เงินบาทแข็งค่าต่อเนื่อง…โจทย์ที่ท้าทายของธปท.

ความกังวลต่อแนวโน้มการชะลอตัว และ/หรือความเสี่ยงต่อการกลับไปถดถอยอีกครั้ง (Double-Dip Recession) ของเศรษฐกิจสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นมาอย่างต่อเนื่องในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา ซึ่งเป็นช่วงจังหวะเดียวกันกับที่ข้อมูลเศรษฐกิจของหลายๆ ประเทศทั่วโลก ล้วนบ่งชี้ถึง พัฒนาการของเศรษฐกิจที่ผ่านพ้นช่วงเวลาที่ดีที่สุดของการขยายตัว และกำลังเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ช่วงเวลาของการชะลอตัวอย่างพร้อมเพรียงกันนับตั้งแต่ช่วงปลายไตรมาส 2/2553 เป็นต้นมา

ท่ามกลางสัญญาณการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ความเสี่ยงในช่วงขาลงของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ถูกตอกย้ำอย่างชัดเจนจากแถลงการณ์หลังการประชุมของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ซึ่งมีมติให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับต่ำเป็นพิเศษต่อไป พร้อมกับประกาศแผนการกลับเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อีกครั้งหนึ่ง ทั้งนี้ การดำเนินการดังกล่าวได้ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ร่วงลง พร้อมๆ กับค่าเงินดอลลาร์ฯ ที่ดิ่งลงแตะระดับต่ำสุดในรอบ 15 ปีเมื่อเทียบกับเงินเยน จากกระแสความอ่อนแอของเงินดอลลาร์ฯ ดังกล่าว เมื่อรวมเข้ากับแรงขายเงินดอลลาร์ฯ ของผู้ส่งออก และแนวโน้มที่แข็งแกร่งโดยเปรียบเทียบของภูมิภาคเอเชีย ได้ส่งผลต่อเนื่องให้เงินบาททะยานข้ามแนวต้านสำคัญทางจิตวิทยาที่ระดับ 32.00 ขึ้นทำสถิติแข็งค่าสุดในรอบเกือบ 28 เดือนใกล้ 31.65 บาทต่อดอลลาร์ฯ และกลายมาเป็นสกุลเงินที่แข็งค่าเป็นอันดับที่สองของเอเชียในปีนี้ โดยเป็นรองจากเงินริงกิตมาเลเซียเท่านั้น ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้ทำการประเมินสถานการณ์ แนวโน้ม และประเด็นสำคัญของค่าเงินบาทไว้ดังนี้ :-

สถานการณ์ล่าสุด…เงินบาทแข็งค่าสุดในรอบกว่า 2 ปี
หลังจากที่เงินบาทปรับตัวอ่อนค่าลงท่ามกลางความตึงเครียดทางการเมืองในประเทศช่วงกลางเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2553 เงินบาทได้ทยอยฟื้นตัวกลับมาแข็งค่าขึ้นตั้งแต่ในช่วงต้นเดือนมิถุนายน 2553 โดยได้รับแรงหนุนจาก 3 ปัจจัยหลัก ได้แก่ ความอ่อนแอของเงินดอลลาร์ฯ แรงขายเงินดอลลาร์ฯ ของผู้ส่งออกอันเนื่องมาจากดุลการค้าที่บันทึกยอดเกินดุลสูง และกระแสเงินทุนไหลเข้าภูมิภาคเอเชียซึ่งตลาดการเงินของไทยก็ได้รับอานิสงส์นี้ด้วยเช่นกัน

ความอ่อนแอของเงินดอลลาร์ฯ
?ความอ่อนแอของเงินดอลลาร์ฯ…ท่ามกลางแนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ดัชนีค่าเงินดอลลาร์ฯ อ่อนค่าลงแล้วประมาณ 7% จากระดับสูงสุดในรอบ 15 เดือนที่ทำไว้ในช่วงต้นมิถุนายน 2553 หลังจากที่ความกังวลต่อวิกฤตด้านการคลังในยุโรปได้ลดระดับลง สวนทางกับทิศทางของเครื่องชี้เศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ออกมาแย่กว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ ขณะที่ เฟดยอมรับว่า อัตราการฟื้นตัวของผลผลิตและการจ้างงานชะลอลงในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา ซึ่งนอกจากเฟดจะยืนอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับต่ำเป็นพิเศษต่อไปอีกระยะหนึ่งเพื่อสนับสนุนให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ มีความต่อเนื่องแล้ว เฟดยังระบุว่า จะนำเงินต้นที่ได้รับจากการครบกำหนดไถ่ถอนตราสารหนี้และหลักทรัพย์ได้รับการค้ำประกันจากสัญญาจำนองที่ออกโดยหน่วยงานที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลสหรัฐฯ มาลงทุนใหม่ในพันธบัตรรัฐบาลระยะยาวอีกด้วย1
ทั้งนี้ ความเสี่ยงในช่วงขาลงของเศรษฐกิจสหรัฐฯ เป็นชนวนสำคัญที่ทำให้วัฎจักรการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟดถูกเลื่อนออกไปเป็นช่วงครึ่งหลังของปี 2554 เป็นอย่างเร็ว ซึ่งทำให้คาดว่า ปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่อ่อนแอของสหรัฐฯ น่าจะยังคงเป็นปัจจัยลบของเงินดอลลาร์ฯ ต่อไปอีกระยะหนึ่ง

ยอดเกินดุลการค้าสะสม
?การเกินดุลการค้า…ปัจจัยพื้นฐานที่แข็งแกร่งของเงินบาท อานิสงส์จากการขยายตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า และกรอบความตกลงการค้าเสรี ส่งผลให้การส่งออกของไทยในช่วงครึ่งแรกของปี 2553 เติบโตมากเกินคาดถึงประมาณ 37.0% และทำให้ไทยบันทึกยอดเกินดุลการค้าได้สูงถึงประมาณ 6.78 พันล้านดอลลาร์ฯ

ซึ่งรายได้ที่อยู่ในรูปเงินตราต่างประเทศดังกล่าวเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ทำให้มีแรงซื้อเงินบาทในตลาดปริวรรตเงินตราต่างประเทศ และหนุนให้เงินบาทปรับตัวในทิศทางที่แข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเงินบาทสามารถแข็งค่าทะลุแนวต้านสำคัญทางจิตวิทยาที่ 32.00 บาทต่อดอลลาร์ฯ ได้ในช่วงสัปดาห์แรกของเดือนสิงหาคม 2553

เอเชีย…ภูมิภาคที่ขยายตัวสูง

?เศรษฐกิจเอเชียนำการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ยังคงเป็นความจริงเสมอ แม้ว่าเศรษฐกิจชั้นนำของโลกอย่างกลุ่ม G-3 (สหรัฐฯ ยูโรโซน และญี่ปุ่น) จะพลิกกลับมาขยายตัวได้แล้วในปีนี้ อย่างไรก็ดี การฟื้นตัวที่ยังคงมีความเปราะบางจากปัญหาการว่างงานในระดับสูง และความจำเป็นต้องรักษาวินัยทางด้านการคลังอย่างเคร่งครัด

ซึ่งทำให้ คาดว่า โมเมนตัมของการขยายตัวของเศรษฐกิจกลุ่ม G-3 น่าจะไม่มีความราบรื่นมากนัก ซึ่งภาพดังกล่าวจะตรงกันข้ามกับเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียที่แม้จะมีแนวโน้มชะลอตัวลงในช่วงครึ่งหลังของปี 2553 แต่ก็มีอัตราการขยายตัวที่สูงกว่าภูมิภาคอื่นๆ โดยเปรียบเทียบ ซึ่งย่อมจะทำให้เอเชียยังคงเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจของนักลงทุนเช่นเดิม

เงินทุนไหลเข้าไทย
?เงินทุนไหลเข้าจากต่างประเทศ…อีกปัจจัยที่ช่วยหนุนค่าเงินบาท ปัจจัยทางการเมืองในประเทศที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญมากนักหลังจากการประกาศยุติการชุมนุมในย่านราชประสงค์ เป็นสภาพแวดล้อมที่เอื้อให้กระแสเงินทุนจากต่างประเทศทยอยไหลกลับเข้ามาลงทุนในตลาดการเงินไทยทั้งในส่วนของตลาดหุ้นและตลาดพันธบัตร เนื่องจากพื้นฐานทางเศรษฐกิจของไทยยังคงมีความแข็งแกร่ง ขณะที่ การคาดการณ์ถึงแนวโน้มขาขึ้นของอัตราดอกเบี้ยในประเทศ ทำให้ส่วนต่างระหว่างอัตราดอกเบี้ยของไทยและสหรัฐฯ กว้างขึ้นตามไปด้วย

นับจากต้นปี 2553 กลุ่มนิติบุคคลที่ประกอบธุรกิจในต่างประเทศที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน (Foreign Companies: FCO) มีสถานะเป็นผู้ซื้อสุทธิในตลาดพันธบัตรเป็นมูลค่าสะสมประมาณ 98.75 พันล้านบาท โดยแรงซื้อสุทธิในตลาดพันธบัตรได้เร่งตัวสูงขึ้นค่อนข้างมากในช่วงต้นเดือนสิงหาคม 2553 เป็นต้นมา (ค่าเฉลี่ยของการเข้าซื้อสุทธิสูงประมาณ 2.37 พันล้านบาทต่อวัน เทียบกับค่าเฉลี่ยประมาณ 1.38 พันล้านบาท และ 652.1 พันล้านบาทต่อวันในเดือนก.ค. และมิ.ย.2553 ตามลำดับ) ขณะที่ ในส่วนของตลาดหุ้นนั้น นักลงทุนต่างชาติได้ทยอยกลับมาเป็นผู้ซื้อสุทธิตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2553 ที่ผ่านมา ซึ่งก็ทำให้สถานะขายสุทธิสะสมในหุ้นไทยของนักลงทุนต่างชาติ ลดลงมาเหลือเพียง 3.68 พันล้านบาทเท่านั้น (ข้อมูล ณ วันที่ 17 สิงหาคม 2553)

แนวโน้ม และประเด็นสำคัญสำหรับเงินบาทในระยะถัดไป
แม้ว่าสัญญาณของการชะลอตัวทางเศรษฐกิจในหลายๆ ภูมิภาคของโลกในช่วงที่เหลือของปี 2553 นี้ (และอาจลากยาวไปในปี 2554) จะมีความชัดเจนมากขึ้น แต่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า ปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งกว่าโดยเปรียบเทียบของเอเชีย (รวมถึงไทย) น่าที่จะเป็นสภาวะแวดล้อมที่ดึงดูดให้มีกระแสเงินทุนไหลเข้าสู่ภูมิภาคต่อไป ขณะที่ ความแตกต่างระหว่างอัตราดอกเบี้ยของเอเชียและอัตราดอกเบี้ยในกลุ่มประเทศชั้นนำอย่างสหรัฐฯ ยูโรโซน และญี่ปุ่น น่าที่จะมีแนวโน้มกว้างขึ้นอีกในช่วงหลายเดือนข้างหน้าเช่นกันซึ่งก็เป็นไปตามวัฎจักรของการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางหลายแห่งในเอเชียที่เริ่มขึ้นก่อน นอกจากนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยยังคาดว่า ไทยน่าที่จะยังคงบันทึกยอดเกินดุลการค้าในช่วงครึ่งหลังของปี 2553 ซึ่งก็เป็นนัยว่า แรงขายเงินดอลลาร์ฯ ของผู้ส่งออกน่าจะยังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่หนุนทิศทางการแข็งค่าของเงินบาทได้ต่อเนื่องในช่วงที่เหลือของปี 2553 ทั้งนี้ ประเด็นสำคัญสำหรับเงินบาทในช่วงหลายเดือนข้างหน้า ได้แก่:-

เงินบาทอาจแข็งค่าขึ้นทดสอบระดับ 31.50 บาทต่อดอลลาร์ฯ ภายในสิ้นปี 2553 (ประมาณการโดยเครือธนาคารกสิกรไทย) โดยมีแรงหนุนที่สำคัญจากดุลการค้าที่คาดว่า น่าจะยังคงบันทึกยอดเกินดุลในระดับที่เกินว่า 5.0 พันล้านดอลลาร์ฯ ตามประมาณการกรณีพื้นฐานของศูนย์วิจัยกสิกรไทย ขณะที่ ปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจของไทยและแนวโน้มการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในช่วงหลายเดือนข้างหน้านั้น น่าที่จะทำให้ความแตกต่างระหว่างอัตราดอกเบี้ยของไทยและสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นเป็นอย่างน้อย 1.75% ภายในสิ้นปีนี้ นอกจากนี้ แนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ก็ยังเป็นปัจจัยกดดันค่าเงินดอลลาร์ฯ ด้วยเช่นกัน

ความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนอาจหลีกเลี่ยงได้ยาก…ธปท.อาจยังคงต้องเข้าดูแลเสถียรภาพค่าเงินบาท ความเสี่ยงในช่วงขาลงของเศรษฐกิจโลกในช่วงหลายเดือนข้างหน้า (สหรัฐฯ และจีนน่าจะมีโมเมนตัมของการขยายตัวที่ชะลอลง ขณะที่ ผลของมาตรการรัดเข็มขัดทางด้านการคลังที่มีต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจยุโรปอาจมีความชัดเจนมากขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี) น่าที่จะทำให้เงินดอลลาร์ฯ ยังคงได้รับแรงหนุนกลับมาบ้างในบางจังหวะในฐานะที่เป็นสกุลเงินที่ปลอดภัย
ดังนั้น แม้เงินบาทจะยังคงอยู่ในแนวโน้มแข็งค่า แต่ความเคลื่อนไหวของค่าเงินอาจมีความผันผวนมากขึ้น ซึ่งก็เป็นนัยว่า ธปท.ก็อาจจำต้องทำหน้าที่ในการดูแลเสถียรภาพของค่าเงินบาทอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากความผันผวนมีสาเหตุจากกระแสเงินทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญอีกปัจจัยหนึ่งที่หนุนค่าเงินเอเชียรวมถึงเงินบาทในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา อย่างก็ดี คาดว่ามาตรการดูแลกระแสเงินทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศของทางการในภูมิภาคเอเชีย (และของทางการไทย) อาจจะมุ่งเป้าไปที่การชะลอการไหลเข้าของเงินทุนเก็งกำไร ควบคู่ไปกับการเตรียมแผนการรับมือในกรณีที่กระแสการหลีกเลี่ยงความเสี่ยงนำไปสู่สถานการณ์ที่ทำให้มีการไหลออกของเงินทุนอย่างฉับพลัน

ประเด็นทางด้านความสามารถในการแข่งขัน คงต้องยอมรับว่า การแข็งค่าของเงินบาทในอัตราที่มากกว่าสกุลเงินอื่นๆ ที่เป็นคู่ค้า/คู่แข่งของไทย อาจจะทำให้ความสามารถในการแข่งขันของสินค้าส่งออกของไทยด้อยลงไปบ้างโดยเปรียบเทียบ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กรณีสินค้าเกษตรบางประเภทที่ต้องเผชิญกับคู่แข่งอย่างเวียดนามซึ่งน่าจะมีความได้เปรียบไทยจากค่าเงินดองที่ยังคงมีแนวโน้มอ่อนค่าลงอีก หลังจากที่ธนาคารกลางเวียดนามประกาศปรับลดค่าเงินดองอีก 2.0% โดยให้มีผลนับตั้งแต่วันที่ 18 สิงหาคม 2553 นี้

อย่างไรก็ดี ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า ภาคการส่งออกของไทย (ที่ค่อนข้างมีความยืดหยุ่นและไม่ได้ถูกกำหนดจากอัตราแลกเปลี่ยนเพียงปัจจัยเดียว) น่าที่จะยังคงสามารถรักษาทิศทางการเติบโตได้ต่อเนื่องในช่วงครึ่งหลังของปี 2553 ตามการขยายตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้ารวมถึงอานิสงส์จากกรอบการค้าเสรี แม้ว่าอัตราการขยายตัวของการส่งออกอาจมีค่าเฉลี่ยที่ลดลงมาที่ 17.0% (ตามประมาณการกรณีพื้นฐานของศูนย์วิจัยกสิกรไทย) หลังจากที่ขยายตัวสูงถึง 37.0% ในช่วงครึ่งปีแรกก็ตาม

โดยสรุป แนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะในสหรัฐฯ ซึ่งทำให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ ยังคงไม่สามารถส่งสัญญาณการคุมเข้มนโยบายการเงิน และ/หรือใช้แผนการทยอยถอยออกจากมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณได้ในอีกหลายเดือนข้างหน้า เป็นหนึ่งในสาเหตุสำคัญที่ทำให้มีการเคลื่อนย้ายของเม็ดเงินลงทุนเข้าสู่ภูมิภาคเอเชีย (และไทย) ซึ่งมีพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งกว่าภูมิภาคอื่นๆ โดยเปรียบเทียบ รวมถึงเป็นภูมิภาคที่ธนาคารกลางหลายๆ ประเทศได้เริ่มต้นวัฎจักรการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อดูแลเสถียรภาพของระดับราคาไปแล้ว ทั้งนี้ สภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจและการเงินดังกล่าว ทำให้ทิศทางของสกุลเงินส่วนใหญ่ในภูมิภาคเอเชียและเงินบาทในช่วงกว่า 7 เดือนที่ผ่านมา ยังคงอยู่ในแนวโน้มของการแข็งค่าอย่างต่อเนื่องจากปี 2552

สำหรับเงินบาทนั้น หลังจากที่ปรับตัวอ่อนค่าลงในช่วงที่ปัจจัยการเมืองในประเทศมีความไม่แน่นอนสูงแล้ว เงินบาทก็กลับมามีทิศทางแข็งค่าทั้งเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์ฯ และเมื่อเทียบกับเงินยูโรเช่นเดิม (เงินบาทแข็งค่าราว 5.2% เมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์ฯ และราว 17.0% เมื่อเทียบกับเงินยูโร) โดยแรงซื้อเงินบาทเพิ่มขึ้นค่อนข้างหนาแน่นนับจากต้นเดือนสิงหาคม 2553 ที่เงินบาทแข็งค่าทะลุแนวต้านสำคัญทางจิตวิทยาที่ระดับ 32.00 บาทต่อดอลลาร์ฯ และกำลังเข้าทดสอบระดับ 31.65 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในขณะนี้ ทั้งนี้ แม้ว่าเงินบาทอาจมีทิศทางการเคลื่อนไหวอย่างผันผวนมากขึ้นในช่วงหลายเดือนข้างหน้าตามความไม่แน่นอนของปัจจัยในประเทศและความเสี่ยงในต่างประเทศ แต่เครือธนาคารกสิกรไทยยังคงคาดว่า เงินบาทน่าจะยังคงมีโอกาสแข็งค่าขึ้นทดสอบระดับ 31.50 บาทต่อดอลลาร์ฯ ภายในสิ้นปี 2553 นี้ โดยมีปัจจัยบวกหลักจากความแตกต่างระหว่างอัตราดอกเบี้ยของไทยและสหรัฐฯ ที่น่าจะกว้างขึ้นเป็น 1.75% เป็นอย่างน้อย ขณะที่ ไทยอาจจะบันทึกยอดเกินดุลการค้าในระดับที่สูงกว่า 5.0 พันล้านดอลลาร์ฯ ในช่วงครึ่งปีหลังตามประมาณการกรณีพื้นฐานของศูนย์วิจัยกสิกรไทย
ดังนั้น โจทย์ในการเสถียรภาพค่าเงินบาทของธนาคารแห่งประเทศไทย (ซึ่งก็ดำเนินการเพื่อให้เงินบาทเคลื่อนไหวสอดคล้องกับทิศทางของสกุลเงินอื่นๆ ในภูมิภาค) และการบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนของผู้ส่งออก-นำเข้า น่าจะยังคงไม่เปลี่ยนแปลงไปอย่างมีนัยสำคัญมากนักในช่วงหลายเดือนข้างหน้า แต่ก็คงจะต้องเตรียมรับมือกับโจทย์ของการรักษาความสามารถในการแข่งขันในยามที่คู่แข่งของสินค้าส่งออกของไทยบางรายมีความได้เปรียบด้านค่าเงินมากขึ้น (อาทิ เงินดองของเวียดนามที่ถูกลดค่าลงอีก 2.0% และเงินหยวนของจีนที่แข็งค่าในอัตราที่น้อยกว่า) ท่ามกลางแนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกในช่วงหลายเดือนข้างหน้า