สินค้าประเภทอาหารของไทยยังเติบโตได้ในตลาดญี่ปุ่น แม้เผชิญความท้าทายจากหลายปัจจัย

ญี่ปุ่นนับเป็นหนึ่งในตลาดส่งออกที่สำคัญของไทยมาอย่างต่อเนื่อง โดยเป็นรองเพียงสหรัฐฯ และสหภาพยุโรปเท่านั้น แม้มูลค่าการส่งออกของไทยไปยังญี่ปุ่นจะชะลอตัวลงบ้างในปี 2552 จากผลของวิกฤตเศรษฐกิจโลกช่วงปลายปี 2551 แต่ในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ มูลค่าการส่งออกของไทยไปยังประเทศญี่ปุ่นมีการขยายตัวทุกเดือนเมื่อเปรียบเทียบกับปีที่ผ่านมา และคิดเป็นมูลค่ารวม 14.84 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 32.03 (YoY) ซึ่งสินค้าส่งออกที่สำคัญนอกจากจะได้แก่สินค้าประเภท อุปกรณ์และส่วนประกอบเครื่องคอมพิวเตอร์ และชิ้นส่วนยานยนต์แล้ว สินค้าอีกประเภทหนึ่งของไทยที่มีความสำคัญในการส่งออกไปยังตลาดญี่ปุ่น คือสินค้าประเภทอาหาร ซึ่งมีทั้งกลุ่มอาหารแปรรูปเบื้องต้น เช่น ข้าว มันสำปะหลัง กุ้งสดแช่เย็น แช่แข็ง และกลุ่มอาหารกระป๋องและแปรรูป เช่น อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป น้ำตาลทราย ผักผลไม้กระป๋องและแปรรูป โดยในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2553 สินค้าประเภทอาหารที่ไทยส่งออกไปญี่ปุ่นมีมูลค่า 2.57 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ คิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 17.25 ของการส่งออกสินค้าทั้งหมดของไทยไปยังญี่ปุ่น

ทั้งนี้ ญี่ปุ่นเป็นตลาดส่งออกอาหารที่สำคัญของไทย เนื่องจากญี่ปุ่นผลิตอาหารได้ไม่เพียงพอกับความต้องการบริโภค โดยผลิตได้เพียงร้อยละ 60 ของจำนวนแคลอรี่ที่ต้องการทั้งหมด1 ในขณะที่ประเทศไทยเป็นประเทศผู้ผลิตอาหารที่สำคัญของโลก ทั้งนี้ ในระหว่างปี 2551 – 2552 การส่งออกอาหารของไทยไปยังญี่ปุ่นมีการเติบโตในเกณฑ์ดีเมื่อเทียบกับการส่งออกของไทยโดยรวมไปญี่ปุ่น โดยในปี 2551 การส่งออกอาหารจากไทยไปญี่ปุ่นมีมูลค่าเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 37.35 (YoY) ซึ่งมากกว่าการเติบโตของการส่งออกโดยรวมของไทยไปญี่ปุ่นซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 10.90 (YoY) ส่วนในปี 2552 แม้ว่าวิกฤตเศรษฐกิจจะทำให้การส่งออกอาหารจากไทยไปญี่ปุ่นหดตัวลงร้อยละ 1.96 (YoY) แต่ก็เป็นอัตราที่น้อยกว่าการหดตัวของการส่งออกโดยรวมจากไทยไปญี่ปุ่นที่ติดลบร้อยละ 21.75 (YoY) ขณะที่ใน 9 เดือนแรกของปี 2553 มูลค่าการส่งออกอาหารจากไทยไปญี่ปุ่นเติบโตในอัตราสูงร้อยละ 13.50 (YoY) เป็นอัตราการเติบโตที่ระดับเลข 2 หลักแม้ว่าจะถูกกดดันจากความต้องการบริโภคในญี่ปุ่นที่ชะลอตัวก็ตาม โดยมูลค่าอยู่ที่ 2,559.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ คิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 15 ของการส่งออกอาหารของไทยทั้งหมด

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้ศึกษาถึงภาวะการส่งออกสินค้าประเภทอาหารของไทยไปยังประเทศญี่ปุ่น พบว่ามีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้

– กลุ่มอาหารแปรรูปเบื้องต้นยังขยายตัวได้ดี
ใน 9 เดือนแรกของปี 2553 สินค้าในกลุ่มอาหารแปรรูปเบื้องต้นที่ไทยส่งออกไปญี่ปุ่นมีการขยายตัวสูงร้อยละ 15.66 (YoY) มากกว่าการขยายตัวของการส่งออกสินค้ากลุ่มอาหารแปรรูปเบื้องต้นที่ไทยส่งออกไปทั่วโลกที่เติบโตร้อยละ 10.95 (YoY) บ่งชี้ว่าตลาดญี่ปุ่นยังเป็นตลาดที่เติบโตสูงสำหรับสินค้ากลุ่มนี้เมื่อเทียบกับตลาดอื่นๆ โดยสินค้าที่สำคัญของกลุ่มนี้ ได้แก่

– ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง และข้าว เป็นพืชเศรษฐกิจของไทยที่มีการปลูกโดยทั่วไปและส่งผลต่อเกษตรกรไทยจำนวนมาก ด้วยเหตุดังกล่าว ไทยจึงพยายามผลักดันให้สินค้าทั้งสองได้รับการเปิดเสรีการค้าในตลาดญี่ปุ่นจนประสบความสำเร็จ โดยมันสำปะหลังของไทยได้รับอานิสงส์จากการเปิดตลาดตามความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น (JTEPA) ส่วนข้าวนั้นได้รับการเปิดตลาดจากญี่ปุ่นตามกรอบขององค์การการค้าโลก (WTO) ทั้งนี้ ใน 9 เดือนแรกของปี 2553 มันสำปะหลัง มีมูลค่าการส่งออกไปญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นมากถึงร้อยละ 35.72 (YoY) ในส่วนของข้าว เพิ่มขึ้นร้อยละ 20.98 (YoY) ในขณะที่การส่งออกไปยังทั่วโลกหดตัว แสดงว่าข้าวไทยยังสามารถเติบโตได้ดีในญี่ปุ่นเมื่อเปรียบเทียบกับในตลาดโลก โดยข้าวไทยที่ส่งออกไปยังญี่ปุ่นนั้นส่วนใหญ่จะนำไปใช้ในร้านอาหารไทย รวมถึงนำไปแปรรูปเป็นอาหารอื่นๆ

– ไก่แปรรูป เป็นสินค้าที่มีมูลค่ามากที่สุดในสินค้าประเภทอาหารของไทยที่ส่งออกไปยังญี่ปุ่น นอกจากนั้นญี่ปุ่นยังเป็นตลาดไก่แปรรูปที่สำคัญที่สุดของไทยด้วย โดยไทยส่งออกไก่แปรรูปไปญี่ปุ่นเป็นสัดส่วนร้อยละ 46.28 ของการส่งออกไก่แปรรูปไปทั่วโลก ทั้งนี้ ไก่แปรรูปของไทยได้รับความนิยมมากในญี่ปุ่น เนื่องจากไทยมีจุดแข็งในด้านกำลังการผลิตและฝีมือการตัดแต่งแปรรูปชิ้นส่วนไก่ ทำให้ไทยสามารถครองส่วนแบ่งตลาดอันดับ 1 (ร้อยละ 58.4) ในตลาดญี่ปุ่น อย่างไรก็ดี จากการที่ไก่สดของไทยถูกสั่งห้ามนำเข้าญี่ปุ่นเพราะไทยยังไม่ได้รับการรับรองจากองค์การโรคระบาดสัตว์ระหว่างประเทศ (OIE) ว่าปลอดจากไข้หวัดนก ทำให้ไทยสูญเสียโอกาสในการส่งออกไก่สดไปยังญี่ปุ่นพอสมควร โดยทางการไทยกำลังพยายามผลักดันให้รัฐบาลญี่ปุ่นเปิดตลาดให้ไก่สดของไทยอีกครั้ง เมื่อประกอบกับการที่ทางผู้นำเข้าไก่สดของญี่ปุ่นเองก็พยายามผลักดันให้ทางการญี่ปุ่นเปิดตลาดไก่สดให้ประเทศที่ติดอยู่ในบัญชีแหล่งแพร่ระบาดโรคไข้หวัดนกเช่นกัน เนื่องจากไม่พอใจการผูกขาดการส่งออกไก่สดของประเทศบราซิลไปยังญี่ปุ่น ดังนั้นการส่งออกไก่โดยรวมของไทยมีโอกาสเพิ่มสูงขึ้นได้อีกหากความพยายามผลักดันดังกล่าวประสบผลสำเร็จ

– กุ้งและเนื้อปลาสดแช่เย็น แช่แข็ง เป็นสินค้าส่งออกด้านประมงที่น่าจับตามองของไทยในตลาดญี่ปุ่น เนื่องจากกุ้งสดแช่เย็น แช่แข็งนั้นสามารถเติบโตระดับเลข 2 หลักได้ทั้งในปี 2552 และ 9 เดือนแรกของปี 2553 แม้ว่าจะเป็นสินค้าที่มีมูลค่าส่งออกสูงระดับต้นๆ ของกลุ่มอาหารอยู่แล้วก็ตาม ส่วนเนื้อปลาสดแช่เย็น แช่แข็งนั้น แม้ว่าจะยังมีมูลค่าการส่งออกไปญี่ปุ่นไม่มาก แต่ก็มีอัตราการเติบโตสูงอย่างน่าจับตามอง โดยในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้เติบโตถึงร้อยละ 22.86 (YoY) ซึ่งมากกว่าอัตราการเติบโตของการส่งออกกลุ่มอาหารแปรรูปเบื้องต้นไปยังญี่ปุ่น นอกจากนั้นญี่ปุ่นยังเป็นตลาดที่สำคัญที่สุดสำหรับเนื้อปลาสดแช่เย็น แช่แข็งของไทยอีกด้วย โดยไทยส่งออกเนื้อปลาสดแช่เย็น แช่แข็งไปญี่ปุ่นถึงร้อยละ 67.82 ของการส่งออกสินค้าชนิดนี้ไปทั่วโลก ทำให้สามารถมองได้ว่าสินค้าทั้ง 2 ชนิดนี้มีแนวโน้มจะทวีความสำคัญมากขึ้นในอนาคต นอกจากนั้นสินค้าทั้งสองชนิดนี้ยังมีโอกาสพัฒนาไปสู่อาหารสำเร็จรูปพร้อมรับประทาน เช่น ติ่มซำ เกี๊ยว ลูกชิ้น มากขึ้นอีกด้วย ซึ่งจะทำให้สามารถตอบสนองรสนิยมผู้บริโภคซึ่งนิยมอาหารสำเร็จรูปมากขึ้นได้เป็นอย่างดี และน่าจะเป็นโอกาสให้สินค้าประเภทกุ้งและเนื้อปลาสด แช่เย็นแช่แข็งสามารถเติบโตได้อีกทางหนึ่ง

– เครื่องเทศและสมุนไพร จัดว่าเป็นสินค้าดาวรุ่งของไทยในตลาดญี่ปุ่นในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ ที่แม้จะมีมูลค่าการส่งออกไปญี่ปุ่นไม่สูงมากนักแต่มีการเติบโตในอัตราเร่งสูงที่ร้อยละ 44.20 (YoY) ซึ่งสูงกว่าอัตราการเติบโตของการส่งออกกลุ่มอาหารแปรรูปเบื้องต้นไปญี่ปุ่นเกือบ 3 เท่า ทั้งนี้การเติบโตอย่างก้าวกระโดดของเครื่องเทศและสมุนไพรไทยในญี่ปุ่นส่วนหนึ่งน่าจะเป็นผลสืบเนื่องมาจากการรณรงค์จัดกิจกรรมเผยแพร่เกี่ยวกับอาหารไทยในญี่ปุ่นโดยหน่วยงานไทย รวมไปถึงการจัดกิจกรรมประกวดร้านอาหารไทย ซึ่งเป็นการประชาสัมพันธ์ให้ชาวญี่ปุ่นรู้จักประโยชน์ของเครื่องเทศและสมุนไพรไทยมากขึ้น และคาดว่าการขยายตลาดเครื่องเทศและสมุนไพรไทยในญี่ปุ่นน่าจะมีแนวโน้มที่สดใสยิ่งขึ้นได้ในอนาคต

– กลุ่มอาหารกระป๋องและแปรรูปมีโอกาสเติบโตได้ในระยะต่อไปจากความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป
ในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ การส่งออกสินค้ากลุ่มอาหารกระป๋องและแปรรูปไปยังญี่ปุ่นมีอัตราการขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 10.56 (YoY) ซึ่งแม้จะเติบโตในอัตราที่ต่ำกว่าการขยายตัวของการส่งออกสินค้ากลุ่มนี้ไปตลาดโลก แต่เนื่องด้วยแนวโน้มของตลาดที่มีการเปลี่ยนแปลงไปจากการจับจ่ายวัตถุดิบมาทำอาหารเองหรือการรับประทานที่ร้านอาหารนอกบ้าน ไปเป็นการบริโภคอาหารสำเร็จรูป/กึ่งสำเร็จรูปมากขึ้น ทำให้สินค้ากลุ่มอาหารกระป๋องและแปรรูปน่าจะยังเติบโตได้อีกในญี่ปุ่น โดยมีสินค้าสำคัญของกลุ่มได้แก่

– อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป เป็นสินค้าที่สำคัญของไทยในกลุ่มอาหารเนื่องจากมีมูลค่าส่งออกสูงเป็นอันดับ 2 ของสินค้าประเภทอาหารทั้งหมดที่ไทยส่งออกไปญี่ปุ่น นอกจากนั้นจากการที่ญี่ปุ่นเป็นผู้นำเข้าอาหารทะเลรายใหญ่ที่สุดของโลกจากการที่นิยมการรับประทานอาหารทะเลแต่ไม่สามารถผลิตได้เพียงพอ ประกอบกับรสนิยมผู้บริโภคในปัจจุบันก็เปลี่ยนแปลงไปนิยมอาหารพร้อมทานมากขึ้น น่าจะเป็นโอกาสที่ดีสำหรับสินค้ากลุ่มนี้ของไทยในอนาคต โดยสินค้าที่ญี่ปุ่นนิยมนำเข้าจากไทยได้แก่ ทูน่ากระป๋อง (สัดส่วนร้อยละ 80.8 ของกลุ่มอาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป) และกุ้งกระป๋อง (สัดส่วนร้อยละ 14.8 ของกลุ่มอาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป)

– ผักและผลไม้กระป๋องและแปรรูป จัดว่าเป็นสินค้าความหวังของไทยประเภทหนึ่ง เนื่องจากสามารถใช้เป็นช่องทางในการเพิ่มมูลค่าแก่ผักและผลไม้ส่งออกของไทยได้ อีกทั้งยังถูกกีดกันด้านสุขภาพอนามัยน้อยกว่าผักและผลไม้สด แช่เย็นแช่แข็ง แม้ว่าใน 9 เดือนแรกของปีนี้มูลค่าการส่งออกและการเติบโตของสินค้ากลุ่มนี้จะไม่โดดเด่นนักก็ตาม โดยอัตราการเติบโตรวมอยู่ที่ร้อยละ 7.69 (YoY) แต่หากผู้ผลิตไทยมีการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตและพัฒนาสินค้าใหม่ๆ ออกมาให้สอดคล้องกับความนิยมของผู้บริโภค ก็น่าจะเป็นโอกาสให้ผู้ผลิตของไทยมีโอกาสขยายตลาดเพิ่มเติมในญี่ปุ่นได้ โดยสินค้าที่มีมูลค่าการส่งออกไปญี่ปุ่นสูง 4 อันดับแรกในปัจจุบันได้แก่ ข้าวโพดหวานกระป๋อง เนื้อสับปะรดกระป๋อง มะม่วงกระป๋อง และน้ำสับปะรดกระป๋อง

– ผลิตภัณฑ์ข้าว และขนมขบเคี้ยวจากข้าว เป็นสินค้าแปรรูปที่สำคัญของไทยในตลาดญี่ปุ่น เนื่องจากไทยมีแหล่งวัตถุดิบประเภทข้าวเป็นจำนวนมาก ทั้งข้าวเจ้า และข้าวเหนียว อีกทั้งยังสามารถนำไปพัฒนาเป็นสินค้าที่อยู่ในวัฒนธรรมการบริโภคของชาวญี่ปุ่นได้อย่างดี โดยสินค้าที่น่าสนใจในกลุ่มนี้ได้แก่ แป้งข้าวเหนียว (มูลค่าร้อยละ 50.7 ของกลุ่มผลิตภัณฑ์ข้าว) ซึ่งชาวญี่ปุ่นนิยมนำไปทำเหล้าสาเก และทำเส้นอุด้ง นอกจากนั้นยังมีเส้นหมี่ก๋วยเตี๋ยว (มูลค่าร้อยละ 18.3 ของกลุ่มผลิตภัณฑ์ข้าว) และขนมขบเคี้ยวประเภทเซมเบ อราเร่ (รหัส 1905.90311 และ 1905.90321) ซึ่งไทยเป็นผู้ส่งออกไปญี่ปุ่นรายใหญ่อันดับ 2 รองจากจีน ครองส่วนแบ่งตลาดในญี่ปุ่นประมาณร้อยละ 21

– แนวโน้มสินค้าประเภทอาหารของไทยในญี่ปุ่นยังเติบโตได้ โดยมีหลายปัจจัยที่ควรให้ความสำคัญ
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า สินค้าส่งออกของไทยไปยังญี่ปุ่นในประเภทอาหารยังมีแนวโน้มเติบโตต่อไปได้ในญี่ปุ่นในปีหน้า เนื่องจากอาหารจัดว่าเป็นสินค้าจำเป็น อีกทั้งสินค้าไทยได้รับการยอมรับด้านคุณภาพในตลาดญี่ปุ่น สำหรับในปี 2553 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าการส่งออกสินค้าอาหารไปยังตลาดญี่ปุ่นน่าจะเติบโตประมาณร้อยละ 13 (YoY) และอาจจะเติบโตในอัตราที่ชะลอตัวลงเล็กน้อยในระดับร้อยละ 10 – 12 (YoY) ในปีหน้าด้วยผลของฐานที่สูงในปีนี้ประกอบกับผลของภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวในญี่ปุ่น ทั้งนี้ปัจจัยสำคัญที่ควรติดตามอย่างใกล้ชิดในการส่งออกสินค้าประเภทอาหารของไทยไปยังญี่ปุ่นมีดังต่อไปนี้

– คุณภาพของสินค้าไทย และรสนิยมสินค้าที่มีคุณภาพของผู้บริโภคญี่ปุ่น โดยสินค้าประเภทอาหารของไทยนั้นมีจุดเด่นในด้านคุณภาพ โดยเฉพาะสินค้าประเภทอาหารกึ่งสำเร็จรูปและอาหารพร้อมรับประทาน ซึ่งตรงกับรสนิยมของผู้บริโภคญี่ปุ่นที่ให้ความสำคัญมากกับคุณภาพของสินค้า ดังนั้นการที่ไทยมีภาพลักษณ์ด้านคุณภาพที่ดีในญี่ปุ่น ผนวกกับความพยายามในการพัฒนาด้านคุณภาพของสินค้าไทยให้ดียิ่งขึ้นไป ก็จะช่วยเพิ่มโอกาสในการขยายตลาดสินค้าประเภทอาหารในญี่ปุ่นได้มากขึ้น รวมถึงช่วยรักษาตลาดในภาวะที่ความสามารถในการซื้อของผู้บริโภคมีแนวโน้มลดลงตามภาวะเศรษฐกิจที่ส่อแววชะลอตัว

– ภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวของญี่ปุ่น โดยในปัจจุบัน ญี่ปุ่นนั้นประสบปัญหาภาคอุตสาหกรรมที่ชะลอตัวจากการส่งออกที่ซบเซาหลังจากเงินเยนแข็งค่าเป็นประวัติการณ์ในรอบ 15 ปีเมื่อช่วงเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการซ้ำเติมปัญหาการว่างงานและปัญหาเงินฝืดที่ดำเนินมาอย่างยาวนานให้รุนแรงยิ่งขึ้น และทำให้ความต้องการบริโภคในประเทศยิ่งชะลอตัวลง ดังนั้นปัญหาเศรษฐกิจของญี่ปุ่นจึงอาจส่งผลกระทบต่อการส่งออกอาหารของไทยไปยังญี่ปุ่นได้ อย่างไรก็ดี ยังมีปัจจัยบวกจากความพยายามกระตุ้นเศรษฐกิจของทางการญี่ปุ่นในการอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบเพื่อกระตุ้นการบริโภคและการลงทุน ประกอบกับอาหารเป็นหนึ่งในปัจจัย 4 ซึ่งก็อาจจะช่วยพยุงให้ความต้องการของผู้บริโภคต่อสินค้าประเภทอาหารไม่ลดลงจนเกินไปนัก โดยสินค้าที่น่าจะเติบโตได้ดีขึ้นจากภาวะการชะลอตัวของของเศรษฐกิจญี่ปุ่นก็คืออาหารกึ่งสำเร็จรูปและอาหารพร้อมรับประทาน เนื่องจากความสามารถในการใช้จ่ายที่ลดลงทำให้ผู้บริโภคเปลี่ยนจากการทานอาหารนอกบ้านเป็นการทำเองที่บ้านและซื้ออาหารพร้อมทานมากขึ้น

– การเปลี่ยนแปลงด้านประชากรของญี่ปุ่น การที่ญี่ปุ่นมีแนวโน้มประชากรลดลงในอนาคต ประกอบกับมีสัดส่วนผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นนั้น เป็นการเปลี่ยนแปลงที่ไม่ควรมองข้าม เนื่องจากอาจส่งผลต่อการบริโภคสินค้าประเภทอาหารโดยตรง โดยความต้องการบริโภคอาหารอาจลดลงบ้างเนื่องจากวัยสูงอายุเป็นวัยที่บริโภคอาหารน้อยลง แต่จะเปลี่ยนรูปแบบไปเป็นอาหารเพื่อสุขภาพมากขึ้น ซึ่งอาจจะเป็นโอกาสของอาหารเพื่อสุขภาพจากประเทศในการขยายตลาดในญี่ปุ่นมากขึ้น

– ผู้ประกอบการควรเร่งปรับตัวเพื่อรักษาส่วนแบ่งตลาดอาหารในญี่ปุ่น รวมไปถึงขยายผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ออกสู่ตลาดญี่ปุ่นมากขึ้น

ด้วยปัจจัยท้าทายจากเศรษฐกิจที่ชะลอตัว และการเปลี่ยนแปลงด้านประชากรในญี่ปุ่น ทำให้ผู้ประกอบการไทยควรเร่งปรับตัวเพื่อรับมือ และหาช่องทางในการบริหารจัดการสถานการณ์ให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อธุรกิจ โดยการให้ความสำคัญมากขึ้นกับคุณภาพของสินค้าเพื่อสร้างชื่อเสียงและภาพลักษณ์ที่ดี อันจะนำไปสู่ความสามารถในการครองใจผู้บริโภคในยามที่ต้องเลือกซื้อภายใต้งบประมาณที่จำกัดมากขึ้น อีกทั้งการที่รายได้ผู้บริโภคถูกกระทบจากปัญหาเศรษฐกิจ กลับสามารถมองได้ว่าเป็นโอกาสของไทยในการพัฒนาสินค้าในรูปแบบที่สะดวกในการเตรียมรวมไปถึงอาหารแช่แข็งพร้อมรับประทานมากขึ้น นอกจากนั้น การที่ญี่ปุ่นมีแนวโน้มประชากรลดลงและมีผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น ก็อาจพลิกเป็นโอกาสของการส่งออกอาหารเพื่อสุขภาพมายังญี่ปุ่น ซึ่งในปัจจุบันยังมีสัดส่วนในตลาดไม่มากนักก็ได้ ทั้งนี้ ผู้ประกอบการไทยอาจจะต้องสร้างสรรค์รูปแบบบรรจุภัณฑ์ที่ง่ายต่อการเปิด เพื่ออำนวยความสะดวกมากขึ้นด้วย

นอกจากด้านผลิตภัณฑ์แล้ว ในส่วนของวิธีการทำธุรกิจกับผู้นำเข้าชาวญี่ปุ่นก็มีความสำคัญเช่นกัน โดยชาวญี่ปุ่นนั้นให้ความสำคัญกับความสม่ำเสมอและตรงต่อเวลาเป็นอย่างมาก นอกจากนั้นยังมีธรรมเนียมปฏิบัติในการติดต่อธุรกิจที่เป็นลักษณะเฉพาะตัวหลายประการ เช่น ระดับของการโค้งเพื่อแสดงความเคารพหรือทักทาย หรือความจำเป็นของการให้นามบัตร เป็นต้น ดังนั้นหากนักธุรกิจไทยสามารถปฏิบัติตัวได้ถูกต้อง ก็จะทำให้การติดต่อธุรกิจราบรื่น และช่วยในการรักษาความสัมพันธ์ทางธุรกิจให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น

บทสรุป สินค้าประเภทอาหารนับวันจะมีความสำคัญต่อการส่งออกของไทยไปยังญี่ปุ่น โดยในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2553 มีสัดส่วนมูลค่าประมาณร้อยละ 17.25 ของการส่งออกของไทยไปยังญี่ปุ่นทั้งหมด และเติบโตในอัตราสูงร้อยละ 13.50 (YoY) ซึ่งยังเป็นระดับเลข 2 หลักแม้ว่าจะถูกกดดันจากความต้องการบริโภคในญี่ปุ่นที่ชะลอตัวก็ตาม โดยกลุ่มอาหารแปรรูปเบื้องต้นยังขยายตัวได้ดีที่ร้อยละ 15.66 (YoY) ซึ่งมากกว่าการขยายตัวของการส่งออกอาหารแปรรูปเบื้องต้นโดยรวมของไทย ส่วนกลุ่มอาหารกระป๋องและแปรรูปมีอัตราการขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 10.56 (YoY) ซึ่งแม้ว่าจะต่ำกว่าการขยายตัวของการส่งออกสินค้ากลุ่มนี้ไปตลาดโลก แต่เนื่องด้วยแนวโน้มของพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้สินค้ากลุ่มอาหารกระป๋องและแปรรูปน่าจะยังเติบโตได้อีกในญี่ปุ่น

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า มูลค่ารวมของการส่งออกอาหารของไทยไปยังญี่ปุ่นมีแนวโน้มขยายตัวต่อไปได้ในปีหน้า แต่อาจมีอัตราการเติบโตที่ชะลอลงมาอยู่ที่ร้อยละ 10 – 12 (YoY) จากเดิมในปีนี้ที่คาดว่าจะเติบโตในอัตราร้อยละ 13 (YoY) โดยสินค้าที่มีโอกาสขยายตัวได้ดีได้แก่ กุ้งและเนื้อปลาสด แช่เย็นแช่แข็ง อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ผักและผลไม้กระป๋องและแปรรูป และผลิตภัณฑ์ข้าวและขนมขบเคี้ยวจากข้าว ส่วนสินค้าสำคัญที่มีมูลค่าส่งออกมากอยู่แล้ว เช่น ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ข้าว และไก่แปรรูป เป็นต้น น่าจะยังเติบโตต่อไปได้เช่นกัน แต่อาจชะลอตัวลงบ้างเนื่องจากผลของฐานที่ค่อนข้างสูง โดยปัจจัยหนุนสำคัญของการส่งออกอาหารของไทยไปยังญี่ปุ่น ได้แก่ คุณภาพของสินค้าไทย และรสนิยมบริโภคสินค้าคุณภาพสูงของชาวญี่ปุ่น อย่างไรก็ดี การส่งออกอาหารของไทยไปยังญี่ปุ่นอาจต้องเผชิญความกดดันจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวของญี่ปุ่น รวมไปถึงประชากรที่ลดจำนวนลง และจำนวนผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้น ทำให้ผู้ประกอบการไทยควรเร่งปรับตัวโดยให้ความสำคัญด้านคุณภาพ รวมไปถึงพัฒนาสินค้าเป็นอาหารสำเร็จรูป/กึ่งสำเร็จรูป และอาหารเพื่อสุขภาพมากขึ้น ซึ่งนอกจากการพัฒนาด้านตัวสินค้าแล้ว การให้ความสำคัญกับธรรมเนียมการติดต่อธุรกิจกับชาวญี่ปุ่นจะเป็นอีกส่วนหนึ่งที่ช่วยให้ผู้ส่งออกอาหารของไทยไปญี่ปุ่นสามารถทำการค้าได้อย่างราบรื่นยิ่งขึ้น และน่าจะเป็นผลดีต่อผู้ทำธุรกิจส่งออกอาหารไปญี่ปุ่นเองในท้ายที่สุด