ฮา แรง หล่อเป๊ะ ผ่าสูตรปั้นดีเจ เอ-ไทม์ ยุคนี้ต้องซุปตาร์

พี่ฉอด สายทิพย์ มนตรีกุล ณ อยุธยา เผยสูตรปั้น ดีเจเสียงใส เรื่องเพลงไม่รู้ไม่เป็นไร ใช้ฟอร์แมตสเตชั่นช่วย ยุคนี้ต้องออร่ามาก่อน แสดงได้ เอ็นเทอร์เทนเนอร์ดี คาแร็กเตอร์ชัด “ฮา แรง หล่อเป๊ะ” รับทิศทางใหม่ หารายได้จากธุรกิจทีวี ซิทคอม โชว์บิส คอนเสิร์ต ชดเชยธุรกิจวิทยุที่เหลือ 3 คลื่น

รายการวิทยุนอกจากให้ความบันเทิงผ่านเสียงแล้ว หลายปีที่ผ่านมา การจัดกิจกรรมอีเวนต์ได้กลายเป็นช่องทางหารายได้ที่ทำให้รายการวิทยุไม่ได้ส่งผ่านคอนเทนต์ผ่านหน้าปัดวิทยุเท่านั้น เพราะคลื่นวิทยุต้องพาผู้ฟังไปทำกิจกรรมเอาต์ดอร์ เพื่อให้ตอบโจทย์ผู้สนับสนุนรายการ ทำให้มีกิจกรรมกับกลุ่มเป้าหมายมากกว่าแค่สปอตโฆษณา ผู้ฟังเองก็ได้ประสบการณ์และใกล้ชิดกับดีเจมากขึ้น คลื่นวิทยุก็ได้รายได้เพิ่มจากการจัดกิจกรรมเหล่านี้ โดยเรียกเก็บกับเจ้าของแบรนด์ และทำให้มีเกมชิงรางวัลในรายการ ด้วยเหตุนี้เอง “ดีเจ” ซึ่งเป็นคนเบื้องหน้าสำหรับมีเดียประเภทวิทยุ จึงไม่ได้ขายแค่ “เสียง” อีกต่อไป เพราะต้องเอาตัวตนออกไปเอนเตอร์เทนผู้บริโภคด้วย

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเครือเอ-ไทม์ ภายในสังกัดใหญ่อย่างแกรมมี่ ที่มีสรรพกำลังและนโยบายเรื่องดิจิตอล ทีวี และโทรทัศน์ดาวเทียมอย่างเข้มข้น ทำให้ทรัพยากรของแกรมมี่ทั้งหมดต้องตอบโจทย์เรื่องทีวีที่ให้ทั้งภาพและเสียงได้ อีกสาเหตุหนึ่งก็คือ ปีนี้เอ-ไทม์จะเหลือคลื่นวิทยุเพียง 3 คลื่น โดยล่าสุดเพิ่งคืนเวลาคลื่น Hot Wave คลื่นเพลงระดับตำนานของวงการเพลงไทย ไป เพราะพฤติกรรมผู้บริโภคที่ฟังฮอตเวฟที่บริโภคมีเดียประเภทอื่นมากกว่าวิทยุ ปีนี้เอ-ไทม์เลยต้องหารายได้จากทีวีเข้ามาชดเชย จากเหตุผลทั้งหมดนี้ดีเจของเอ-ไทม์จึงต้องถูกปั้นให้กลายเป็น “ดีเจซุป’ตาร์”

ดีเจ = พรีเซ็นเตอร์ของคลื่น
ปัจจุบันรายได้ของเอ-ไทม์ทั้งหมด 1,200 ล้านบาท แบ่งเป็น ธุรกิจวิทยุ 70% โชว์บิส 15% โทรทัศน์ 15% ท่องเที่ยว 5% ในภาพรวมอัตราการเติบโตอยู่ที่ 10% แต่ถ้าหากเจาะลึกลงไปไลน์ธุรกิจที่เติบโตดีที่สุด คือ โทรทัศน์ เป็นผลมาจากการต่อยอดเอาคอนเทนต์เรื่องเล่าเกี่ยวกับความรัก ในรายการ คลับฟรายเดย์ มาสร้างเป็นซีรีส์ฉายทาง Green Channel ทำให้รายได้เพิ่มมากขึ้น ทำให้ทิศทางของเอ-ไทม์ในปีนี้ส่วนที่เกี่ยวกับทีวีจะมีคลับฟรายเดย์ เดอะ ซีรีส์ ซีซั่น 2

นอกจากนี้เพิ่มช่วงข่าวบันเทิงที่จัดโดย EFM on TV จากเดิมที่เมาท์เรื่องดารา วงการบันเทิงทางวิทยุเท่านั้น ก็มีภาพให้เห็นกันทางทีวีด้วย และเพิ่ม Loyalty ของคนฟังด้วยซิทคอม เรื่อง “Love ออนแอร์” ใช้ดีเจในเครือเอ-ไทม์เป็นผู้นำแสดงทั้งหมด เล่าเรื่องเบื้องหลังรายการวิทยุและการทำงานในออฟฟิศ ซึ่งแผนการเกี่ยวกับทีวีนี้สะท้อนให้เห็นว่าต้องใช้ทรัพยการดีเจมาเป็นแม่เหล็กกว่าที่เคย

สายทิพย์ มนตรีกุล ณ อยุธยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (สายธุรกิจสื่อ) บริษัท จีเอ็มเอ็มแกรมมี่ จำกัด (มหาชน) บอกว่า จะต้องเลือกดีเจด้วยตัวเอง “การคัดเลือกจะใช้ Gut Feeling มันคงไม่เหมือนตำแหน่งอื่นๆ อย่างพนักงานพิมพ์ดีดที่พิมพ์ได้เท่านี้ ก็แปลว่าผ่านการคัดเลือก อาจจะตอบยากว่าเลือกอย่างไร แต่พี่จะดูจากการที่เขามีคาแร็กเตอร์บางอย่าง แม้ว่าจะเริ่มจากการที่ไม่เป็นเลย ของพวกนี้มันฝึกกันได้ เมื่อก่อนจะต้องพูดจาชัด มีคุณสมบัติพื้นฐานอยู่ แต่เดี๋ยวนี้คนที่ไม่มีคุณสมบัติเหล่านั้นแต่ก็ประสบความสำเร็จได้ก็มี มันเป็นอาชีพที่ไม่มีสูตรสำเร็จในการคัดเลือก”

“สมัยพี่เป็นดีเจ ก็เป็นดีเจอย่างเดียว แต่พอมาถึงวันนี้ดีเจเขาเป็นมากกว่านั้นแล้ว แล้วดีเจเอ-ไทม์เป็นกลุ่มคนที่มีความสามารถหลากหลาย แต่ละคนก็ไปประสบความสำเร็จในแนวทางต่างกัน ปีนี้ก็น่าจะเป็นปีที่เรารวบรวมดีเจของเรามาทำซิทคอม ก็คงเป็น Win-Win Situation ให้กลับมาเพิ่มมูลค่าให้ตัวเองและให้เอ-ไทม์ด้วย”

เรียกได้ว่าเดี๋ยวนี้ “ออร่า” สำคัญมากกว่าแค่เสียงพูด โดยออร่าที่พูดถึงนี้ไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นคนสวย-หล่อขั้นเทพ เท่านั้น แต่ต้องมีบุคลิกชัดเจน ยกตัวอย่างเช่น ดีเจเชาเชา, มดดำ-คชาภา, เผือก-พงศธร, บุ๊คโกะ, ต้นหอม กลุ่มดีเจเหล่านี้ก็อาศัยการพูดจาฉะฉาน แรง สนุกสนาน เล่นกับผู้ฟังเหมือนเพื่อน ขณะเดียวกันเอ-ไทม์ก็มีดีเจที่หล่อระดับพระเอกอย่าง ดีเจเป้-ทวีฤทธิ์, แตงโม-พงษ์พิสุทธิ์ ผิวอ่อน เอาไว้จับกลุ่มเป้าหมายอีกแบบ

“วิทยุ มีดีเจเป็นพรีเซ็นเตอร์ คนฟังเขาก็ติดดีเจเป็นธรรมชาติอยู่แล้ว แต่คำว่าติดนี่น้อยลงเยอะ สมัยก่อนคนฟังยึดติดดีเจยิ่งกว่านี้อีก ดีเจลาออกถึงขนาดวางพวงหรีดหน้าสถานีกันเลยทีเดียว แต่เดี๋ยวนี้วงการวิทยุเปลี่ยนไป กลายเป็นระบบที่เรียกว่า Format Station ความติดดีเจน้อยลง แต่หันมาติดคลื่นแทน เมื่อใดก็ตามที่เขาเปิดคลื่นนี้ เขาต้องได้ฟังลักษณะเดียวกัน เพลงเหมือนกัน คุยเรื่องเดียวกัน”

จากระบบนี้ทำให้เอ-ไทม์ในฐานะเจ้าของคลื่น สามารถบริหารดีเจในฐานะ Asset หนึ่งของค่าย ถึงแม้ว่าดีเจจะลาออกไปก็ไม่มีผลกระทบมากนัก ขณะเดียวกันก็เท่ากับเป็นการปูคาแร็กเตอร์ของดีเจคนนั้นๆ ให้มีทิศทางตามโพสิชันนิ่งทางการตลาดของคลื่น แล้วให้ดีเจใส่ความเป็นตัวตนเข้าไปในพื้นฐานของคลื่นนั้นๆ

ปั้นดีเจ ปั้นให้พอดี อย่าเว่อร์
เมื่อเลือกดีเจเข้าสังกัดได้แล้ว สายทิพย์ มนตรีกุล ณ อยุธยา ก็จะเลือกให้ดีเจไปอยู่ตามคลื่นต่างๆ ตามความเหมาะสม มากกว่าดัดแปลงคาแร็กเตอร์ของดีเจ ส่วนเรื่องระยะเวลาการฝึกก็แล้วแต่พื้นฐานของดีเจแต่ละคน โดยดีเจน้องใหม่จะต้องเริ่มจากช่วงเวลาดึกๆ ที่มีคนฟังไม่มากนักก่อน เพื่อทดลองว่าผู้ฟังมีฟีดแบ็กอย่างไร

“การสร้างดีเจจะต่างจากการสร้างศิลปินนักร้อง การสร้างนักร้องจะถูกสร้างและปรุงแต่งมากกว่า เพราะศิลปินนักร้องจะเจอคนเป็นช็อตๆ ออกอัลบั้มทีก็ขึ้นไปร้องเพลงบนเวที แต่ถ้าเป็นดีเจเราต้องยอมให้เขาเป็นตัวของตัวเองเป็นส่วนใหญ่ เพราะดีเจจะลงมาอยู่ข้างล่างพบปะผู้คนมากกว่า เขาต้องมาจัดรายการวันละหลายชั่วโมง ต้องไปร่วมทริป ดังนั้นการจะเอาเขาไปปรุงแต่งเยอะไมได้ คนเรามันดัดจริตไม่ได้นาน ดีเจต้องมีตัวตนสูงมากๆ เนื่องจากธรรมชาติของรายการวิทยุด้วยที่ไม่มีสคริปต์ ไม่มีพรี-โพสต์ โปรดักชั่น ทุกอย่างมันสดหมด”

“แต่ละคลื่นก็จะมีคาแร็กเตอร์ต่างกันไป อย่าง EFM ที่ต้องมีดีเจเยอะ เพราะว่าคนฟังเขาต้องการฟังคนเยอะๆ พูดจาสนุก เมาท์กัน อยากมีกิจกรรมทำนั่นทำนี่ตลอด ที่เห็นอยู่นี่เวลาออกทริป ออกอีเวนต์ครั้งหนึ่งยังไม่ค่อยจะพอเลย ส่วน Green Wave ดีเจก็ต้องมีความรู้พอสมควร จะรู้น้อยกว่าคนฟังไม่ได้ และกรีนเวฟก็มีสตอรี่พอสมควร ที่ดีเจต้องเข้าใจ”

ตอนนี้ เอ-ไทม์มีคลื่นทั้งหมด 3 คลื่น โดยทั้ง 3 คลื่นจะวาง Positioning เพื่อจับกลุ่มเป้าหมายต่างกันไป
1.Chill FM กลุ่มคนฟังเป็นหนุ่มสาวออฟฟิศ เน้นเรื่องกิน เที่ยว ช้อป
2.EFM เรื่องบันเทิง
3.Green Wave เน้นเพลงเพราะ เนื้อหาเกี่ยวกับจิตใจและสิ่งแวดล้อม

ดีเจเสียงใส เรื่องเพลง ไม่รู้ไม่เป็นไร
การจัดรายการวิทยุของเอ-ไทม์ใช้ระบบ RCS ช่วยในการเรียงเพลง โดยระบบคอมพิวเตอร์ดังกล่าวจะคัดเลือกเพลงตามจังหวะ ท่วงทำนอง เพื่อให้คนฟังเกิดความรู้สึกต่อเนื่อง ฟังได้เรื่อยๆ ไม่ซ้ำซาก ดังนั้นดีเจจะมีส่วนในการเลือกเพลงน้อยกว่าดีเจสมัยก่อนที่ต้องเปิดแผ่นโดยอาศัยความชำนาญของตัวเอง บวกกับคอนเทนต์ของเอ-ไทม์ ในบางคลื่นก็ถูกวางโพสิชั่นเอาไว้แล้วว่า เน้นเนื้อหาเรื่องอื่นมากกว่าแค่เพลง

สายทิพย์ เล่าว่า “ดีเจปัจจุบันจัดรายการอะไรก็ต้องมีความรู้เรื่องนั้น จัดรายการเน้นเพลงก็ต้องรู้เรื่องเพลง แต่อย่าง EFM ก็อาจจะต้องมีความรู้เรื่องวงการบันเทิงเป็นหลัก เหตุผลที่เอาระบบนี้มาใช้เพราะต้องการใช้คนฟังสมูทที่สุด ไม่ใช่เพราะเรื่องการโปรโมตเพลง การที่ต้องเปิดเยอะๆ แล้วเพลงจะขายดีมันเป็นธุรกิจโบราณ เพราะทุกวันนี้พิสูจน์มาแล้วว่าเพลงที่เปิดเยอะๆ ก็ใช่ว่าจะดัง บางทีเปิดเยอะ คนฟังรุ่นใหม่ก็อาจจะคิดว่าฟังเยอะแล้วไม่ต้องซื้อก็ได้ ทุกวันนี้รูปแบบโปรโมตเพลงมันก็เปลี่ยนไปหมดแล้ว”

ดีเจยุคใหม่ แสดงได้ เล่นคอนเสิร์ตได้
นอกเหนือจากการบุกธุรกิจทีวีมากขึ้น โดยขนเหล่าดีเจมาโชว์หน้า ทิศทางตลาดโชว์บิส ของเอ-ไทม์ในปีนี้ก็มีแผนจัดจัดคอนเสิร์ต DJs On Stage 2 เอาดีเจในค่ายมาขึ้นเวที ซึ่งปีที่แล้วทำแล้วขายบัตรได้หมด ปีนี้ก็เลยมีแผนว่าจะขนดีเจขึ้นเวทีอีกครั้ง ส่วนคอนเสิร์ตอื่นๆ ก็จะเน้นศิลปินระดับตำนานที่มีแฟนคลับ Gen X และ Gen Y เป็นหลัก อย่าง มอส-ปฏิภาณ, ทาทา ยัง, นัท มีเรีย, เจ-เจตริน และ เจนิเฟอร์ คิ้ม

“ศิลปินยุคใหม่ที่มีถูกฝึกมาให้จัดคอนเสิร์ตใหญ่ของตัวเองได้มีน้อย ศิลปินสมัยก่อนถูกเคี่ยวกรำมาอย่างหนัก อัลบั้มหนึ่งโปรโมตทั้งปี เขาเลยถูกฝึกมาเป็นอย่างดี ศิลปินสมัยนี้ดังเพลงเดียว คนดูยังไม่รู้จักหน้าเลย อีกอย่างความบันเทิงของผู้บริโภคกลุ่มนี้ก็มีไม่มากเท่าเด็กรุ่นใหม่ ดูอย่างคุณอาชรินทร์ จัดคอนเสิร์ตสิ จัดกี่ครั้งก็ขายบัตรได้หมดตลอด ที่เหลือก็ต้องเป็นโจทย์ของเราว่าทำยังไงให้คนไม่เบื่อ ไม่รู้สึกว่าซ้ำ” ลักษณะคอนเสิร์ตที่จะถูกจัดขึ้นในปีนี้จึงรวมเอาศิลปินที่มีเรื่องราวใกล้เคียงกันรวมกันขึ้นคอนเสิร์ตขายเป็นแพ็ก ทั้งเรื่องยุคสมัย แนวเพลง หรือเหล่าดีเจก็รวมกันมาทั้งค่าย

ส่วนการงานอื่นๆ ของดีเจในค่าย ถ้าหากว่ารับงานเองรายได้ก็ถือว่าเป็นสิทธิ์ของดีเจ 100% แต่ถ้าหากว่ารับงานโดยอาศัยกิจกรรมของเอ-ไทม์ก็จะมีส่วนที่ต้องหักค่าใช้จ่าย โดยการรับงานนอกนั้น พี่ฉอดมีกฎเหล็กอยู่ว่าห้ามทำให้งานประจำเสีย ต้องมาตอกบัตรเตรียมตัวล่วงหน้าก่อนจัดรายการ 15-30 นาทีก่อนเข้าช่วงเวลาของตัวเอง ส่วนเรื่องที่มีดีเจลาออกไปบ้างก็ถือว่าเป็นเรื่องปกติของการทำงาน

ติดตามอ่าน ผ่าสูตร ปั้นดีเจ เอ-ไทม์ ยุคนี้ต้องซุปตาร์ ได้ที่ POSITIONING on iPad และ www.positioningmag.com

หลังไมค์กับดีเจพี่ฉอด
• เริ่มจัดรายการวิทยุเมื่อปี 2520 กว่าๆ แจ้งเกิดจากรายการ “ผิวปากตามเพลง”
• A-Time Media ก่อตั้งในปี 2532 ในตอนนั้นมีพนักงาน 3 คน ปัจจุบัน 300 คน ดีเจ 40 คน
• สายทิพย์ มนตรีกุล ณ อยุธยา ยังทำหน้าที่ดีเจอยู่อีก 2 รายการ คือ “คลับฟรายเดย์” และ “คืนพิเศษ คนพิเศษ” เหตุผลที่ยังจัดอยู่ดีเจพี่ฉอดกล่าวว่า “เพราะทีมงานวางมาว่าต้องเป็นพี่ฉอดเท่านั้น และคิดว่าใช้เวลาไม่มากแค่วันศุกร์ 2 ชั่วโมง ไม่ใช่เพราะพี่ยังอยากจัดรายการในฐานะดีเจอยู่หรอก การจัดรายการถ้าทำได้ไม่ดีก็เกรงใจคนฟัง การเป็นดีเจไม่ใช่แค่ว่าถึงเวลาก็มานั่งจัด ต้องให้เวลามานั่งอ่านข้อมูลก่อน”
• 24 ชั่วโมงของดีเจพี่ฉอด นอนวัละ 3-4 ชั่วโมงเท่านั้น ที่เหลือทำงาน
• เวลาเที่ยว คือเวลาที่เดินทางไปกับเอ-ไทม์ ทราเวิลเลอร์ ที่ต้องดูแลคุยโปรเจกต์กับลูกค้าไปด้วย
• ใช้โซเชี่ยลมีเดีย 2 อย่าง คือ Instagram กับ Twitter เพราะคิดว่าเป็นช่องทางสื่อสารกับผู้ฟังได้ใกล้ชิดที่สุด พยายามจะตอบทวิตเตอร์ในเวลาว่าง
• เครื่องตอกบัตรเอ-ไทม์ วางอยู่หน้าห้องทำงานพี่ฉอด

เครือข่ายธุรกิจ A-Time Media
ธุรกิจวิทยุ : 3 คลื่น 1.ชิล เอฟเอ็ม จับกลุ่มคนทำงานออฟฟิศในตัวเมือง 2. 94 อีเอฟเอ็ม เน้นเรื่องบันเทิง ดารา 3. กรีนเวฟ 106.5 รายได้หลักของ A-Time ที่เวลาขายโฆษณาเต็มตลอดปี
ธุรกิจโชว์บิส : ผลิตคอนเสิร์ตในปีนี้มีแผนจัด 9 คอนเสิร์ต
ค่าย GMM A : ค่ายเพลงที่ตอนนี้มีศิลปินอยู่ 2 คน ว่าน-ธนกฤต, อ๊อฟ-ปองศักดิ์
ธุรกิจทีวี : กรีน แชนแนล ปี 2013 เพิ่มผัง EFM on TV เอาข่าวบันเทิงมาเมาท์หน้าจอทีวีกับซิทคอม Love ออนแอร์
เอ-ไทม์ ทราเวิลเลอร์ : ไฮไลต์อยู่ที่ทัวร์พม่า กับเอ็กซ์คลูซีฟทริป ที่จัดขึ้นตามความต้องการของสปอนเซอร์