ราคาฝ้ายในตลาดโลกพุ่งสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ในรอบ 15 ปี…

ฝ้าย ถือเป็นวัตถุดิบตั้งต้นที่สำคัญในอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มของไทย ซึ่งในแต่ละปีไทยจะต้องนำเข้าฝ้ายมากถึงร้อยละ 90 ของปริมาณการผลิตทั้งหมด ดังนั้น จากการที่ราคาฝ้ายในตลาดโลกมีการปรับเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการผลิตสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มเป็นอย่างมาก โดยล่าสุดในเดือนกันยายนราคาอยู่ที่ระดับเฉลี่ย 100 เซ็นต์/ปอนด์ (หรือ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ/ปอนด์) เพิ่มขึ้นเกือบหนึ่งเท่าตัว เมื่อเทียบกับช่วงต้นปีที่ราคาอยู่ที่ระดับเฉลี่ย 60-70 เซ็นต์/ปอนด์ ซึ่งถือเป็นราคาที่สูงที่สุดในรอบ 15 ปีที่ผ่านมา ดังนั้น ทางภาครัฐรวมทั้งผู้ประกอบการจึงจำเป็นต้องมีการวางแผนการผลิตให้เหมาะสมกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งจะช่วยบรรเทาหรือลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตได้

ฝ้ายซึ่งถือเป็นวัตถุดิบหลักในการผลิตสิ่งทอของทุกประเทศทั่วโลก เริ่มมีไม่เพียงพอกับความต้องการ นับตั้งแต่ในปี 2551 ที่เกิดปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจ ความต้องการวัตถุดิบฝ้ายของอุตสาหกรรมสิ่งทอลดลงอย่างมาก ส่งผลให้ราคาฝ้ายปรับตัวลดลงตาม โดยราคาฝ้ายเริ่มมีสัญญาณปรับตัวลดลงในเดือนกันยายน 2551 มาอยู่ที่ 70.3 เซนต์/ปอนด์ และลดลงมาอยู่ที่ 60.3 เซนต์/ปอนด์ 55.6 เซ็นต์ต่อปอนด์ และ 54.7 เซ็นต์/ปอนด์ ในเดือนตุลาคม-ธันวาคม 2551 ตามลำดับ ด้วยเหตุนี้ เกษตรกรจึงหันไปปลูกพืชชนิดอื่นๆ ที่ให้ราคาที่ดีกว่าทดแทน เช่น พืชน้ำมัน และพืชอาหาร เป็นต้น

แต่ในปัจจุบัน เมื่อเศรษฐกิจโลกเริ่มฟื้นตัวดีขึ้น ประเทศส่งออกสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มรายใหญ่ของโลก เช่น จีน อินเดีย สหรัฐฯ และปากีสถาน เริ่มมีการขยายกำลังการผลิตสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภคในประเทศที่มีมากขึ้น และตลาดส่งออกที่กลับมาฟื้นตัว ส่งผลให้ปริมาณผลผลิตฝ้ายที่ผลิตได้ในประเทศมีไม่เพียงพอกับปริมาณความต้องการใช้วัตถุดิบที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้เริ่มมีการขาดแคลนวัตถุดิบไปทั่วโลก ดังนั้น จึงทำให้ราคาฝ้ายในตลาดโลกปรับเพิ่มสูงขึ้นเป็นอย่างมาก โดยจะเห็นได้จาก ราคาราคาฝ้ายในตลาดโลกในปี 2552 เริ่มปรับตัวสูงขึ้นเรื่อยๆ จาก 56.8 เซ็นต์/ปอนด์ในเดือนเมษายน 2552 มาเป็น 88.1 เซ็นต์/ปอนด์ในเดือนเมษายน 2553 โดยมีราคาสูงสุด ณ เดือนกันยายน 2553 ที่ระดับ 98.9 เซนต์/ปอนด์ หรือประมาณ 100 เซ็นต์/ปอนด์ ซึ่งเป็นราคาที่สูงที่สุดในรอบ 15 ปี

หลากหลายปัจจัย…ดันราคาฝ้ายในตลาดโลกพุ่งสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ปัจจัยที่ผลักดันและสนับสนุนให้ราคาฝ้ายในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้น เกิดจากหลายปัจจัย ดังต่อไปนี้

ปริมาณผลผลิตฝ้ายลดลง เนื่องจากตั้งแต่ปลายปี 2551- 2552 ที่ผ่านมา ทั่วโลกประสบปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจ ปริมาณความต้องการฝ้ายเพื่อไปผลิตเป็นสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มจึงลดลง ส่งผลให้เกษตรกรลดปริมาณการผลิตลง แต่ในทางกลับกัน ในปี 2553 ความต้องการฝ้ายกลับเพิ่มสูงขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจทั่วโลก อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มเริ่มกลับมาฟื้นตัว ประเทศผู้ส่งออกสิ่งทอรายใหญ่ของโลกเริ่มมีการขยายกำลังการผลิตมากขึ้น ดังนั้น ปริมาณฝ้ายที่ผลิตได้จึงมีไม่เพียงพอกับความต้องการ ส่งผลให้ราคาฝ้ายในตลาดโลกปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น จากการรายงานของ USDA คาดว่า ในปี 2554 ผลผลิตฝ้ายจะเพิ่มสูงขึ้นประมาณ 25.5 ล้านตัน หรือเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 13.6 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา แต่ความต้องการก็ยังคงมีมากถึง 26.4 ล้านตัน ซึ่งน้อยกว่าปริมาณผลผลิตอยู่ 1.4 ล้านตัน จึงมีความเป็นไปได้ว่า ราคาฝ้ายในตลาดโลกอาจจะยังคงอยู่ในเกณฑ์สูง

อินเดียจำกัดปริมาณการส่งออกฝ้ายและเส้นด้ายที่ทำจากฝ้าย อินเดียถือเป็นตลาดส่งออกฝ้ายมากเป็นอันดับที่ 2 ของโลก รองจากสหรัฐฯ โดยสาเหตุที่อินเดียสั่งจำกัดปริมาณการส่งออกวัตถุดิบฝ้ายและเส้นด้ายที่ผลิตจากฝ้ายนั้น เนื่องจาก ความต้องการฝ้ายในประเทศอินเดียเพิ่มสูงขึ้น จากการขยายตัวของอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มในประเทศ รวมทั้งการขยายการส่งออก โดยในปี 2552/53 ความต้องการฝ้ายของอินเดียมีมากถึง 4.2 ล้านตัน เพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 17.1 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา และในปี 2553/54 คาดว่า ปริมาณความต้องการยังคงเพิ่มขึ้นเป็น 4.6 ล้านตัน ซึ่งหากอินเดียมีการส่งออกฝ้ายไปยังต่างประเทศ จะส่งผลให้ปริมาณฝ้ายมีไม่เพียงพอกับความต้องการใช้ในประเทศ หรืออาจทำให้สต็อกฝ้ายของอินเดียเริ่มลดลง ดังนั้น เพื่อไม่ให้ราคาฝ้ายในประเทศปรับเพิ่มสูงขึ้น จนสร้างความเดือดร้อนให้กับผู้ผลิตในประเทศ อินเดียจึงได้ประกาศชะลอการส่งออกฝ้ายเพื่อป้องกันปัญหาการขาดแคลน ดังนั้นจากการที่อินเดีย ซึ่งถือเป็นตลาดส่งออกหลักของโลก ได้จำกัดปริมาณการส่งออกวัตถุดิบดังกล่าว ส่งผลให้ราคาฝ้ายในตลาดโลกปรับเพิ่มสูงขึ้น

ปากีสถานประสบปัญหาอุทกภัยอย่างหนัก ปากีสถานเป็นประเทศส่งออกฝ้ายและเส้นใยจากฝ้ายที่สำคัญอันดับต้นๆ ของโลก เช่นเดียวกับอินเดีย แต่ในช่วงที่ผ่านมา ปากีสถานประสบปัญหาน้ำท่วม ทำให้พื้นที่เพาะปลูกฝ้ายได้รับความเสียหายเป็นจำนวนมาก โดยปริมาณผลผลิตปี 2552/53 มีทั้งสิ้นประมาณ 2.0 ล้านตัน ลดลงร้อยละ 9.1 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา แต่ปริมาณความต้องการใช้มีถึง 2.4 ล้านตัน ส่งผลให้ปากีสถานมีผลผลิตไม่เพียงพอกับความต้องการใช้ภายในประเทศ ส่งผลให้ปากีสถานระงับการส่งออกฝ้ายไปยังต่างประเทศ ทั้งนี้ เพื่อรองรับกับความต้องการของผู้ผลิตในประเทศที่มีการขยายตัวเพิ่มขึ้นเช่นกัน

จีนมีความต้องการวัตถุดิบเพิ่มขึ้น จีนถือเป็นประเทศที่ผลิตสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มรายใหญ่ของโลก ซึ่งโดยปกติแล้วจีนจะใช้วัตถุดิบที่ผลิตได้ในประเทศเป็นส่วนใหญ่ และมีการนำเข้าวัตถุจากต่างประเทศไม่มากนัก แต่เนื่องจาก อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มของจีนมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้จีนต้องหันไปนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก ประกอบกับปีนี้ จีนประสบปัญหาภัยน้ำท่วมเช่นเดียวกับปากีสถาน พื้นที่เพาะปลูกฝ้ายเกิดความเสียหาย มีไม่เพียงพอกับความต้องการใช้ ดังนั้น ราคาฝ้ายในตลาดโลกจึงมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น

กองทุนและนักเก็งกำไร ราคาฝ้ายในตลาดโลกนอกจากขึ้นอยู่กับปัจจัยทางด้านผลผลิตและปริมาณความต้องการบริโภคฝ้ายที่เป็นตัวกำหนดแล้ว ปัจจัยทางด้านกองทุนหรือนักเก็งกำไรก็มีส่วนสำคัญในด้านการกำหนดทิศทางราคาฝ้ายเช่นเดียวกัน เนื่องจากเป็นกลุ่มที่มีเงินทุนค่อนข้างสูงและมักเข้าไปเก็งกำไรสินค้าต่างๆ ที่สร้างผลตอบแทนสูง โดยอาศัยข้อมูลและการคาดการณ์ ทั้งนี้ ในช่วงปลายปี 2551 กลุ่มกองทุนเก็งกำไรมีความกังวลว่าราคาฝ้ายในตลาดโลกจะปรับลดลง อันเป็นผลสืบเนื่องจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวจะกระทบต่อความต้องการฝ้าย ทำให้ราคาฝ้ายในตลาดโลกปรับลดลง อย่างไรก็ตาม ภายหลังจากผลผลิตฝ้ายในตลาดโลกที่ปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง ถูกรายงานออกมา อันเป็นผลจากการประสบปัญหาภัยธรรมชาติ การปรับลดพื้นที่เพาะปลูกฝ้ายในบางพื้นที่ รวมทั้งการขยายการผลิตของประเทศผู้ส่งออก ส่งผลให้กองทุนเก็งกำไรเริ่มกลับเข้ามาในตลาดซื้อขายฝ้ายอีกครั้ง จึงเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ร่วมกันผลักดันให้ราคาฝ้ายตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง

ราคาฝ้ายในตลาดโลกพุ่งสูงขึ้น…ผลกระทบต่อไทย
ไทยเป็นประเทศที่ต้องนำเข้าฝ้ายเพื่อมาทำการผลิตสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มมากถึงร้อยละ 90 ของปริมาณการผลิตทั้งหมด ทั้งนี้เนื่องจาก ไทยไม่สามารถผลิตฝ้ายได้เพียงพอกับความต้องการใช้ในประเทศ ซึ่งไทยสามารถผลิตฝ้ายได้เพียงปีละประมาณ 5,000 ตัน ในขณะที่ไทยต้องนำเข้าฝ้ายจากต่างประเทศเฉลี่ยปีละประมาณ 3-4 แสนตัน มีมูลค่านำเข้าถึง 30,000-40,000 ล้านบาท สำหรับตลาดนำเข้าหลักของไทย ได้แก่ สหรัฐฯ จีน ออสเตรเลีย อินเดีย และปากีสถาน เป็นต้น

ประเภทของฝ้ายที่ไทยนำเข้าจากต่างประเทศ มีรายละเอียดดังนี้
วัตถุดิบขั้นต้น ได้แก่ ฝ้ายที่ยังไม่ได้สางหรือหวี (สัดส่วนประมาณร้อยละ 67.5 ของมูลค่าการนำเข้าทั้งหมด) เศษฝ้าย (สัดส่วนประมาณร้อยละ 1.1 ของมูลค่าการนำเข้าทั้งหมด) ฝ้ายที่สางหรือหวีแล้ว (สัดส่วนประมาณร้อยละ 0.2 ของมูลค่าการนำเข้าทั้งหมด)

วัตถุดิบขั้นกลาง ได้แก่ เส้นด้ายที่ทำจากฝ้าย (สัดส่วนประมาณร้อยละ 7.3 ของมูลค่าการนำเข้าทั้งหมด) และผ้าผืนที่ทำจากฝ้าย (สัดส่วนประมาณร้อยละ 23.9 ของมูลค่าการนำเข้าทั้งหมด)

ดังนั้น ผลจากการที่ราคาฝ้ายในตลาดโลกปรับเพิ่มสูงขึ้น จึงส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมสิ่งทอ และเครื่องนุ่งห่มของไทยเป็นอย่างมาก โดยปัญหาดังกล่าวกระทบตั้งแต่อุตสาหกรรมต้นน้ำ (วัตถุดิบจากฝ้าย) ไปจนถึงอุตสาหกรรมปลายน้ำ (สิ่งทอ เสื้อผ้าสำเร็จรูป เครื่องนุ่งห่ม) เนื่องจาก ฝ้ายถือเป็นวัตถุดิบตั้งต้นของอุตสาหกรรม ดังนั้น หากฝ้ายมีการปรับเพิ่มราคาก็จะกระทบต่ออุตสาหกรรมในส่วนอื่นๆ ทั้งหมด ผู้ประกอบการจะต้องแบกรับภาระต้นทุนการผลิตที่เพิ่มสูงขึ้น ส่งผลกระทบต่อการเจรจารับออร์เดอร์ (คำสั่งซื้อ) เพื่อส่งมอบสินค้า รวมถึงอาจกระทบต่อผลกำไรของผู้ประกอบการในปีนี้ และอาจต่อเนื่องไปจนถึงต้นปีหน้าได้ และท้ายที่สุด หากผู้ประกอบการมีการปรับขึ้นราคาสินค้าก็จะกระทบกับผู้บริโภค ทำให้ผู้บริโภคต้องซื้อสินค้าที่มีราคาแพงขึ้น อย่างไรก็ตาม ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า ในระยะสั้น โรงงานที่มีการสต็อกปริมาณฝ้ายไว้อาจจะได้รับผลกระทบไม่มากนัก แต่หากสต็อกฝ้ายถูกใช้หมดลง และราคาฝ้ายยังมีทิศทางปรับเพิ่มสูงขึ้น ก็อาจจะส่งผลให้ต้นทุนการผลิตเพิ่มสูงขึ้นได้

แนวทางการปรับตัวของผู้ประกอบการ

ในระยะสั้น ผู้ประกอบการอาจจะต้องแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า โดยอาจจะขอให้คู่ค้าหันมาสั่งสินค้าที่ผลิตจากเส้นใยสังเคราะห์ทดแทนเส้นใยที่ผลิตจากฝ้ายในช่วงนี้มากขึ้น แต่ทั้งนี้ ผู้ประกอบการจะต้องคำนึงถึงคุณภาพของสินค้าและเลือกใช้เส้นใยสังเคราะห์ให้เหมาะสมกับสินค้าด้วย อย่างไรก็ตาม หากผู้ประกอบการหันมาใช้เส้นใยสังเคราะห์ทดแทนเส้นใยที่ผลิตจากฝ้ายกันมากขึ้น ก็เป็นไปได้ว่า ในอนาคตราคาเส้นใยสังเคราะห์ก็อาจมีแนวโน้มปรับเพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย นอกจากนี้ ผู้ประกอบการอาจจะต้องปรับตัวโดยการรับออเดอร์ หรือคำสั่งซื้อจากลูกค้าให้สั้นลง ทั้งนี้ เพื่อง่ายต่อการสต็อกจำนวนสินค้า และหลีกเลี่ยงการนำเข้าวัตถุดิบในราคาที่สูง เพราะหากยังมีการรับออเดอร์ในระยะยาว ผู้ประกอบการอาจจะต้องเผชิญกับความเสี่ยงในเรื่องของความผันผวนของราคาฝ้าย ปริมาณฝ้ายในตลาดโลก เป็นต้น ซึ่งอาจเกิดปัญหาการขาดแคลน และสุดท้ายอาจไม่มีวัตถุดิบที่จะผลิตสินค้าส่งมอบให้กับลูกค้าได้ตามกำหนด

ในระยะยาว ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งทางภาครัฐ และเอกชนอาจจะต้องให้ความสำคัญกับการวิจัยและพัฒนาเส้นใยสังเคราะห์อย่างจริงจัง เพื่อให้ได้เส้นใยสังเคราะห์ที่มีคุณภาพมากขึ้น ทั้งนี้ เพื่อที่จะนำมาใช้ทดแทนเส้นใยที่ผลิตจากฝ้าย ในช่วงเวลาที่ราคาฝ้ายในตลาดโลกมีความผันผวน นอกจากนี้ ประเทศไทยอาจจะต้องยกระดับมาตรฐานในการผลิตสินค้าให้สูงขึ้น เช่น การวิจัยและพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มอย่างต่อเนื่อง การออกแบบสินค้าให้มีรูปแบบที่แตกต่างและโดดเด่นจากประเทศคู่แข่ง สร้างแบรนด์เป็นของตนเอง และที่สำคัญจะต้องใช้นวัตกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เป็นต้น
ประเด็นที่ต้องติดตามในช่วงที่เหลือของปี ‘53 ต่อเนื่องจนถึงปี ‘54

ประเด็นที่ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มจะต้องติดตามในช่วงที่เหลือของปี 2553 ต่อเนื่องจนถึงปี 2554 ได้แก่ สถานการณ์การส่งออกฝ้ายและเส้นใยฝ้ายของอินเดีย สภาพอากาศที่แปรปรวน ค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น ความไม่แน่นอนของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก และกระแสสุขภาพและการอนุรักษ์ธรรมชาติ ซึ่งประเด็นต่างๆเหล่านี้ ล้วนส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมส่งออกสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มของไทย

บทสรุป
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า จากการที่ราคาฝ้ายในตลาดโลกปรับเพิ่มสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ในรอบ 15 ปี ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มของไทยเป็นอย่างมาก โดยปัญหาดังกล่าวกระทบตั้งแต่อุตสาหกรรมต้นน้ำ (วัตถุดิบจากฝ้าย) ไปจนถึงอุตสาหกรรมปลายน้ำ (สิ่งทอ เสื้อผ้าสำเร็จรูป เครื่องนุ่งห่ม) เนื่องจาก ไทยจะต้องพึ่งพาการนำเข้าวัตถุดิบฝ้ายจากต่างประเทศมากถึงร้อยละ 90 ของปริมาณการผลิตทั้งหมด โดยสาเหตุสำคัญที่ทำให้ราคาฝ้ายในตลาดโลกปรับเพิ่มสูงขึ้นนั้น มาจากปัจจัยทางด้านผลผลิตฝ้ายในตลาดโลกที่ลดลง ซึ่งบางส่วนเกิดจากการลดพื้นที่เพาะปลูก และเกิดจากปัญหาภัยธรรมชาติ ในขณะที่ความต้องการใช้ฝ้ายในตลาดโลกมีปริมาณเพิ่มสูงขึ้น จากการขยายกำลังการผลิตของประเทศที่สำคัญต่างๆ โดยเฉพาะจีน อีกปัจจัยหนึ่งเกิดจากการสั่งระงับการส่งออกวัตถุดิบฝ้ายของอินเดียซึ่งถือเป็นประเทศส่งออกวัตถุดิบฝ้ายรายใหญ่ของโลก จากปัจจัยเหล่านี้ ส่งผลให้ราคาฝ้ายในตลาดโลกปรับเพิ่มสูงขึ้น

อย่างไรก็ตาม จากปัญหาดังกล่าว ส่งผลให้ประเทศต่างๆ ได้มีการวางแผนและเตรียมรับมือกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น เช่น มีการขยายการผลิตฝ้ายมากขึ้น โดยเฉพาะประเทศผู้ผลิตที่สำคัญๆ เช่น สหรัฐฯ อินเดีย จีน และปากีสถาน นอกจากนี้ ก็มีความเป็นไปได้ว่า ในช่วงปลายปี 2553 นี้ อินเดียจะกลับมาเพิ่มปริมาณการส่งออกฝ้ายไปยังประเทศต่างๆ อีกครั้ง และหากเป็นเช่นนี้ คาดว่า ราคาฝ้ายในตลาดโลกก็อาจจะมีแนวโน้มปรับตัวลดลง ซึ่งจะส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มของไทย แต่ทั้งนี้ ผู้ประกอบการไทยก็อาจจะต้องติดตาม และเตรียมรับมือกับสถานการณ์ต่างๆ อย่างต่อเนื่อง เพราะอาจจะเกิดปัญหาเช่นนี้ขึ้นมาอีก เช่น การติดตามสถานการณ์การผลิตและการบริโภคฝ้ายในตลาดโลก นอกจากนี้ ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งทางภาครัฐ และเอกชนอาจจะต้องให้ความสำคัญกับการวิจัยและพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างจริงจัง ตั้งแต่วัตถุดิบต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำ ทั้งนี้ เพื่อให้อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มของไทยมีศักยภาพที่จะแข่งขันกับประเทศต่างๆได้ในอนาคต