ใครกัน? อยู่เบื้องหลังแอปฯ แต่งภาพ Momanxiangji

ต้นเดือนพฤศจิกายนปีนี้แอปฯ แต่งภาพแนวการ์ตูนจากจีนอย่าง “โหมวม่านเชี่ยงจี (Momanxiangji (魔漫相机)” ได้สร้างปรากฎการณ์ครั้งสำคัญในแอปสโตร์ของแอ๊ปเปิ้ล* เพราะสามารถไต่ขึ้นอันดับหนึ่งในสามของแอปฯ ฟรีในหลายประเทศ ไม่ว่าจะเป็น ไต้หวัน ฮ่องกง มาเลเซีย สิงคโปร์ ไทย อินโดนีเซีย และที่น่าทึ่งกว่านั้นก็คือติดอันดับ 10 ในแอปสโตร์ของอเมริกาอีกด้วย!

แอปฯ โหมวม่านเชี่ยงจี หรือ กล้องถ่ายรูปมหัศจรรย์ กลายเป็นไวรัลในไทยแค่ชั่วข้ามคืน เพราะดาราคนดังฮิตและโพสต์รูปตัวเองหลังแต่งเป็นตัวการ์ตูนลงเว็บโซเชี่ยลเน็ตเวิร์กต่างๆ และหลังจากดังไม่นานก็มาพร้อมข่าวลือในแง่ร้ายว่าแอปฯ มีการแอปแฝงเก็บเงินผู้ใช้ ซึ่งไม่เป็นความจริง เพราะตัวแอปฯ?ยังไม่ได้มีระบบการซื้อของในแอปฯ (In-App-Purchase) ทั้งที่เว็บทางการของผู้สร้างแอปฯ นี้ www.manboker.com ยังเปิดให้ดาวน์โหลด APK ได้ฟรีๆ ลงมือแอนดรอยด์ด้วย!

ดังนั้นถึงตอนนี้หลายคนคงอดสงสัยไม่ได้ว่าแอปฯ จากจีนแผ่นดินใหญ่นั้นมีอะไรดี ทำไมถึงฮอตข้ามโลกได้ในเวลาอันรวดเร็ว และที่ขาดไม่ได้ก็คือ เขาใช้วิธีการอะไรในการหารายได้จากฐานลูกค้ามากมายขนาดนี้? เรามีข้อมูลเจาะลึกมาฝากคุณกัน

ตัวจริงเรื่องซอฟท์แวร์แต่งรูป

ก่อนที่จะมาเป็นแอปฯ โหมวม่านเชี่ยงจี บริษัทแห่งนี้ได้เป็นผู้เชี่ยวชาญในการทำเว็บแต่งภาพการ์ตูนล้อที่ขึ้นชื่อว่าเหมือนคนจริงที่สุดในจีนแผ่นดินใหญ่ ในชื่อเว็บว่า manboker.com แค่อัปรูปถ่ายตัวเองขึ้นเว็บก็จะเปลี่ยนเป็นภาพการ์ตูนล้อได้ทันใจ ซึ่งนอกจากจะทำรูปตัวเองแล้ว ยังมีการนำรูปเราไปถ่ายคู่กับดาราคนดังได้อีกด้วย หรือการดูใบหน้าลูกของเราในอนาคต แค่ใส่รูปเรากับคู่รักลงไป ทั้งยังมีฉากหลังสนุกๆ ให้เลือกใช้งานมากมาย ซึ่งตอนนี้มีการให้บริการทั้งบนเว็บ ซอฟท์แวร์บนพีซี และแอปฯ บนโทรศัพท์มือถือ

ตำนานของบริษัทเริ่มจาก 2 ซีอีโอ คนแรก คือ สาวสวยนามว่า “เริ่นเฉี่ยวเชี่ยน (任晓倩)”ปี 2006 เธอได้ร่วมกับวอล์ลมาร์ทแคนนาดา ทำโปรเจคของขวัญพิเศษรูปใบหน้าลูกค้าในรูปแบบการ์ตูน ได้เงินเข้ากระเป๋ามาเกือบ 2 หมื่นล้านบาท สองปีต่อมาได้เจอกับหุ้นส่วนอย่าง หวางกวงหมิง ที่เคยเป็นพนักงานไมโครซอฟท์ จึงตัดสินใจกลับมาปักกิ่งเปิดบริษัททำซอฟท์แวร์แต่งภาพใบหน้าคนเป็นการ์ตูน โดยปี 2011 เริ่มนำเทคโนโลยีเดิมมาอัปเกรดเพื่อใช้ในแอปฯ บนมือถืออย่างเต็มตัว

ที่ผ่านมาบริษัทได้รับรางวัลบริษัทที่มีนวัตกรรม ทีมงานทุกคนล้วนเป็นวัยรุ่น และซีอีโอสาว ก็ได้รับรางวัล 1 ใน 321 ซีอีโอที่มีพรสวรรค์แห่งองค์กรยุคใหม่ (คนเดียวกับที่อยู่ในรูปตัวอย่างแอปฯ นั่นเอง)

สำหรับแอปฯ โหมวม่านเชี่ยงจี ทางทีมงานมีไอเดียมานาน แต่เพิ่งเริ่มลงมือทำจริงๆ เมื่อปี 2011 หลังจากได้เงินทุนอัดฉีด 150 ล้านบาท จากทีมงาน 20 ก็เพิ่มเป็น 40 คนในปัจจุบัน ทางทีมงานคาดว่าจะมีผู้ใช้แอปฯ นี้มากกว่า 50 ล้านคนในเร็วๆ นี้

4 เหตุผลทำไมแอปฯ โหมวหม่านจีจึงดังชั่วข้ามคืน

ถึงแม้โหมวม่านเชี่ยงจีจะเป็นแอปฯ ของคนจีนก็จริง แต่พอดาวน์โหลดแอปฯ แล้ว ไม่ว่าใครชาติไหน ภาษาใด ก็สามารถเล่นได้ง่ายๆ เพราะ…
1. ใช้ง่าย 3 ขั้นตอนได้รูปการ์ตูนเซอร์ไพรส์เราทันที
2. เทคนิคการทำภาพล้อที่ได้ ถือว่าเหมือนจริง ทำให้ลูกค้าทุกเพศทุกวัย ทุกเชื้อชาติชื่นชอบ
3. ถ่ายเสร็จแล้วจะเก็บลงเครื่องหรือแชร์ขึ้นโซเชี่ยลเน็ตเวิร์ก (จีน) ได้ทันที เช่น WeChat, Weibo เป็นต้น ทำให้เกิดไวรัล โดยเฉพาะเมื่อดาราฮิตเล่น คนก็หันมาเล่นตาม
4. ไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ โหลดได้ฟรีทั้งบนไอโฟนและแอนดรอยด์

แอปฯ ฮิตแล้วเงินอยู่ไหน?

ถึงแม้วันนี้แอปฯ โหมวม่านเชี่ยงจียังไม่ได้เป็นตัวทำเงินเข้ากระเป๋าผู้ใช้ แต่บริษัทสตาร์ทอัปจากจีนนี้ไม่เหมือนกับอเมริกาที่อยู่ได้ด้วยเงินลงทุนจากนักลงทุน ที่ผ่านมาธุรกิจภาพการ์ตูนล้อแบบดิจิตอลนี้ช่วยหาเงินได้เป็นกอบเป็นกำจากธุรกิจ on2off (Online to Offline) หรือ การนำไฟล์ภาพการ์ตูนล้อความละเอียดมาทำเป็นภาพพิมพ์ลงในของพรีเมี่ยมแล้วขายให้กับลูกค้าโดยตรง เช่น ทำเป็นภาพติดกรอบรูป (ราคาเริ่มต้นที่ 300 บาท) สติ๊กเกอร์ (แผ่นละ 75 บาท) รูปขนาดเท่ารูปติดบัตร (150 บาท) เป็นต้น

แต่สำหรับแอปฯ โหมวม่านเชี่ยงจี ในเรื่องเส้นทางการหารายได้ สำหรับผู้เขียนเชื่อว่าในเบื้องต้นทางทีมงานอาจจะเดินตามทางของแอปฯ อื่นๆ เช่น ระบบ Freemium คือ แอปฯ ยังคงเปิดให้โหลดฟรีเหมือนเดิม แต่ลูกค้าสามารถจ่ายเงินซื้อเอฟเฟกต์พิเศษ หรือภาพพื้นหลังพิเศษได้ เป็นต้น และขณะนี้ก็อยู่ในช่วงดีลธุรกิจกับค่ายมือถือยักษ์อย่าง ไชน่า เทเลคอมด้วย!

อย่างไรก็ดี หากมองย้อนกลับไปในอดีตวิธีการหารายได้บนเน็ตของสังคมออนไลน์ในจีนแผ่นดินใหญ่ บริษัทอินเตอร์เน็ทรายแรกๆ ที่ทำรายได้จากผู้ใช้จริงๆ คือ เท็นเซ็นต์ (Tencent) และบริการที่สร้างรายได้ก็คือ การขายเสื้อผ้าและเครื่องประดับสำหรับอวตาร์แทนตัวผู้ใช้ในโปรแกรมแชตคิวคิว (QQ) ซึ่งเป็นสิ่งที่สวนทางกับไมโครซอทฟ์ที่เน้นการขายแบนเนอร์ในโปรแกรม MSN ซึ่งในที่สุดก็ต้องปิดตัวลงไปเมื่อต้นปีนี้เอง แต่ใครจะไปคิดว่าโมเดลธุรกิจแบบ Virtual Gift นี้จะกลับมาฮิตในพ.ศ.นี้อีกครั้ง!

*ข้อมูลสถิติได้จาก
https://www.iosappstats.com