อนาคตที่ท้าทายด้านพลังงานของไทย…ยังเป็นประเด็นที่ต้องเตรียมรับมือ

ในช่วงครึ่งแรกของปี 2556 ความต้องการใช้พลังงานของไทย อยู่ที่ปริมาณ 37,962 พันตันเทียบเท่าน้ำมันดิบ (ktoe) เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.4 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน คิดเป็นมูลค่า 8.7 แสนล้านบาท โดยน้ำมันสำเร็จรูปเป็นพลังงานที่มีสัดส่วนความต้องการใช้สูงที่สุด รองลงมาคือ พลังงานไฟฟ้า พลังงานหมุนเวียน ก๊าซธรรมชาติ และถ่านหิน/ลิกไนต์ ตามลำดับ

ทั้งนี้ ความต้องการใช้พลังงานที่ยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ไทยจำเป็นต้องพึ่งพาการนำเข้าพลังงานจากต่างประเทศ โดยในช่วงครึ่งแรกของปี 2556 ปริมาณการนำเข้าพลังงานของไทยอยู่ที่ 1.15 ล้านบาร์เรล/วัน (เทียบเท่าน้ำมันดิบ) ปรับเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 4.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เมื่อพิจารณาเป็นรายประเภทพลังงาน พบว่า พลังงานที่มีปริมาณการนำเข้าเพิ่มขึ้น ประกอบไปด้วย ก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ก๊าซธรรมชาติ (NG) และผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมบางประเภท ซึ่งรวมถึงก๊าซ LPG หรือก๊าซหุงต้ม ในขณะที่ น้ำมันดิบ มีการนำเข้าลดลงเล็กน้อย ซึ่งเป็นผลจากการสนับสนุนให้มีการใช้พลังงานทดแทนมากขึ้น ทั้งเอทานอลและไบโอดีเซล สอดคล้องกับนโยบายการยกเลิกน้ำมันเบนซิน 91 เมื่อต้นปีที่ผ่านมา

จากสถิติข้างต้น สะท้อนได้ว่า ไทยพึ่งพาพลังงานจากต่างประเทศเป็นสัดส่วนสูง เพราะพลังงานที่ไทยผลิตได้นั้น ไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้และจำเป็นต้องมีการนำเข้า ขณะที่ ราคาพลังงานที่ต่ำกว่าความเป็นจริง อาจมีผลกระทบต่อประสิทธิภาพการใช้พลังงาน รวมถึงกระทบต่อความมั่นคงด้านพลังงานของไทยในอนาคต

ทั้งนี้ ผลจากความต้องการใช้พลังงานที่ปรับเพิ่มขึ้นตามการขยายตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ในขณะที่ทรัพยากรด้านพลังงานของไทยถูกใช้จนร่อยหลอลงเรื่อยๆ (ข้อมูลกระทรวงพลังงาน บ่งชี้ว่าไทยมีน้ำมันดิบสำรองเหลือใช้อีกประมาณ 4-16 ปี ด้านก๊าซธรรมชาติอีกราว 10-28 ปี) นั้น ส่งผลให้ปริมาณและมูลค่าการนำเข้าพลังงานในประเภทต่างๆ มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นในอนาคต โดยมีรายละเอียด ดังนี้

ประเภทพลังงาน แนวโน้มการนำเข้าพลังงานในอนาคต
น้ำมันดิบ ไทยนำเข้าน้ำมันมากกว่าร้อยละ 80 ของปริมาณความต้องการใช้ หรือประมาณกว่า 8 แสนบาร์เรล/วัน ประกอบกับภาครัฐมีแผนการเพิ่มสำรองน้ำมันเชิงยุทธศาสตร์จาก 36 วันเป็น 90 วัน ทำให้ต้องเพิ่มสำรองน้ำมันจากประมาณ 23 ล้านบาร์เรลในปัจจุบัน เป็นประมาณ 58 ล้านบาร์เรล
ก๊าซธรรมชาติ ตามแผนในระยะสั้น (ปี 2555-2563) จะมีการจัดหาก๊าซธรรมชาติในประเทศจากสัญญาฯ ที่มีอยู่ในปัจจุบัน และจากแหล่งก๊าซธรรมชาติเดิมที่ขยายอายุสัมปทาน รวมทั้งจัดหาจากแหล่งก๊าซธรรมชาติในประเทศเมียนมาร์ และตั้งแต่ปี 2564 เป็นต้นไป จะจัดหาจากแหล่งก๊าซธรรมชาติในประเทศอินโดนีเซีย
ก๊าซหุงต้ม (LPG) คาดการณ์ว่าจะมีความต้องการนำเข้า 10.4 ล้านตัน ในปี 2573 ในกรณีที่ไม่สามารถหาแหล่งก๊าซอื่นๆ มาทดแทนแหล่งก๊าซที่กำลังหมดไปได้
ก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) คาดการณ์ว่าไทยจะมีความต้องการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลวประมาณ 23.2 ล้านตันในปี 2573 มาทดแทนก๊าซธรรมชาติในประเทศที่กำลังหมดลงอย่างรวดเร็ว เพื่อป้อนให้กับภาคการผลิตไฟฟ้า อุตสาหกรรมและภาคขนส่ง
ไฟฟ้า การรับซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศประมาณ 2,405 เมกะวัตต์ในปี 2555 อาจเพิ่มขึ้นเป็น 8,631 เมกะวัตต์ในปี 2573 รวมทั้งการรับซื้อไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังงานทดแทนจะปรับตัวเพิ่มขึ้น
ที่มา: มติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ และแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า 2555-2573 (PDP 2010 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 3)รวบรวมโดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย

จากข้อมูลดังกล่าว แสดงให้เห็นถึงการพึ่งพาพลังงานจากต่างประเทศในอนาคต ซึ่งจะเป็นประเด็นท้าทายต่อทั้งความมั่นคงด้านพลังงาน เม็ดเงินที่ใช้จากการอุดหนุนราคาพลังงาน รวมทั้งการสูญเสียเงินตราต่างประเทศจำนวนมากเพื่อนำเข้าพลังงานจากต่างประเทศ อันในที่สุดอาจจะเป็นปัจจัยที่สร้างแรงกดดันต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจผ่านความเป็นไปได้ของการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเงินบาทมีทิศทางอ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น การบริหารจัดการด้านพลังงานในระยะต่อไป จึงต้องใช้หลายๆ มาตรการประกอบกัน ทั้งการสำรวจหาแหล่งพลังงานในประเทศเพิ่มเติม เพื่อเพิ่มปริมาณพลังงานสำรองในประเทศ ในขณะเดียวกัน ก็ต้องส่งเสริมและผลักดันให้ภาคส่วนต่างๆ มีการใช้พลังงานอย่างประหยัดและมีประสิทธิภาพ ควบคู่ไปกับการสนับสนุนการใช้พลังงานทดแทนซึ่งสามารถหาวัตถุดิบผลิตได้ในประเทศ โดยจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่ายในการดำเนินการ