ส่งออกไปจีนเดือน ก.ค.:ชะลอความร้อนแรงลง…ฉุดไทยขาดดุลกับจีนเพิ่มขึ้น 110.5%

การส่งออกของไทยไปจีนในเดือนกรกฎาคม 2553 ส่อแววอ่อนแรงต่อเนื่องด้วยอัตราการเติบโตร้อยละ 29.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน (YoY) ที่แม้จะใกล้เคียงกับร้อยละ 26.3 ในเดือนก่อนหน้า แต่ก็ยังคงต่ำกว่าระดับร้อยละ 39.4 ในเดือนพฤษภาคม ขณะที่การนำเข้ายังคงเติบโตสูงที่ระดับร้อยละ 40.1 แต่ก็ชะลอตัวลงเมื่อเทียบกับการเติบโตในเดือนมิถุนายนที่ระดับร้อยละ 62.1 ซึ่งจากการที่อัตราการเติบโตของการนำเข้าสูงกว่าภาคการส่งออกค่อนข้างมาก ส่งผลไทยขาดดุลการค้าให้แก่จีนสูงถึง 409.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯในเดือนกรกฎาคม

เดือน ก.ค. : การนำเข้าชะลอแรงกว่าการส่งออก…ส่งผลมูลค่าขาดดุลเพิ่มขึ้นเท่าตัว
สถานการณ์การค้าระหว่างไทย-จีน ในเดือนกรกฎาคม เป็นไปในทิศทางที่ชะลอความร้อนแรงลงเมื่อเทียบกับเดือนมิถุนายน โดยมีมูลค่าการส่งออก 1,691.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 29.6 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อนหน้า ซึ่งถือเป็นการชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่เดือนธันวาคมปีที่แล้ว ขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 2,101.0 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 40.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปี 2552 โดยชะลอลงเมื่อเทียบกับการเติบโตในเดือนมิถุนายนที่ขยายตัวร้อยละ 62.1 โดยทั้งนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่าอัตราการเติบโตในเดือนกรกฎาคมของการนำเข้าสูงกว่าการส่งออกอย่างชัดเจน ส่งผลให้มูลค่าขาดดุลการค้าของไทยต่อจีนเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 110.5 (YoY) หรือคิดเป็นเม็ดเงินขาดดุลการค้า 409.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปี 2552 ที่มีมูลค่า 194.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

แม้ว่าสถานการณ์การค้าระหว่างไทยกับจีนในช่วงที่ผ่านมา จีนจะมีบทบาทสำคัญเพิ่มมากขึ้นในฐานะตลาดส่งออกรายใหญ่ของไทย และล่าสุดจีนได้กลายเป็นตลาดส่งออกที่มีขนาดใหญ่ที่สุดแทนที่สหรัฐฯไปแล้ว แต่เป็นที่น่าสังเกตว่า สถานการณ์การค้าระหว่างไทย-จีนมักเป็นไปในลักษณะที่ไทยขาดดุลการค้ากับจีนมาโดยตลอด ซึ่งในช่วงครึ่งแรกปี 2553 ไทยได้เสียดุลการค้าให้กับจีนไปแล้วถึง 1,319.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยสูงกว่ายอดขาดดุลการค้าทั้งปี 2552 ที่มีมูลค่า 909.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จึงมีความเป็นไปได้ว่า หากการขยายตัวของภาคการส่งออกไทยไปจีนชะลอตัวแรงกว่าการนำเข้าอย่างต่อเนื่องในช่วงเวลาที่เหลือของปี 2553 ยอดขาดดุลการค้าของไทยต่อจีนในปี 2553 อาจะสูงถึง 3,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

สำหรับรายการสินค้าส่งออกสำคัญที่มีการชะลอตัวลงในเดือนกรกฎาคม ได้แก่ ยางพารา เคมีภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ผลิตภัณฑ์ยาง แผงวงจรไฟฟ้า ไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ โดยผลไม้สดแช่เย็น แช่แข็งและแห้งยังคงหดตัวต่อเนื่องในระดับ 46.8 YoY ซึ่งการชะลอของรายการสินค้าดังกล่าวป็นผลมาจากเศรษฐกิจจีนที่อ่อนแรงลง เนื่องด้วยนโยบายที่เข้มงวดมากขึ้นของทางการจีนเพื่อควบคุมความร้อนแรงทางเศรษฐกิจและภาวะฟองสบู่ในภาคอสังหาริมทรัพย์ ที่ยังคงดำเนินการต่อเนื่องนับตั้งแต่เดือนเมษายน 2553 ขณะที่รายการสินค้านำเข้าที่มีการชะลอตัวลงได้แก่ เหล็ก เหล็กกล้า และผลิตภัณฑ์ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ แผงวงจรไฟฟ้า และเคมีภัณฑ์ เป็นต้น

ครึ่งหลังมีแนวโน้มอ่อนแรง…แต่คาดว่าจีนยังคงเป็นเครื่องจักรขับเคลื่อนสำคัญของเศรษฐกิจไทย
การส่งออกของไทยไปตลาดจีนในช่วงครึ่งหลังของปีนี้มีแนวโน้มเติบโตชะลอลงจากครึ่งปีแรกที่ขยายตัวร้อยละ 47.8 ส่วนหนึ่งเนื่องจากฐานเปรียบเทียบในช่วงครึ่งหลังปี 2552 ที่ปรับสูงขึ้น รวมทั้งปัจจัยเสี่ยงจากภาพรวมการเติบโตของเศรษฐกิจจีนในช่วงครึ่งหลังปี 2553 ที่อาจจะมีการปรับฐานลงจากที่เคยขยายตัวอย่างร้อนแรงในช่วงต้นปี 2553 ซึ่งบ่งชี้ได้จากดัชนีสำคัญทางเศรษฐกิจภายในของจีนในเดือน กรกฎาคม 2553 ที่ต่างส่งสัญญาณชะลอตัวในทิศทางเดียวกันเมื่อเทียบกับเดือนมิถุนายน 2553 อันเป็นผลมาจากมาตรการควบคุมความร้อนแรงทางเศรษฐกิจ ทั้งมาตรการเข้มงวดในภาคอสังหาริมทรัพย์ การควบคุมอุตสาหกรรมที่สิ้นเปลืองพลังงานและปล่อยมลพิษสูง และการชะลอโครงการลงทุนของรัฐบาล ทำให้ความต้องการนำเข้าของจีนอ่อนแรงลง และส่งผลต่อเนื่องให้สินค้าส่งออกของไทยไปจีนเพื่อสนองความต้องการบริโภคมีแนวโน้มชะลอตัวลงตามไปด้วย ไม่ว่าจะเป็น ยางพารา ผลิตภัณฑ์ยาง เครื่องใช้ไฟฟ้าและส่วนประกอบ เป็นต้น นอกจากนี้ การที่ภาคส่งออกของจีนมีแนวโน้มชะลอลงในช่วงที่เหลือของปีนี้ตามปัจจัยเสี่ยงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจต่างประเทศที่ยังไม่มั่นคงนัก โดยเฉพาะวิกฤตหนี้สินในยุโรปที่ยังคงต้องอาศัยระยะเวลาในการแก้ไขปัญหา อาจจะส่งผลให้ความต้องการนำเข้าของจีนจากไทยเพื่อใช้ในการผลิตเพื่อส่งออกซบเซาลงตามไปด้วย เช่น คอมพิวเตอร์/ส่วนประกอบ พลาสติก เคมีภัณฑ์ และผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง เป็นต้น ขณะเดียวกันการแข่งขันที่คาดว่าจะทวีความเข้มข้นมากขึ้น เพื่อช่วงชิงกำลังซื้อของผู้บริโภคคนจีนที่ได้กลายเป็นเค้กก้อนใหญ่ที่ประเทศคู่แข่งของไทยต่างก็หวังหมายปองด้วยเช่นกัน ก็นับเป็นปัจจัยเสี่ยงทางการค้าในช่วงที่เหลือของปีนี้ที่ยังคงต้องจับตามองอย่างใกล้ชิด รวมไปถึงความผันผวนของราคาวัตถุดิบ และอัตราแลกเปลี่ยนที่ส่งผลต่อความสามารถในการแข่งขันของสินค้าไทยด้วย

อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจจีนยังมีแรงกระตุ้นจากนโยบายภาครัฐที่มุ่งพัฒนาภาคตะวันตก และการสนับสนุนการใช้รถยนต์ประหยัดพลังงาน ทำให้คาดว่าการบริโภคและการลงทุนภายในจีนยังมีแรงขับเคลื่อนให้เติบโตต่อไปได้ และจีนจะยังคงเป็นประเทศที่มีบทบาทสำคัญต่อภาคการส่งออกของไทยในช่วงเวลาที่เหลือของปี 2553 อันเนื่องมาจากปัจจัยสนับสนุนสำคัญ ดังนี้

? สถานภาพทางเศรษฐกิจของจีนในปี 2553 ที่ยังคงเข้มแข็งเหนือประเทศอื่นๆในตลาดโลก โดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศได้มีการประเมินว่า การขยายตัวของเศรษฐกิจจีนในปีนี้ยังคงเติบโตเป็นตัวเลขสองหลักที่ระดับประมาณร้อยละ 10.5 เนื่องจากทางการจีนยังคงดำเนินมาตรการที่มุ่งเน้นการรักษาการขยายตัวทางเศรษฐกิจเพื่อช่วยให้ยังมีความต้องการภายในประเทศ อันจะนำไปสู่การรักษาเสถียรภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างสมดุลและยั่งยืน

? ในทางภูมิศาสตร์ที่ตั้ง ประเทศไทยนับเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ของเอเชียอาคเนย์ บ่งชี้ได้จากการที่ ประเทศไทยเป็นเพียงประเทศเดียวที่เป็นสมาชิกทั้ง 6 กรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไม่ว่าจะเป็นสามเหลี่ยมเศรษฐกิจ IMT-GT ทางตอนใต้ของไทย(ไทย-อินโดนีเซีย-มาเลเซีย) สี่เหลี่ยมเศรษฐกิจ UPMEC ทางตอนเหนือของไทย(ไทย-พม่า-ลาว-จีนตอนใต้) ห้าเหลี่ยมเศรษฐกิจ ACMEC (ไทย-พม่า-ลาว-กัมพูชา-เวียดนาม) หกเหลี่ยมเศรษฐกิจ GMS-EC ทางตะวันตกของไทย(ไทย-ลาว-พม่า-กัมพูชา-เวียดนาม-จีนตอนใต้) เจ็ดเหลี่ยมเศรษฐกิจ BIMSTEC ตะวันตกของไทย(ไทย-บังคลาเทศ-อินเดีย-พม่า-ศรีลังกา-เนปาล-ภูฏาน) และแปดเหลี่ยมเศรษฐกิจ PBPWEC (ไทย-จีน(กวางซี+กวางตง+ไห่หนัน)-เวียดนาม-ฟิลิปปินส์-บรูไน-มาเลเซีย-สิงคโปร์-อินโดนีเซีย) ทำให้ไทยจึงเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ในการเชื่อมโยงกับทุกประเทศในเอเชีย รวมถึงประเทศจีนด้วย

? ช่องทางการค้าไทย-จีนมีเพิ่มขึ้นมาก จากเดิมที่สินค้าส่งเข้าจีนส่วนใหญ่จะผ่านมณฑลกว่างตง คิดเป็นสัดส่วนถึงกว่าร้อยละ 90 ของปริมาณการค้าโดยรวม แต่ในช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมาได้มีการกระจายเข้าไปสู่เมืองชายฝั่งทะเลอื่นๆ ของจีนมากขึ้น ได้แก่ ซ่างไห่ เซียะเหมิน หนิงโป ชิงเต่า หรือแม้แต่เมืองเทียนจินและต้าเหลียนซึ่งอยู่ทางเหนือของจีนเองก็มีการเชื่อมโยงระหว่างกันมากขึ้น และล่าสุดก็ได้มีการเพิ่มเส้นทางการขนส่งทางบกอีกสองช่องทาง คือ เส้นทางคุนมั่นกงลู่หรือ R3A(กรุงเทพฯ-เชียงราย-เชียงของ-เมืองลา-ต้าลั่ว-จิ่งหง-คุนหมิง) และเส้นทางผ่านลาวและเวียดนามเพื่อเข้าจีนที่ด่านเมืองผิงเสียง เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง ที่น่าจะช่วยให้การค้าระหว่างไทยจีนขยายตัวได้อีกมาก ซึ่งในปี 2552 ที่ผ่านมา ยอดค้าปลีกของเมืองคุนหมิงมีมูลค่าถึง 86.5 พันล้านหยวน หรือประมาณ 12,665 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขณะที่ยอดค้าปลีกของเขตปกครองกว่างซีจ้วงมีมูลค่า 193.3 พันล้านหยวน หรือประมาณ 28,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จึงนับเป็นตลาดขนาดใหญ่ที่มีความน่าสนใจไม่น้อย ขณะที่มูลค่าการส่งออกผ่านชายแดนระหว่างไทย-จีนตอนใต้ในช่วง 6 เดือนแรกปี 2553 ขยายตัวสูงถึงร้อยละ 292.2 ในรูปเงินบาท ซึ่งสูงกว่ามูลค่าการส่งออกโดยรวมของไทยไปยังจีนในช่วงเวลาดังกล่าวที่เติบโตเพียงร้อยละ 37.9 ในรูปเงินบาท อีกทั้งยังมีการได้เปรียบดุลการค้าเพิ่มขึ้นด้วย จากเม็ดเงินเพียง 196.5 ล้านบาทในช่วงครึ่งแรกปี 2552 เป็น 3,617.1 ล้านบาทในครึ่งแรกปี 2553

? โครงสร้างขนาดการผลิตสินค้าไทยที่เหมาะสม เพราะแม้จะเป็นขนาดเล็กและกลาง (SME) แต่ก็สามารถเน้นผลิตสินค้าคุณภาพและมาตรฐานสูงเป็นสำคัญได้ จนส่งเสริมให้ภาพลักษณ์สินค้าไทยก้าวสู่ตลาดระดับบน (High-End) และได้รับการยอมรับจากนานาประเทศโดยเฉพาะแถบเอเชีย นอกจากนี้ สินค้าไทยยังเป็นสินค้าต่างประเทศที่ได้รับความนิยมค่อนข้างสูงในกลุ่มผู้บริโภคคนจีน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหมู่ลูกค้าวัยรุ่นที่มีกำลังซื้อสูงเป็นพิเศษที่ถูกขนานนามว่า”จักรพรรดิองค์น้อย” ซึ่งการเน้นผลิตสินค้าคุณภาพมาตรฐานสูงดังกล่าว จะทำให้สินค้าไทยกลายเป็นสินค้าที่มีความแตกต่างเหนือสินค้าจีน
? FTA ASEAN-CHINA ที่เริ่มลดภาษีเหลือศูนย์ทั้งหมดตั้งแต่ 1 มกราคม 2553 ก็น่าจะมีส่วนช่วยให้การค้าขายสินค้าระหว่างไทยกับจีนมีโอกาสที่จะขยายตัวได้มากกว่าเดิมยิ่งขึ้น

บทสรุป

แม้ว่าสถานการณ์การค้าระหว่างไทยกับจีนในช่วงที่ผ่านมา จีนจะมีบทบาทสำคัญเพิ่มมากขึ้นในฐานะตลาดส่งออกรายใหญ่ของไทย และล่าสุดจีนได้กลายเป็นตลาดส่งออกที่มีขนาดใหญ่ที่สุดแทนที่สหรัฐฯไปแล้ว แต่เป็นที่น่าสังเกตว่า สถานการณ์การค้าระหว่างไทย-จีนมักเป็นไปในลักษณะที่ไทยขาดดุลการค้ากับจีนมาโดยตลอด โดยเฉพาะในปี 2551 ที่มีมูลค่าขาดดุลสูงสุดถึง 3,965.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งในช่วงครึ่งแรกปี 2553 ไทยได้เสียดุลการค้าให้กับจีนไปแล้วถึง 1,319.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งสูงกว่ายอดขาดดุลการค้าทั้งปี 2552 ที่มีมูลค่า 909.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่ง ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ยังคงกรอบประมาณการอัตราการเติบโตของการส่งออกในปี 2553 ที่ร้อยละ 25-30 ขณะที่ประเมินว่าการนำเข้าน่าจะขยายตัวไม่ต่ำกว่าร้อยละ 40 ดังนั้น หากการขยายตัวของภาคการส่งออกระหว่างไทย-จีนชะลอตัวแรงกว่าการนำเข้าอย่างต่อเนื่องในช่วงเวลาที่เหลือของปี 2553 อาจทำให้ในปี 2553 ไทยต้องเผชิญกับปัญหาการขาดดุลการค้ากับจีนเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้ากว่าเท่าตัวแน่นอน หรือมีความเป็นไปได้ว่า ยอดขาดดุลการค้าของไทยต่อจีนในปี 2553 อาจสูงถึง 3,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

อย่างไรก็ตาม จากการค้าผ่านแดนระหว่างไทย-จีนตอนใต้ที่ก้าวขึ้นมามีบทบาทเพิ่มมากขึ้นในปี 2553 เพราะนอกจากจะเป็นตลาดที่มีเศรษฐกิจขยายตัวอย่างรวดเร็วจากอานิสงส์ของแผนพัฒนาพื้นที่ในเขตเศรษฐกิจอ่าวเป่ยปู้-กว่างซี และแผนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมเพื่อยกระดับมณฑลหยุนหนานให้เป็นประตูสู่อาเซียนของทางการจีน ที่ส่งผลให้ประชาชนในเขตเมืองดังกล่าวที่มีกำลังซื้อสูงและต้องการอุปโภคบริโภคเพิ่มขึ้นแล้ว เครือข่ายเส้นทางคมนาคมทางบกระหว่างไทยและจีนตอนใต้ก็มีความสะดวกเพิ่มมากขึ้น ทำให้การค้าผ่านแดนระหว่างไทย-จีนมีโอกาสขยายตัวได้อีกมาก และหากไทยมีการพัฒนาลู่ทางทางการค้าในตลาดมณฑลทางตะวันตกของจีนมากขึ้น ก็อาจจะมีส่วนช่วยลดช่องว่างการขาดดุลการค้าระหว่างไทยและจีนให้น้อยลงก็เป็นไปได้

แต่ทั้งนี้ ผู้ประกอบการไทยจำเป็นต้องเน้นยกระดับการผลิตสินค้าคุณภาพและมาตรฐานสูงให้ได้ดีมากยิ่งๆ ขึ้นด้วย เพราะนอกจากจะเป็นการสร้างภาพลักษณ์และรักษาความแตกต่างสินค้าไทยให้เหนือสินค้าจีนแล้ว ยังจะมีผลให้สินค้าไทยมีโอกาสเติบโตมากขึ้นในตลาดจีนที่นับวันจะมีจำนวนผู้มีรายได้สูงเพิ่มมากขึ้น และต้องการสินค้าที่ดีมีคุณภาพสูงขึ้นตามไปด้วย