GSK สานต่อนโยบายยาดีเข้าถึงได้ ส่งตรงนวัตกรรมระดับโลกเพื่อคนไทย เพิ่มศักยภาพ บูรณาการองค์ความรู้ สร้างพื้นฐานด้านสุขภาพให้ยั่งยืน

บริษัท แกล็กโซสมิทไคล์น (ประเทศไทย) จำกัด หรือ GSK ฉลองครบรอบ 50 ปีที่อยู่คู่สังคมไทยในฐานะบริษัทวิจัยและพัฒนายานวัตกรรมและผลิตภัณฑ์คอนซูเมอร์ด้านสุขภาพ และมุ่งมั่นดำเนินนโยบาย “ยาดีเข้าถึงได้” อย่างจริงจัง จึงจัดกิจกรรมพิเศษ “The Science behind Success” เพื่อแบ่งปันความรู้ระดับโลกแก่คนไทย ด้วยกิจกรรมที่ขับเคลื่อนการเรียนรู้และสนับสนุนคนไทยในการวิจัยและพัฒนา ซึ่งเป็นหนึ่งในนโยบายยาดีเข้าถึงได้ โดยนำเบื้องหลังความสำเร็จของการทำงานของแม็คลาเรนกรุ๊ปที่ประกอบด้วย นวัตกรรมและเทคโนโลยีระดับสูง การทำงานแบบทีมเวิร์คและมีวัฒนธรรมองค์กรแห่งการเรียนรู้ที่ไม่หยุดนิ่ง เพื่อเพิ่มศักยภาพและขีดความสามารถในการแข่งขัน ขับเคลื่อนประเทศให้เติบโตและยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีของคนไทย

นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานในพิธีเปิดกิจกรรม “The Science behind Success” ซึ่งเป็นครั้งแรกในประเทศไทยในการถ่ายทอดเบื้องหลังความสำเร็จของรถแข่งฟอร์มูลาวันในการแข่งขันรถความเร็วสูงระดับโลก เพื่อถ่ายทอดแนวคิดและการดำเนินงานเชิงวิทยาศาสตร์และการวิจัยและพัฒนาที่นำไปสู่ความสำเร็จ

นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา กล่าวว่า ในขณะนี้ภาครัฐมีนโยบายส่งเสริมด้านการวิจัยและพัฒนา โดยการมีส่วนร่วมของภาครัฐและเอกชนเพื่อที่จะผลักดันการวิจัยและพัฒนาให้เป็นกลไกในการพัฒนาประเทศ เพื่อประโยชน์ต่อระบบเศรษฐกิจ ระบบการค้าและภาคการเกษตรต่างๆ เพราะในโลกยุคปัจจุบันจะแข่งขันกันในเรื่องความรู้ความสามารถและคุณภาพของคน ถ้าหากไม่ให้ความสำคัญในการวิจัยและพัฒนาจะไม่สามารถไปแข่งขันกับประเทศอื่นได้ เช่น การวิจัยและพัฒนาสินค้าต่างๆ โดยเฉพาะ เมื่อประเทศไทยกำลังจะเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือเออีซีในอีก 2 ปีข้างหน้า การเปิดประชาคมอาเซียนจะเป็นทั้งวิกฤตและโอกาส ซึ่งหากไทยมีความพร้อมจะสามารถใช้โอกาสนี้ในการเปิดตลาดใหม่ๆ ได้ แต่ถ้าหากไทยไม่มีการเตรียมความพร้อมให้ตัวเอง สิ่งที่จะเป็นโอกาสอาจกลายเป็นวิกฤตแทน

“การแข่งขันรถฟอร์มูลาวัน เป็นการแข่งด้วยความเร็ว เวลาเสี้ยววินาทีหมายถึงผลแพ้ชนะ ช่วงเวลาที่รถจะเข้ามาใน Pit stop จะต้องทำให้รถเหล่านั้นใช้เวลาน้อยที่สุดและสามารถรับบริการที่สั้นที่สุด ดูเผินๆ เหมือนไม่มีอะไร ถ้าดูลึกลงไปจะเห็นว่ามีการวิจัยและพัฒนา มีเทคโนโลยี มีการทำงานเป็นทีมที่มีประสิทธิภาพสูงสุด นับเป็นตัวอย่างที่ดีของการวิจัยและพัฒนาที่เราจะได้เรียนรู้” นายพงศ์เทพกล่าว

ศ.นพ. สุทธิพร จิตต์มิตรภาพ เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า การพัฒนาการทำงานระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนหรือ Public Private Partnership (PPP) นับเป็นเรื่องสำคัญเนื่องจากแต่ละองค์กรมีความเชี่ยวชาญและมีองค์ความรู้ที่แตกต่างกัน ถ้าทุกฝ่ายร่วมมือนำความรู้ที่มีมาต่อยอดให้กันก็จะทำให้เกิดประสิทธิผลได้อย่างสูงสุด ซึ่งหวังว่าในอนาคตข้างหน้าสัก 2-3 ปี ไทยจะมีผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ๆ ที่เกิดจากการวิจัยและพัฒนาอันเกิดจากฝีมือและมันสมองของคนไทย งานวิจัยเป็นเรื่องท้าทายที่ต้องนำไปใช้ประโยชน์ให้ได้ เช่น ด้านสุขภาพ ขณะนี้ วช.ร่วมมือกับหลายหน่วยงานเกี่ยวกับระบบวิจัย มีการตั้งเป้าหมายร่วมกันคือการวิจัยโรคที่ยังรักษาได้ไม่ดี โรคที่เป็นโรคพื้นบ้านของไทย โรคที่อยู่ในเขตร้อน โรคที่เป็นกันบ่อยๆ เราต้องวิจัยพัฒนาให้ได้ผลดีเพื่อยกระดับสุขภาพของคนไทยให้ดีขึ้น และจะส่งผลต่อการพัฒนาประเทศต่อไปในอนาคตอย่างยั่งยืน

แพทย์หญิง คุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ ผู้ตรวจราชการ กระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า งานวิจัยเป็นกระบวนการคิดที่เป็นระบบ คิดอย่างวิทยาศาสตร์ที่ทำให้มนุษย์เกิดการเรียนรู้และพัฒนาเชิงคุณภาพเกิดความยั่งยืนทั้งต่อตัวบุคคล องค์กร และระดับประเทศต่อไป กระบวนการที่จะเรียนรู้และพัฒนาเชิงคุณภาพหนีไม่พ้นเรื่องงานวิจัย ซึ่งงานวิจัย ไม่ใช่เกิดขึ้นแค่ในห้องแล็บ มนุษย์ต้องมีความใฝ่รู้ตลอดชีวิตและงานวิจัยจะเป็นเครื่องมืออันหนึ่งที่ทำให้ความใฝ่รู้อันนั้นจะดึงตัวเองขึ้นไปได้ แต่จุดสำคัญที่สุดคือต้องคิดก่อนว่าตัวเราไม่ใช่น้ำเต็มแก้ว ยังต้องได้รับการพัฒนา การพัฒนาจะช่วยให้เกิดความยั่งยืน

นายวิริยะ จงไพศาล กรรมการผู้จัดการ บริษัท แกล็กโซสมิทไคล์น (ประเทศไทย) จำกัดหรือ GSK กล่าวว่า ตลอด 50 ปีในการดำเนินธุรกิจในประเทศไทย GSK ยืนหยัดในนโยบาย ยาดีเข้าถึงได้ (Access to Medicines) เพื่อเพิ่มโอกาสการเข้าถึงยา และยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทย ซึ่งส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนนโยบายนี้ คือ การร่วมมือกับทุกภาคส่วนในการทำกิจกรรมต่างๆ เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงสุขภาพดี ได้มากขึ้น และการสนับสนุนการขับเคลื่อนอย่างบูรณาการเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตและสุขภาพที่ดีของคนไทย โดยได้ให้ความร่วมมือกับทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ ดังเช่น กระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงสาธารณสุข และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างเต็มความสามารถ

“ในโอกาสนี้เราจึงขอมอบกิจกรรมที่เป็นประโยชน์และสร้างแรงบันดาลใจในการเรียนรู้ วิจัย และพัฒนา “The Science behind Success” เพื่อเรียนรู้ถึงเบื้องหลังศาสตร์แห่งความสำเร็จที่เกิดได้จากการวิจัยและพัฒนา ถ่ายทอดความร่วมมือของทุกภาคส่วนผ่านการฝึกปฏิบัติในการเปลี่ยนล้อและยาง (Pit Stop Challenge) ของรถแข่ง การสาธิตเพื่อเสริมสร้างทักษะสำคัญของการพัฒนาบุคลากรตลอดจนธุรกิจทั้งในด้านการวิจัยและนวัตกรรม ความร่วมมือและการทำงานเป็นทีม และสร้างวัฒนธรรมองค์กรแห่งการเรียนรู้อย่างไม่หยุดนิ่ง ซึ่งการพัฒนาความรู้ทางการวิจัยจะช่วยให้ไทยสามารถเพิ่มศักยภาพและขยายขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศเพื่อตอบสนองนโยบายของรัฐบาลในการพัฒนาด้านสุขภาพให้เป็นที่ยอมรับของสากล”

กิจกรรม “The Science behind Success” จัดขึ้นระหว่างวันที่ 10 – 14 มิถุนายน 2556 ณ ลานพาร์ค พารากอน ประกอบด้วยการฝึกปฏิบัติและการเสริมสร้างทักษะสำคัญของการพัฒนาศักยภาพ ประกอบด้วยการทำงานเป็นทีม การสื่อสารภายใต้สภาวะที่กดดันในระยะเวลาอันสั้น และการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง โดยมีหน่วยงานภาครัฐและเอกชน เข้าร่วมกิจกรรมจำนวนมาก อาทิ สภากาชาดไทย กรมควบคุมโรค สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ สมาคมประสาทวิทยาแห่งประเทศไทย โรงพยาบาล ผู้ประกอบการค้าปลีก นิสิตนักศึกษา และประชาชนทั่วไปที่เข้าร่วมชม

“GSK เชื่อว่า นวัตกรรมการวิจัยและการพัฒนาอย่างต่อเนื่องจะนำมาซึ่งนวัตกรรมในการรักษาเพื่อการมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เราจึงให้ความสำคัญในการวิจัยและพัฒนายาและวัคซีนนวัตกรรม ตลอดระยะเวลา 50 ปีในประเทศไทย GSK ส่งเสริมการเรียนรู้และการสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาเวชภัณฑ์ต่างๆ ซึ่ง GSK มีความมุ่งมั่นในการมอบสุขภาพดีเข้าถึงได้แก่สังคมไทย เพื่อเสริมสร้างสุขภาพที่ดีให้กับคนไทยทั่วทุกภูมิภาค พร้อมทั้งให้ความร่วมมือกับทุกภาคส่วนอย่างเต็มความสามารถในการขับเคลื่อนอย่างบูรณาการ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตและสุขภาพที่ดีของคนไทย” นายวิริยะกล่าวโดยสรุป