‘แมนูไลฟ์ เอเชีย’ เผยดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนเอเชียพบยังอยู่ในระดับต่ำ สวนทางความเชื่อมั่นนักลงทุนตลาดเกิดใหม่ในอาเซียน

เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2556 แมนูไลฟ์ เอเชีย ได้เปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นในการลงทุนในเอเชีย (Manulife Investor Sentiment Index in Asia หรือ Manulife ISI) ซึ่งบ่งชี้ว่า นักลงทุนในตลาดพัฒนาแล้วในเอเชียยังคงไม่เชื่อมั่นว่า ในขณะนี้เป็นเวลาที่เหมาะสมในการเข้าลงทุน โดยพบว่า ฮ่องกงกับไต้หวันเป็นตลาดที่นักลงทุนมีความเชื่อมั่นต่ำที่สุด ต่างจากนักลงทุนในอินโดนีเซียและมาเลเซีย ซึ่งเป็นตลาดเกิดใหม่ รวมทั้งแคนาดาและสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นตลาดพัฒนาแล้ว ที่นักลงทุนมีความเชื่อมั่นในระดับที่สูงกว่ามาก

นายโรเบิร์ต เอ. คุ้ก ประธานบริษัทและประธานเจ้าหน้าที่บริหารของแมนูไลฟ์เอเชีย (Robert A. Cook, President and CEO, Manulife Asia) กล่าวว่า “ในแง่ของการลงทุน ต้องยอมรับว่า ในขณะนี้ไม่มีภูมิภาคใดที่น่าตื่นเต้นมากไปกว่าเอเชีย ซึ่งเป็นภูมิภาคที่นักลงทุนสามารถแสวงหาผลตอบแทนเพื่อให้บรรลุเป้าหมายของตัวเองได้ แต่การจะช่วยบรรลุเป้าหมายด้านการลงทุนได้นั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่เราต้องเข้าใจความต้องการของนักลงทุน นั่นคือ สิ่งที่ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนของแมนูไลฟ์จะช่วยเราได้”

แม้ผลสำรวจจากดัชนีความเชื่อมั่นจะบ่งชี้ว่า ภูมิภาคเอเชียเป็นภูมิภาคที่น่าลงทุน แต่นักลงทุนส่วนใหญ่ยังเชื่อว่า ในขณะนี้ไม่ใช่ช่วงเวลาที่เหมาะสมในการเข้าลงทุน เนื่องจากตลาดยังอยู่ในภาวะผันผวนเกินไป ซึ่งคำตอบของนักลงทุนครอบคลุมสินทรัพย์ทุกประเภท ยกเว้นอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งนักลงทุนเชื่อว่า ราคาในปัจจุบันสูงเกินไป อย่างไรก็ตาม เชื่อว่า ราคาจะลดลงสู่ระดับที่เหมาะสมในที่สุด นั่นทำให้นักลงทุนในตลาดเอเชียส่วนใหญ่ยังคงถือครองเงินสดเป็นสินทรัพย์ในสัดส่วนที่สูง แม้ว่า กลุ่มตัวอย่างที่ตอบคำถามทุกตลาด (ยกเว้นอินโดนีเซียและมาเลเซีย) จะไม่ค่อยเชื่อมั่นว่า การถือเงินสดในสัดส่วนสูงจะเป็นกลยุทธ์ลงทุนที่ดี ซึ่งคำตอบเหล่านี้สะท้อนให้เห็นความเชื่อมั่นในเอเชียที่ต่ำกว่าภูมิภาคอื่นๆ

ขณะที่นักลงทุนในเอเชียกว่าครึ่งระบุว่า ยังสามารถเดินได้ตามแผนหรือเร็วกว่าแผนที่วางไว้เพื่อที่จะบรรลุเป้าหมายทางการเงินของตัวเอง โดยมีเพียง 10% ที่ระบุว่า ก้าวเข้าสู่เป้าหมายทางการเงินได้ล่าช้ากว่ากำหนดมากจนไม่น่าจะสามารถกลับมาบรรลุเป้าหมายได้ตามกำหนด แต่ก็ยังถือว่า เป็นสัดส่วนที่ดีเมื่อเทียบกับนักลงทุนในแคนาดาที่ส่วนใหญ่ยังไม่สามารถเข้าใกล้เป้าหมายทางการเงินของตัวเองได้ ส่วนสิ่งที่นักลงทุนระบุว่า ให้ความสำคัญสูงสุดสองอันดับแรก ได้แก่ เรียนรู้วิธีลงทุนเพิ่มเติม ตามด้วยความต้องการพัฒนาแผนการเงิน ซึ่งสัดส่วนของนักลงทุนในเอเชียที่ให้ความสำคัญกับทั้งสองเรื่องนี้มากกว่านักลงทุนในอเมริกาเหนือถึงสองต่อหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม แม้ผลสำรวจจะบ่งชี้ว่า ระดับความเชื่อมั่นนักลงทุนจะยังต่ำ แต่กลับพบว่า นักลงทุนในเอเชีย (ยกเว้นญี่ปุ่น) ค่อนข้างเชื่อมั่นอนาคตมากกว่าภูมิภาคอื่น โดยส่วนใหญ่ระบุว่า คาดว่าจะมีฐานะดีขึ้นในช่วงสองปีนี้ ซึ่งเป็นสัดส่วนที่ค่อนข้างใกล้เคียงกับที่พบในอเมริกาเหนือ

“ผลสำรวจนี้ดูจะเป็นสิ่งชี้ให้เห็นช่องว่างระหว่างเป้าหมายของนักลงทุนกับกลยุทธ์ที่นักลงทุนใช้เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย” นายฟิลิป แฮมป์เดน-สมิธ ประธานเจ้าหน้าที่การตลาด แมนูไลฟ์เอเชีย (Philip Hampden-Smith, Chief Marketing Officer, Manulife Asia) กล่าว “ที่น่าสนใจ คือ หลายคนดูเหมือนจะรู้ช่องว่างนี้ดี ซึ่งอาจเป็นสิ่งที่อธิบายว่า เพราะเหตุใดสิ่งที่ให้ความสำคัญสูงสุด คือ การเรียนรู้วิธีลงทุนเพิ่มเติม น่าสนใจมากว่า ถ้ารอดูต่อไป ความเชื่อมั่นจะเป็นไปในทางใด โดยเฉพาะเมื่อพิจารณาจากที่ผู้ตอบคำถามส่วนใหญ่จะมีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับอนาคตที่จะตามมา”

ด้านนายต่อ อินทวิวัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) แมนูไลฟ์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ในส่วนของประเทศไทยนั้น นักลงทุนมองตลาดในแง่ดีมาก ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2552 เป็นต้นมา นักลงทุนไทยใช้กลยุทธ์เพิ่มสินทรัพย์เสี่ยง โดยมีความเชื่อมั่นมากขึ้นในการเพิ่มสัดส่วนลงทุนสินทรัพย์เสี่ยง โดยเฉพาะในตลาดหุ้น ที่นักลงทุนเชื่อมั่นว่า หุ้นสามารถให้ผลตอบแทนดีกว่าตราสารหนี้หรือเงินฝากในระยะยาว

ทั้งนี้ มีปัจจัยหลายประการที่ชี้ว่า หลังจากพ้นวิกฤตการเงินโลกมาแล้ว นักลงทุนต่างมองการลงทุนในแง่ดีขึ้นมาก โดยดัชนีตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยถีบตัวขึ้นจากระดับต่ำสุดเมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2552 ที่ 384.15 จุดมาเกือบแตะระดับ 1,600 จุดเมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2556 หรือเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 316.50 ส่วนกองทุนรวมหุ้นในไทย พบจำนวนบัญชีผู้ถือหน่วยลงทุนเปิดใหม่เพิ่มขึ้นสูงมากเช่นกัน โดยเพิ่มขึ้นร้อยละ 80 นับแต่สิ้นปี 2551 นอกจากนี้ ยังมีกองทุนที่ลงทุนในหุ้นในประเทศอีกหลายกองซึ่งเปิดตัวและได้รับความสนใจอย่างสูงในช่วงสองสามปีที่ผ่านมานี้ ซึ่งโดยหลัก ได้แก่ กองทุนประเภทกำหนดผลตอบแทน (Target Fund)

นายต่อกล่าวเสริมว่า ปัจจัยชี้วัดทั้งหมดจะช่วยให้เราพัฒนากองทุนใหม่ๆ ซึ่งมีนโยบายลงทุนแปลกใหม่เพื่อตอบสนองความต้องการนักลงทุนซึ่งปัจจุบันคุ้นเคยกับกองทุนรวมมากขึ้น เรายังพิจารณาเสนอผลิตภัณฑ์ซึ่งสามารถตอบโจทย์ความต้องการออมและเหมาะสมกับนักลงทุนแต่ละกลุ่มด้วย อาทิเช่น กองทุนหุ้นชนิดจ่ายผลตอบแทนสม่ำเสมอ

ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนของแมนูไลฟ์ – ผลสำรวจหลัก
ความเชื่อมั่นนักลงทุน

นักลงทุนเอเชียเกือบทุกตลาดระบุว่า ปัจจุบันยังไม่ใช่เวลาที่ดีในการลงทุน โดยนักลงทุนฮ่องกงกับไต้หวันเป็นกลุ่มที่มองในแง่ร้ายที่สุด ซึ่งต่างจากระดับความเชื่อมั่นนักลงทุนในสหรัฐอเมริกาและแคนาดาอย่างมาก โดยความเชื่อมั่นนักลงทุนในสหรัฐอเมริกาและแคนาดาอยู่ในระดับที่สูงกว่า และยิ่งเมื่อเทียบกับมาเลเซียและอินโดนีเซียแล้ว พบว่า ความเชื่อมั่นนักลงทุนในมาเลเซียและอินโดนีเซียอยู่ในระดับที่สูงกว่ามาก ทั้งนี้ โดยรวมแล้ว นักลงทุนเอเชียอายุน้อย (ระหว่าง 25-29 ปี) เป็นกลุ่มที่มองในแง่ดีมากกว่ากลุ่มอายุอื่น ยกเว้นในฮ่องกงซึ่งดูเหมือนว่านักลงทุนอายุน้อยจะมองในแง่ร้ายที่สุดในเอเชีย

เหตุผลที่ไม่ลงทุน

นักลงทุนในฮ่องกงและไต้หวัน มีเพียงหนึ่งในห้าที่เห็นว่า ปัจจุบันเป็นเวลาที่ดีในการลงทุนในประเทศของตัวเอง ซึ่งเป็นสัดส่วนที่ต่ำกว่าที่แคนาดา (ร้อยละ 51) มาก ทั้งที่ความเชื่อมั่นในตลาดดังกล่าวจะอยู่รั้งท้ายมาสองปีแล้วด้วยกัน ผลสำรวจนี้แตกต่างจากผลสำรวจในมาเลเซียและอินโดนีเซียโดยสิ้นเชิง โดยในสองตลาดดังกล่าว นักลงทุนถึงสี่ในห้าพอใจที่จะลงทุนในตลาดประเทศตนเอง ทั้งนี้ นักลงทุนเอเชียเกือบสองในสามชี้ว่า ปัจจุบันยังไม่ใช่เวลาที่ดีในการลงทุนในหุ้น โดยระบุว่า สาเหตุหลักที่คิดเช่นนั้น คือ “ตลาดมีความผันผวน” เหตุผลนี้เป็นเหตุผลที่นักลงทุนกว่าสามในสี่ในจีนและมาเลเซียระบุ

หลักทรัพย์ที่นิยมลงทุน

นักลงทุนในอินโดนีเซียระบุว่า ปัจจุบันเป็นเวลาที่ดีในการถือเงินสดและลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (บ้านตนเองหรืออสังหาริมทรัพย์ประเภทอื่น) โดยไม่สนใจลงทุนในหุ้นมากนัก เช่นเดียวกับในแคนาดา แต่นักลงทุนในฮ่องกงและญี่ปุ่นกลับระบุตรงกันข้าม ในมาเลเซีย สินทรัพย์ของนักลงทุนสองในห้าอยู่ในรูปเงินสด ซึ่งสอดคล้องกับทัศนคตินักลงทุนส่วนใหญ่ในประเทศนี้ที่ว่าปัจจุบันเป็นเวลาที่ดีที่จะถือเงินสดไว้ ส่วนที่ญี่ปุ่น แม้เงินสดจะคิดเป็นสัดส่วนสินทรัพย์ที่นักลงทุนถือในระดับเดียวกัน แต่มีเพียงร้อยละ 16 ที่รู้สึกดีกับการถือเงินสด เช่นเดียวกัน ในฮ่องกงเงินสดเป็นประเภทสินทรัพย์ประเภทเดียวที่นักลงทุนถือมากที่สุด แม้โดยทั่วไปแล้วนักลงทุนฮ่องกงจะมีทัศนคติเชิงลบต่อการถือเงินสดก็ตาม

เป้าหมายทางการเงิน

นักลงทุนสองในสามในจีนระบุว่า ตนยังเดินได้ตามแผนหรือเร็วกว่าแผนบรรลุเป้าหมายทางการเงิน ซึ่งต่างจากในญี่ปุ่นที่หนึ่งในสี่ระบุว่าก้าวสู่เป้าหมายล่าช้ากว่ากำหนดและน่าจะไม่สามารถกลับมาบรรลุเป้าหมายได้ตามกำหนดอีกแล้ว ในเอเชียโดยภาพรวม วิธีที่ระบุว่าใช้มากที่สุดเพื่อให้สามารถกลับมาบรรลุเป้าหมายได้ทันตามกำหนด ได้แก่ เพิ่มการออมและทำงานมากขึ้น หรือเพิ่มรายได้ด้วยวิธีอื่น ส่วนในแคนาดา วิธีที่ระบุมากที่สุด คือ ลดรายจ่ายและเพิ่มการออม

นักลงทุนเอเชียซึ่งใช้บริการที่ปรึกษาการเงินมืออาชีพระบุคำตอบซึ่งชี้ให้เห็นความคิดในแง่ดีต่อการลงทุนมากกว่านักลงทุนเอเชียที่ไม่ใช้บริการ นักลงทุนเอเชียหนึ่งในสี่ใช้บริการที่ปรึกษาการเงินมืออาชีพ เทียบกับแคนาดาซึ่งตัวเลขอยู่ที่สองในห้า ในกลุ่มนักลงทุนที่ไม่ใช้บริการที่ปรึกษา มีหนึ่งในสามในฮ่องกง จีน สิงคโปร์ และไต้หวันระบุว่า เหตุผลหลักที่ไม่ใช้ คือ ไม่เชื่อมั่นไว้ใจที่ปรึกษา ซึ่งในแคนาดาตัวเลขข้อนี้อยู่ที่เพียงร้อยละ 6

การเงินส่วนบุคคล

นักลงทุนเอเชียกว่าสองในห้าระบุว่า รู้สึกมีฐานะดีขึ้นกว่าสองปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม ตัวเลขแต่ละตลาดในภูมิภาคนี้ยังคงแตกต่างกันไป โดยในจีนนักลงทุนร้อยละ 6 เห็นด้วยกับข้อความดังกล่าว ขณะที่ในญี่ปุ่นมีเพียงหนึ่งในห้าเท่านั้นที่เห็นด้วย ส่วนตลาดสิงคโปร์ นักลงทุนหนึ่งในห้ารู้สึกฐานะแย่ลงกว่าสองปีที่ผ่านมา ขณะที่ในอินโดนีเซียมีเพียงร้อยละ 4 ที่คิดเช่นนั้น

นักลงทุนเอเชียส่วนใหญ่เชื่อว่า ตนจะมีฐานะดีขึ้นในสองปี ซึ่งเป็นระดับความเชื่อมั่นแทบจะระดับเดียวกับในแคนาดา เมื่อมองไปข้างหน้า นักลงทุนเอเชียที่มองในแง่ดีที่สุดอยู่ที่จีน ซึ่งมีนักลงทุนถึงร้อยละ 68 ที่คาดว่าจะมีฐานะดีขึ้นในสองปี ต่างจากกรณีญี่ปุ่นที่มีนักลงทุนเพียงหนึ่งในสี่คาดว่าจะมีฐานะดีขึ้นในช่วงสองปีจากนี้