ยวชาญในการให้คำปรึกษาในการบริหารสินทรัพย์ อันมีอิทธิพลต่อความไว้วางใจของลูกค้าให้ดูแลจัดการความมั่งคั่ง

ในแง่ของสภาวะการแข่งขันของธุรกิจ Wealth Management ในอดีตที่ผ่านมา ผู้จัดการสาขาของธนาคารพาณิชย์จะทำหน้าที่ดูแลลูกค้า HNWIs แต่ว่าในปัจจุบัน ธนาคารพาณิชย์ให้ความสนใจลูกค้ากลุ่มนี้มากขึ้น โดยมีการจัดตั้งหน่วยงานเฉพาะเพื่อดูแลลูกค้าในส่วนนี้ เพื่อเป็นการยกระดับการให้บริการ มีการนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสม และหลากหลาย ช่วยสร้างผลตอบแทนที่ดีขึ้นและตรงกับความต้องการของลูกค้ามากขึ้น นอกจากนี้ยังมีผู้เชี่ยวชาญ(ส่วนตัว) ให้คำแนะนำปรึกษากับลูกค้าอย่างใกล้ชิด เพื่อสร้างความสัมพันธ์ที่ดี (Relationships) กับลูกค้า อันจะนำไปสู่การได้รับความไว้วางใจให้ดูแลธุรกรรมทางการเงินที่เกี่ยวข้องอื่นๆ เช่น สินเชื่อ และบริการทางการเงินสำหรับบริษัทที่ลูกค้าเป็นเจ้าของกิจการ โดยในปัจจุบัน สภาวะการแข่งขันธุรกิจในไทยจะมาจากผู้เล่นหลักในธุรกิจนี้ประมาณ 3-4 กลุ่ม อันได้แก่ (1) ธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ของไทยที่เน้นการบริการทางการเงินอย่างครบวงจร (Universal Banking ) ซึ่งมีอยู่ประมาณ 3-4 แห่ง โดยผลิตภัณฑ์ที่เสนอขายจะเป็นผลิตภัณฑ์ของธนาคารเอง หรือเป็นผลิตภัณฑ์ของบริษัทลูกในเครือรวมถึงพันธมิตร ซึ่งได้แก่ ผลิตภัณฑ์เงินฝาก กองทุนต่างๆ หุ้น และประกันชีวิต เป็นต้น (2) สาขาธนาคารพาณิชย์ในต่างประเทศ 2-3 แห่ง ซึ่งจะเน้นการนำเสนอผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่มีความซับซ้อนมากขึ้นตามความเชี่ยวชาญ (3) บริษัทหลักทรัพย์ (Broker) ที่เน้นการนำเสนอผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับตลาดทุน และ (4)บริษัทประกันชีวิตที่มุ่งเน้นไปในผลิตภัณฑ์ประกันเป็นหลัก

แนวโน้มของธุรกิจ Wealth Management….กับอนาคตที่สดใส

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า แนวโน้มของุรกิจ Wealth Management ในช่วงที่เหลือของปี 2553 ต่อเนื่องไปอีกอย่างน้อย 1-2 ปีข้างหน้า ยังมีอนาคตที่ค่อนข้างสดใสเนื่องจาก

1.เศรษฐกิจของภูมิภาคเอเชีย รวมถึงประเทศไทย ที่ยังเติบโตได้อย่างแข็งแกร่ง ทำให้ประชากรในภูมิภาคดังกล่าวน่าจะมีความมั่นคั่งมากขึ้น โดยแม้จะมีสภาวะความผันผวนทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯและประเทศในแถบยุโรป ซึ่งอาจจะกดดันการขยายตัวของเศรษฐกิจในภูมิเอเซียรวมถึงประเทศไทยในช่วงที่เหลือของปีต่อเนื่องไปถึงปีหน้า แต่จีดีพีของประเทศในภูมิเอเซียและประเทศไทยก็ยังน่าจะอยู่ในระดับที่แข็งแกร่งกว่าภูมิภาคอื่นๆ ซึ่งจะเป็นปัจจัยหนุนความมั่งคั่งของลูกค้า HNWIs ในภาพรวม

2.ความเสี่ยงเศรษฐกิจโลกที่น่าจะลดระดับลงในอีก 1-2 ปีข้างหน้า จะเป็นตัวส่งเสริมให้ตลาดทุนกลับมาคึกคักขึ้นโดยเฉพาะในกรณีที่ปัญหาหนี้ของยุโรป และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ คลี่คลายไปในทิศทางที่ดีขึ้น ซึ่งจะส่งผลบวกต่ออุตสาหกรรม Wealth Management เนื่องจากนักลงทุนมีทางเลือกในการกระจายการลงทุนในสินทรัพย์ทางการเงินที่มีความคาดหวังในผลตอบแทนที่มากขึ้น นอกจากนี้ นโยบายการขยายเพดานการลงทุนในต่างประเทศของ ก.ล.ต. ธปท. รวมถึงแผนพัฒนาตลาดทุนไทย ก็จะมีส่วนสำคัญในการช่วยผลักดันผลิตภัณฑ์ทางการเงินใหม่ๆให้เกิดขึ้น ควบคู่กับ การขยายช่องทางการลงทุนในต่างประเทศให้กว้างขึ้นด้วย อันจะเพิ่มโอกาสการเติบโตให้กับรายได้ค่าธรรมเนียมจากธุรกิจ Wealth Management ตามไปด้วย

3.การทยอยลดความคุ้มครองเงินฝากแบบเต็มจำนวนของสถาบันคุ้มครองเงินฝาก (DPA) โดยการคุ้มครองแบบเต็มจำนวนดังกล่าวจะสิ้นสุดลงในวันที่ 11 สิงหาคม 2554 โดยในวันที่ 11 สิงหาคม 2554 DPA จะลดการคุ้มครองแบบเต็มจำนวน ลงเหลือเพียง 50 ล้านบาทต่อบัญชีต่อสถาบันการเงิน และในวันที่ 11 สิงหาคม 2555 DPA จะลดการคุ้มครองลงเหลือ 1 ล้านบาทต่อบัญชีต่อสถาบันการเงิน ซึ่งการลดเพดานการประกันเงินฝากอาจกระตุ้นให้ลูกค้า HNWIs มีแนวโน้มที่จะกระจายความมั่งคั่งออกจากเงินฝากมากขึ้น ซึ่งจะเป็นปัจจัยบวกต่อการเติบโตของสินทรัพย์และรายได้ค่าธรรมเนียมของอุตสาหกรรม Wealth Management

พฤติกรรมของลูกค้าที่น่าจะเปลี่ยนแปลงไป ในปัจจุบันกลุ่มลูกค้า HNWIs ส่วนใหญ่จะอยู่ในวัยกลางคน แต่ในอนาคตข้างหน้า ลูกค้า HNWIs ในรุ่นต่อไปจะเริ่มมีบทบาทมากขึ้น ซึ่งลูกค้ากลุ่มดังกล่าวน่าจะมีความคุ้นเคยและตอบสนองในเชิงบวกต่อผลิตภัณฑ์ทางการเงินแบบใหม่ๆ มากขึ้น ซึ่งจะส่งผลดีต่อธุรกิจ Wealth Management

อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่ต้องติดตามคือ จำนวนผู้เล่นในอุตสาหกรรม Wealth Management ที่อาจเพิ่มขึ้นในอนาคต แม้ว่าในปัจจุบันธุรกิจ Wealth Management ยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น โดยมีธนาคารพาณิชย์เป็นผู้เล่นหลักในตลาด ขณะที่ ธนาคารพาณิชย์ต่างประเทศที่มีสาขาในเมืองไทย บริษัทหลักทรัพย์ และ บริษัทประกันภัย กำลังเริ่มมีบทบาทมากขึ้น เนื่องจากผลตอบแทนจากลูกค้ากลุ่มนี้อยู่ในระดับสูง จากขนาดของสินทรัพย์ที่ค่อนข้างใหญ่และมีโอกาสขยายตัวต่อเนื่องซึ่งน่าจะช่วยชดเชยผลกระทบจากการแข่งขันด้านราคาที่น่าจะรุนแรงขึ้นได้ ดังนั้นจึงน่าจะกระตุ้นให้มีผู้เล่นในปัจจุบันรุกตลาดนี้มากขึ้น (โดยเฉพาะธนาคารพาณิชย์ที่มีความต้องการกระจายความเสี่ยงทางธุรกิจโดยมีการปรับเพิ่มบทบาทของรายได้ประเภทค่าธรรมเนียมให้มากขึ้นจากในปัจจุบันที่รายได้จากดอกเบี้ยต่อรายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ยอยู่ที่อัตราส่วน 70 : 30 โดยรายได้ 20% ของรายได้รวมมาจากรายได้ที่เป็นค่าธรรมเนียม) ขณะเดียวกัน ทางการก็อาจจะเปิดโอกาสให้กับผู้เล่นรายใหม่เพิ่มเติมอีกด้วย โดยภายใต้แผนพัฒนาระบบสถาบันการเงินฉบับที่ 2 ธปท. อาจออกใบอนุญาตในธุรกิจ Trust Bank และ Investment Bank ตั้งแต่ปี 2555 เป็นต้นไป ซึ่งผู้เล่นใหม่เหล่านี้ก็คงให้ความสนใจในธุรกิจ Wealth Management เช่นกัน นอกจากนี้ยังอาจมีได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรีทางการเงินที่อาจหลีกเลี่ยงได้ยากในอนาคต กระนั้นก็ดี ผู้เล่นเดิมในตลาดก็อาจมีการปรับกลยุทธ์เช่นกัน โดยอาจมีการหาพันธมิตรทางธุรกิจ (Partners) ที่มีความเชี่ยวชาญที่มีชื่อเสียงในด้านผลิตภัณฑ์ที่ซับซ้อนมากขึ้นซึ่งน่าจะช่วยให้สามารถรักษาส่วนแบ่งตลาดเอาไว้ได้

นอกจากนี้ ปัญหาบุคลากร (Financial Advisor : FA) ยังเป็นความท้าทายของธุรกิจ Wealth Management โดยเฉพาะเมื่อภาวะการแข่งขันในธุรกิจนี้รุนแรงขึ้นในอนาคต เนื่องจากหนึ่งในกลยุทธ์สู่ความสำเร็จ (Key Success Factor) ที่สำคัญของธุรกิจนี้อยู่ที่ FA ซึ่งแม้ว่าผู้ให้บริการทางการเงิน มีแนวทางที่จะเพิ่มจำนวน FA ในอนาคต แต่ FA ที่มีความสัมพันธ์ที่ดีกับลูกค้า (โดยส่วนมากลูกค้า HNWIs มักใช้บริการกับสถาบันทางการเงินหลายแห่ง) ตลอดจนมีความเชี่ยวชาญในการให้คำแนะนำในผลิตภัณฑ์ที่อาจจะมีความซับซ้อนมากขึ้น ยังคงเป็นที่ต้องการอย่างมากของตลาด

โดยสรุปแล้ว ธุรกิจ Wealth Management ในประเทศไทยยังมีความน่าสนใจและมีโอกาสเติบโตได้อีกมาก ซึ่งจุดเด่นของธุรกิจนี้คือ รายได้จากค่าธรรมเนียมที่อยู่ในระดับสูงและสินทรัพย์ภายใต้การบริหารที่มีขนาดใหญ่ แต่อย่างไรก็ตาม ธุรกิจ Wealth Management ยังเผชิญความท้าทายจากแผนพัฒนาระบบสถาบันการเงินฉบับที่ 2 และการเปิดเสรีทางการเงิน ที่อาจส่งผลให้มีผู้เล่นรายใหม่เข้ามาในธุรกิจนี้มากขึ้น ตลอดจนลักษณะธุรกิจที่พึ่งพิงต่อบุคลากร อย่างเช่น FA ค่อนข้างมาก ซึ่งถือเป็นโจทย์ที่ผู้เล่นปัจจุบันอาจต้องขบคิดเพื่อหาแนวทางรับมือ และเสริมศักยภาพในการแข่งขันในอนาคต