โลก "มีเดีย" ของเฮียฮ้อ

ตามติดชีวิตการทำงานกว่า 30 ปี ของสุรชัย เชษฐ์โชติศักดิ์ หรอ “เฮียฮ้อ” แม่ทัพใหญ่ บริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน) ที่กำลังกดปุ่มนำพาอาร์เอสมุ่งเข้าสู่ธุรกิจ “มีเดีย” อย่างเต็มตัว หลงจากลิ้มรสความสำเร็จจากทีวีดาวเทียม และรบกับโอกาสใหม่ที่กำลังมาถึง 30 กว่าปีที่อยู่ในธุรกิจบันเทิง

เฮียฮ้อ คร่ำหวอดอยู่ในธุรกิจบันเทิงมา 30 ปี ผ่านร้อนผ่านหนาวมาทุกรูปแบบ เคยฟันฝ่ากับมรสุมจากเทคโนโลยี ดิจิตอลเขย่าขวัญวงการเพลงไปทั่วโลก แต่หลังจากเฮียฮ้อลงมือผ่าตัดองค์กรจากที่เคยอยู่ในภาวะขาดทุนติดต่อกัน 3 ปี ให้กลับมายืนหยัดได้อีกครั้ง ในปีนี้ เฮียฮ้อ ประกาศนำอาร์เอสเข้าสู่ธุรกิจ “มีเดีย” ที่เฮียฮ้อบอกว่าใฝ่ฝันและรอคอยมานาน

ถ้าจำกันได้ อาร์เอสเคยเป็นผู้ผลิตรายการทีวีมาแล้วเมื่อ 10 กว่าปีที่แล้ว แต่เฮียฮ้อตัดสินใจหยุดไปเพราะไหนจะกำไรน้อย และยังต้องเจอกับระบบผูกขาดของสถานีโทรทัศน์ ทำให้คิดและทำได้ไม่เต็มที่

จน 3 ปีที่แล้ว เมื่ออาร์เอสก้าวเข้าสู่ธุรกิจโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม ทำรายได้เติบโตเป็นเท่าตัวทุกปี ทยอยเปิดช่องใหม่เพิ่มขึ้น จนเวลานี้มี 5 ช่อง ส่วนช่องที่ทำรายได้สูงสุด สบายดีทีวีและช่อง 8 อีกสองช่องเป็น ยูชาแนล เป็นช่องเพลงอันดับ 1 ของอาร์เอส สตาร์แมกซ์ ช่องใหม่ที่ปรับเปลี่ยน เน้นวาไรตี้ ดารา

ส่วนช่องกีฬา “อาร์เอสสปอร์ต ลาลีกา” ซึ่งได้ลิขสิทธิ์ฟุตบอลลาลีกาสเปน เปลี่ยนชื่อเป็น “ซันชาแนล” โดยปรับคอนเซ็ปต์ใหม่ใส่วาไรตี้บันเทิง เข้าไปในรายการ เพื่อให้เนื้อหามีความหลากหลาย จะได้ขยายกลุ่มคนดูกว้างขึ้น ไม่จำกัดเฉพาะคอกีฬาอย่างเดียว

เมื่อธุรกิจทีวีดาวเทียมที่เคยหมายมั่นปั้นมือไปได้ฉลุยได้การตอบรับทั้งคนดู เอเยนซี่โฆษณาและเจ้าของสินค้ามีรายได้เติบโตซึ่งเฮียฮ้อเชื่อว่ารายได้จะเติบโตเป็นเท่าตัวไปอีก 3 ปี ประกอบกับ กสทช.ได้เข้ามาปรับกฎกติกาธุรกิจสื่อ เปิดโอกาสให้กับผู้เล่นใหม่ๆ ได้เขามาทำ โดยเฉพาะการเกิด “ดิจิตอลทีวี”

ถึงเวลาที่อาร์เอสจะก้าวสู่ยุค enter the new era สู่การเป็นเจ้าของสถานีทีวีอย่างเต็มตัว ควบคู่ไปกับธุรกิจบันเทิงและคอนเทนต์

เฮียฮ้อบอกว่า ในส่วนของทีวีดาวเทียมใช้เงินลงทุน 300-400 ล้านบาทในปีนี้สร้างและพัฒนาคอนเทนต์ ช่องที่ต้องใช้เงินลงทุนมากที่สุด คือ ช่อง 8 ซึ่งเป็นช่องละครที่มาแรงและถูกจับตามองมากที่สุด ปีนี้จะผลิต 10 เรื่อง ใช้เงินลงทุนเรื่องละ 20 ล้านบาท

ดิจิตอลทีวี โอกาสแห่งความท้าทาย

นอกจากนี้ การเข้าสู่ดิจิตอลทีวีที่ กสทช. กำลังให้ใบอนุญาตและเป็นจุดเปลี่ยนสำหรับทีวีของไทย สำหรับเฮียฮ้อดูจะมั่นใจไม่น้อยกับโอกาสครั้งนี้ที่มองว่า ไม่ยากที่จะได้ใบอนุญาต แต่จะทำอย่างไรให้ชนะซึ่งโอกาสน่าจะเป็นของผู้ที่เคยทำโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมสำเร็จมาแล้ว

“ดิจิตอลทีวี เป็นโอกาสที่มาพร้อมกับความท้าทาย เพราะการแข่งขันจะดุเดือดเลือดพล่าน มีทั้งรายเก่า ที่เป็นเจ้าของสถานีโทรทัศน์ 4-5 รายเดิม และรายใหม่ที่เข้ามา สุดท้ายแล้วผู้บริโภคเป็นผู้เลือก เพราะฉะนั้นไม่ใช่ดีอย่างเดียว แต่ต้องครบเครื่อง ตามผู้บริโภคให้ทัน ต้องชัดเจนว่า ลูกค้าเป็นใคร อยู่ที่ไหน มีไลฟ์สไตล์อย่างไร ตรงนี้ห้ามหลงเลย”

บทเรียนจากการขาดทุน

ถึงปีนี้จะเป็นอีกจุดเปลี่ยนของอาร์เอสในการเข้าสู่ธุรกิจมีเดีย ซึ่งแตกต่างจาก “จุดเปลี่ยน” ที่อาร์เอสเคยประสบมาในอดีต โดยเฉพาะจากมรสุมดิจิตอล ปี 2006 ชนิดที่เป็นหนังคนละม้วน ทุกครั้งที่คิดย้อนกลับไป เหตุการณ์ครั้งนั้นถือเป็นช่วงที่เหนื่อยและหนักที่สุดในชีวิตของเขา

“ตอนนั้นอาร์เอสขาดทุนไปถึง 3 ปี ส่วนรายได้จากดิจิตอลยังไม่เข้า หนักกว่าที่คาดไว้มาก เวลานั้นค่ายเพลงทั่วโลกเป๋ไปตามๆ กัน อาร์เอสต้องปรับองค์กรอย่างสุดขั้ว ให้รับกับดิจิตอล”

ครั้งนั้นเฮียฮ้อต้องผ่าตัดองค์กร ตั้งแต่ขั้นตอนความซับซ้อนในการทำงาน ทำให้การตัดสินใจเร็วขึ้น เปลี่ยนให้พนักงานมาใช้คอมพิวเตอร์ทั้งองค์กร รวมถึงถ่ายเลือดใหม่จากทีมงานส่วยใหญ่เป็นคนด้านโปรดักชั่น ก็หันมารับคนด้านการตลาดมากขึ้น สร้างให้เกิดมุมมองใหม่เรื่องการทำรายได้

“พอเราปรับเปลี่ยนเข้าสู่ยุคดิจิตอลได้ก็สบายดีกว่าในอดีตเสียอีก กลายเป็นว่ากำไรสูงกว่าเพราะไม่ต้องผลิตแผ่น ไม่ต้องผ่านยี่ปั๊ว คนฟังชอบเพลงไหนก็จ่ายเงินโหลดไปฟัง ผมใช้คำว่าขึ้นฟ้า ทำเพลงเสร็จเข้าเซิร์ฟเวอร์”

ที่สำคัญการปรับเปลี่ยนในครั้งนั้นนอกจากจะช่วยพลิกสถานการณ์ก้าวสู่โลกดิจิตอล ทำกำไรสูงขึ้น แต่ไม่ได้เติบโตมา 3 ปีแล้ว แต่ทำให้อาร์เอสพร้อมที่จะก้าวไปสู่การเป็นธุรกิจสื่ออย่างเต็มตัว

คนฟังเพลงไม่เคยเปลี่ยน

ส่วนธุรกิจเพลง ในมุมมองของ “เฮียฮ้อ” ที่เคยปั้นนักร้องดังมาหลายรุ่น ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน เฮียฮ้อให้แง่คิดอย่างน่าสนใจ และทุกวันนี้ไม่ว่างานจะยุ่งแค่ไหนก็ตาม แต่สิ่งหนึ่งที่เฮียฮ้อยังต้องลงมือทำมาตลอด 30 ปีจนทุกวันนี้ คือ จะเคาะเลือกศิลปินและเลือกเพลงที่วางขายทุกครั้ง

เฮียฮ้อมองว่าเทคโนโลยีจะสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับวงการมากมาย แต่คนฟังเพลงสำหรับเฮียฮ้อแล้วไม่เคยเปลี่ยน ไม่ว่าจะเป็นวัยรุ่นยุคไหน คัมภีร์ที่อาร์เอสใช้ในการทำเพลงให้วัยรุ่นฟังได้ทุกยุคสมัย คือ เพลงต้องฟังง่ายไม่ซับซ้อน

เฮียฮ้อยืนยัน เพลงจะดังได้ไม่เกี่ยวกับเงิน แต่จะโดนใจคนฟังหรือไม่ต้องอยู่ที่ประสบการณ์ความเข้าใจ และฝีมือคนฟัง

“ผมไม่มีความรู้ดนตรี อาศัยฟังจากความรู้สึกแวบแรกที่ฟังท่อนแรกแล้วต้องใช่เลย แต่ถ้าต้องฟังไปจนจบ แล้วมานั่งคิดว่าจะเพราะมั้ยก็ไม่ใช่แล้ว เพราะคนฟังเพลงหรือดูหนังใช้ความรู้สึกเป็นตัวตั้ง ดังนั้นความรู้สึกแวบแรกจึงสำคัญที่สุด ผนเคยเทียบให้ลูกน้องฟังก็เหมือนผู้หญิงสวย ถ้าเดินมาแล้วผู้ชายทุกคนหันไปมองก็ใช่เลย แต่ถ้าบอกเฮียดูนานๆ แบบนี้ไม่ใช่แล้ว”

ฟังเพลงดูหนังคืองาน

เชื่อหรือไม่ว่าเจ้าพ่อบันเทิงอย่าง “เฮียฮ้อ” ไม่เคยฟังเพลงในรถหรือนั่งดูละครอย่างคนทั่วไป ความสุขเดียวของเฮียฮ้อ คือ การดูฟุตบอล เป็นความสุขที่สุด นอกเหนือจากนั้นไม่ว่าหนัง ละครหรือฟังเพลงจะดูและฟังเพื่อ “ทำงาน” ทั้งสิ้น

“ผมเข้าโรงหนังอย่างเก่งก็ปีละครั้ง ไม่เคยดูหนัง ดูทีวีแล้วสนุกเลย ดูแล้วจะคิดโน้นคิดนี่ เอามาใช้กับงาน เหมือนฟังเพลง ถ้าขึ้นรถแล้วจะไม่เคยเปิดเพลงในรถเลย ส่วนใหญ่อ่านหนังสือหรือนั่งคิด ถ้าต้องฟังเพลงก็เพื่อทำงาน หนังก็เหมือนกัน ผมไม่เคยไปดูงานต่างประเทศ จะใช้การสังเกตจกสิ่งที่เราเห็นทุกวัน เวลาดูทีวีผมจะรู้เลยว่า อันนี้น่าสนใจนำมาปรับใช้กับช่องเราได้ แต่ลางคนก็ดูไม่เห็น”

สนุกกับการคิด

ด้วยความเป็นคนช่างสังเกต ช่างคิด คิดลึกบ่อยและเร็ว ใกล้ๆ ตัวเฮียฮ้อต้องมีเศษกระดาษและปากกาข้างกายเสมอ ไว้คอยบันทึกไอเดียใหม่ๆ เพื่อกันลืม ทั้งโต๊ะกินข้าว หน้าดูทีวี หัวเตียงนอน อย่าได้แปลกใจที่บางโปรเจกต์ที่ได้ไอเดียมาจากช่วงลุกเข้าห้องน้ำตอนตี 3 ก็ยังเคยมาแล้ว

แต่เวลานี้ไม่ต้องแปะกระดาษอีกแล้ว ไม่ใช่ว่าเลิกคิด แต่เฮียฮ้อหันมาพกซัมซุงแกแล็คซี่ โน๊ต 2 ที่ลูกชายแนะนำมาใช้จดโน๊ตแทน

“ไม่ใช่ว่าผมไฮเทคอะไรหรอก แต่ลูกเห็นแล้วเลยแนะนำให้ใช้ โซเซี่ยลมีเดียผมก็เล่นทวิตเตอร์อย่างเดียว” เฮียฮ้อยืยยัน

ถึงจะไม่ไฮเทค แต่เฮียฮ้อกำลังนำพาอาร์เอสก้าวสู่ยุคของสื่อดิจิตอลทีวีที่ได้ชื่อว่าทันสมัยที่สุดในเวลานี้

ธุรกิจในมืออาร์เอส

วิทยุ 3 คลื่น คูล 93, สบายดีเรดิโอ เอฟเอ็ม 88.5 และ คูลเซลเซียส 91.5
โทรทัศน์ผ่านดาวเทียม 5 ช่อง สบายดีทีวี, ช่อง 8, ช่องยูชาแนล, ช่องสตาร์แม็กซ์และช่องซันชาแนล

รายได้อาร์เอส 2556
ตั้งเป้า 4,000 ล้านบาท โต 40%
สัดส่วนมาจากธุรกิจมีเดีย 50%
ธุรกิจเพลง 20%
ธุรกิจโชว์บิช 20%
ธุรกิจอื่นๆ 10%