กสิกรไทย น้อมรำลึก 100 ปี สวรรคตรัชกาลที่ 5 จัดทำหนังสือและสารคดี “ธิราชเจ้าจอมสยาม”

ธนาคารกสิกรไทย ถวายกตเวทิตาคุณ ร่วมรำลึกในโอกาสครบรอบ 100 ปีแห่งการสวรรคตของรัชกาลที่ 5 ทำโครงการ “ธิราชเจ้าจอมสยาม” จัดทำหนังสือและสารคดีกึ่งละครโทรทัศน์พระราชประวัติอันยิ่งใหญ่ของพระมหากษัตริย์อันเป็นที่รักของชาวไทย หนังสือเริ่มจำหน่ายที่กสิกรไทยทุกสาขา และศูนย์หนังสือจุฬาฯ ราคาเล่ม 1,005 บาท รายได้ไม่หักค่าใช้จ่ายมอบให้สภากาชาดไทย ส่วนสารคดีออกช่องทีวีไทยจันทร์ อังคาร พุธ เวลา 20.20 น. เริ่ม 6 ต.ค.นี้

คุณบัณฑูร ล่ำซำ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า ในโอกาสที่ปี 2553 ครบรอบ 100 ปี การสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ดังนั้นธนาคารกสิกรไทย จึงได้ริเริ่มโครงการ “ธิราชเจ้าจอมสยาม” หรือภาษาอังกฤษว่า “Thee Siamese Lord” ขึ้น เพื่อเทิดพระเกียรติ และรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ พระบุญญาบารมีของพระองค์ท่านที่ทรงมีอย่างเอนกอนันต์ต่อประเทศชาติและประชาชนชาวไทย โครงการดังกล่าวจะมีการจัดทำหนังสือ และสารคดีกึ่งละครโทรทัศน์ เกี่ยวกับพระราชประวัติของพระองค์ที่สมบูรณ์และถูกต้องที่สุดออกเผยแพร่ ซึ่งจะช่วยให้อนุชนรุ่นหลังได้ซาบซึ้งถึงพระราชกรณียกิจอันยิ่งใหญ่ตลอดรัชสมัยของพระองค์

ทั้งนี้ได้มีการเรียนเชิญคุณหญิงวิมล ศิริไพบูลย์ (ทมยันตี) นักประพันธ์เอก ผู้เลื่องชื่อในการเขียนวรรณกรรมที่อ่อนหวาน นุ่มนวล ละเมียดละไม เป็นประธานโครงการ และบรรณาธิการภาษาวรรณกรรม ของหนังสือ “ธิราชเจ้าจอมสยาม” รวมทั้งเป็นผู้เขียนบท สารคดี “ธิราชเจ้าจอมสยาม” ด้วย โดยคณะทำงานเริ่มปฏิบัติการตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2552 โดยในการจัดทำ “หนังสือธิราชเจ้าจอมสยาม” มีคณาจารย์ผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์ไทย โดยเฉพาะประวัติศาสตร์ราชวงศ์จักรี มาช่วยเป็นคณะทำงานค้นคว้าและเรียบเรียงข้อมูลทั้งหมด ประกอบด้วย ผศ.ดร.วงเดือน นาราสัจจ์ ซึ่งเป็นภาคีราชบัณฑิตด้านประวัติศาสตร์ ผศ.ชมพูนุท นาคีรักษ์ และอาจารย์สุวรรณา สัจจวีรวรรณ ได้ศึกษาข้อมูลจากหนังสือมากกว่า 100 เล่ม งานวิทยานิพนธ์ รวมทั้งการค้นภาพประกอบจากสำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติจำนวนมาก ซึ่งเนื้อหาโดยรวมทั้งหมดทางคณาจารย์ได้เชิญ พลตรี ม.ร.ว.ศุภวัฒย์ เกษมศรี นักประวัติศาสตร์อาวุโสดีเด่น เป็นบรรณาธิการด้านประวัติศาสตร์ ช่วยตรวจทานความถูกต้องด้านประวัติศาสตร์อีกชั้นหนึ่ง

หนังสือ “ธิราชเจ้าจอมสยาม” มีเนื้อครอบคลุมเรื่องราวสำคัญ ๆ ตั้งแต่ตอนปลายรัชกาลที่ 4 นับแต่พระองค์ทรงพระราชสมภพ ใน พ.ศ.2396 จนถึงสวรรคตใน พ.ศ.2453 โครงเรื่องแบ่งเป็น 3 ภาค โดยมีความรักเป็นแกนเดินเรื่องคือ ความรักต่อแผ่นดินสยาม ความรักต่อพสกนิกร และความรักต่อราชตระกูล แบ่งเป็นบทรวม 24 บท ความยาว 554 หน้า พิมพ์สี่สีบนกระดาษถนอมสายตา แต่ละบทจะเล่าเรื่องแต่ละเรื่องจบในบท ทำให้อ่านง่ายเข้าใจง่าย มีภาพประกอบที่น่าสนใจ หลายภาพเป็นภาพที่หาดูได้ยากเพื่อร่วมเล่าเรื่องราวในรัชสมัยของพระองค์ให้กระจ่างขึ้น

การใช้ภาษาไทยในหนังสือจะเน้นความสละสลวยเป็นภาษาบอกเล่าเรื่องราว มิใช่การเขียนเชิงวิชาการ แต่อย่างไรก็ตาม เนื่องจากเป็นเรื่องราวประวัติศาสตร์ มิได้เป็นนวนิยาย จึงยังคงกลิ่นอายของวิชาการไว้ระดับหนึ่ง เพราะหวังให้เป็นหนังสือที่มีเนื้อหาถูกต้อง สามารถนำไปอ้างอิงได้ทุกประเด็น หนังสือ “ธิราชเจ้าจอมสยาม” จะจำหน่ายผ่านธนาคารกสิกรไทยทุกสาขา และศูนย์หนังสือแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตั้งแต่วันที่ 20 กันยายนนี้ ซึ่งเป็นวันพระราชสมภพของรัชกาลที่ 5 ในราคาเล่มละ 1,005 บาท รายได้จากการจำหน่ายทั้งหมด โดยไม่หักค่าใช้จ่ายจะมอบให้สภากาชาดไทย

สำหรับการจัดทำสารคดี “ธิราชเจ้าจอมสยาม” ธนาคารได้หารือกับสถานีโทรทัศน์ทีวีไทย โดยคุณเทพชัย หย่อง ผู้อำนวยการสถานี และผู้บริหารต่างเห็นชอบในโครงการและยินดีให้ความร่วมมือและสนับสนุนอย่างเต็มที่ โดยก่อนหน้าธนาคารกสิกรไทยก็ได้ร่วมกับสถานีโทรทัศน์ทีวีไทยจัดทำสารคดี 100 ปีไกลบ้านเมื่อปี พ.ศ. 2551 และปี พ.ศ. 2552 ก็ได้ทำสารคดีเสด็จประพาสต้น ออกเผยแพร่ซึ่งก็ได้รับความสนใจจากประชาชนอย่างสูงมาแล้วทั้งนี้สารคดี “ธิราชเจ้าจอมสยาม” จาก 24 บทของข้อมูล คุณหญิงวิมลได้พิจารณารวบบางบทเข้าด้วยกัน เพื่อจัดทำเป็นสารคดีโทรทัศน์ได้ 18 ตอน โดยเนื้อหาคงแบ่งเป็น พระราชกรณียกิจอันยิ่งใหญ่ไพศาล พระราชจริยาวัตรอันงดงามอย่างพระมหากษัตริย์ และเรื่องราวแห่งพระหฤทัทยรักสนิทเสน่หาเยี่ยงบุรุษหนึ่งที่มีอารมณ์อ่อนหวานละเมียดละไม ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเล้าเจ้าอยู่หัว ไว้ทุกประการ

การจัดทำสารคดีโทรทัศน์ “ธิราชเจ้าจอมสยาม” ค่อนข้างซับซ้อน เนื่องจากเป็นสารคดีกึ่งละครประวัติศาสตร์ หรือที่เรียกว่า docu-drama นับเป็นเรื่องแรกของวงการโทรทัศน์ของไทย และบทจะต้องสอดคล้องสัมพันธ์กันอย่างดีระหว่างส่วนที่เป็นสารคดีและบางฉากที่ดึงออกมาทำเป็นละคร ผู้ผลิตและถ่ายทำก็ต้องแยกออกเป็น 2 กอง แล้วนำมาตัดต่อให้กลมกลืน และน่าสนใจ นอกจากบทจะต้องถูกต้องตามประวัติศาสตร์ที่มีบันทึกไว้แล้ว ฉาก การแต่งกาย นักแสดง ก็ยังต้องให้ประพิมพ์ประพายคล้ายคลึง อย่างไรก็ตามในการถ่ายทำภาคละครที่เป็นฉากในวังนั้น ได้รับความอนุเคราะห์เป็นอย่างดีจากธนาคารแห่งประเทศไทย ที่อนุญาตให้ใช้วังบางขุนพรหมเป็นสถานที่ถ่ายเป็นครั้งแรก ซึ่งที่ผ่านมาไม่เคยอนุญาตให้มีการถ่ายทำมาก่อน

สารคดีโทรทัศน์ “ธิราชเจ้าจอมสยาม” มีคุณหญิงวิมล ศิริไพบูลย์ เป็นผู้เขียนบท คุณสรรัตน์ จิรบวรวิสุทธิ์ ผู้ช่วยพัฒนาบท คุณวินัย ปฐมบูรณ์ ทีมผลิตภาคละคร คุณธวัชชัย กฤติยาภิชาตกุล ทีมผลิตสารคดีและ อาจารย์ทั้ง 3 ท่าน ได้ร่วมกันทำงานอย่างสุดหัวใจ สุดฝีมือ ทุกท่าน จะพูดด้วยประโยคเดียวกันว่า “ขอทำถวายเสด็จพ่อ ร.5” สารคดีโทรทัศน์มีกำหนดออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ทีวีไทยตอนแรกในวันที่ 6 ตุลาคม 2553 อันเป็นเดือนที่ครบ 100 ปีแห่งการสวรรคตของสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง และจะออกอากาศทุกวันจันทร์ อังคาร พุธ เวลา 20.20 น. ไปจนถึงวันอังคารที่ 16 พฤศจิกายน (ซึ่งเป็นวันคล้ายวันบรมราชาภิเษกครั้งที่สอง ใน พ.ศ. 2416 ) คงเป็นที่ยินดีสำหรับพสกนิกรชาวไทยที่ได้อ่านและได้ชมได้ร่วมกันเทิดพระเกียรติสมเด็จพระปิยมหาราช รำลึกถึงพระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นที่รักยิ่งของเราชาวไทย และสถิตสถาพรอยู่ในหัวใจคนไทยทุกดวงมิรู้ลืม

สำหรับความเป็นมาของคำว่า “ธิราชเจ้าจอมสยาม” นำมาจากโคลงสี่สุภาพที่พระนางเจ้าสุขุมาลมารศรี ทรงนิพนธ์ถวายสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง เมื่อครั้งทรงประชวรด้วยความตรอมตรมพระทัยในกรณีเหตุการณ์ ร.ศ. 112 พระนางเจ้าสุขุมาลมารศรี จึงทรงนิพนธ์โคลงสี่สุภาพขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อทรงปลุกปลอบพระทัยสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง และสะท้อนความรู้สึกทุกข์ระทมของกลุ่มข้าราชสำนักฝ่ายใน เนื่องด้วยพระอาการประชวร ความตอนหนึ่งว่า

สรวมชีพข้าบาทผู้ ภักดี
พระราชเทวีทรง สฤษดิ์ให้
สุขุมาลมารศรี เสนายศ นี้นา
ขอกราบทูลท่านไท้ ธิราชเจ้าจอมสยาม