ค่ายสิ่งประดิษฐ์ ปตท. เติมเต็มทักษะเยาวชน ครู เพื่อนวัตกรรมสร้างอนาคต

ทุกวินาทีที่ผ่านไป โลกของเรากำลังก้าวไปสู่อนาคตที่ท้าทายยิ่งขึ้น ด้วยความจำกัดของทรัพยากรที่ลดลงทุกวัน การค้นหาแนวคิดใหม่ การสร้างสรรค์นวัตกรรมและความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี เพื่อสร้างสิ่งทดแทนและสิ่งใหม่ที่ดีกว่า จึงเป็น “เครื่องมือ” สำคัญที่ปกป้องความเป็นอยู่ของโลกให้ยังคงความสมดุล สร้างการเติบโตทางธุรกิจและพัฒนาทุกมิติของชีวิต เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมให้ก้าวไปพร้อมกันอย่างยั่งยืน

ด้วยเหตุนี้บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) จึงได้จัดการประกวดสิ่งประดิษฐ์ด้านพลังงาน โครงการสิ่งประดิษฐ์ ปตท. ประจำปี 2556 หรือ PTT YOUTH CAMP 2013 ขึ้นเพื่อเปิดโอกาสให้นักเรียน นักศึกษา ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น มัธยมศึกษาตอนปลาย และอาชีวศึกษา (ปวช. ปวส. ปวท.) หรือเทียบเท่าได้ส่งผลงานเข้าแข่งขันในหัวข้อหลักคือ “นวัตกรรม สร้างอนาคต: INNOVATION CREATES THE NEXT” และนำผู้ที่ผ่านเข้ารอบ 30 ทีมสุดท้ายมาเข้าค่ายสิ่งประดิษฐ์ ปตท. ร่วมกัน เพื่อพัฒนาทักษะด้านต่างๆ ที่จำเป็นในการสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่ออนาคต ณ บ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย จ.ปทุมธานี ระหว่างวันที่ 6 – 8 กันยายน

โดยวันแรกในค่ายจะมุ่งเน้นการวิเคราะห์หาจุดที่ต้องปรับปรุงในแต่ละผลงานด้วย กิจกรรมเข้าคลินิก คิดแก้ปัญหา ผ่านกระบวนการถาม-ตอบระหว่างผู้เข้าร่วมกิจกรรมด้วยกันเพื่อเพิ่มเติมมุมมองในการพัฒนาสิ่งประดิษฐ์ พร้อมชี้แนะปัญหาโดยวิทยากร พร้อมเรียนรู้ Fish Bone Diagram เครื่องมือที่ช่วยให้เห็นปัญหาของแต่ละผลงานได้อย่างชัดเจน ทำให้สามารถค้นหา วิธีในการแก้ปัญหาผลงานของตัวเองได้อย่างตรงจุด สำหรับวันที่สองนักเรียนนักศึกษาจะได้เรียนรู้เรื่องการฝึกคิดอย่างมีเหตุมีผล การทำงานเป็นทีม และการรู้จักแก้ปัญหาจากทรัพยากรที่มีอยู่ จากนั้นต่อด้วยกิจกรรมที่จะพัฒนาทักษะการนำเสนอผลงานให้น่าสนใจ ตรงประเด็น และเต็มประสิทธิภาพ ในวันสุดท้ายผู้เข้าร่วมค่ายได้นำเสนอผลงานของตนต่อหน้าคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ พร้อมรับฟังข้อเสนอแนะจากกรรมการไปปรับใช้ในการพัฒนาโครงงานสิ่งประดิษฐ์ต่อไป

ที่สำคัญคือภายในค่ายครั้งนี้ กลุ่ม ปตท.ได้จัด “กระบวนการเรียนครู” คู่ขนานไปกับการเรียนรู้ของเยาวชน โดยเพิ่มทักษะการคิดเชิงวิเคราะห์ การตั้งคำถาม และกระบวนการคิดอย่างมีเหตุผล เพื่อพัฒนา “ครู” ให้กลายเป็น “โค้ช” ที่จะเป็นกำลังสำคัญพัฒนาโครงงานสิ่งประดิษฐ์ของทีมต่อไป

ผู้ช่วยผู้อำนวยการบัณฑิตวิทยาลัยร่วมด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม (JGSEE) ดร.อธิคม บางวิวัฒน์ กล่าวถึงผลงานในปีนี้ว่า “ผลงานที่ผ่านการคัดเลือกรอบทั้ง 30 ทีมในปีนี้มีการเตรียมตัวและคิดมาอย่างดี หลายกลุ่มมีแนวทางสามารถนำไปพัฒนาได้ โดยจุดที่ควรพัฒนาสำหรับเด็กอาชีวศึกษาที่เก่งเรื่องการลงมือปฏิบัติ คือเรื่องการนำทฤษฎีมาอธิบายเพิ่มเติมในผลงานให้ชัดเจน ในส่วนของมัธยมปลายจะเก่งเรื่องทฤษฎี และเด็กมัธยมต้นจะเด่นเรื่องความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งทั้ง 2 ระดับนี้ ควรเพิ่มทักษะด้านการปฏิบัติในลำดับต่อไป” นอกจากนี้ยังได้ฝากข้อคิดไว้อีกว่า “ให้เรามองรอบๆ ตัวเองมีปัญหาอะไรบ้างที่เราสามารถนำความรู้มาช่วยพัฒนาแก้ปัญหาชุมชนได้บ้าง ซึ่งงานที่ทำอาจจะนำของเก่าที่มีอยู่แล้วมาปรับปรุงให้ดีขึ้นแค่นี้ก็มีประโยชน์มากพอแล้ว”

“หนุ่ย” นายธวัฒชัย บุญรักษา นักศึกษามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตสกลนคร จ.สกลนคร เล่าว่านอกจากคำถาม และคำแนะนำของวิทยากรที่มีประโยชน์ ในการนำไปพัฒนาต่อยอดผลงานได้แล้ว “เกมจับให้ได้ถ้าแน่จริง และเกมดี เด่น เด็ดเป็นกิจกรรมที่ชอบมากๆ เพราะช่วยฝึกให้ผมรู้จักคิดวิเคราะห์ และนำเสนอเพื่อเพิ่มมูลค่าของสิ่งประดิษฐ์ตัวเอง เพราะถ้าสิ่งประดิษฐ์เราดีแต่เรานำเสนอไม่ดี คนอื่นก็จะไม่เห็นคุณค่าที่แท้จริงจากสิ่งประดิษฐ์ของเรา” และอีกสิ่งหนึ่งที่หนุ่ยประทับใจก็คือมิตรภาพของเพื่อนต่างสถาบันและการได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ถึงวัฒนธรรมมากมายของเพื่อนต่างท้องถิ่นอีกด้วย

ด้านอาจารย์วีรโชติ ทับพยุง โรงเรียนนครนายกวิทยาคม จ.นครนายก กล่าวถึงกระบวนการครูที่เสริมกระบวนการคิด และทักษะที่จำเป็นสำหรับการพัฒนาผลงานของทีมว่า “การที่ได้ รศ. ไพโรจน์ คีรีรัตน์จากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มาเป็นวิทยากรเป็นประโยชน์ต่อกลุ่มอาจารย์เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะเรื่องการสอนวิทยาศาสตร์ที่ต้องมีกระบวนการที่เป็นระบบ คิดอย่างมีเหตุผล ที่สำคัญต้องสอดแทรกเรื่องคุณธรรมและจริยธรรมเข้าไปด้วยเพื่อให้ได้เด็กที่เก่งและดี ผมจะนำสิ่งที่ได้จากวันนี้กลับไปสอนนักเรียนในรุ่นนี้และรุ่นต่อ ๆ ไป”

จากการได้ร่วมกันคิด ร่วมกันแก้ปัญหาและฝ่าฟันอุปสรรคต่าง ๆ ร่วมกัน ตั้งแต่ก่อนเข้าค่ายจนกระทั่งการเข้าค่ายสิ้นสุดลง หลังจากนี้คือการเริ่มต้นอีกครั้งที่ผู้เข้าร่วมค่ายทุกคน จะต้องช่วยกันทำความฝัน จากสิ่งที่เป็นเพียงภาพร่างในกระดาษให้ขึ้นมาเป็นความจริง ไม่ว่าระหว่างทางของการทำงานนั้นจะเจออุปสรรค ปัญหามากมายเพียงใดก็ตาม แต่เราเชื่อว่าทุกคนจะผ่านเข้ามาสู่การแข่งขันรอบชิงชนะเลิศ เพื่อชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ และทุนการศึกษามูลค่ารวมกว่า 400,000 บาทได้อย่างแน่นอน