อิเล็กทรอนิกส์ครึ่งหลังปี 2555 : แม้โรงงานจะเริ่มกลับมาผลิตได้ …แต่ปัญหาวิกฤติยุโรปอาจฉุดรั้งการฟื้นตัว

อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ของไทย เริ่มกลับมาฟื้นตัวดีขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยโรงงานที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมหลายแห่งกลับมาผลิตสินค้าได้แม้ยังไม่เต็มประสิทธิภาพ แต่นับว่าเป็นการฟื้นตัวในระดับที่ดีกว่าที่คาด เมื่อพิจารณาสถิติการส่งออกอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ของกระทรวงพาณิชย์ เมื่อเดือนพฤษภาคม 2555 ที่ผ่านมา พบว่า ภาพรวมการส่งออกกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์สามารถกลับมาเติบโตในแดนบวกได้เป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกัน โดยมูลค่าการส่งออกอยู่ที่ประมาณ 3,088.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เติบโตร้อยละ 11.0 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ทำให้ในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2555 การส่งออกของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ไทยหดตัวในกรอบที่แคบลง โดยมีมูลค่าการส่งออก 13,090 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัวร้อยละ 2.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

สำหรับทิศทางของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ไทยในช่วงที่เหลือของปี 2555 นี้ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ไทยยังมีความเสี่ยง ที่อาจมีผลต่ออุตสาหกรรม โดยความเสี่ยงนี้มีทั้งจากปัจจัยภายนอกและภายในประเทศ ได้แก่ 

 

ปัจจัยภายนอกประเทศ

วิกฤติหนี้ยุโรปยังบั่นทอนการเติบโตเศรษฐกิจโลก…ผลกระทบต่อการส่งออกอิเล็กทรอนิกส์ไทย

เศรษฐกิจยุโรปที่ยังคงถดถอยและยังไม่มีสัญญาณฟื้นตัว ซึ่งปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจในยุโรปยังคงบั่นทอนการเติบโตของเศรษฐกิจโลก และรวมถึงเศรษฐกิจไทยในช่วงที่เหลือของปี 2555 นี้ โดยสหภาพยุโรปเป็นตลาดส่งออกที่สำคัญของผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ โดยมีสัดส่วนประมาณร้อยละ 13.4 ในปี 2554 ที่ผ่านมา อย่างไรก็ดีในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2555 ที่ผ่านมา สัดส่วนการส่งออกไปยังกลุ่มสหภาพยุโรปนั้นลดลงเหลือร้อยละ 12.9 ของมูลค่าการส่งออกในกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์

นอกจากนี้ สถานภาพของธนาคารหลายแห่งในยุโรปมีสถานะค่อนข้างอ่อนแอ ซึ่งส่งผลต่อการปล่อยสินเชื่อในการทำธุรกิจ อีกทั้งปัจจุบัน ธนาคารหลายแห่งในยุโรปมีมาตรฐานที่เข้มข้นขึ้นในการอนุมัติสินเชื่อให้แก่ภาคธุรกิจ ซึ่งประเด็นดังกล่าวนี้เป็นอุปสรรคต่อการทำธุรกิจ เนื่องจากภาคธุรกิจไม่สามารถขอสินเชื่อจากสถาบันการเงินได้ ซึ่งก็จะส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ต่อมายังการส่งออกของไทย เนื่องจากบริษัทที่ส่งสินค้าออกของไทยเกิดความไม่มั่นใจถึงสถานะของคู่ค้า ทำให้ผู้ส่งออกไทยจึงต้องเพิ่มความระมัดระวังในการส่งสินค้าออกไปยังยุโรปมากขึ้น 

ทั้งนี้ วิกฤติเศรษฐกิจยุโรป ไม่เพียงแต่ส่งผลกระทบต่อการส่งออกอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ไทยเท่านั้น แต่วิกฤติครั้งนี้ได้ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ประเทศอื่นๆ ด้วยเช่นกัน อาทิ การส่งออกอิเล็กทรอนิกส์ของสิงคโปร์ไปยังยุโรป ในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2555 ที่ผ่านมา เติบโตเพียงร้อยละ 0.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน การส่งออกอิเล็กทรอนิกส์ของมาเลเซียไปยังยุโรป  หดตัวประมาณร้อยละ 29.0 ขณะที่ไต้หวันการส่งออกอิเล็กทรอนิกส์ไปยังยุโรป  หดตัวประมาณร้อยละ 15.9 เป็นต้น ฉะนั้น หากในช่วงครึ่งหลังของปี 2555 นี้ ปัญหาวิกฤติหนี้ในยุโรปยังไม่ผ่อนคลายลง ก็จะส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ 

 

การแข่งขันทางธุรกิจในตลาดโลกผลต่อนโยบายการดำเนินธุรกิจของบริษัทต่างชาติและต่อการลงทุนในไทย

การแข่งขันทางธุรกิจที่รุนแรงมากขึ้นในระดับโลก (Global) ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางธุรกิจ เห็นได้จากสถานการณ์ตลาดสินค้าไอทีที่ผ่านมา มีการเปลี่ยนแปลงมากมายเกิดขึ้น ซึ่งการเปลี่ยนแปลงนั้นมาจากสาเหตุหลายประการ สาเหตุส่วนหนึ่งมาจากการที่บริษัทเจ้าของผลิตภัณฑ์ต่างค้นคว้าพัฒนาเทคโนโลยีใหม่เพื่อให้ผลิตภัณฑ์ของตนมีความแตกต่างจากคู่แข่ง 

ขณะเดียวกัน อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์มีการแข่งขันรุนแรงและเข้มข้น ซึ่งผลิตภัณฑ์บางประเภทเทคโนโลยีของสินค้าอาจไม่ต่างกันมากนัก ทำให้บริษัทเจ้าของสินค้าจึงต้องปรับกลยุทธ์ทางธุรกิจ โดยบางบริษัทได้หันมาใช้กลยุทธ์ด้านราคามาทำตลาด เพื่อช่วงชิงฐานลูกค้า ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นนั้น ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของบริษัทเจ้าของสินค้าไอที จำต้องเร่งปรับตัวทางธุรกิจเพื่อความอยู่รอด เช่น การควบรวมกิจการในบางผลิตภัณฑ์ การซื้อกิจการของบริษัทต่างชาติในระดับ Global หรือการจับมือกันผลิตสินค้า เพื่อเสริมความแข็งแกร่งในการทำตลาด ซึ่งการปรับตัวทางธุรกิจนี้อาจมีผลต่อนโยบายการลงทุนในไทย เนื่องจากผู้ผลิตไทยส่วนใหญ่จะรับจ้างการผลิตจากบริษัทเจ้าของผลิตภัณฑ์ ความเสี่ยงจึงค่อนข้างสูงเมื่อไทยมิได้เป็นเจ้าของเทคโนโลยี

 

ปัจจัยภายในประเทศ

ต้นทุนการดำเนินธุรกิจปรับตัวสูงขึ้นผลกระทบต่อความสามารถในการแข่งขัน

ขณะที่ปัจจัยภายในประเทศที่อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ไทยต้องเผชิญ คือ การปรับขึ้นของต้นทุนการดำเนินธุรกิจ โดยนอกเหนือจากที่ผู้ประกอบการโดยเฉพาะกลุ่มที่โรงงานโดนน้ำท่วมจะมีต้นทุนในด้านของการฟื้นฟูโรงงานและค่าเบี้ยประกันภัยที่เพิ่มขึ้นแล้ว การปรับขึ้นค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำทั่วประเทศเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2555 ที่ผ่านมา ก็ส่งผลต่อการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการเช่นกัน ทั้งนี้อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ไทย มีการใช้แรงงานค่อนข้างเข้มข้น และการผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์เองก็การแข่งขันที่รุนแรง ที่ไม่เพียงแต่การแข่งขันเฉพาะในประเทศเท่านั้น แต่ยังเป็นการแข่งขันกับผู้ผลิตจากต่างประเทศที่มีการผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์เช่นเดียวกับไทย ซึ่งการปรับขึ้นของต้นทุนได้ส่งผลกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการไทย และผลต่อการตัดสินใจเข้ามาลงทุนของบริษัทผู้ผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ต่างชาติ

 

ความเสี่ยงจากภัยพิบัติธรรมชาติผลต่อความน่าสนใจในการลงทุน

เหตุการณ์น้ำท่วมที่ผ่านมา ยังสร้างความกังวลให้แก่นักลงทุนต่างชาติ  โดยอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์เป็นอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมค่อนข้างรุนแรง ซึ่งปัจจุบันบริษัทต่างชาติ ที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยส่วนใหญ่ยังคงรักษาฐานการผลิตในประไทย โดยแม้ว่ามีบางบริษัทได้ปิดโรงงานในไทยและย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศอื่น แต่ก็เป็นสัดส่วนที่น้อย อย่างไรก็ตาม หากในปีนี้โรงงานที่เคยถูกน้ำท่วมต้องมาเผชิญปัญหาเหมือนกับที่ผ่านมา ก็จะยิ่งบั่นทอนความเชื่อมั่นของนักลงทุน

 

บทสรุปและข้อเสนอแนะ

ทั้งนี้ การเติบโตของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ไทยในช่วงที่เหลือของปี 2555 นี้ ยังขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายประการ โดยที่สำคัญและเป็นปัจจัยที่ต้องระมัดระวัง ได้แก่ เศรษฐกิจยุโรปที่อาจเข้าสู่ภาวะถดถอยซ้ำซ้อน ท่ามกลางวิกฤตหนี้สาธารณะที่คาดว่าจะยืดเยื้อ และมีความเสี่ยงที่จะลุกลามส่งผลกระทบต่อไปยังประเทศอื่นๆ ซึ่งรวมถึงไทยเศรษฐกิจไทยเช่นกัน และประเด็นเรื่องการบริหารการจัดการน้ำ เพื่อป้องกันมิให้น้ำท่วมนิคมอุตสาหกรรมอย่างเช่นที่ผ่านมา ที่เป็นโจทย์สำคัญของรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

สำหรับประเด็นการเติบโตของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ของไทยในระยะยาวนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มีความเห็นว่า เมื่ออุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ไทย พึ่งพาการลงทุนของบริษัทอิเล็กทรอนิกส์จากต่างชาติ และการผลิตตามคำสั่งซื้อจากบริษัทเจ้าของผลิตภัณฑ์ ทำให้อุตสาหกรรมไทยยังคงเผชิญกับความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยี เนื่องจากผู้ประกอบการไทยส่วนใหญ่ไม่ได้เป็นเจ้าของเทคโนโลยี 

ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาถึงส่วนแบ่งการส่งออกของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ของไทยในตลาดโลกนั้น พบว่า การส่งออกกลุ่มสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ไทยมีส่วนแบ่งประมาณร้อยละ 1.7 ของมูลค่าการส่งออกอิเล็กทรอนิกส์ของโลก ซึ่งหากไทยต้องการเพิ่มส่วนแบ่งการส่งออกในตลาดโลก และเพื่อรักษาการเติบโตของอุตสาหกรรมที่ยั่งยืน คงต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ในการกำหนดนโยบาย ที่จะช่วยส่งเสริมและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการไทย อาทิ ผู้ผลิตในประเทศหรือผู้นำเข้ายังต้องแบกรับภาระภาษีนำเข้าวัตถุดิบและชิ้นส่วนอยู่อีกหลายรายการในอัตราร้อยละ 5-20 ทำให้ผู้ผลิตไทยมีต้นทุนสูงและไม่สามารถแข่งขันได้ โดยเฉพาะเมื่อไทยได้มีการทำสนธิสัญญาการค้าเสรีกับหลายประเทศๆ สินค้านำเข้าสำเร็จรูปหลายรายการไม่ต้องเสียภาษีนำเข้า ซึ่งสินค้าเหล่านี้จะเข้ามาแข่งกับสินค้าไทยในตลาด ทั้งนี้ภาครัฐคงจะต้องมีการปรับโครงสร้างภาษีให้เป็นระบบ โดยอาจเป็นการยกเว้นภาษี หรือมาตรการอื่นที่จะมีส่วนช่วยให้ผู้ประกอบการไทยสามารถแข่งขันกับคู่แข่งได้ และช่วยจูงใจให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาขยายฐานการผลิตเพิ่มขึ้น

นอกจากนี้ จากการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีที่มีอย่างต่อเนื่อง ภาครัฐอาจต้องปรับนโยบายเน้นการส่งเสริมการลงทุนให้ทันต่อสถานการณ์ โดยดึงกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่มีศักยภาพการเติบโตข้างหน้า และหลากหลายมากขึ้น แทนการกระจุกตัวเฉพาะผลิตภัณฑ์ใดผลิตภัณฑ์หนึ่ง เพื่อลดความเสี่ยงจากการเปลี่ยนทางธุรกิจในระยะข้างหน้า  อาทิ

กลุ่ม Electronic สำหรับรถยนต์   ทั้งนี้ไทยนับได้ว่าเป็นฐานการผลิตรถยนต์ที่สำคัญของโลก แต่ การผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์สำหรับรถยนต์ในไทยยังเป็นสัดส่วนที่น้อย และเป็นกลุ่มที่ยังมีโอกาสการเติบโตที่สูง โดยไทยได้ตั้งเป้าหมายที่จะผลิตรถยนต์ 2.5 ล้านคันในปี 2015 (2558) อย่างไรก็ดี คาดว่าในปี 2012 (2555) นี้ การผลิตรถยนต์น่าจะทำได้ถึง 2.2 ล้านคัน

กลุ่ม Medical Technology วิวัฒนาการทางการแพทย์ที่ก้าวล้ำ และเป็นกลุ่มที่ยังมีการเติบโตอย่างต่อเนื่องในอนาคต แต่การผลิตเครื่องมือทางการแพทย์ของไทยยังไม่กว้างขวาง ส่วนใหญ่จะเป็นการนำเข้า ขณะที่บริษัทต่างชาติเข้ามาลงทุนในการผลิตเครื่องมือการแพทย์ก็ยังมีสัดส่วนที่น้อย ซึ่งต่างจากประเทศสิงคโปร์ที่มีการโปรโมทการลงทุนอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ในกลุ่มนี้ค่อนข้างมาก โดยไทยเป็นหนึ่งในหลายๆ ประเทศที่มีความเจริญทางการแพทย์ และเป็นที่ที่คนไข้ชาวต่างชาติให้ความสนใจในการเดินทางมารักษา จึงเป็นโอกาสที่น่าจะดึงดูดการลงทุนในกลุ่มนี้เข้ามาในไทยมากขึ้น 

กลุ่ม High-End Consumer Electronic สำหรับผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ที่มีคุณค่าสูง เช่น เครื่องเล่นเกมส์ โทรศัพท์เคลื่อนที่สมาร์ทโฟน แท็บเล็ต และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ของเครื่องใช้ไฟฟ้า เช่น โทรทัศน์ระบบLED และ 3D และเครื่องเล่นบลูเรย์ เป็นต้น เพื่อเพิ่มมูลค่าเพิ่มให้กับอุตสาหกรรม

อย่างไรก็ดี การที่ไทยจะดึงดูดนักลงทุนต่างชาติในกลุ่มศักยภาพดังกล่าวให้มาตั้งฐานการผลิตในไทยนั้น นอกเหนือจากเรื่องกฎระเบียบที่เอื้อต่อการลงทุนแล้ว ความพร้อมของห่วงโซ่อุปทานในการผลิตสินค้าเหล่านี้ควรจะต้องมี เช่น การพัฒนาส่งเสริมแรงงานฝีมือ (Skilled Labor) โดยผ่านระบบการศึกษาที่ควรส่งเสริมหลักสูตรให้สอดคล้องกับวิวัฒนาการทางเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไป นอกจากนี้อาจต้องมีการส่งเสริมผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็กให้สามารถปรับกระบวนการผลิตรองรับกับกลุ่มสินค้าใหม่ๆ ได้ 

ขณะเดียวกันผู้ประกอบการไทยคงจะต้องมีการปรับตัวท่ามกลางธุรกิจที่มีการแข่งขันที่รุนแรงและมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว อาทิ มองหากลุ่มลูกค้าใหม่ๆ โดยเฉพาะในกลุ่มที่มีศักยภาพทางธุรกิจในอนาคต เช่น Tablet และ Smart Phone เป็นต้น การกระจายกลุ่มลูกค้าให้หลากหลาย และหลากผลิตภัณฑ์ เพื่อลดความเสี่ยงในการพึ่งพาลูกค้ารายใดรายหนึ่งมากเกินไป เป็นต้น