“กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์และสิทธิการเช่าดุสิตธานี” ยอดจองล้น

กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์และสิทธิการเช่าดุสิตธานี เผยได้รับการตอบรับจากนักลงทุนรายย่อยและนักลงทุนสถาบันอย่างมาก จนทำให้ยอดจองซื้อกองทุนขนาด 4,094 ล้านบาทในช่วงเสนอขาย IPO มีความต้องการล้น เผยปัจจัยสนับสนุน 3 ประการที่ผลักดันให้กำลังซื้อหนาแน่น มาจากความเชื่อมั่นใน แบรนด์ดุสิต อินเตอร์เนชั่นแนล ศักยภาพของสินทรัพย์ที่เข้าไปลงทุน ทั้งโรงแรมดุสิตธานี ลากูน่า ภูเก็ต โรงแรมดุสิตดีทู เชียงใหม่ และโรงแรมดุสิตธานี หัวหิน รวมถึงผลตอบแทนที่น่าพอใจ พร้อมเดินหน้านำหน่วยลงทุนเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ คาดเข้าซื้อขาย กลางเดือนมกราคม พ.ศ. 2554

นายชนินทธ์ โทณวณิก ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ดุสิตธานี จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า การเสนอขาย กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์และสิทธิการเช่าดุสิตธานี (DTCPF) ให้กับประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) ระหว่างวันที่ 7-17 ธันวาคมที่ผ่านมา นับได้ว่าประสบผลสำเร็จเป็นอย่างมาก โดยนักลงทุนให้ความสนใจจองซื้อจนล้นเกินกว่าจำนวนที่เสนอขาย ซึ่งต้องขอขอบคุณทั้งนักลงทุนรายย่อยและนักลงทุนสถาบันที่ให้ความเชื่อมั่นบริษัทฯ มาโดยตลอด และในนามของผู้บริหารทรัพย์สิน บมจ.ดุสิตธานี จะทำหน้าที่ในการบริหารกิจการโรงแรมในเครือดุสิต อินเตอร์เนชั่นแนล อย่างเต็มที่ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดตามที่นักลงทุนไว้วางใจ

ทั้งนี้ กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์และสิทธิการเช่าดุสิตธานี (DTCPF) ซึ่งมีมูลค่ากองทุนประมาณ 4,094 ล้านบาท เป็นกองทุนที่มีนโยบายลงทุนด้วยการเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ (Freehold) ใน ที่ดิน อาคาร และงานระบบสาธารณูปโภคที่เกี่ยวข้องกับโรงแรมและเฟอร์นิเจอร์ ทรัพย์สินติดตรึงตราและอุปกรณ์ต่างๆ ของโรงแรมดุสิตธานี ลากูน่า ภูเก็ต และโรงแรมดุสิตดีทู เชียงใหม่ รวมทั้งลงทุนในสิทธิการเช่า (Leasehold) เป็นระยะเวลา 30 ปี ในที่ดิน อาคาร และงานระบบสาธารณูปโภคที่เกี่ยวข้องกับโรงแรม และเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในเฟอร์นิเจอร์ ทรัพย์สินติดตรึงตรา และอุปกรณ์ต่างๆ ของโรงแรมดุสิตธานี หัวหิน โดยสัดส่วนการลงทุนในกองทุนนี้เป็น Freehold กว่าร้อยละ 75

กองทุนดังกล่าวได้ทำการเสนอขายให้กับประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) ระหว่างวันที่ 7-17 ธันวาคม พ.ศ. 2553 ในราคาหน่วยละ 10 บาท กำหนดจองซื้อขั้นต่ำ 10,000 บาท โดยมีบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ซีไอเอ็มบี (ประเทศไทย) จำกัด และ บล.กิมเอ็ง (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) เป็นผู้รับประกันการจัดจำหน่ายหน่วยลงทุน ขณะที่ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย จำกัด (มหาชน) และธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ทำหน้าที่เป็นตัวแทนสนับสนุนการขาย และบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) กรุงไทย จำกัด ทำหน้าที่ผู้จัดการกองทุน

นายสมชัย บุญนำศิริ กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) กรุงไทย จำกัด กล่าวว่า ความสำเร็จจาก การเสนอขายหน่วยลงทุนของ กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์และสิทธิการเช่าดุสิตธานี (DTCPF) ในครั้งนี้ น่าจะมาจาก 3 ปัจจัยหลัก ได้แก่ ความเชื่อมั่นในแบรนด์ดุสิต อินเตอร์เนชั่นแนล ซึ่งได้รับการยอมรับในระดับมาตรฐานสากล รวมถึงศักยภาพของทรัพย์สินที่กองทุนเข้าไปลงทุน และอัตราผลตอบแทนที่นักลงทุนเชื่อว่าจะอยู่ในระดับที่น่าพอใจ

กรรมการผู้จัดการ บลจ.กรุงไทย กล่าวด้วยว่า การที่นักลงทุนเชื่อมั่นในความเป็นผู้นำธุรกิจโรงแรมของแบรนด์ดุสิตธานี เป็นเหตุผลสำคัญประการแรกที่ทำให้การเสนอขายกองทุน DTCPF ประสบความสำเร็จ โดยหลังจากนี้ดุสิตธานีจะยังทำหน้าที่ ทั้งในแง่ของผู้เช่าทรัพย์สินผ่านบริษัท ดุสิต แมเนจเม้นท์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่บริษัท ดุสิตธานี จำกัด (มหาชน) (DTC) ถือหุ้นร้อยละ 99.99 รวมถึงยังทำหน้าที่เป็นผู้บริหารทรัพย์สิน และเป็นผู้ลงทุนในกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์และสิทธิการเช่าดุสิตธานีด้วย นอกจากนี้ นักลงทุนยังมั่นใจในศักยภาพของทรัพย์สินที่เข้าไปลงทุน ทั้ง 3 แห่ง ไม่ว่าจะเป็นภูเก็ต หัวหินหรือเชียงใหม่ ซึ่งต้องยอมรับว่า อยู่ในทำเลที่มีศักยภาพในการเติบโตด้านการท่องเที่ยวอีกมาก

ในส่วนของผลการตอบแทนจากการลงทุนนั้น DTC ในฐานะเจ้าของทรัพย์สิน ยังรับประกันรายได้ค่าเช่าขั้นต่ำรายปีของโรงแรมทั้ง 3 แห่ง สำหรับระยะเวลา 4 ปีแรกที่ไม่น้อยกว่า 381 ล้านบาทต่อปี เมื่อเทียบกับขนาดกองทุน 4,094 ล้านบาท อย่างไรก็ดี การพิจารณาผลตอบแทนที่แท้จริงของกองทุนรวม DTCPF จะต้องคำนึงถึงค่าใช้จ่ายต่างๆ ของกองทุน ได้แก่ ค่าใช้จ่ายใน การจัดตั้งกองทุน ค่าใช้จ่ายของกองทุน และค่าใช้จ่ายในการปรับปรุงภาพลักษณ์ของโรงแรม (Renovation) โดย DTC จะวางหนังสือค้ำประกันที่ออกโดยธนาคารในวงเงินค้ำประกันจำนวน 125 ล้านบาทต่อปี เพื่อเป็นหลักประกันให้แก่นักลงทุนว่าจะได้รับผลตอบแทนจากเงินปันผลในอัตราที่น่าพอใจ ซึ่งโดยเฉลี่ยกองทุนแบบ Freehold จะให้ผลตอบแทนในอัตราประมาณร้อยละ 7 ในขณะที่กองทุนแบบ Leasehold จะให้ผลตอบแทนประมาณร้อยละ 9 (ที่มา : ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย) ดังนั้น เมื่อพิจารณาถึงสัดส่วนทรัพย์สินของ DTCPF ระหว่าง Freehold และ Leasehold ที่ประมาณ ร้อยละ 76 และ ร้อยละ 24 ผลตอบแทนจากการลงทุน DTCPF จึงน่าจะใกล้เคียงผลตอบแทนเฉลี่ยของกองทุนอสังหาริมทรัพย์อื่นดังกล่าว

“จากปัจจัยสนับสนุนทั้งหมดทำให้นักลงทุนมั่นใจ กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์และสิทธิการเช่าดุสิตธานี (DTCPF) จนทำให้การเสนอขาย IPO ช่วงที่ผ่านมาประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี โดยหลังจากนี้ บลจ.กรุงไทย จะนำหน่วยลงทุนของ DTCPF เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยต่อไป โดยคาดว่าน่าจะเข้าซื้อขายได้ในช่วงกลางเดือนมกราคม พ.ศ. 2554 ซึ่งน่าจะเป็นสินค้าใหม่ตัวแรกของตลาดหลักทรัพย์ฯ ในปีหน้านี้” นายสมชัยกล่าว