บรรจุภัณฑ์กระดาษไทยปี 2556 เติบโตด้วยทิศทางที่ระมัดระวังตามภาวะเศรษฐกิจทั้งในและต่างประเทศ ขณะที่กระแสลดโลกร้อนยังเป็นปัจจัยหนุน

อุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์กระดาษของไทยเป็นอุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มปรับตัวควบคู่ไปกับการขยายตัวทางเศรษฐกิจ เนื่องมาจากผลิตภัณฑ์บรรจุภัณฑ์เป็นส่วนสำคัญในภาคอุตสาหกรรมต่างๆ ทั้งเพื่อบรรจุสินค้าสำหรับภาคอุตสาหกรรมในประเทศ และส่งออกชิ้นส่วนบรรจุภัณฑ์เพื่อใช้กับอุตสาหกรรมในต่างประเทศ โดยบรรจุภัณฑ์กระดาษ เป็นบรรจุภัณฑ์ที่มีสัดส่วนการใช้สูงสุดในบรรดาบรรจุภัณฑ์ประเภทต่างๆ (กระดาษ พลาสติก โลหะ และแก้ว) นิยมใช้กันมากเพราะมีราคาถูก น้ำหนักเบา ง่ายต่อการปรับรูปร่างให้เหมาะสมกับขนาดของสินค้าที่บรรจุ สลายตัวได้ง่ายและสามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ (Reuse and Recycle) จึงจัดเป็นบรรจุภัณฑ์ที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด ซึ่งสามารถตอบโจทย์กระแสการลดปัญหาโลกร้อนและเทรนด์รักสุขภาพได้

ความต้องการบรรจุภัณฑ์กระดาษไทย ยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในปี 2556

• ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ในปี 2556 ปริมาณการผลิตและจำหน่ายบรรจุภัณฑ์กระดาษของไทยจะยังมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากปี 2555 โดยเฉพาะกล่องกระดาษลูกฟูก ที่ปริมาณการผลิตน่าจะขยายตัวประมาณร้อยละ 5.01 (YoY) มาอยู่ที่ 6.13 แสนตัน ฟื้นตัวดีขึ้นหลังจากที่หดตัวลงร้อยละ 1.53 (YoY) ในปี 2555 ซึ่งเป็นผลมาจากกำลังการผลิตที่ฟื้นกลับสู่ภาวะปกติ รวมถึงการปรับประสิทธิภาพการผลิตของผู้ประกอบการ ขณะที่ปริมาณการจำหน่ายในประเทศน่าจะยังสามารถขยายตัวได้ประมาณร้อยละ 2.55 (YoY) เพิ่มขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 0.76 (YoY) ในปี 2555

• ปัจจัยสนับสนุนการขยายตัวของอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์กระดาษไทย มาจากความต้องการที่เพิ่มขึ้นจากภาคอุตสาหกรรมในประเทศ ที่ใช้บรรจุภัณฑ์กระดาษเป็นส่วนประกอบสำคัญในการบรรจุสินค้า นำโดย กลุ่มสินค้าอุตสาหกรรมอาหาร (อาหารสำเร็จรูป อาหารสด และเครื่องดื่ม ซึ่งใช้บรรจุภัณฑ์กระดาษคิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 40 ของภาคการผลิตที่ใช้บรรจุภัณฑ์กระดาษทั้งหมด) รองลงมาคือ กลุ่มผู้ผลิตสินค้าอุปโภคบริโภค (เสื้อผ้า รองเท้า และสินค้าเบ็ดเตล็ดอื่นๆ) และกลุ่มผู้ผลิตสินค้าอุตสาหกรรม (อุปกรณ์การแพทย์ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องใช้ไฟฟ้า)

• ทั้งนี้ แม้ว่าในบางหมวดอุตสาหกรรมข้างต้น อาจมีภาพการปรับตัวในปี 2556 ที่ไม่ค่อยสดใสนัก จากการเผชิญกับปัจจัยลบหลายด้าน ทั้งเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าที่ยังเปราะบาง การปรับตัวขึ้นของต้นทุน และความผันผวนของค่าเงิน อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจในประเทศที่ยังน่าจะสามารถรักษาอัตราการขยายตัวไว้ได้ คงจะทำให้ความต้องการบรรจุภัณฑ์กระดาษเพื่อรองรับกิจกรรมในภาคการผลิตของอุตสาหกรรมต่างๆ ยังคงมีอยู่

นอกจากนี้ ต้องยอมรับว่า เนื่องจากบรรจุภัณฑ์กระดาษมีหลายประเภทและหลายผลิตภัณฑ์ ได้แก่ กล่องกระดาษแข็งแบบพับได้ กล่องกระดาษแข็งแบบคงรูป กล่องกระดาษลูกฟูก ถุงกระดาษ แก้วกระดาษ เป็นต้น ดังนั้น เพื่อให้สามารถตอบโจทย์สำหรับบางสินค้าที่มีความเฉพาะเจาะจง หรือจากการที่วัตถุดิบในการผลิตบรรจุภัณฑ์กระดาษของไทยที่ยังไม่เพียงพอ ภาคอุตสาหกรรมไทยจึงยังคงต้องพึ่งพาการนำเข้าบรรจุภัณฑ์กระดาษจากต่างประเทศด้วย ซึ่งในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2556 ไทยมีการนำเข้าบรรจุภัณฑ์กระดาษเป็นมูลค่า 1,121 ล้านบาท เทียบกับในช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าที่มีมูลค่าประมาณ 1,060 ล้านบาท โดยนำเข้ามาจาก จีน และมาเลเซีย เป็นหลัก ขณะที่ในระยะถัดไป ภายใต้ทรัพยากร/วัตถุดิบที่มีจำกัด ผู้ประกอบการควรเน้นการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตอย่างต่อเนื่อง โดยอาศัยการออกแบบ และการนำเทคโนโลยีเข้ามาเป็นตัวช่วยเสริมให้ตรงกับความต้องการใช้ในอุตสาหกรรมต่างๆ มากขึ้น อันจะทำให้ความจำเป็นที่ต้องพึ่งพาการนำเข้าบรรจุภัณฑ์กระดาษมีน้อยลง

สำหรับการส่งออกบรรจุภัณฑ์กระดาษโดยตรงของไทยในปี 2556 คาดว่าน่าจะมีแนวโน้มทรงตัว จากปี 2555 ที่บันทึกมูลค่าส่งออก 5,424 ล้านบาท (ขยายตัวร้อยละ 24.97 (YoY)) หลังจากที่การส่งออกในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2556 มีมูลค่า 1,719 ล้านบาท (ขยายตัวร้อยละ 0.75 (YoY)) โดยการส่งออกบรรจุภัณฑ์กระดาษของไทยไปยังตลาดหลัก ได้แก่ เวียดนาม อินโดนีเซีย และเกาหลีใต้ แม้ว่ายังขยายตัวเป็นตัวเลข 2 หลัก แต่ก็เป็นอัตราที่ชะลอลงจากปีก่อนหน้า ขณะที่ตลาดสหรัฐฯ ญี่ปุ่น และไต้หวันหดตัวลงอย่างมาก ซึ่งส่วนหนึ่งคาดว่าเป็นผลมาจากเศรษฐกิจโลกที่ยังมีความไม่แน่นอน และผลของค่าเงินที่ส่งผลกระทบต่อการแปลงรายได้กลับมาเป็นเงินบาทของผู้ส่งออกไทย นอกจากนี้ การที่ความต้องการภายในประเทศในปี 2556 มีแนวโน้มขยายตัวดีขึ้น ทำให้ผู้ประกอบการหันมาทำการผลิตเพื่อตอบสนองตลาดภายในประเทศเป็นหลัก เนื่องจากเป็นตลาดที่สร้างอัตรากำไรต่อหน่วยได้มากกว่าตลาดส่งออก ซึ่งต้องมีต้นทุนค่าขนส่งและดูแลรักษามากกว่า

ทั้งนี้ แม้มูลค่าการส่งออกบรรจุภัณฑ์กระดาษโดยตรงของไทยจะคิดเป็นสัดส่วนเฉลี่ยในช่วงปี 2553-2555 ที่ไม่สูง (ประมาณร้อยละ 0.07) เมื่อเทียบกับการส่งออกรวม แต่ด้วยอุปสงค์ที่แข็งแกร่งในกลุ่มประเทศอาเซียน จึงเป็นโอกาสของผู้ประกอบการไทย โดยอาศัยจุดแข็งด้านคุณภาพ ศักยภาพในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่มสูง และประสิทธิภาพการผลิตของอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง เช่น อุตสาหกรรมเยื่อกระดาษ อุตสาหกรรมสิ่งพิมพ์ ฯลฯ ประกอบกับการแสวงหา/เรียนรู้การออกแบบหรือเทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อนำมาพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้สามารถตอบโจทย์ลูกค้าได้มากขึ้น พร้อมๆ กับการหาโอกาสในการขยายฐานการผลิตทั้งในและต่างประเทศ ภายใต้รูปแบบที่เหมาะสม รวมถึงการติดตามหรือเป็น Supplier ให้กับผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมอาหาร สินค้าอุปโภค และสินค้าอุตสาหกรรมต่างๆ ของไทยที่มีการขยายฐานการลงทุนในต่างประเทศ โดยเฉพาะที่เกาะไปกับกระแสการเปิดเสรีสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ทั้งอินโดนีเซีย เวียดนาม และประเทศอื่นๆ ที่มีแนวโน้มการขยายตัวทางเศรษฐกิจ และได้รับอานิสงส์จากการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) สูงอย่างพม่า ลาว กัมพูชา และพื้นที่ใกล้เคียง อันจะช่วยให้ไทยสามารถเพิ่มช่องทางการจำหน่ายปริมาณ และเพิ่มมูลค่าการส่งออกบรรจุภัณฑ์กระดาษได้มากขึ้น

จุดเด่นของบรรจุภัณฑ์จากกระดาษ ตอบรับกระแสการลดปัญหาโลกร้อนและเทรนด์รักสุขภาพ

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ด้วยจุดเด่นของบรรจุภัณฑ์จากกระดาษที่ผลิตจากวัสดุธรรมชาติ ง่ายต่อการย่อยสลาย สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม จะได้รับอานิสงส์จากกระแสการลดปัญหาโลกร้อนและเทรนด์รักสุขภาพที่กำลังเป็นที่นิยม เนื่องจากในปัจจุบันประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัยจากบรรจุภัณฑ์ที่ใช้ เริ่มเป็นประเด็นที่ประเทศผู้นำเข้าสินค้าในหลายๆ ประเทศให้ความสำคัญ อาทิเช่น มาตรการคาร์บอนฟุตพริ้นท์ (Carbon Footprint) และฉลากลดคาร์บอน (Carbon Reduction Label) ของประเทศในกลุ่ม EU ที่จะนำเข้าเฉพาะสินค้าที่ใช้วัตถุดิบ และมีกระบวนการผลิตที่ลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เป็นต้น จึงทำให้เกิดแรงกระตุ้นให้ผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์ไทยแตกไลน์การผลิต และปรับปรุงคุณภาพของบรรจุภัณฑ์ไทยให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและผู้บริโภคมากขึ้น

ทั้งนี้ พลาสติกชีวภาพ เป็นหนึ่งในบรรจุภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อมที่กำลังได้รับความนิยมจากผู้บริโภคในปัจจุบัน รวมถึงได้รับการสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาจากหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ทำให้ช่วงหลายปีที่ผ่านมามีปริมาณการผลิตเพิ่มขึ้นอย่างเนื่อง โดยในปี 2550 มีปริมาณการผลิตอยู่ที่ 0.36 ล้านตัน (ประมาณร้อยละ 1 ของปริมาณการผลิตบรรจุภัณฑ์พลาสติกทั้งหมด) ต่อมาในปี 2554 มีปริมาณการผลิตเพิ่มขึ้นเป็น 1.16 ล้านตัน โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้มีการตั้งเป้าหมายไว้ว่าจะเพิ่มปริมาณการผลิตบรรจุภัณฑ์พลาสติกชีวภาพให้มีสัดส่วนประมาณร้อยละ 15 ของปริมาณการผลิตบรรจุภัณฑ์พลาสติกทั้งหมดให้ได้ภายในปี 2558

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการพัฒนาบรรจุภัณฑ์พลาสติกชีวภาพจะไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อทดแทนการบริโภคบรรจุภัณฑ์กระดาษโดยตรง แต่เนื่องจากข้อจำกัดที่ไม่สามารถป้องกันความชื้น และไม่คงทนของบรรจุภัณฑ์กระดาษก็อาจทำให้ผู้บริโภคหันไปเลือกใช้บรรจุภัณฑ์ประเภทอื่นทดแทนได้ ดังนั้นเพื่อเป็นการรักษาส่วนแบ่งการตลาดของอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์กระดาษไว้ ผู้ประกอบการควรมีการพัฒนารูปแบบให้มีความคงทนและแข็งแรงมากขึ้น ประกอบกับใช้เทคโนโลยีในการผลิตให้มีคุณสมบัติใกล้เคียงกับพลาสติก โดยการใช้วัสดุที่ปลอดภัย และป้องกันความชื้นหรือซึมผ่านของน้ำมาเคลือบทับพื้นผิวของบรรจุภัณฑ์กระดาษ เช่น แก้วกาแฟกระดาษ จาน ชาม และกล่องบรรจุอาหารที่ทำจากกระดาษ เพื่อให้ผู้บริโภคเลือกใช้งานได้ตามความต้องการ ภายใต้ต้นทุนที่บริหารจัดการได้ นอกจากนี้แล้วผู้ประกอบการยังควรที่จะเน้นการออกแบบเพื่อลดปริมาณการใช้กระดาษ และไม่ใช้สารฟอกสี เพราะนอกจากจะช่วยลดต้นทุนการผลิตในระยะยาวแล้ว ยังจะเป็นการปรับปรุงเพื่อให้ได้บรรจุภัณฑ์ที่เป็นไปตามกฎระเบียบของต่างประเทศ และตรงกับกระแสอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในปัจจุบันอีกด้วย