แชร์กระจาย “เจเดอะแร็บบิท” ขวัญใจสาวออฟฟิศ เดือนเดียวแสนกว่าไลค์

ด้วยจำนวนยอดกดไลค์ 165,278 คน และ Talk about this ที่มีอยู่ถึง 398,828 คือสถิติล่าสุดในบ่ายวันที่ 4 มิถุนายน ของเฟซบุ๊ก แฟนเพจ ที่ใช้ชื่อว่า “jaytherabbitofficial” เป็นสถิติที่ไม่ธรรมดาเลยสำหรับเฟซบุ๊กที่มีสัญลักษณ์ การ์ตูนกระต่าย ที่มาพร้อมกับข้อความจิกๆ กัดๆ ปนฮา เข้ากับสถานการณ์ในปัจจุบัน เปิดมาได้แค่เดือนกว่าๆ ก็ขึ้นแท่นเป็นเฟซบุ๊กขวัญใจสาวออฟฟิศ กดไลค์ แชร์ เมนต์กระจายได้ขนาดนี้

แฟนเพจที่มีการ์ตูน “กระต่าย” น่ารักๆ ลายเส้นง่ายๆ พร้อมกับข้อความสั้นแนวประชดประชัน เสียดสี ปนฮา “ผู้หญิงนะคะ ไม่ใช่ PIZZA เลือกหน้ากันอยู่ได้” หรืออย่างช่วงนี้ที่ไทยแลนด์ก็อตทาเลนต์กำลังเป็นกระแส เพจนี้ก็มาด้วยข้อความ “พอดีที่บ้านไม่เคร่งเรื่องมายาท เน้นเรื่องคุณธรรมกะความจำเป็นมากกว่า”

หรือ “มั่นใจสาวไทยมัดผม เพราะตื่นมาสระผมไม่ทันในวันจันทร์นี้” “รู้ตัวว่า ใจไม่ง่ายเท่าร่างกาย” พร้อมกับการ์ตูนกระต่ายน่ารักๆ ไปโดนสาวออฟฟิศ จนต้องกดไลค์ เมนต์ และแชร์กันกระจาย กลายเป็นหนึ่งในเฟซบุ๊กที่กำลังมาแรงที่สุดในชั่วโมงนี้

เฟซบุ๊ก แฟนเพจนี้ เริ่มต้นมาจากชอบความส่วนตัวของ “ณรรษศรัณย์ ดีประเสริฐ” ที่ชื่นชอบวาดภาพกระต่ายไว้เป็นตัวแทนความรู้สึก พร้อมกับข้อความสั้นๆ ลงในเฟซบุ๊กส่วนตัวไว้แชร์กันในเพื่อนฝูง ซึ่งตัวกระต่ายนั้น มาจากสรรพนามที่เพื่อนๆ และครอบครัวชอบเรียก เมื่อนำมาผสมกับชื่อเล่น (จริง) “เจ” จึงเป็นที่มาของเฟซบุ๊ก “เจเดอะแร็บบิท”

ด้วยความที่กระต่ายที่เป็นการ์ตูนลายเส้นทันสมัย น่ารักๆ บวกกับข้อความที่แทนความรู้สึกของคนทำงาน ซึ่งมีทั้งเหนื่อย ทั้งสนุก เข้ากับเหตุการณ์ในปัจจุบัน วันเกิดเพื่อน วันสงกรานต์ ทำให้เพจนี้จึงไปโดนใจคนทำงาน ได้รับการแชร์จากเพื่อนสู่เพื่อน จนมียอดคนติดตามที่เป็นเพื่อนและคนรู้จัก และลูกค้า 4,000 คน

“ช่วงนั้นไปเอาข้อความที่เพื่อนวิจารณ์รถคันแรกแล้วอัพในสเตตัสของเขา มาวาดเป็นภาพให้เข้าใจง่ายๆ มีคนแชร์เยอะมาก จนเว็บกระปุกดอทคอมยังต้องเอาไปโพสต์ แต่ก็มีคนที่ไม่เข้าใจเรา และคนที่เรารู้จักก็มีทั้งเสื้อเหลือง เสื้อแดง เราเองไม่อยากยุ่งเรื่องการเมือง ก็เลยหยุดไป 2 เดือน”

แต่แล้วกระต่ายกลับมาโลดแล่นในโลกโซเชี่ยลเน็ตเวิร์คอีกครั้ง ในวันที่ 21 เมษายน หลังจากที่ เจ ได้วาดเป็นภาพประกอบบทความให้กับเพื่อนนักข่าว บวกกับแรงยุของเพื่อนๆ คราวนี้ เจ จดเป็น “เฟซบุ๊ก แฟนเพจ” เพื่อรองรับคนได้มากขึ้น แถมเจ้าตัวยังสนุกกับการวาดภาพ และโพสต์ข้อความตลอดเวลา จนเกิดเป็นกระแส และแชร์ต่อเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

 

 

เสน่ห์ของเพจนี้ นอกจากความสม่ำเสมอของข้อมูลที่อัพต่อเนื่องแล้ว เนื้อหาที่เป็นภาพกระต่ายน่ารักๆ บวกกับข้อความที่ออกแนวประชดประชัน จิก กัด ปนตลก ความสดใหม่ อิงกับเหตุการณ์ ทั้งข่าวสาร ดารา ละคร ที่อยู่ในกระแสความสนใจ และเหมือนเพื่อนคุยกัน ตอบทุกคำถามที่มีเข้ามา ต่างจากตามแฟนเพจของเซเลบฯ ทั่วไป และด้วยความที่เจเองก็อยู่ในวัยทำงาน มีไลฟ์สไตล์ รู้จังหวะ ความสนใจของคนวัยใกล้เคียงกัน ทั้งการให้คอมเมนต์ หรือตั้งกระทู้

ทั้งหมดนี้จึงโดนใจสาวออฟฟิศ คนวัยทำงาน ที่มีผู้หญิงและผู้ชาย อย่างละครึ่ง ที่เข้ามาดู มาเมนต์ มาแชร์ จนกลายเป็นคอมมูนิตี้ของคนทำงาน วันที่เราได้เจอกับกระต่าย เจ้าของเจเดอะแร็บบิทหลังจากเปิดแฟนเพจมาได้เดือนกว่า ก็มียอดแชร์140,000 คน ส่วน Talk about this เพิ่มไปถึง 400,000 ราย

“เพจนี้เป็นเหมือนพื้นที่ให้คนทำงานเขาได้มาพูด ได้มาระบาย จะไปพูดเรื่องผู้ชายในออฟฟิศ หรือในเพจอื่นๆ เขาก็ทำไม่ได้ แต่ในเพจนี้เราให้เขาได้พูดในสิ่งที่เขาอยากพูด เลยเกิดความรู้สึกร่วมกัน ทุกวันนี้เราก็เลยมีแฟนเมด เอาภาพกระต่ายไปทำเป็นเค้กไปให้เจ้านาย บางคนเอาไปทำข้าวกล่องถ่ายรูปส่งมา เปรียบแล้วเหมือนกับเป็นฝูงกระต่าย ยิ่งทำให้เกิดความผูกพัน”

ข้อความกวนๆ มันส์ๆ อิงกระแสความสนใจ ทั้งในช่วงละครดัง คุณชายพุฒิภัทร หรืออย่างตอนที่กระต่ายเล่าว่า ได้นำข้อความบนสเตตัสของเพื่อน คำขวัญกรุงเทพฯ 2556 “คุณชายพุฒิภัทร คือความฝัน คุณชายสุขุมพันธุ์คือความจริง” มาขยายผลวาดภาพประกอบ แม้จะมี “ดราม่า” ขึ้น แต่ก็โดนใจใครหลายคน โดยข้อความนี้ไปถูกใจ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์และทีมงาน จึงถูกนำไปโพสต์ขึ้นในเฟซบุ๊กส่วนตัวผู้ว่าฯ กทม. ก็ยิ่งทำให้ “เจเดอะแร็บบิทออฟฟิเชี่ยล” ได้รับความสนใจถูกแชร์มากยิ่งขึ้น

ความดัง จนได้ชื่อว่าเป็นขวัญใจคนทำงานออฟฟิศ จึงเป็นที่หมายตาจากเอเยนซี่ เจ้าของแบรนด์สินค้า ที่ติดต่อเข้ามาขอโพสต์ลงโฆษณาทุกวัน โอกาสทำเงินแบบนี้หลายคนคงรีบคว้าไว้ แต่กระต่ายบอกเราว่า อนุญาตให้นำภาพกระต่าย แต่ไม่อยากนำไปค้ากำไร แต่ถ้าจะทำหารายได้ก็อยากให้นำสิ่งของ หรือเงินไปบริจาคช่วยการกุศล

“เงินเราก็อยากได้ เพราะมันเป็นโอกาส แต่เราไม่อยากเหมือนกับเพจอื่นๆ พอดังแล้วก็มาขายของ ลงโฆษณา ถึงจะได้เงินเป็นหมื่นเป็นแสนเราไม่ทำ เป็นการตลาดแบบโบราณ และยิ่งทำให้สินค้าห่างเหินกับตัวคน เพจเราก็เสีย แต่ถ้าทำในลักษณะเป็นสปอนเซอร์ ทำเสื้อมาแจกให้แฟนเพจฟรี เราก็บอกไปตรงๆ ว่าแบรนด์ไหนให้สปอนเซอร์มา ไม่ปิดบัง แบรนด์ก็ไม่เสีย คนที่ได้รับเขารู้สึกดีกับแบรนด์”

ไม่เท่านั้น มีบางรายเสนอขอนำคาแร็กเตอร์การ์ตูนไปทำสติ๊กเกอร์ขายใน LINE แล้วแบ่งรายได้ให้ เราได้ 70% เขาได้ 30% อีกรายเป็นแบรนด์สินค้ามาจ้างให้ทำสติ๊กเกอร์ ถึงคำนวณแล้วโอกาสทำรายได้เป็นตัวเลขสูงมาก แต่ยังไม่ใช่รูปแบบที่ต้องการ

 

 

“ถ้ามีแบรนด์จะมาให้ขอซื้อลิขสิทธิ์นำกระต่ายไปคู่กับกับโลโก้ หรือมาสคอตของเขาแล้วทำสติ๊กเกอร์ไลน์ออกมาแจกฟรี อย่างนี้เราทำ นโยบายของเจต้องการแจกของฟรี อยากแบ่งปัน มีอะไรดีๆ จะแบ่งกัน”

ณรรษศรัณย์ ยืนยันว่า ทำเพจนี้ไม่ใช่เพราะต้องการโด่งดัง แต่ทำเพราะความสนุก และความใฝ่ฝัน คือ อยากให้เป็นไวท์บิสซิเนส ให้มาสปอนเซอร์ ผลิตของแจกให้แฟนเพจใช้ฟรี หรือ เป็นสปอนเซอร์นำสิ่งของไปบริจาค และทำเป็นพ็อกเกตบุ๊กฉบับสาวออฟฟิศมีกระต่ายเป็นตัวเดินเรื่อง

เคล็ดลับ จับใจสาวทำงาน การเข้าใจ “อินไซท์” ผู้บริโภค เป็นอีกคีย์ซัคเซสของ “เจเดอะแร็บบิท” คนทุกวันนี้มีเวลาไม่มาก และไม่ต้องอ่านเนื้อหามาก การนำเสนอจึงต้องเป็นข้อความสั้นๆ แค่ 10% ใช้ตัวการ์ตูนเล่าเรื่องแทน การ์ตูนดูธรรมดาๆ ไม่ต้องเนี้ยบ และด้วยความไม่สมบูรณ์จึงเป็นเสน่ห์ที่ให้ความรู้สึกจริงใจ เข้าถึงง่าย

ส่วนอีก 30-40% เปิดเป็นพื้นที่ให้คนไปคิด เอาไปแชร์ต่อ มาเมนต์ด้วยเนื้อหาที่นำเสนอง่ายๆ ตรงความสนใจสาวออฟฟิศ

“ผู้หญิงทำงานออฟฟิศ เป็นคนฉลาด มั่นใจตัวเอง ดังนั้นมุกกัด ประชด แดกดัน คิดซับซ้อน จะโดนใจคนกลุ่มนี้ ส่วนผู้ชายเองก็อยากรู้ว่า ผู้หญิงเม้าท์อะไรกัน ผู้ชายก็เลยเข้ามาเยอะ แต่ไม่อยากแสดงตัว จะมาดู มาหัวเราะ ซึ่งเป็นพฤติกรรมปกติของผู้ชายออฟฟิศอยู่แล้ว ทำให้เรามีทั้งคนสาวและหนุ่มออฟฟิศอย่างละครึ่ง”

ความต่อเนื่องของการโพสต์ เนื้อหาเรียลไทม์ และจังหวะเวลาที่ต้องเหมาะกับกลุ่มเป้าหมาย เป็นอีกหนึ่งในกุญแจความสำเร็จของเพจนี้ ข้อความที่โพสต์ในช่วงกลางวัน เป็นมุกเครียดๆ หน่อย เช่น ทำงานเหนื่อย ส่วนช่วงกลางคืนจะเป็นแนว มุกชอบดารา มุกชอบผู้ชาย

“มุกที่ใช้จะไม่ใช้คำหยาบ หรือด่าคนอื่น จะจิกกัดตัวเอง มุกตลกที่ไฮคลาสที่สุด คือ มุกแดกดันตัวเอง จิกกัดตัวเอง มิสเตอร์บีนทำไมอยู่ได้ ชาลีแชปปลิน มุกตลกทำร้ายตัวเอง ทำให้กระต่ายตลก น่าหมั่นไส้ โดนด่า ดีกว่าไปว่าคนอื่น”

นอกจากนี้ ทุกโพสต์จะมีการทดลอง เพื่อดูว่าเพจเกิดได้เพราะกระแสอื่นช่วย หรือมาจากตัวเพจเอง โดยดูจากโพสต์รูปกระต่ายกับ “เจมส์ จิรายุ” พระเอกดังที่กำลังมาแรงจากเรื่องคุณชายพุฒิภัทร ผลปรากฏว่า “คนกดไลค์มากกว่าแชร์” สะท้อนว่าไม่ได้ดังเพราะอิงกระแสดารา

“ถึงคนที่ชอบเขาจะกด Like แต่เขาอาจไม่แชร์ ส่วนคนจะแชร์ต่อเมื่อข้อความไปโดนใจเขาเพราะต้องการบอกว่าเขาคิดเหมือนกัน แต่ถ้าข้อความไหนคอมเมนต์ เพื่อแสดงความคิดเห็นแตกต่างออกไป กรณีของคุณชายพุฒิภัทรบอกว่า เพจเราไม่ได้ดังเพราะไปอิงกระแสดารา แต่คนชอบเพราะเป็นเรา”

 

 

ถอดรหัสความสำเร็จ ความสำเร็จของ แฟนเพจ “jaytherabbitofficial” มีแง่มุมที่น่าสนใจ ดิจิตอลเอเยนซี่ที่มองปรากฏการณ์นี้ว่าเป็นการสะท้อนถึงพลังของ “Content” และเป็นยุคของ “User generate content” อัจฉรา กมลเพ็ชร” Digital Strategic Planer บริษัท CJ Worx จำกัด เปรียบได้กับการมี “แมกกาซีน” เป็นของตัวเอง ซึ่งหลายเฟซบุ๊ก แฟนเพจ ก็มีลักษณะเดียวกัน เช่น สมาคมมุขเสี่ยว หรือ ลูกค้าผู้น่ารัก มีสร้างเนื้อหาออกมาต่อเนื่อง และมีซิกเนเจอร์ที่เป็นของตัวเอง

ส่วนความสำเร็จของแฟนเพจนี้ คือ อัพข้อมูลสม่ำเสมอ และเป็นข้อมูลความสดใหม่ (lifely) มีชีวิตชีวา เป็นเรื่องที่อยู่ความสนใจ Happening ของสาวทำงานออฟฟิศ ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักเพียงกลุ่มเดียว และการมีโฟกัสที่ชัดเจน การนำเสนอเนื้อหาที่สามารถสร้างปฏิสัมพันธ์กับคนกลุ่มนี้ได้ดีและต่อเนื่อง

ในขณะที่แฟนเพจของสินค้าหรือแบรนด์ไม่สามารถทำในลักษณะนี้ได้ เพราะมีขั้นตอนการทำงาน ขาดอิสระ และล่าช้า กว่าจะอนุมัติให้ลงข้อความหรือภาพที่จะโพสต์ลงได้ ก็ขาดความสดใหม่

ไม่ต่างจาก ศุภฤกษ์ ตั้งเจริญศิริ DIGITAL DIRECTOR บริษัท MEC เอเยนซี่ในเครือกรุ๊ปเอ็ม มองความสำเร็จว่า ความสำคัญของการสร้างปฏิสัมพันธ์กับแฟนเพจไม่ได้อยู่ที่ตัวสื่อ แต่ Content คือหัวใจสำคัญ เช่นในกรณีของ “jaytherabbitofficial” ที่เข้าใจกลุ่มเป้าหมายที่เป็นสาวออฟฟิศอย่างดี จึงทำให้นำเสนอเนื้อหาตอบโจทย์อินไซท์ และสร้างปฏิสัมพันธ์กับกลุ่มเป้าหมายนี้ได้อย่างเห็นผล

“เป็นตัวอย่างให้กับแบรนด์ที่มีแฟนเพจของตัวเอง ต้องทำให้ Owned Media ซึ่งแบรนด์เสียเงินสร้างขึ้น ให้กลายเป็นเอิร์นมีเดีย หรือฟรีมีเดียที่มีคนมาบอกต่อไม่ต้องเสียเงิน จึงจะตอบโจทย์การสร้างแฟนเพจ ซึ่งการจะทำได้ก็ต้องมี Content ที่แข็งแรง เหมือนอย่างกรณีนี้เป็นตัวอย่างที่ดี”

Key Success 1. โฟกัสกลุ่มเป้าหมายหลัก คือ สาวออฟฟิศเพียงกลุ่มเดียว 2. รู้จัก และเข้าใจพฤติกรรมความชอบกลุ่มเป้าหมาย นำเสนอเนื้อหาได้ตรงกับความต้องการ 3. นำเสนอเนื้อหาที่สดใหม่อยู่ในความสนใจในแต่ละช่วงเวลา 4. มีการอัพข้อมูลตลอดเวลา

อุปกรณ์สร้างเพจ “jaytherabbitofficial” 1. ปากกาด้ามละ 20 บาท 2. โปรแกรมถ่ายภาพอินสตาแกรม 3. สแกนเนอร์ 2,000 บาท