ทรูรายงานผลประกอบการไตรมาส 2 ชะลอตัว ขณะกลยุทธ์คอนเวอร์เจนซ์ยังคืบหน้าต่อเนื่อง

บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น รายงานผลประกอบการประจำไตรมาส 2 ปี 2553 ชะลอตัวเนื่องจากผลการดำเนินงานทรูมูฟอ่อนตัวลง จากสถานการณ์ทางการเมืองและผลกระทบจากฤดูกาล รายได้จากการให้บริการของทรูออนไลน์ยังคงเติบโตต่อเนื่อง เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีที่ผ่านมา ขณะที่ทรูวิชั่นส์เริ่มปรับตัวดีขึ้น โดยรายได้จากการรับทำการโฆษณาเติบโตต่อเนื่อง กลยุทธ์คอนเวอร์เจนซ์ ยังสร้างความแข็งแกร่งให้กับกลุ่มทรูและคาดว่าผลการดำเนินงานโดยรวมของกลุ่มทรูจะปรับตัวดีขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง

ในไตรมาส 2 ปี 2553 กลุ่มทรูมีรายได้จากค่าบริการโดยรวม (ไม่รวมค่าเชื่อมโยงโครงข่าย หรือ IC) ลดลงเล็กน้อยเพียงร้อยละ 0.4 จากไตรมาสเดียวกันปีก่อนหน้า และร้อยละ 4.6 จากไตรมาสที่ผ่านมา เป็น 12.7 พันล้านบาท ในขณะที่ กำไรจากการดำเนินงาน ก่อนดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย หรือ EBITDA โดยรวมลดลงร้อยละ 10.0 จากไตรมาสที่ผ่านมา เป็น 4.5 พันล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผลจากสภาวะการเมือง และผลกระทบจากฤดูกาล รวมทั้งการท่องเที่ยวที่ลดลง ซึ่งกระทบต่อรายได้โทรศัพท์ทางไกลข้ามแดนระหว่างประเทศ สำหรับไตรมาสนี้ ทรูรายงานผลกำไรสุทธิจากการดำเนินงานปกติจำนวน 89 ล้านบาท (ไม่รวมภาษีเงินได้รอตัดบัญชี)

แม้จะต้องเผชิญกับความท้าทายจากสถานการณ์ทางการเมืองในไตรมาส 2 แต่กลยุทธ์คอนเวอร์เจนซ์ยังคงมีความคืบหน้าต่อเนื่อง โดยผู้ใช้ผลิตภัณฑ์และบริการของกลุ่มทรูตั้งแต่ 2 รายการขึ้นไปเพิ่มขึ้นร้อยละ 14.1 จากปีที่ผ่านมา เป็นจำนวน 2.4 ล้านครัวเรือน ในขณะที่ยอดผู้ใช้บริการบรอดแบนด์รายใหม่สุทธิเพิ่มขึ้นสูงสุดเป็นจำนวน 33,000 ราย ซึ่งเป็นจำนวนผู้ใช้บริการรายใหม่สุทธิที่สูงสุดในรอบ 3 ปีที่ผ่านมา และทำให้ทรูออนไลน์มีจำนวนผู้ใช้บริการรายใหม่สุทธิช่วงครึ่งปีแรกของปี 2553 มากกว่า 60,000 ราย ซึ่งมีจำนวนรวมสูงกว่าในปี 2552 ทั้งปี นอกจากนั้น ผลประกอบการของทรูวิชั่นส์เริ่มปรับตัวดีขึ้น โดยรายได้จากการให้บริการเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.4 จากไตรมาสเดียวกันปีก่อนหน้า เนื่องจากมีรายได้จากการรับทำการโฆษณาเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 32.7 จากไตรมาสที่ผ่านมา ในขณะเดียวกันบริการที่ไม่ใช่เสียงของทรูมูฟยังคงเติบโตอย่างแข็งแกร่งในอัตราร้อยละ 19.9 จากไตรมาสเดียวกันในปีที่ผ่านมา

นายศุภชัย เจียรวนนท์ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานคณะผู้บริหาร กล่าวว่า “ผลการดำเนินงานของกลุ่มทรู ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การเมืองในไตรมาส 2 ซึ่งปกติจะเป็นไตรมาสที่ได้รับผลกระทบของฤดูกาล แม้ผลประกอบการโดยรวม โดยเฉพาะทรูมูฟจะอ่อนตัวลง แต่ก็เริ่มปรับตัวดีขึ้นตั้งแต่ช่วงต้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา”

“ผลการดำเนินงานของทรูวิชั่นส์คาดว่าจะปรับตัวดีขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง จากการเริ่มฤดูกาลใหม่ของรายการฟุตบอลพรีเมียร์ลีก และเรียลิตี้โชว์ รวมทั้งการให้บริการช่องรายการในระบบ High Definition ตลอดจนรายได้จากการรับทำการโฆษณาที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่โปรโมชั่นใหม่ๆ ของบริการบรอดแบนด์และการขยายพื้นที่ให้บริการสู่ต่างจังหวัด จะมีส่วนสำคัญช่วยเพิ่มรายได้และยอดผู้ใช้บริการให้กับทรูออนไลน์ ทำให้บริษัทเชื่อมั่นว่า ผลการดำเนินงานของกลุ่มทรู จะปรับตัวดีขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง โดยกลยุทธ์คอนเวอร์เจนซ์ยังคงเป็นปัจจัยสำคัญ สนับสนุนการเติบโตในทุกกลุ่มธุรกิจของบริษัท”

สำหรับบริการ 3G คาดว่าจะเปิดให้บริการเชิงพาณิชย์ หลังจากมีประกาศข้อกำหนดเงื่อนไขหลักเกณฑ์การออกใบอนุญาต 3G ในราชกิจจานุเบกษาเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา กลุ่มทรูซึ่งเป็นผู้นำคอนเทนต์คุณภาพหลากหลาย รวมทั้งเป็นผู้ให้บริการครบวงจรบนคอนเวอร์เจนซ์ แพลตฟอร์ม จะช่วยเสริมความแข็งแกร่งให้กลุ่ม ทรูในฐานะผู้นำบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในระบบ 3G ได้เป็นอย่างดี” นายศุภชัยกล่าว

สำหรับผลดำเนินงานในช่วงครึ่งปีแรก ของปี 2553 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา รายได้จากการให้บริการไม่รวมค่า IC เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.4 เป็น 26 พันล้านบาท โดยทุกธุรกิจเติบโต ในขณะที่รายได้จากการให้บริการของ ทรูมูฟ ไม่รวมค่า IC เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.7

สำหรับ ทรูมูฟ รายได้จากการให้บริการ (ไม่รวมค่า IC) ในไตรมาส 2 เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.1 เป็น 5.7 พันล้านบาท เทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีที่ผ่านมา ส่วนใหญ่เป็นผลจากการเติบโตของบริการแบบรายเดือน ซึ่งเกิดจากรายได้บริการที่ไม่ใช่เสียงเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา รายได้จาก การให้บริการ (ไม่รวมค่า IC) ลดลงร้อยละ 7.5 เนื่องจากรายได้จากบริการแบบเติมเงินปรับตัวลดลง ซึ่งเป็นผลจากการแข่งขันในโปรโมชั่นโทรภายในโครงข่าย รวมทั้งได้รับผลกระทบจากฤดูกาลและสถานการณ์การเมือง ทำให้รายได้จากบริการโทรศัพท์ทางไกลข้ามแดนระหว่างประเทศ (International Roaming – IR) ลดลง อย่างไรก็ตาม ในไตรมาสนี้ ทรูมูฟสามารถเพิ่มจำนวนผู้ใช้บริการรายใหม่สุทธิ 180,403 ราย ทำให้มีจำนวนผู้ใช้บริการรวมทั้งสิ้น 16.4 ล้านราย นอกจากนี้ รายได้จากบริการแบบรายเดือนเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.6 จากไตรมาสเดียวกันของปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นผลจากสมาร์ทโฟนและบริการ โมบายอินเทอร์เน็ตได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น ทำให้รายได้จากบริการที่ไม่ใช่เสียงโดยรวมเพิ่มขึ้นร้อยละ 19.9 ในขณะที่ ทรูมูฟยังคงมีรายรับค่า IC สุทธิจำนวนทั้งสิ้น 60 ล้านบาท ในไตรมาสนี้

ทรูออนไลน์ มีรายได้จากการให้บริการเพิ่มขึ้นในอัตราร้อยละ 2.4 จากไตรมาสเดียวกันในปีที่ผ่านมา เป็น 6.6 พันล้านบาท จากบริการบรอดแบนด์ บริการใหม่ๆ และคอนเวอร์เจนซ์ที่เติบโตอย่างแข็งแกร่ง อย่างไรก็ตาม รายได้จากการให้บริการอ่อนตัวลงเล็กน้อยประมาณร้อยละ 1.8 จากไตรมาสที่ผ่านมา จากผลกระทบของฤดูกาล อย่างไรก็ตาม รายได้จากบริการบรอดแบนด์เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.6 จากไตรมาสเดียวกัน ปีก่อนหน้า และร้อยละ 9.1 ในช่วงครึ่งปีแรก และด้วยความสำเร็จจากโปรโมชั่นต่างๆ ทำให้ในไตรมาสนี้ มียอดผู้ใช้บริการบรอดแบนด์เพิ่มขึ้นเป็นเกือบ 750,700 ราย ยิ่งไปกว่านั้น ในไตรมาสนี้ ทรูออนไลน์ยังเปิดบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง 50 Mbps ซึ่งนับเป็นความเร็วสูงสุดในประเทศไทยอีกด้วย

ผลประกอบการของทรูวิชั่นส์เริ่มปรับตัวดีขึ้นในไตรมาส 2 โดยรายได้จากการให้บริการเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.4 จากไตรมาสเดียวกันของปีที่ผ่านมา เป็น 2.3 พันล้านบาท นอกจากนั้น รายได้จากการรับทำการโฆษณาที่เพิ่มขึ้นในอัตราร้อยละ 32.7 จากไตรมาสที่ผ่านมา ยังสามารถชดเชยผลกระทบที่เกิดจากการสิ้นสุดฤดูกาลของรายการฟุตบอลพรีเมียร์ลีกในเดือนพฤษภาคม เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า รายได้จากการให้บริการลดลงเล็กน้อยในอัตราร้อยละ 0.4 ด้วยผลกระทบจากฤดูกาล สถานการณ์การเมืองในประเทศ รวมทั้งการแข่งขัน โดยในไตรมาสนี้ ทรูวิชั่นส์สามารถเพิ่มจำนวนผู้ใช้บริการรายใหม่สุทธิได้ 22,000 ราย เนื่องจากกระแสความนิยมของฟุตบอลโลก 2010 (FIFA World Cup 2010) ทำให้มีจำนวนผู้ใช้บริการโดยรวม 1.7 ล้านราย นอกจากนั้น การเปิดให้บริการช่องรายการใหม่ในระบบ High Definition รายเดียวของประเทศไทย ได้รับการตอบรับอย่างดียิ่งจากตลาด ขณะที่โปรโมชั่นใหม่ๆ สำหรับลูกค้าระดับกลางและล่าง ซึ่งเปิดตัวในไตรมาส 2 จะช่วยเพิ่มจำนวนผู้ใช้บริการและรายได้จากการรับทำการโฆษณาในอนาคต

ความสำเร็จในการรีไฟแนนซ์ธุรกิจของทรูวิชั่นส์วงเงิน 12 พันล้านบาท ในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ไม่เพียงช่วยลดต้นทุนในการกู้ยืมเท่านั้น แต่ยังปรับเปลี่ยนการชำระหนี้ ให้สอดคล้องกับกระแสเงินสดของบริษัท รวมทั้งช่วยลดความเสี่ยงที่อาจเกิดจากอัตราแลกเปลี่ยนผันผวน ส่งผลให้ความน่าเชื่อถือทางการเงิน (Credit Profile) ของบริษัทปรับตัวดีขึ้น

บริษัทยังคงดำเนินนโยบายลดภาระหนี้อย่างต่อเนื่อง โดยในช่วงครึ่งแรกของปี 2553 บริษัทชำระคืนหนี้ระยะยาวจำนวน 2.7 พันล้านบาท อย่างไรก็ตาม อัตราส่วนหนี้สินสุทธิต่อ EBITDA เพิ่มขึ้นเล็กน้อยเป็น 3.2 เท่า ในไตรมาส 2 ซึ่งเป็นผลจาก EBITDA ที่อ่อนตัวลงจากผลกระทบตามฤดูกาลและจากสถานการณ์การเมือง

นายนพปฎล เดชอุดม หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านการเงิน กล่าวเสริมว่า “ความสำเร็จจากการ รีไฟแนนซ์ ธุรกิจของทรูวิชั่นส์ในครั้งนี้ เป็นความก้าวหน้าครั้งสำคัญของกลุ่มทรู หลังประสบความสำเร็จจากการรีไฟแนนซ์ธุรกิจทรูออนไลน์ในปี 2552 ซึ่งเป็นการใช้ประโยชน์จากสภาพคล่องภายในประเทศ โดยกลุ่มทรูยังคงให้ความสำคัญกับการลดภาระหนี้ และเพิ่มความน่าเชื่อถือทางการเงินอย่างต่อเนื่อง”