ซีคอน โฮม กระเทาะเปลือกธุรกิจรับสร้างบ้าน คาด “ปัญหาแรงงาน” จะเป็นจุดเปลี่ยนกลไกธุรกิจ เตรียมพร้อมเทคโนโลยีรับมือ

พี่ใหญ่ธุรกิจรับสร้างบ้าน “ซีคอน โฮม” ชี้ปัญหาแรงงานจะเป็นจุดพลิกโฉมครั้งใหญ่ของวงการ ประกาศพร้อมรับมือผ่านจุดขายระบบก่อสร้าง “ซีคอน” ที่เป็นที่ยอมรับมาตลอด 52 ปี เตรียมแผน รับกำลังซื้อในกลุ่มแมสในระดับราคา 2 – 5 ล้านบาท อย่างเต็มที่ อัดฉีดความรู้และประสบการณ์ แก่พนักงาน หวังครองความนิยมสู่อนาคต

นายกอบชัย ซอโสตถิกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีคอน โฮม จำกัด แสดงวิสัยทัศน์แห่งผู้บุกเบิกธุรกิจ รับสร้างบ้านของเมืองไทยว่า เมื่อมองย้อนกลับไปเมื่อ 52 ที่ผ่านมา เมืองไทยยังไม่มีบริการรับสร้างบ้านดังเช่น ปัจจุบัน การสร้างบ้านหลังใหญ่ต้องจ้างสถาปนิกดำเนินการออกแบบเฉพาะและหาผู้รับเหมามาดำเนินการก่อสร้างเอง แต่การสร้างบ้านในระดับราคาไม่สูงมากนัก มักจะจ้างผู้รับเหมารายย่อยสร้างให้ เป็นแบบง่ายๆ ที่สามารถบอกช่าง ให้สร้างเองหรือไม่ก็ให้เทศบาลทำแบบให้ และด้วยการมองเห็นโอกาสทางธุรกิจดังกล่าว ซีคอน โฮม จึงถูกก่อตั้งขึ้น ในฐานะบริษัทรับสร้างบ้านรายแรกของเมืองไทย และเริ่มจากการทำบ้านในราคาระดับแมส ที่เน้นความแข็งแรง ประหยัด เรียบง่าย สร้างเสร็จเร็ว จนเป็นที่ยอมรับของกลุ่มคนไทยในยุคนั้นอย่างกว้างขว้าง ด้วยราคาก่อสร้างเริ่มต้นที่ 70,000 บาท ตลาดรับสร้างบ้านในไทยเริ่มคึกคักขึ้นเมื่อ 30 ปีที่ผ่านมา เพราะเริ่มมีบริษัทรับสร้างบ้านน้องใหม่เกิดขึ้นอย่างแพร่หลาย ทั้งยังมีการพัฒนาแบบบ้านให้อยู่ในระดับราคาที่สูงขึ้นและสวยงามมากขึ้น เพื่อจับตลาดในกลุ่มราคาที่สูงขึ้น โดยยังคงมี ซีคอน โฮม เป็นผู้นำตลาดอย่างต่อเนื่องเพราะได้ใช้ระบบ Prefab (เสา คาน พื้น ผนัง) ในการสร้างบ้านขายทั้งหมด แต่ต่อมาพบว่าการใช้ผนังสำเร็จรูป ทำให้การออกแบบไม่คล่องตัว การจะทำแบบ ให้สวยงามจำเป็นต้องตัดผนังสำเร็จรูปออกไปเหลือสำเร็จรูปแค่เพียงเสา คาน และพื้น ซึ่งทำให้สามารถออกแบบบ้าน ได้เสมือนกับระบบหล่อในที่ เพราะออกแบบบ้านในระดับราคาที่สูงขึ้น ต้องให้ความสำคัญกับความสวยงามด้วยไม่ใช่เน้นเพียงฟังก์ชั่นอย่างเดียว

“บริการรับสร้างบ้านในปัจจุบันแตกต่างจากเมื่อ 52 ปีก่อน ที่เห็นชัดคือ บริษัทรับสร้างบ้านในระดับราคาสูงๆ มีมากกว่า บริษัทรับสร้างบ้านระดับแมส และตลาดในระดับแมสปัจจุบันกลับกลายไปอยู่ในมือผู้รับเหมารายย่อยเป็นหลัก” นายกอบชัยกล่าวถึงการเปลี่ยนแปลงของภาพรวมตลาดรับสร้างบ้านของไทยจากอดีตสู่ปัจจุบัน “ในปัจจุบัน บ้านมีราคาแพงมากขึ้นเรื่อยๆ และแพงแบบก้าวกระโดดในช่วงสองปีที่ผ่านมา สาเหตุหลักมาจากค่าแรงที่แพงขึ้น ตามมาด้วยวัสดุก่อสร้างพี่แพงขึ้น ในที่สุดประชาชนส่วนใหญ่จะไม่สามารถปลูกบ้านหรือซื้อบ้านสำเร็จรูปได้ในเงินจำนวนที่เท่ากันกับที่เคยปลูกบ้านได้เมื่อก่อน อาจจะต้องไปซื้อคอนโดเล็กๆ ตามแนวรถไฟฟ้าในเมืองอยู่แทน ส่วนคนที่ต้องการบ้านระดับราคาสูงๆ อาจจะสู้กับราคาได้ไปในระยะเวลาหนึ่ง สุดท้ายอาจต้านทานไม่ไหว ซึ่งก็เป็นแบบแผนเดียวกับประเทศที่พัฒนาเต็มที่แล้วอย่างสิงคโปร์หรือฮ่องกง ดังนั้นภาพของธุรกิจรับสร้างบ้านจะเปลี่ยนไป โดยส่วนใหญ่จะต้องขายบ้านที่เล็กลงเพื่อให้ประชาชนส่วนใหญ่สามารถมีกำลังสร้างได้ และต้องเป็นบ้านที่ประหยัด เน้นพื้นที่ใช้สอยมากกว่าความสวยงาม บ้านต้องใช้เทคโนโลยีมากขึ้น และแน่นอน ต้องใช้แรงงานน้อยลงซึ่งสาเหตุของการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวก็คือ แรงงานที่มีจำกัดลงไปทุกวันๆ และอาจมีคำถามว่าแรงงานขาดแคลนก็นำแรงงานต่างด้าวแทนได้ไม่ใช่หรือ โดยส่วนตัวมองว่าแรงงานต่างด้าวจะชะลอการเปลี่ยนแปลง ได้แค่ชั่วคราว ในที่สุดก็ต้องเปลี่ยนแปลงเหมือนเช่นที่ต่างประเทศเขาเปลี่ยน อาจจจะ 10 – 20 ปีข้างหน้าเพราะประเทศเราก็ต้องพัฒนาไปเรื่อยๆ ด้วยเช่นกัน”

เกี่ยวกับนโยบายของ ซีคอน โฮม กับการปรับตัวรับมือกับปัญหาดังกล่าว นายกอบชัย กล่าวเสริมว่า “ซีคอน โฮม มีการพัฒนาธุรกิจควบคู่ไปกับการพัฒนาเทคโนโลยีอยู่ตลอดเวลา เพื่อให้สอดคล้องกับสภาวะการณ์และสภาพตลาด ที่เกิดขึ้น ตลอดระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมา ธุรกิจรับสร้างบ้านต้องเผชิญกับปัญหาแรงงาน ทำให้เราเริ่มวางนโยบาย ด้านเทคโนโลยีเพิ่มมากขึ้นพอๆ กับการทำตลาด กล่าวคือ ให้มีการเกิดงานสำเร็จรูปในโรงงานมากขึ้นกว่าเดิม อาทิ มีการหล่อบันไดสำเร็จรูปยกไปติดตั้ง และนำระบบผนังสำเร็จรูปกลับมาใช้อีกในบ้านทุกระดับราคา เพื่อให้ได้ทั้งฟังก์ชั่นและแบบที่สวยงามอย่างสมดุลย์ รวมทั้งมีการระมัดระวังไม่รับงานเกินขีดความสามารถที่จะทำได้ รวมถึงการปรับรูปแบบบ้านให้ตอบโจทย์ความต้องการของคนส่วนใหญ่ พร้อมทั้งให้ความสำคัญของแก่นแท้และ จิตวิญญาณของการอยู่อาศัย มากกว่าความสวยงามเพียงเปลือกนอก ซึ่งถือเป็นตลาดที่ถนัดของเรา โดยชูจุดแข็งด้านระบบการก่อสร้าง หรือระบบโครงสร้างกึ่งสำเร็จรูป ที่เรียกว่า Seacon Construction System (SCS) เพื่อรับกับปัญหาการขาดแคลนแรงงาน นอกจากนี้ ประสบการณ์ในฐานะผู้บุกเบิกธุรกิจตลอด 52 ปีที่ผ่านมา ทั้งด้านการออกแบบให้ตรง ความต้องการของคนส่วนใหญ่หรือการเก็บรวบรวมข้อบกพร่องต่างๆ ในการก่อสร้างแล้วนำไปปรับปรุงแก้ไข ไม่ให้เกิดซ้ำอีก และแน่นอนที่สุดเรื่องที่มีมาตลอดตั้งแต่ริเริ่มธุรกิจคือเรื่องของคุณภาพงานก่อสร้าง อันเนื่องมาจากนโยบายด้านความแข็งแรงทนทานของโครงสร้างและส่วนที่เกี่ยวเนื่องกัน”

ด้านนางสาวศุภิชชา ชัยพิพัฒน์ ผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ซีคอน โฮม จำกัด เปิดเผยถึงผลประกอบการ ของซีคอน โฮม ในครึ่งปีแรกว่า ซีคอน โฮม สามารถสร้างยอดขายรวมกว่า 590 ล้านบาท แยกเป็น ซีคอน โฮม 49 หลัง มูลค่า 390 ล้านบาท คอมแพค โฮมและบัดเจทโฮมรวม 78 หลัง มูลค่า 200 ล้านบาท ซึ่งช่วงครึ่งปีหลัง เป็นช่วงที่ลูกค้าตัดสินใจสร้างบ้านมากกว่าช่วงต้นปี ดังนั้นเรามั่นใจว่าจะมียอดขายทั้งปีได้ตามเป้าที่ตั้งไว้ที่ 1,300 ล้านบาท ทั้งนี้ เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาพบว่ายังไม่มีการเปลี่ยนแปลงมากนัก หากพิจารณาจาก จำนวนหลังจะเห็นว่าบ้านหลังเล็กจะมีสัดส่วนการขายที่ดีกว่าบ้านหลังใหญ่ในอัตราร้อยละ 60 และ 40 ตามลำดับ แต่มูลค่ายอดขายจะกลับกันอยู่ที่บ้านหลังเล็กมีมูลค่ารวมร้อยละ 35 ในขณะที่บ้านหลังใหญ่มีมูลค่ารวมอยู่ที่ร้อยละ 65

เมื่อวิเคราะห์ถึงพฤติกรรมผู้บริโภค ณ ปัจจุบัน นางสาวศุภิชชา กล่าวแสดงความเห็นต่อประเด็นดังกล่าวว่า “ปัจจุบันผู้บริโภคมีความรอบรู้มากขึ้น โดยจะเลือกสรรแต่ของที่ดีที่เหมาะสมกับตนเองที่สุด ตั้งแต่หาข้อมูลบริษัท รับสร้างบ้าน แบบบ้าน วัสดุก่อสร้าง หรือแม้กระทั่งความรู้และเทคนิคในการสร้างบ้าน ดังนั้นวันที่ลูกค้าตัดสินใจ เดินเข้ามาคุยรายละเอียดกับเรา ดังนั้น การพัฒนาบุคลากรให้มีความรอบรู้และมากประสบการณ์ จึงเป็นเรื่องที่ธุรกิจ รับสร้างบ้านไม่สามารถมองข้ามได้ ปัจจุบัน ซีคอน โฮม มีการฝึกอบรมเพิ่มความรู้อย่างสม่ำเสมอเพื่อให้พนักงาน ของเราเป็นผู้รู้จริงในงานที่ทำและสามารถเป็นที่ปรึกษาให้กับลูกค้าได้”