เลือกตั้งออสเตรเลีย … กับปัจจัยท้าทายทางเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปีนี้

ภายหลังจากการเข้ารับตำแหน่งเพียงเดือนเศษ นางจูเลีย กิลลาร์ด นายกรัฐมนตรีคนใหม่ของออสเตรเลียจากพรรคแรงงานได้ประกาศวันเลือกตั้งใหม่ในวันที่ 21 สิงหาคม โดยเธอจะต้องเผชิญกับการแข่งขันจากคู่แข่งคนสำคัญคือ นายโทนี แอบบ็อท จากพรรคเสรีนิยม ท่ามกลางความไม่แน่นอนในประเด็นนโยบายเศรษฐกิจ โดยเฉพาะร่างกฎหมายภาษีกิจการแร่ฉบับใหม่ ซึ่งเคยเป็นชนวนให้นายเควิน รัดด์ นายกรัฐมนตรีคนเก่าจากพรรคแรงงานต้องลาออกจากตำแหน่งมาแล้ว

ก่อนการลาออกจากตำแหน่ง นายเควิน รัดด์ เคยเสนอร่างกฎหมายภาษีฉบับใหม่ที่จะจัดเก็บกับบริษัทที่ประกอบกิจการแร่ในออสเตรเลีย ได้แก่ร่างกฎหมาย “Resource Super Profit Tax” ซึ่งเป็นการปรับปรุงระบบภาษีกิจการแร่ใหม่ โดยอัตราภาษีกำหนดที่อัตราร้อยละ 40 และจะบังคับใช้ในปี 2555 ภาษีระบบใหม่นี้ทำให้บริษัทแร่ยักษ์ใหญ่ที่ลงทุนในออสเตรเลียเกิดความไม่พอใจจนกระทั่งเป็นแรงกดดันนำไปสู่การลาออกในที่สุด หลังจากที่นางกิลลาร์ดเข้ารับตำแหน่งแทน ได้มีการปรับปรุงร่างกฎหมายดังกล่าวใหม่และใช้ชื่อว่า “Minerals Resource Rent Tax” โดยปรับอัตราภาษีใหม่จากร้อยละ 40 เหลือร้อยละ 30 ซึ่งเป็นอัตราภาษีที่เก็บจริง (effective tax rate) สำหรับ rent tax เพียงร้อยละ 22.5 เท่านั้น

ความแตกต่างที่สำคัญของนโยบายทางเศรษฐกิจ ระหว่างฝั่งของนางกิลลาร์ดและนายแอบบ็อท นอกจากการที่นายแอบบ็อทคัดค้าน “Minerals Resource Rent Tax” แล้วยังปฏิเสธการใช้นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อเพิ่มการจ้างงานอีกด้วย ในขณะที่ฝั่งของนางกิลลาร์ดมีนโยบายการใช้จ่ายภาครัฐเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและเป็นเงินอุดหนุนทางสังคมแก่ประชากรออสเตรเลียมากกว่า โดยตั้งเป้าจะใช้เงินภาษีที่เก็บได้เพิ่มขึ้นจากกฎหมายภาษีใหม่เพื่อใช้ในรายจ่าย เช่น การจ่ายเงินบำนาญที่เพิ่มขึ้น นอกจากนั้นยังตั้งเป้านโยบายการคลังแบบเกินดุลภายใน 3 ปี ข้างหน้าอีกด้วย

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้ศึกษาถึงสภาวะทางเศรษฐกิจของประเทศออสเตรเลีย รวมไปถึงปัจจัยท้าทายทางเศรษฐกิจที่สำคัญสำหรับรัฐบาลใหม่ของออสเตรเลีย ดังนี้

เศรษฐกิจออสเตรเลียมีแนวโน้มเติบโตเป็นบวกต่อไปตามแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก โดย IMF ได้คาดการณ์อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจออสเตรเลียปี 2553 ไว้ที่ร้อยละ 1.3 ทั้งนี้ผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจโลกปี 2551 ทำให้ตัวเลขเศรษฐกิจรายไตรมาสของออสเตรเลียมีการหดตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 8 ปีในไตรมาสสุดท้ายของปี 2551 โดยมีอัตราการหดตัวที่ร้อยละ 0.8 หลังจากนั้นออสเตรเลียมีการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ โดยมีอัตราการเติบโตเป็นบวกทุกไตรมาส และในไตรมาสแรกของปี 2553 ออสเตรเลียมีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ร้อยละ 0.5 (QoQ)

การค้าและบริการเกินดุลเพิ่มขึ้นมากในไตรมาสที่ 2 ของปีนี้จากการส่งออกแร่ธาตุซึ่งเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญของออสเตรเลีย … แต่แนวโน้มอาจชะลอลงในช่วงครึ่งปีหลัง

ออสเตรเลียมีการขาดดุลการค้าและบริการติดต่อกันนับตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2552 ถึงเดือนมีนาคม 2553 หลังจากนั้นเพิ่งเริ่มมีการเกินดุลอย่างต่อเนื่องส่งผลให้ดุลการค้าและบริการในไตรมาสที่สองปี 2553 มีการเกินดุลสะสมในช่วง 3 เดือนที่ 6.63 พันล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย ต่างจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้วซึ่งขาดดุลสะสม 0.82 พันล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย การเกินดุลในไตรมาสที่ 2 ปี 2553 มีแรงขับเคลื่อนสำคัญมาจากการส่งออกแร่ธาตุที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะความต้องการเหล็กและถ่านหินจากจีนและอินเดีย โดยในช่วงเวลาดังกล่าว ออสเตรเลียส่งออกเหล็กเป็นมูลค่า 12,830 พันล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย เพิ่มขึ้นร้อยละ 81.93 (YoY) ในขณะที่การส่งออกถ่านหินมีมูลค่า 11,305 พันล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย เพิ่มขึ้นร้อยละ 16.75 (YoY)

การเติบโตในอุตสาหกรรมเหมืองแร่ ซึ่งถูกผลักดันโดยความต้องการส่งออก ทำให้เกิดการจ้างงานเพิ่มขึ้น และทำให้ตัวเลขการว่างงานโดยรวมลดลงตามไปด้วย โดยอัตราการว่างงานในออสเตรเลียลดลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เดือนมีนาคม 2553 จนกระทั่งในเดือนมิถุนายน 2553 อัตราการว่างงานอยู่ที่ร้อยละ 5.0 ซึ่งต่ำที่สุดในรอบ 18 เดือน

ดังนั้นจึงอาจกล่าวได้ว่า การส่งออกแร่ธาตุถือเป็นหนึ่งปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญของออสเตรเลียโดยตรง ผ่านตัวเลขการลงทุน และยังส่งผลเชื่อมโยงสู่การบริโภคภายในประเทศผ่านการจ้างงานและช่องทางอื่นๆ อีกด้วย นอกจากนั้น จากประเด็นร้อนทางการเมืองในเรื่องนโยบายภาษีในธุรกิจเหมืองแร่ในช่วงที่ผ่านมายังแสดงให้เห็นว่านอกจากจะเป็นตัวจักรขับเคลื่อนเศรษฐกิจผ่านการลงทุนและการบริโภคแล้ว อุตสาหกรรมแร่ธาตุยังมีความสำคัญในด้านแหล่งรายได้แหล่งใหญ่ของรัฐผ่านทางการเก็บภาษีอีกด้วย ดังนั้นอุตสาหกรรมแร่ธาตุในออสเตรเลียจึงมีความสำคัญมากต่อเศรษฐกิจของออสเตรเลีย อย่างไรก็ดี ด้วยแนวโน้มการชะลอความร้อนแรงลงของเศรษฐกิจจีนและอินเดียจากความพยายามของทางการแต่ละประเทศที่ต้องการควบคุมเสถียรภาพด้านราคา ทำให้นโยบายแตะเบรกทางเศรษฐกิจของจีนและอินเดียเป็นปัจจัยที่ควรจับตามองอย่างใกล้ชิด เนื่องจากอาจส่งผลกระทบต่อความต้องการส่งออกเหล็กและถ่านหินจากออสเตรเลียได้ และอาจทำให้แรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจออสเตรเลียผ่านภาคส่งออกรวมของออสเตรเลียชะลอลงในช่วงที่เหลือของปีนี้

เงินเฟ้อและการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย … ปัจจัยกดดันการบริโภคภายในประเทศ
เศรษฐกิจออสเตรเลียมีแนวโน้มการเติบโตได้ต่อเนื่องในครึ่งหลังของปีนี้จากการเติบโตของอุตสาหกรรมแร่ธาตุ แม้อาจยังมีปัจจัยเสี่ยงจากการชะลอตัวบ้างจากภาคส่งออกตามเศรษฐกิจคู่ค้าที่อ่อนแรงลง อย่างไรก็ดี อุตสาหกรรมแร่ธาตุที่ยังขับเคลื่อนต่อไปได้อาจเป็นปัจจัยเร่งให้อัตราเงินเฟ้อในช่วงครึ่งหลังของปียังอยู่ในระดับสูง ซึ่งอาจนำไปสู่การขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย และส่งผลต่อการบริโภคของประชาชนได้

ในช่วงครึ่งหลังของปี 2552 ต่อเนื่องถึงไตรมาสแรกของปี 2553 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปของออสเตรเลียมีอัตราเร่งขึ้นโดยตลอด จากร้อยละ 1.3 (YoY) ในไตรมาส 3/2552 เป็นร้อยละ 3.1 ในไตรมาส 1/2553 โดยมีปัจจัยจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก และอีกปัจจัยหนึ่งจากการลงทุนเพิ่มในอุตสาหกรรมแร่ธาตุโดยบริษัทข้ามชาติรายใหญ่ เนื่องจากออสเตรเลียมีความสำคัญในฐานะเป็นแหล่งลงทุนกิจการเหมืองแร่อันดับต้นๆ ของโลก ดังนั้นมูลค่าการลงทุนในเหมืองแร่ของออสเตรเลียจึงมีมูลค่ามหาศาล และส่งผลต่อระดับราคาของออสเตรเลียมาก ผ่านการซื้อวัตถุดิบ และการจ้างงาน

อัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องดังกล่าว ทำให้ธนาคารกลางออสเตรเลียต้องปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายระลอกใหญ่ติดต่อกัน 6 ครั้ง ในเดือนตุลาคมถึงธันวาคม 2552 และมีนาคมถึงพฤษภาคม 2553 รวมทั้งสิ้น 150 basis point การขึ้นดอกเบี้ยดังกล่าวมีผลให้การบริโภคภายในประเทศอ่อนแรงลง โดยอัตราการเติบโตของมูลค่าการค้าปลีกชะลอลงอย่างต่อเนื่องก่อนปรับตัวดีขึ้นในเดือนมีนาคม 2553 ถึงปัจจุบัน ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในช่วงเวลาดังกล่าวปรับลดลงต่ำสุดในเดือนมิถุนายน 2553 ก่อนฟื้นตัวขึ้นในเดือนกรกฎาคม 2553

ด้วยเหตุที่อัตราเงินเฟ้อในออสเตรเลียมีความสัมพันธ์กับการเติบโตในอุตสาหกรรมเหมืองแร่ ซึ่งอาจนำไปสู่การขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย และอาจส่งผลต่อการบริโภคในประเทศได้ ดังนั้นอัตราเงินเฟ้อในออสเตรเลียจึงเป็นหนึ่งในปัจจัยท้าทายของรัฐบาลชุดใหม่ของออสเตรเลีย ในการจัดการควบคุมให้อยู่ในระดับที่ไม่สูงเกินไปควบคู่กับการส่งเสริมให้อุตสาหกรรมแร่ธาตุเติบโตของอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อควบคุมเงินเฟ้อก็อาจจำเป็นต้องคำนึงถึงผลกระทบต่อการบริโภคในประเทศด้วย

ธุรกิจภาคบริการมีทิศทางอ่อนแรงลงในช่วงครึ่งแรกของปี
ดัชนีธุรกิจบริการ (Performance of Service Index: PSI) ที่จัดทำโดย Commonwealth Bank มีระดับต่ำกว่า 50 ในทุกเดือนยกเว้นเดือนเมษายน ซึ่งบ่งบอกถึงการหดตัวของธุรกิจภาคบริการของออสเตรเลียในเกือบทุกเดือน โดยล่าสุดในเดือนกรกฎาคม ดัชนีปรับลดลงต่อเนื่องจาก 52.3 จุดในเดือนเมษายน เป็นระดับ 46.6 จุดในเดือนกรกฎาคม และลดลงจากที่ระดับ 48.8 ในเดือนก่อนหน้า การหดตัวดังกล่าวมาจากการปรับตัวขององค์ประกอบด้านยอดขาย คำสั่งซื้อ สินค้าคงคลัง ยอดการส่งสินค้า ราคาขาย การจ้างงานและค่าจ้าง และราคาวัตถุดิบ โดยในช่วง 3 เดือนหลัง (พฤษภาคมถึงเดือนกรกฎาคม) องค์ประกอบดังกล่าวปรับตัวในทิศทางหดตัวลง ยกเว้นเพียงการจ้างงานและค่าจ้าง และราคาวัตถุดิบเท่านั้นที่ปรับตัวสูงขึ้น นอกจากนั้นการหดตัวลงของภาคบริการในช่วง 3 เดือนหลังมีการกระจายตัวในสาขาธุรกิจการค้าส่งค้าปลีก ภัตตาคาร การขนส่ง การสื่อสาร การบริการทางธุรกิจ และการบริการทางสุขภาพ โดยมีเพียงสาขาบริการทางการเงินและประกัน และสาขาบริการส่วนตัวและสันทนาการเท่านั้นที่มีการขยายตัว

ในด้านความสัมพันธ์ทางการค้ากับไทย การส่งออกของไทยอาจได้รับผลกระทบจากปัจจัยท้าทายทางเศรษฐกิจในออสเตรเลียในช่วงที่เหลือของปีนี้

ในช่วงครึ่งปีแรกที่ผ่านมา การส่งออกของไทยไปยังออสเตรเลียมีมูลค่า 5.04 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เติบโตขึ้นร้อยละ 41.53 จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว อย่างไรก็ดี มูลค่าการส่งออกในเดือนพฤษภาคมและมิถุนายนมีสัญญาณชะลอลงทั้งเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนก่อนหน้าและเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว สะท้อนถึงความต้องการในออสเตรเลียที่ชะลอตัวลง

ปัจจัยที่อาจมีผลกระทบต่อการส่งออกของไทยไปยังออสเตรเลียในช่วงที่เหลือของปีนี้ ปัจจัยแรกได้แก่แนวโน้มการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายจากอัตราเงินเฟ้อที่อาจเร่งตัวขึ้น ซึ่งอาจส่งผลต่อกำลังซื้อในประเทศออสเตรเลียได้ ปัจจัยที่สอง ได้แก่การชะลอตัวลงของภาคอุตสาหกรรมของจีน และนโยบายการชะลอความร้อนแรงทางเศรษฐกิจของอินเดีย ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อความต้องการแร่ธาตุของจีนและอินเดียจากออสเตรเลีย ทำให้แรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจออสเตรเลียด้านภาคส่งออกชะลอลงตามไปด้วย ซึ่งเศรษฐกิจออสเตรเลียที่อาจเติบโตชะลอลง คาดว่าจะส่งผลเชื่อมโยงต่อความต้องการสินค้าส่งออกจากไทยได้ให้อ่อนแรงลงเช่นกัน อย่างไรก็ดี การส่งออกของไทยไปยังออสเตรเลียยังมีแนวโน้มเติบโตต่อไปได้ตามแนวโน้มเศรษฐกิจออสเตรเลียที่ยังคงขยายตัวเป็นบวกในช่วงที่เหลือของปีนี้ ทั้งนี้ สินค้าส่งออกหลักจากไทยไปออสเตรเลียใน 6 เดือนแรกของปีนี้ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ อัญมณีและเครื่องประดับ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ (โครงเหล็กสำหรับก่อสร้าง) เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ เม็ดพลาสติก อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ น้ำมันสำเร็จรูป ผลิตภัณฑ์ยาง และผลิตภัณฑ์พลาสติก

โดยสรุป การเลือกตั้งในออสเตรเลียที่กำลังจะมีขึ้นในวันที่ 21 สิงหาคมนี้ จะเป็นการแข่งขันกันระหว่างนางจูเลีย กิลลาร์ด จากพรรคแรงงานซึ่งเป็นพรรครัฐบาลในปัจจุบัน และนายโทนี แอบบ็อท จากพรรคเสรีนิยม โดยนโยบายทางเศรษฐกิจของทั้งสองฝ่ายมีความแตกต่างกันในประเด็นนโยบายการกระตุ้นเศรษฐกิจและนโยบายการคลัง โดยเฉพาะประเด็นภาษีกิจการเหมืองแร่ฉบับใหม่ ไม่ว่าผลการเลือกตั้งจะออกมาอย่างไร รัฐบาลชุดใหม่คงต้องรับมือกับความท้าทายทางเศรษฐกิจหลายด้านในช่วงที่เหลือของปีนี้ ทั้งนี้เศรษฐกิจออสเตรเลียได้ฟื้นตัวจากวิกฤตเศรษฐกิจโลกปี 2551 และมีแนวโน้มจะขยายตัวต่อไปในอัตราร้อยละ 3.0 ในปีนี้จากการคาดการณ์ของ IMF โดยการขยายตัวทางเศรษฐกิจของออสเตรเลียในปีนี้มีแรงขับเคลื่อนสำคัญจากการส่งออกแร่ โดยเฉพาะเหล็กและถ่านหิน โดยมีตลาดส่งออกสำคัญคือจีนและอินเดีย

ความท้าทายประการแรกสำหรับรัฐบาลชุดใหม่ คือ การรักษาการขยายตัวของอุตสาหกรรมเหมืองแร่ ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการขยายตัวของการจ้างงาน และส่งผลดีต่อการบริโภค โดยที่ผ่านมาการจ้างงานในอุตสาหกรรมแร่ธาตุทำให้อัตราการว่างงานในออสเตรเลียลดลงอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี การชะลอความร้อนแรงลงของเศรษฐกิจจีนและอินเดียเป็นปัจจัยที่ควรจับตามองอย่างใกล้ชิด เนื่องจากอาจส่งผลกระทบต่อความต้องการส่งออกเหล็กและถ่านหินจากออสเตรเลียได้

ความท้าทายประการที่สอง คือ การควบคุมเงินเฟ้อ ซึ่งถูกเร่งโดยการเติบโตทางเศรษฐกิจนำโดยอุตสาหกรรมแร่ธาตุ โดยในช่วงครึ่งหลังของปี 2552 ต่อเนื่องถึงไตรมาสแรกของปี 2553 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปของออสเตรเลียมีอัตราเร่งขึ้นโดยตลอดจนกระทั่งใกล้เคียงกับช่วงเงินเฟ้อเป้าหมายของทางการ จึงมีแนวโน้มว่าทางการออสเตรเลียอาจจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีกครั้งในระยะอันใกล้ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นผู้บริโภคและการบริโภคในประเทศ ดังเช่นที่เคยเกิดขึ้นแล้วในการปรับอัตราดอกเบี้ยระลอกที่ผ่านมาระหว่างเดือนตุลาคม 2552 ถึงเดือนพฤษภาคม 2553 ดังนั้นอัตราเงินเฟ้อในออสเตรเลียจึงเป็นหนึ่งในปัจจัยท้าทายของรัฐบาลชุดใหม่ของออสเตรเลีย ในการควบคุมให้อยู่ในระดับที่ไม่สูงเกินไป ในขณะเดียวกันก็ต้องส่งเสริมให้อุตสาหกรรมแร่ธาตุเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง ส่วนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อต้านทานภาวะเงินเฟ้อก็อาจต้องคำนึงถึงผลกระทบต่อการบริโภคในประเทศควบคู่ไปด้วย

นอกจากนั้น ความท้าทายอีกประการหนึ่งของรัฐบาลชุดใหม่ คือการแก้ไขการหดตัวในธุรกิจบริการที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมา โดยเฉพาะในช่วงเดือนพฤษภาคมถึงกรกฎาคม ซึ่งมีการหดตัวในเกือบทุกสาขาบริการ เช่น ค้าส่งค้าปลีก ภัตตาคาร และการขนส่ง

สำหรับการส่งออกของไทยไปออสเตรเลียในครึ่งหลังของปี 2553 มีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง แม้ว่าอาจมีปัจจัยเสี่ยงให้ชะลอลงบ้างจากแนวโน้มการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของออสเตรเลียจากอัตราเงินเฟ้อที่อาจเร่งตัวขึ้น ซึ่งกดดันต่อภาคการบริโภคในออสเตรเลีย และเศรษฐกิจออสเตรเลียที่อาจเติบโตชะลอลงเนื่องจากแรงขับเคลื่อนทางการส่งออกแร่ธาตุที่อ่อนแรงลงตามมาตรการควบคุมความร้อนแรงทางเศรษฐกิจของจีนและอินเดีย ถือเป็นอีกปัจจัยที่อาจมีผลกระทบต่อการส่งออกของไทยไปยังออสเตรเลียเช่นกัน ทั้งนี้ในช่วงครึ่งปีแรกที่ผ่านมา การส่งออกของไทยไปยังออสเตรเลียเติบโตขึ้นร้อยละ 41.53 (YoY) อย่างไรก็ดี มูลค่าการส่งออกในเดือนพฤษภาคมและมิถุนายนมีสัญญาณชะลอลงทั้งเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนก่อนหน้าและเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว โดยสินค้าส่งออกหลักจากไทยไปออสเตรเลียใน 6 เดือนแรกของปีนี้ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ อัญมณีและเครื่องประดับ เหล็ก โครงเหล็กสำหรับก่อสร้าง เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ เม็ดพลาสติก อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ น้ำมันสำเร็จรูป ผลิตภัณฑ์ยาง และผลิตภัณฑ์พลาสติก