ปัจจัยบวกเสริมบริโภคเหล็ก ปีมะเส็ง ลู่ทางสดใสทั้งตลาดในไทย และกลุ่มอาเซียน

ระยะเวลา 2 – 3 ปีที่ผ่านมา ภาพรวมของอุตสาหกรรมเหล็กไทยเหมือนจะเติบโตสวนทางกับตลาดเหล็กโลก ซึ่งสาเหตุสำคัญมาจากปัจจัยหนุนภายในประเทศ อย่างการขยายตัวของภาคก่อสร้าง ทั้งโครงการภาครัฐ เช่น โครงการรถไฟฟ้าในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล เป็นต้น และการเติบโตของอสังหาริมทรัพย์ของภาคเอกชน ในส่วนของที่อยู่อาศัยและพาณิชยกรรม โดยเฉพาะที่อยู่อาศัยแนวสูงหรือคอนโดมิเนียม นอกจากนี้ ในส่วนของภาคอุตสาหกรรมที่มีการใช้เหล็กเป็นองค์ประกอบหลักก็มีทิศทางเติบโตค่อนข้างดี อาทิ อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน ซึ่งขยายตัวมากจากอานิสงส์ของนโยบายรถคันแรกในปี 2555 ที่ผ่านมา ทั้งนี้พิจารณาอุปสงค์เหล็กในประเทศ 3 ปีที่ผ่านมา พบว่าปริมาณการใช้เหล็กในไทยเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 15.6 ต่อปี

สำหรับสถานการณ์อุตสาหกรรมเหล็ก ในช่วงครึ่งแรกของปีมะเส็ง ก็ยังเป็นภาพที่ขยายตัวได้ดี เนื่องจากภาคอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องยังเติบโต เช่น อุตสาหกรรมก่อสร้างและวัสดุก่อสร้าง และอุตสาหกรรมยานยนต์ เป็นต้น เห็นได้ว่าในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2556 นี้ ปริมาณการใช้เหล็กปรับตัวเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 22.6 คิดเป็นปริมาณ 6,532 พันเมตริกตัน (เร่งตัวขึ้นกว่าในช่วงเดียวกันของปีก่อนที่เติบโตร้อยละ 9.0) ทั้งนี้ สาเหตุสำคัญที่ปริมาณการใช้เหล็กต้นปีนี้ปรับตัวสูง มาจากการผลิตยานยนต์เพิ่มขึ้นมาก เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีที่แล้ว

นอกจากปัจจัยภายในประเทศที่ช่วยผลักดันให้อุตสาหกรรมเหล็กของไทยเติบโตแล้ว ปัจจัยบวกจากภายนอกประเทศก็มีส่วนสำคัญด้วย ทั้งนี้ ประเทศไทยมีการส่งออกเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กไปยังต่างประเทศ โดยที่มีตลาดส่งออกสำคัญ ได้แก่ ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น และประเทศในกลุ่มอาเซียน สำหรับการส่งออกเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก ในช่วงเดือนมกราคมถึงเมษายน ในปี 2556 พบว่า มีมูลค่า 81,496 ล้านบาท เติบโตร้อยละ 61.9 จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้วขยายตัวร้อยละ 3.4 โดยตลาดส่งออกที่มีอัตราเติบโตโดดเด่น คือ ออสเตรเลีย เนื่องจากผลของการปลดล็อกจากมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดเหล็กในออสเตรเลีย จึงทำให้มูลค่าส่งออกไทยเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กหลั่งไหลไปยังตลาดออสเตรเลียเพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ ทางด้านทิศทางของอุตสาหกรรมเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กในช่วงครึ่งหลังปี 2556 ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้ประเมินภาพรวมของตลาดเหล็กในประเทศและตลาดส่งออกเหล็ก ดังนี้

ตลาดเหล็กในประเทศ…อานิสงส์หลักจากอุตสาหกรรมก่อสร้าง

ในช่วงที่เหลือของปี 2556 นี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า สถานการณ์ตลาดเหล็กในประเทศไทยจะยังคงได้รับแรงสนับสนุนหลักจากปัจจัยบวกของการขยายตัวในภาคก่อสร้าง ที่มีแนวโน้มเติบโตจากการเพิ่มขึ้นของอสังหาริมทรัพย์ต่อเนื่องจากต้นปี โดยเฉพาะประเภทที่อยู่อาศัยทั้งแนวราบและแนวสูง ผนวกกับการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐ

อย่างไรก็ตาม ความต้องการใช้เหล็กในอุตสาหกรรมยานยนต์ในช่วงครึ่งปีหลัง อาจลดลงกว่าในครึ่งปีแรก หลังจากค่ายรถส่งมอบรถยนต์ ภายใต้โครงการรถยนต์คันแรกที่ค้างอยู่จนครบแล้ว ซึ่งปัจจัยฉุดจากภาคอุตสาหกรรมยานยนต์ อาจส่งผลให้ความต้องการใช้เหล็กโดยรวมในครึ่งปีหลังหดตัวลง เมื่อเทียบกับฐานที่สูงของช่วงเดียวกันในปี 2555 ที่ได้รับอานิสงส์จากมาตรการรถยนต์คันแรก

สำหรับภาพรวมในปี 2556 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ปริมาณการใช้เหล็กอาจขยายตัวราวร้อยละ 3.75 – 7.50 คิดเป็นปริมาณ 17,240 – 17,860 พันเมตริกตัน โดยเป็นอัตราที่ชะลอลง จากปีที่แล้วที่ขยายตัวร้อยละ 12.2

โดยส่วนหนึ่งในจำนวนปริมาณการใช้เหล็กทั้งหมดในปี 2556 ตามที่คาดไว้ข้างต้น จะจำแนกออกเป็นปริมาณการใช้เหล็กในภาคก่อสร้าง 10,800 – 11,300 พันเมตริกตัน หรือคิดเป็นประมาณร้อยละ 63 ของปริมาณการใช้เหล็กทั้งหมด ส่วนที่เหลือจะถูกใช้ในการผลิตของอุตสาหกรรมอื่น

ทั้งนี้ ผลิตภัณฑ์เหล็กที่ใช้ในไทยจำแนกออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ คือ ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากเหล็กทรงยาว (Long Products) และผลิตภัณฑ์ที่ทำจากเหล็กทรงแบน (Flat Products) โดยปัจจุบันภาคก่อสร้างได้นำเหล็กทรงแบนมาแปรรูปเป็นวัสดุก่อสร้างเพื่อใช้ในงานโครงสร้างมากขึ้น อาทิ เหล็กโครงสร้างรูปตัวซี และท่อเหล็ก เป็นต้น แต่เดิมผลิตจากกลุ่มเหล็กทรงยาวเกือบทั้งหมด ส่วนผลิตภัณฑ์ที่ทำจากเหล็กทรงแบนถูกใช้เป็นองค์ประกอบหนึ่งในอุตสาหกรรมการผลิตต่างๆ เช่น การนำเหล็กแผ่นรีดร้อนและรีดเย็นไปใช้ขึ้นรูปชิ้นส่วนยานยนต์ หรือเป็นส่วนประกอบหนึ่งของผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น ซึ่งจากการศึกษาการใช้เหล็กในอุตสาหกรรมก่อสร้างของสถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย (2553) พบว่าสัดส่วนการใช้เหล็กทรงยาวและและเหล็กทรงแบนในภาคก่อสร้าง อยู่ที่ร้อยละ 88 และ 62 ตามลำดับ ส่วนที่เหลือก็จะถูกนำไปใช้ในอุตสาหกรรมการผลิตอื่น อาทิ เครื่องจักรกลการเกษตร และบรรจุภัณฑ์

ตลาดเหล็กต่างประเทศ…กลุ่มประเทศอาเซียนยังเป็นเป้าหมายของไทย

สำหรับปัจจัยบวกภายนอกที่จะส่งเสริมอุตสาหกรรมเหล็กไทย ก็คือ ความต้องการใช้เหล็กจากตลาดต่างประเทศ ซึ่งสะท้อนจากมูลค่าการส่งออกเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กของไทย ทั้งนี้ ตลาดต่างประเทศที่สำคัญแต่ละแห่งก็มีลักษณะความต้องการใช้เหล็กแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับสภาวะแวดล้อมและการเติบโตของอุตสาหกรรมในประเทศนั้น ยกตัวอย่างเช่น ประเทศในกลุ่มอาเซียน โดยเฉพาะ CLMV ยังต้องการพัฒนาสิ่งจำเป็นพื้นฐานอยู่มาก ทำให้มีความต้องการใช้เหล็กในกลุ่มวัสดุก่อสร้างสูงขึ้น ขณะเดียวกัน ภาคอุตสาหกรรมก็กำลังเติบโตจากนักลงทุนต่างชาติ ส่งผลให้มีความต้องการใช้เหล็กแผ่นเพื่อใช้ในงานอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น ขณะที่ออสเตรเลีย การก่อสร้างอาคารแบบสำเร็จ (Prefabricated Building) กำลังเติบโต จึงส่งผลให้ทั้งโครงก่อสร้างเหล็กแบบสำเร็จรูป และชิ้นส่วนโครงก่อสร้างเหล็กแบบยังไม่เชื่อมต่อ ที่ส่งออกไปยังตลาดออสเตรเลีย มีทิศทางขยายตัว ทั้งนี้การก่อสร้างแบบสำเร็จ เป็นวิธีก่อสร้างหนึ่งที่จะช่วยลดข้อจำกัดปัญหาขาดแคลนแรงงาน

แม้ตลาดส่งออกออสเตรเลีย จะมีอัตราขยายตัวและส่วนแบ่งตลาดส่งออกเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กในช่วงต้นปีนี้สูง แต่ตลาดอาเซียน ก็ยังเป็นเป้าหมายที่น่าจับตามอง ด้วยเหตุที่ เมื่อพิจารณาอัตราการขยายตัวที่ผ่านมา พบว่าเติบโตต่อเนื่องมาโดยตลอด และจะยังมีแนวโน้มความต้องการใช้เหล็กเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะการใช้ในงานก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นของแต่ละประเทศในอาเซียน ทั้งนี้ ตลาดอาเซียนคงส่วนแบ่งตลาดส่งออกอยู่ที่ร้อยละ 28 ของตลาดส่งออกเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กทั้งหมดของไทย และมีอัตราเติบโตเฉลี่ยต่อปีอยู่ที่ร้อยละ 14 ในช่วงเวลา 10 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สปป.ลาวและเมียนมาร์

เมื่อพิจารณาสัดส่วนการส่งออกเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กของสปป.ลาวและเมียนมาร์ ในระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา เพื่อเทียบการเปลี่ยนแปลงของส่วนแบ่งตลาดในอาเซียน พบว่าส่วนแบ่งตลาดของทั้งสองประเทศ ปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก ปี 2545 ประเทศทั้งสองอยู่ที่ราวร้อยละ 6 ของตลาดอาเซียนทั้งหมด และเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 12 และ 8 ตามลำดับ ในปี 2555 ดังนั้น จากการที่ส่วนแบ่งตลาดมีสัดส่วนเพิ่มขึ้น จึงเป็นเหตุผลสนับสนุนให้เห็นว่า สปป.ลาวและเมียนมาร์ กำลังเป็นตลาดส่งออกเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กอีกทางเลือกหนึ่งที่จะเติบโตในอนาคต

อนึ่ง ช่วงที่เหลือในปี 2556 นี้ การส่งออกเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กของไทย ยังได้รับอานิสงส์เพิ่มเติมจากผลของการได้รับยกเลิกไต่สวนจากมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดเหล็กของออสเตรเลียบวกกับผลจากการขยายตัวของภาคก่อสร้างในกลุ่มอาเซียน โดยเฉพาะสิ่งจำเป็นพื้นฐาน เพื่อรองรับเศรษฐกิจที่จะขยายตัวจากผลของการเปิดเสรีประชาคมอาเซียน ก็จะทำให้มูลค่าส่งออกเหล็กไทยไปยังทั้งสองตลาดนี้ปรับตัวเพิ่มขึ้น

ด้วยเหตุนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จึงคาดว่า อานิสงส์จากปัจจัยบวกข้างต้น จะเป็นโอกาสที่ดีที่จะทำให้มูลค่าส่งออกเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กทั้งหมดของไทยตลอดทั้งปีนี้ เติบโตร้อยละ 13 – 20 หรือคิดเป็นมูลค่า 250,500 – 266,000ล้านบาท ซึ่งยังคงเป็นอัตราสูง แม้ว่าจะชะลอลงจากปีก่อนที่เติบโตร้อยละ 43.6 ในจำนวนนี้เป็นการส่งออกเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กไปยังกลุ่มอาเซียน มูลค่า 66,800 – 71,000 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 10.5 – 17.5 เร่งตัวขึ้นจากปีที่แล้วที่เติบโตร้อยละ 8.0

นอกเหนือจากโอกาสและบรรยากาศการลงทุนที่ดีสำหรับตลาดเหล็กทั้งในและต่างประเทศในปีงูเล็กแล้ว ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมเหล็กของไทย ก็ควรเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือกับอุปสรรคที่อาจจะเกิดขึ้นในช่วงที่เหลืออยู่ในปี 2556 ทั้งนี้ปัจจัยเสี่ยงที่ควรระวัง คือ ความผันผวนของค่าเงินบาท ความชัดเจนของนโยบายภาครัฐ เสถียรภาพทางเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้า และทิศทางการเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมการผลิตบางกลุ่ม เช่น อุตสาหกรรมกระป๋องบรรจุภัณฑ์หันไปใช้อะลูมิเนียมทดแทนเหล็ก เป็นต้น

และสำหรับปัญหาการทุ่มตลาดเหล็ก ก็ยังเป็นประเด็นที่ควรติดตามต่อไปในระยะข้างหน้า ซึ่งไม่เพียงแต่ประเทศไทยเท่านั้น แต่ยังมีอีกหลายประเทศที่ได้รับผลกระทบ อย่างไรก็ตาม หน่วยงานภาครัฐของไทยที่เกี่ยวข้อง ก็ควรพิจารณาถึงผลกระทบของการใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดเหล็ก โดยเฉพาะการกำหนดกรอบระยะเวลาของมาตรการฯ เพื่อให้เกิดผลประโยชน์ต่อส่วนรวมสูงสุด