ส่งออกเดือน ก.ค. 53 ชะลอเกินคาด … แนวโน้มยังต้องติดตามอย่างใกล้ชิด

การส่งออกของไทยในเดือนกรกฎาคม 2553 ชะลอตัวลงแรงกว่าที่คาด สร้างความกังวลเพิ่มมากขึ้นต่อแนวโน้มการส่งออกในช่วงระยะเวลาที่เหลือของปี ท่ามกลางภาวะที่อุปสงค์ในตลาดโลกมีทิศทางที่อ่อนตัวลง หลังจากภาพการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกยิ่งปรากฏชัดขึ้น ขณะที่ค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นรวดเร็วในระยะนี้ ก็อาจยิ่งเป็นปัจจัยที่เพิ่มแรงกดดันต่อผู้ส่งออกไทยในหลายอุตสาหกรรม

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย วิเคราะห์แนวโน้มการส่งออกของไทยในระยะข้างหน้า โดยมีประเด็นสำคัญ ดังนี้ ส่งออกเดือน ก.ค. ร่วง … แต่นำเข้ายังพุ่ง ฉุดไทยขาดดุลการค้าสูงสุดในรอบ 20 เดือน

มูลค่าการส่งออกของไทยในเดือนกรกฎาคม 2553 พลิกกลับมาลดลงอย่างฉับพลัน หลังจากก่อนหน้านี้ การส่งออกในเดือนมิถุนายนได้บันทึกสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ทั้งในด้านมูลค่าและอัตราการขยายตัว โดยจากข้อมูลล่าสุดของกระทรวงพาณิชย์ การส่งออกของไทยในเดือนกรกฎาคม 2553 มีมูลค่าลดลงมาอยู่ที่ 15,565 ล้านดอลลาร์ฯ จาก 18,038 ล้านดอลลาร์ฯ ในเดือนก่อนหน้า หรือลดลงจากเดือนก่อนถึงร้อยละ 12.5 (ปรับฤดูกาล) ขณะที่อัตราการขยายตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ชะลอลงมาอยู่ที่ร้อยละ 20.6 (Year-on-Year) จากที่ขยายตัวสูงร้อยละ 42.1 ในเดือนก่อนหน้า

โดยกลุ่มสินค้าที่ชะลอลงแรง ที่สำคัญได้แก่ สินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมการเกษตร และสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ โดยข้าวยังหดตัวต่อเนื่อง (-25.1% YoY) ส่วนน้ำตาลขยายตัวเพียงเล็กน้อย (+5.5%) โดยเป็นผลมาจากปัญหาด้านการแข่งขันและการแข็งค่าของเงินบาท ขณะที่การชะลอตัวของการส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์น่าจะเป็นผลของการปรับระดับสินค้าคงคลังไม่ให้มีระดับสูงเกินไป เนื่องจากเศรษฐกิจโลกยังมีความไม่แน่นอนสูง และนอกเหนือจากปัจจัยด้านการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกและค่าเงินที่แข็งค่าแล้ว คาดว่ายังมีผลของการปรับเปลี่ยนมาใช้เอกสารประกอบการขอรับสิทธิพิเศษภายใต้เขตการค้าเสรีอาเซียน หรือ AFTA จากเดิมใช้ CEPT Form D มาเป็น ATIGA Form D ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2553 นั้น อาจมีส่วนทำให้ผู้ส่งออกไทยเร่งส่งออกสินค้าไปแล้วในช่วงเดือนมิถุนายนก่อนที่จะเข้าสู่ช่วงเปลี่ยนผ่าน เพื่อไม่ให้กระบวนการส่งออกชะงัก ซึ่งอาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้การส่งออกในเดือนกรกฎาคม 2553 ชะลอลงไปมาก
สำหรับสินค้าส่งออกที่ขยายตัวในระดับสูง ได้แก่ กลุ่มรถยนต์และชิ้นส่วน (+64.5%) ยางพารา (+91.9%) เครื่องใช้ไฟฟ้า (+36.5%) โดยเฉพาะเครื่องปรับอากาศ เป็นต้น

ตลาดส่งออกส่วนใหญ่ชะลอตัวจากเดือนก่อน โดยเฉพาะการส่งออกที่ไปยังตลาดยุโรปและอาเซียน ออสเตรเลีย มีทิศทางอ่อนตัวลงมากกว่าตลาดอื่นๆ ขณะที่การส่งออกไปยังจีนและตะวันออกกลางยังมีอัตราการเติบโตที่สูงขึ้นกว่าเดือนก่อนหน้า

ในด้านการนำเข้าโดยรวมในเดือนกรกฎาคมยังคงขยายตัวสูงในอัตราร้อยละ 36.1 (YoY) ใกล้เคียงกับร้อยละ 37.9 ในเดือนก่อน จึงทำให้ดุลการค้าในเดือนกรกฎาคมขาดดุลสูงสุดในรอบ 20 เดือนที่ระดับ 939.8 ล้านดอลลาร์ฯ จากที่เกินดุลสูงกว่า 2000 ล้านดอลลาร์ฯ ตลอดช่วง 2 เดือนก่อนหน้า อย่างไรก็ดี การนำเข้าในเดือนนี้มีผลของการนำเข้าทองคำในมูลค่าสูงถึง 1,705 ล้านดอลลาร์ฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 204 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) ซึ่งหากขจัดผลของทองคำออกไป พบว่าการนำเข้าขยายตัวเพียงร้อยละ 27.9 ชะลอลงมากจากร้อยละ 44.3 ในเดือนก่อน โดยการเร่งนำเข้าทองคำนั้นมีสาเหตุจากการที่ราคาทองคำในตลาดโลกในเดือนกรกฎาคมปรับตัวลดลง จึงมีการเร่งนำเข้าเพื่อคาดหวังประโยชน์จากการทำกำไรส่วนต่างหากราคาปรับขึ้นในระยะข้างหน้า ดังนั้น การขาดดุลการค้ามูลค่าสูงในเดือนนี้จึงน่าจะเป็นเพียงปัจจัยชั่วคราว

แนวโน้มเศรษฐกิจโลก … คาดซึมลง แต่ไม่ถึงขั้นถดถอยรอบสอง
ตัวเลขอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 2/2553 และเครื่องชี้เศรษฐกิจล่าสุดของกลุ่มประเทศชั้นนำของโลกล้วนต่างมีสัญญาณชะลอตัวชัดเจนขึ้น ไม่ว่าสหรัฐฯ จีน หรือญี่ปุ่น ขณะที่กลุ่มยูโรโซนนั้น แม้ว่ามีการฟื้นตัวได้ดีกว่าที่หลายฝ่ายคาด โดยอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของยูโรโซนในไตรมาสที่ 2/2553 ขยายตัวร้อยละ 1.0 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า (Seasonally Adjusted Quarter-on-Quarter) เร่งตัวขึ้นจากร้อยละ 0.2 ในไตรมาสก่อน นำโดยเยอรมนีที่เศรษฐกิจมีอัตราการเติบโตสูงสุดในรอบกว่า 20 ปี นับตั้งแต่มีการรวมประเทศ แต่ภาพที่ปรากฏไม่ใช่สิ่งที่บ่งบอกอนาคตว่าเศรษฐกิจยูโรโซนจะสามารถรักษาเส้นทางการฟื้นตัวดังเช่นที่ผ่านมาได้ โดยมีความเป็นไปได้ว่าเศรษฐกิจของกลุ่มยูโรโซนรวมถึงเยอรมนีอาจชะลอตัวในช่วงครึ่งปีหลัง หลังจากรัฐบาลของประเทศยุโรปต่างเริ่มต้นใช้มาตรการรัดเข็มขัดในระดับที่เข้มข้น ขณะที่ค่าเงินยูโรเริ่มกลับมาแข็งค่าขึ้น รวมทั้งทิศทางการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกจะยิ่งกดดันให้การส่งออกของยุโรปชะลอตัว

ทิศทางดังกล่าวย่อมส่งผลให้การส่งออกของไทยที่เติบโตแข็งแกร่งอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ต้นปี เริ่มอ่อนกำลังลง อย่างไรก็ตาม ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ยังคงมองว่าแนวโน้มเศรษฐกิจโลกโดยรวมน่าจะรักษาเส้นทางการฟื้นตัวต่อไปได้โดยไม่ถึงขั้นกลับสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยรอบสอง (Double-Dip Recession) โดยภาวะในขณะนี้เป็นการปรับฐานสู่การเติบโตที่สมดุลมากขึ้น จากช่วงก่อนหน้านี้เศรษฐกิจในภูมิภาคต่างๆ มีการเติบโตอย่างร้อนแรงจากเม็ดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจมูลค่ามหาศาลที่ทางการของนานาประเทศอัดฉีดเข้าสู่ระบบการเงินและภาคเศรษฐกิจจริง บวกการปรับเพิ่มระดับสินค้าคงคลังของภาคธุรกิจหลังจากที่ตัดลดระดับสต็อกลงไปมากในช่วงเศรษฐกิจถดถอย ซึ่งได้กระตุ้นการเติบโตของการผลิตในภาคอุตสาหกรรมทั่วโลก และผลของแรงกระตุ้นทั้งหลายทั้งปวงนี้ ก็ได้ขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจโลกตั้งแต่ช่วงครึ่งหลังของปีที่ผ่านมา จนถึงครึ่งแรกของปีนี้มีการเติบโตได้อย่างรวดเร็วเกินความคาดหมายของหลายๆ ฝ่าย

ขณะที่ปัจจุบัน เศรษฐกิจโลกกำลังเคลื่อนไปสู่การสร้างพื้นฐานของการเติบโตจากปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจ โดยไร้แรงกระตุ้นเสริมจากนโยบายการเงินและการคลัง ภายใต้สภาวะดังกล่าวนี้ การเติบโตของเศรษฐกิจอาจดำเนินไปในจังหวะที่ช้าลง โดยประเด็นสำคัญที่ต้องติดตามอยู่ที่พัฒนาการของการจ้างงานในประเทศพัฒนาแล้ว ซึ่งที่ผ่านมาอัตราการว่างงานยังลดลงได้ค่อนข้างช้า ส่วนหนึ่งมีสาเหตุจากการที่ในระยะที่ผ่านมา ธุรกิจมีการเร่งลงทุนในการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้เพื่อเพิ่มผลิตภาพ แต่ในอีกด้านหนึ่งก็ทำให้ความต้องการแรงงานกลับเข้าสู่ระบบการผลิตลดลงกว่าในอดีต ซึ่งในประเทศพัฒนาแล้ว ภาคการบริโภคนับเป็นส่วนสำคัญที่สุดในโครงสร้างเศรษฐกิจ ดังนั้น ถ้าการจ้างงานในระบบเศรษฐกิจยังมีระดับต่ำกว่าศักยภาพ ย่อมส่งผลให้การบริโภคมีการเติบโตได้ในขอบเขตที่จำกัด

บาทแข็ง เวียดนามลดค่าเงิน … สร้างแรงกดดันต่อผู้ส่งออกในหลายธุรกิจ
ในช่วงที่ผ่านมาของปี 2553 ค่าเงินบาทมีทิศทางแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ และเงินสกุลอื่นอีกหลายสกุล โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระยะเดือนสิงหาคม เงินบาทแข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็วทะลุ 32 บาทต่อดอลลาร์ฯ ทำสถิติแข็งค่าที่สุดในรอบ 28 เดือน และเคลื่อนไหวเข้าใกล้ 31.50 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันที่ 19 สิงหาคม ยิ่งไปกว่านั้น ธนาคารกลางของเวียดนามยังได้ประกาศลดค่าเงินเป็นครั้งที่ 3 มีผลเมื่อวันที่ 18 สิงหาคม ส่งผลให้ค่าเงินบาทที่เทียบกับเงินด่องของเวียดนามมีช่วงห่างที่กว้างมากขึ้น ซึ่งย่อมส่งผลกระทบต่อสถานะการแข่งขันของสินค้าส่งออกของไทยที่ต้องแข่งขันกับสินค้าจากเวียดนาม

โดยนับจากต้นปี 2553 เงินบาทแข็งค่าขึ้นร้อยละ 9.1 เมื่อเทียบกับเงินด่องของเวียดนาม และถ้ารวมผลของการแข็งค่ามาแล้วประมาณร้อยละ 14 ในปี 2552 ทำให้สินค้าเวียดนามมีราคาต่ำลงกว่าสินค้าไทยถึงกว่าร้อยละ 20 ภายในระยะเวลาไม่ถึง 2 ปี โดยสินค้าที่มีโอกาสได้รับผลกระทบมาก อาทิ สินค้าเกษตรกรรม สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม รองเท้า ผลิตภัณฑ์เครื่องหนัง เฟอร์นิเจอร์ เป็นต้น ?ซึ่งการชะลอตัวของการส่งออกสินค้าเกษตรหลายประเภท โดยเฉพาะข้าว ก็เป็นผลมาจากปัจจัยด้านค่าเงินเป็นเหตุผลสำคัญ

ทั้งนี้ แม้ว่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นอาจมีผลบวกในแง่ของการลดต้นทุนการนำเข้าสินค้าเครื่องจักรและวัตถุดิบของผู้ประกอบการไทย รวมทั้งช่วยชะลอแรงกดดันเงินเฟ้อได้ในระดับหนึ่ง แต่ในอีกด้านหนึ่งก็จะมีผลกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันด้านราคาของสินค้าส่งออกของไทย เมื่อต้องเปรียบเทียบกับคู่แข่งจากประเทศที่มีค่าเงินอ่อนค่าลงหรือมีค่าเงินแข็งค่าน้อยกว่าไทย โดยจากการวิเคราะห์ของ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย พบว่า ค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นร้อยละ 5 อาจจะมีผลทำให้จีดีพีลดลงประมาณร้อยละ 0.7

โดยสรุป ตัวเลขการส่งออกของไทยในเดือนกรกฎาคม 2553 อ่อนตัวลงแรงกว่าที่คาด ซึ่งคงเป็นทิศทางที่ต้องจับตาอย่างใกล้ชิดในระยะเดือนถัดๆ ไป เนื่องจากสัญญาณการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกน่าจะยิ่งปรากฏชัดขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี ขณะที่ทิศทางการแข็งค่าของเงินบาทก็เป็นอีกปัจจัยที่อาจส่งผลต่อความสามารถในการแข่งขันด้านราคาของสินค้าส่งออกของไทย อย่างไรก็ตาม ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ยังคงกรอบประมาณการอัตราการขยายตัวของการส่งออกในปี 2553 นี้ที่ร้อยละ 22.0-27.0 โดยมองว่า แม้เศรษฐกิจในหลายภูมิภาคมีแนวโน้มที่อาจจะยังคงชะลอตัวต่อไป แต่เศรษฐกิจโลกน่าจะรักษาเส้นทางการฟื้นตัวต่อไปได้โดยไม่ถึงขั้นกลับไปสู่ภาวะถดถอยรอบสอง (Double-Dip Recession) แต่การเติบโตของเศรษฐกิจอาจดำเนินไปในจังหวะที่ช้าลง นอกจากนี้ ความต้องการในตลาดโลกต่อสินค้าเกษตรและอาหารของไทย รวมทั้งการขยายกำลังการผลิตเพื่อส่งออกของบางอุตสาหกรรม เช่น รถยนต์ ซึ่งจะทยอยเริ่มต้นผลิตและส่งออกได้ในเดือนข้างหน้า น่าจะยังเป็นปัจจัยสนับสนุนให้การส่งออกของไทยยังขยายตัว (YoY) เป็นบวกได้ ขณะที่ประเด็นด้านการแข็งค่าของเงินบาทซึ่งมีแนวโน้มที่อาจจะผ่านระดับ 31.50 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในระยะอันใกล้นี้ คงเป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการต้องเตรียมรับมือ ทั้งในด้านการรักษาสถานะการแข่งขันในตลาด และรายได้ที่แปลงกลับมาเป็นรูปเงินบาทที่อาจลดลง รวมทั้งอัตรากำไรที่อาจแคบลงหากผู้ประกอบการต้องลดราคาเพื่อรักษาฐานลูกค้าไว้