จับตา…ซูเปอร์ดรักสโตร์ หมากเกมใหม่ศึกค้าปลีก

สนั่นแน่…ดรักสโตร์ ร้านขายสินค้าสุขภาพและความงาม กำลังเป็นตลาดหอมหวน เมื่อบิ๊กคอร์ปอเรทของไทยชักแถวลงสู่ธุรกิจนี้เต็มสูบ สหพัฒน์ฯ ดันซูรูฮะต่อยอดค้าปลีก, เบอร์ลี่ ยุคเกอร์มีแบรนด์ โอเกนกิ, ค่ายเซ็นทรัล เตรียมเปิดร้านมัตสึโมโตะ คิโยชิ ปีหน้า ส่วนเซเว่นอีเลฟเว่น ส่งเอ็กซ์ต้าชิงตลาด

ด้วยมูลค่าตลาดอยู่ที่ 20,000 ล้านบาท และมีอัตราการเติบโต 15-20% และมีแนวโน้มว่าจะโตขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ธุรกิจ Drug Store ที่มีรูปแบบร้านขายยากึ่งสะดวกซื้อ กำลังเป็น “จิ๊กซอว์” ชิ้นสำคัญของบิ๊กคอร์ปอเรทของไทย เข้าสู่ธุรกิจค้าปลีกในอีกรูปแบบ หลังจากที่มี 2 แบรนด์ใหญ่อย่างวัตสันและบู๊ทส์ที่ไล่บี้กันมาตลอดก็ถล่มกันด้วยโปรโมชั่นตลอดทั้งปี บวกกับการรุดหน้าขยายสาขาต่อไป ในขณะเดียวกันก็มีแบรนด์เกิดใหม่มากขึ้นทั้งเจ้าตลาดร้านสะดวกซื้ออย่างเซเว่นอีเลฟเว่น ส่ง “เอ็กซ์ต้า” ลงเล่นตลาดนี้บ้าง หรือทางด้านเบอร์ลี่ ยุคเกอร์ก็มีแบรนด์ “โอเกนกิ”

ซูรูฮะ จิ๊กซอว์สหพัฒน์ฯ ต่อยอดค้าปลีก

กลับมาเดินเกมรุกธุรกิจค้าปลีกอีกครั้ง ด้วยการจับมือกับ “ลอว์สัน” เจ้าของธุรกิจร้านสะดวกซื้อที่ครองอันดับ2 ในญี่ปุ่น เปิดร้าน “ลอว์สัน 108” ลงสู่สนามแข่งขันมาตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว หลังจากที่ก่อนหน้านี้เคยปลุกปั้นร้าน 108 ช้อปมานาน แต่ยังไปไม่ถึงดวงดาว จึงต้องจับมือพันธมิตรที่เชี่ยวชาญร้านสะดวกซื้ออย่างลอว์สัน มากรุยทางสู่สนามแข่งขันอีกครั้ง

กลับมาคราวนี้ สหกรุ๊ปไม่ได้มีแค่ร้านลอว์สัน 108 เท่านั้นที่เป็นแนวรบสำคัญ แต่ยังได้ร่วมทุนกับ “ซูรูฮะ” จากประเทศญี่ปุ่น เปิดร้าน “ซูรูฮะ” มาได้เกือบ 2 ปีแล้ว ชูความเป็น “ซูเปอร์ดรักสโตร์” สไตล์เจแปนนิส ฉีกภาพดรักสโตร์เดิมที่จำกัดแค่สินค้า Health & Beauty โดยมีสินค้านำเข้าจากต่างประเทศ ซึ่งส่วนมากมาจากประเทศญี่ปุ่น และสินค้า Household ของใช้ภายในบ้าน ที่เป็นของเครือสหพัฒน์ฯ และแบรนด์อื่นๆ เพื่อให้มีความหลากหลายตามคอนเซ็ปต์ One Stop Shopping

ทั้งนี้ ซูรูฮะเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่างสหกรุ๊ป และซูรูฮะ ประเทศญี่ปุ่น โดยถือหุ้นเท่ากัน สัดส่วนการถือหุ้นเป็น 49%:49% อีก 2% ถือหุ้นโดยธนาคารโตเกียวมิตซูบิชิ ซูรูฮะได้เริ่มจัดตั้ง ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2554 ปัจจุบันมีทั้งหมด 13 สาขา อยู่ในกรุงเทพฯ 9 สาขา จ.เชียงใหม่กับจ.ระยอง จังหวัดละ 1 สาขา และจ.ชลบุรี 2 สาขา ตั้งเป้าเพิ่มเป็น 23 สาขาภายในเดือนมีนาคม (สิ้นปีงบประมาณ) คาดการณ์รายได้ 300 ล้านบาท

เบญจมาศ ต้องประสิทธิ์ กรรมการบริหาร บริษัท ซูรูฮะ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า เวลานี้หลายแบรนด์ลงมาเล่นตลาดนี้เยอะ มีการแข่งขันกันสูง แต่ก็มีโอกาสโตขึ้นเรื่อยๆ สาเหตุที่โต มาจากผู้บริโภคในสังคมเมือง ไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตที่ต้องการความสะดวกสบาย รวมถึงกำลังซื้อที่เติบโตขึ้น

“ตอนนี้ในไทยจะโตสูงกว่าญี่ปุ่นเสียอีก เพราะในครอบครัวหนึ่งสามีภรรยาจะทำงานทั้งคู่ ไม่เหมือนญี่ปุ่นที่ผู้หญิงไม่ได้ทำงานเยอะ ฉะนั้นเวลาเป็นเรื่องสำคัญมาก กว่าจะเลิกงาน รถติด ดรักสโตร์จึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่ง และคำว่า One Stop Shopping เป็นคำที่ตอบโจทย์คนเมืองได้มากที่สุด ทางซูรูฮะก็พยายามเข้าไปอยู่ในชุมชน ไม่ได้อยู่แต่ในห้างฯ อย่างเดียว เพราะถ้าของกินของใช้หมด ก็ไม่อยากฝ่ารถติดเข้าไปจอดรถในห้างฯ เราอยากจะใกล้ชุมชนให้มากที่สุด และอำนวยความสะดวก”

สำหรับในปีนี้เอง ทางสหพัฒน์ฯ ได้ลงมาเล่นตลาดค้าปลีกเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จากเดิมที่ผ่านมาสหพัฒน์ฯ แข็งแรงในเรื่องการผลิต และการค้าส่งอยู่มาก โดยในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ได้รุกสู่ธุรกิจค้าปลีก ทั้งร้าน Daiso ค้าปลีกขายสินค้าจากญี่ปุ่นราคา 60 บาท, ร้านสะดวกซื้อ Lawson 108 จะทำให้สหพัฒน์ฯ มีธุรกิจตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ สามารถเข้าถึงลูกค้าที่เป็นผู้บริโภคปลายทาง นำข้อมูลพฤติกรรมลูกค้ามาใช้ประโยชน์ มาพัฒนาในเรื่องการผลิตสินค้า ให้สินค้าตรงใจ และรวดเร็วยิ่งขึ้น

“ถ้าทำแค่ค้าส่งหรือผลิต จะไม่เข้าถึงฟีดแบ็กโดยตรงจากลูกค้า มันเป็นการต่อยอดได้ตรงความต้องการลูกค้ามากขึ้น ตอนนี้ไม่ว่าจะธุรกิจอะไรต่างก็ยึดคำว่า Customer Centric คือยึดลูกค้าเป็นศูนย์กลางในการพัฒนามากขึ้น”

ทางด้าน “ซูรูฮะ” เอง การเปิดสาขาที่ประเทศไทย ถือเป็นการขยายสูต่างประเทศเป็นครั้งแรก เบญจมาศบอกว่า สาเหตุที่เลือกประเทศไทยเป็นที่แรก เพราะคนไทยเข้าร้านซูรูฮะที่ญี่ปุ่นเยอะมาก ยิ่งหน้าเทศกาลคนจะยิ่งเยอะ ที่น่าสนใจก็คือ แม้ซูรูฮะจะไม่ได้อยู่ในสถานที่ใกล้สถานีรถไฟ หรือใกล้สถานที่ที่นักท่องเที่ยวผ่านมากนัก แต่ก็ได้รับฟีดแบ็กค่อนข้างดี เชื่อว่าเป็นจุดหนึ่งที่คนไทยต้องแวะ Must visit ในทริปของคนไทย อีกทั้งยังวางให้ไทยเป็นศูนย์กลางในการขยายสาขาไปในภูมิภาคอาเซียนด้วย

พื้นที่สาขาที่เป็นยุทธศาสตร์ของทางซูรูฮะ หลักๆ จะยึดทำเลใกล้ชุมชน หมู่บ้าน หรือแบบ Stand Alone 50% Shopping Mall 30% และ Office Building 20% โดยแต่ละพื้นที่จะมีขนาดไม่เท่ากัน จะมีตั้งแต่ขนาด 100-1,000 ตร.ม. เม็ดเงินลงทุนตั้งแต่ 5 – 20 ล้านบาท ตามแต่ละสาขา ในขณะที่ 2 แบรนด์ใหญ่เน้นการขยายสาขาในส่วนของ Shopping Mall และ Office Building มากกว่า

ขึ้นชื่อว่าเป็นดรักสโตร์แบบญี่ปุ่น ดิสเพลย์การจัดร้านในไทยคอนเซ็ปต์ใกล้เคียงกันกับที่ญี่ปุ่น เป็นการจัดร้านแบบเน้นการสร้างประสบการณ์ให้ลูกค้า ให้ลูกค้าเข้ามาแล้วรู้สึกถึงการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา อย่างที่ญี่ปุ่นจะมีฤดูกาล ก็จะจัดร้านตามฤดูกาล ซึ่งเป็น Know-how ของญี่ปุ่นที่ว่าทำยังไงให้ลูกค้าเข้าร้านบ่อยๆ แล้วไม่เบื่อ ให้เข้ามาเดินเล่นก็ได้ จึงต้องปรับเปลี่ยนตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นป้ายโปสเตอร์ในร้าน ป้ายบอกข้อมูลสินค้า ส่วนใหญ่แนว Hand Made, Hand Writing ค่อนข้างเยอะ ทำให้ลูกค้ารู้สึกอบอุ่น

ส่วนสินค้าภายในร้านจะแบ่งสัดส่วนเป็นสินค้าประเภทยาและอาหารเสริม 30% เครื่องสำอาง 30% และสินค้าเบ็ดเตล็ด 40% โดยทั้งหมดจะเป็นสินค้านำเข้าจากต่างประเทศ 30% และสินค้าในประเทศ 70% ซึ่ง 10% ในนั้นจะเป็นสินค้าในเครือของสหพัฒน์ฯ แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับสถานที่ตั้งของสาขา และขึ้นอยู่กับความต้องการของลูกค้าในแต่ละพื้นที่ด้วย ลูกค้าเป็นแบบไหน ก็จะบวกลบสัดส่วนสินค้าตามความเหมาะสม

สินค้าที่ได้รับการตอบรับดีที่ญี่ปุ่น ทางซูรูฮะก็พยายามนำเข้ามา เช่น ของฝากยอดฮิตอย่างมาร์กเต้าหู้ โดยจะใช้วิธีดีลกับซัพพลายเออร์เพื่อให้ได้ในราคาต้นทุน และมีบวกค่าขนส่งนิดหน่อย เพื่อทำให้ราคาขายในไทยไม่ต่างกับไปซื้อที่ญี่ปุ่นเท่าไหร่ คือขายอยู่ที่ 690 บาท ที่ญี่ปุ่นขาย 1,500 เยน ตกประมาณ 500 กว่าบาท ลูกค้าก็ให้ความสนใจมาก เพราะราคาไม่ได้แตกต่างกันมากเท่าไหร่

สำหรับพฤติกรรมผู้บริโภคของลูกค้าซูรูฮะในไทยกับญี่ปุ่น มีจุดหนึ่งที่คล้ายคลึงกันคือ คนที่มาช้อปปิ้งที่ดรักสโตร์ส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง เพราะผู้หญิงเป็นคนตัดสินใจในการซื้อของเข้าบ้านอยู่แล้ว แต่ความแตกต่างจะอยู่ที่คนไทยนิยมไปซื้อรวบรวมกันในวันเสาร์-อาทิตย์ และซื้อจำนวนเยอะๆ ส่วนในญี่ปุ่นเขาจะใช้การเดินกลับบ้านค่อนข้างเยอะ ร้านก็อยู่ระหว่างทาง จะซื้อเรื่อยๆ

หลายคนอาจจะยังสงสัยว่าในเมื่อซูเปอร์มาร์เก็ตอยู่เต็มเมืองขนาดนี้ แล้วอะไรที่จะทำให้คนหันมาช้อปปิ้งที่ดรักสโตร์ เบญจมาศกล่าวว่า สมัยนี้คนชอบซื้อด้วยตัวเองมากขึ้น แต่บางทีไปซื้อตามห้างอาจจะมีพนักงานมาเกาะติดมากไปก็รู้สึกอึดอัด และยิ่งตอนนี้ลูกค้ามีความรู้เกี่ยวกับสินค้ามากขึ้น อยากมีเวลาดูสินค้าเอง ซึ่งซูรูฮะนำมาเป็นจุดขายของร้าน โดยจะอบรมพนักงานให้ดูแลลูกค้าให้รู้สึกสบายใจ ไม่ไปเกาะติด และไม่ห่างเกินไป แม้แต่ระยะในการยืน ซึ่งตรงนี้เป็น Know-how ในการบริการของญี่ปุ่น และอีกข้อหนึ่งที่สำคัญคือ ดรักสโตร์จะมีเภสัชกรอยู่ตลอดเวลา และมีเจ้าหน้าที่ให้คำแนะนำเครื่องสำอางได้ตลอด ที่จะเป็นจุดเติมเต็มของซูเปอร์มาร์เก็ตได้

ตอนนี้ซูรูฮะมีส่วนแบ่งตลาด 2-5% จากมูลค่าตลาด 20,000 ล้านบาท ตั้งเป้าเติบโตด้วยเลข 2 หลักให้เร็วที่สุด และขึ้นแท่นเบอร์ 3 ในตลาดดรักสโตร์โดยมีแผนนโยบายเปิดสาขาเพิ่มขึ้นปีละ 20 สาขา ใช้งบการตลาด 5-10% ของยอดขาย เน้นการทำตลาดออนไลน์ และทำกิจกรรมผ่านทางเฟซบุ๊ก รวมถึงการโปรโมชั่นตลอดทุกวัน และมี Member Card สะสมแต้ม มีกิจกรรมพิเศษต่างๆ ตอนนี้มีสมาชิก 80,000 คนแล้ว ซึ่งจำนวนเมมเบอร์จะเพิ่มขึ้นตามความถี่ของการเปิดสาขา

สงครามดรักสโตร์ญี่ปุ่นบุกตลาดไทย

นอกจาก “ซูรูฮะ” ของค่ายสหกรุ๊ป ยังมีแบรนด์ “โอเกนกิ” ของค่ายเบอร์ลี่ ยุคเกอร์ หรือบีเจซี ของ “เสี่ยเจริญ สิริวัฒนภักดี” ได้จับมือเป็นพันธมิตรกับประเทศญี่ปุ่นเปิดสาขาที่เมืองไทยเช่นกัน แต่จะชูความเป็น “เฮลท์สโตร์” ที่เน้นเรื่องสุขภาพเป็นหลัก โดยตอนนี้เปิดให้บริการแล้ว 3 สาขา คือ สาขาอโศกทาวเวอร์, ฟิวเจอร์พาร์ค รังสิต และเซ็นทรัล พระราม 3 เน้นในส่วนของ Shopping Mall และ Office Building เป็นหลัก

ร้านโอเกนกิ เป็นดรักสโตร์สไตล์ญี่ปุ่น และคอนเซ็ปต์คล้ายกับซูรูฮะ คือ One Stop Shopping ที่มีผลิตภัณฑ์ยา สินค้าเพื่อสุขภาพและความงาม โดยมีทั้งของไทยและนำเข้าจากญี่ปุ่นมาวางขายในร้าน แต่โอเกนกิวางจุดขายเรื่องสุขภาพ เช่น วิตามินและอาหารเสริมภายใต้แบรนด์ OGENKI มาเสริมเป็นจุดแข็งของแบรนด์

การลงทุนเปิดร้านดรักสโตร์ครั้งนี้ ถูกจับตามองว่าเป็นการเปิดเกมรุกเข้าสู่ธุรกิจร้านสะดวกซื้อไซส์เล็ก ของค่ายไทยเบฟฯ ของเสี่ยเจริญ หลังจากที่ปล่อยให้บิ๊กคอร์ปอเรทรายใหญ่อย่าง กลุ่มซีพี เซ็นทรัล สหพัฒน์ ฯ ครองตลาดไปก่อนหน้านี้ โดยการลงทุนในธุรกิจค้าปลีกของเสี่ยเจริญที่ผ่านมา จะเน้นไปที่ห้างไซส์ใหญ่ อย่าง ห้างสรรพสินค้าดิจิตอลเกตเวย์ ห้างคอมมูนิตี้มอลล์ ครั้งนี้จึงเป็นการขยายเข้าสู่ร้านสะดวกซื้อไซส์เล็กอย่างเต็มรูปแบบ

ทางด้านกลุ่มเซ็นทรัล ได้จับมือกับ “มัตสึโมโตะ คิโยชิ” ดรักสโตร์ร้านค้าปลีกเพื่อสุขภาพและความงามอันดับ 1 ในญี่ปุ่น เตรียมมาเปิดสาขาในเมืองไทย โดยก่อนที่จะมาเปิดสาขาอย่างเป็นทางการในต้นปีหน้า ได้ทดลองนำสินค้าราว 200 รายการ รวมถึงอาหารเสริมและเครื่องสำอางไปทดลองวางจำหน่ายในร้านเซ็นทรัล ฟู้ด ฮอลล์และท็อปส์

รวมทั้งค่ายเซเว่นอีเลฟเว่น ของซีพีออลล์ ที่มีโซนขายยา “เอ็กซ์ต้า” ที่จะเน้นขายยาสามัญประจำบ้านและอาหารเสริมเป็นหลัก เป็นส่วนหนึ่งของร้านเซเว่นอีเลฟเว่น โดยจะเน้นขายแฟรนไชส์ควบคู่กันไป ซึ่งข้อได้เปรียบของเซเว่นอีเลฟเว่น คือ จำนวนสาขาที่มีอยู่ถึง 7,500 แห่ง แม้ว่าจะไม่ใช่ทุกสาขาที่มีร้านขายยาเอ็กซต้า แต่ร้านไซส์ใหญ่ที่รองรับกับธุรกิจขายยา ขายหนังสือ และกาแฟ จะมีเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

ที่ผ่านมาธุรกิจร้านขายยาในไทย จะแบ่งเป็น 2 ตลาดหลักๆ คือ ร้านขายยาสมัยใหม่ และร้านขายยาแบบดั้งเดิม โดยมีสัดส่วนตลาดอย่างละครึ่ง ซึ่งมีแนวโน้มการขยายต่อไป ร้านขายยาเชนจากต่างประเทศ เน้นขายสินค้าความงามและสุขภาพจะมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น หลังจากที่มีบู๊ทส์และวัตสัน 2 เชนที่ครองตลาดมานานหลายปี และเป็นการรุกตลาดของบิ๊กคอร์ปอเรทของไทย ที่ใช้วิธีจับมือกับเชนจากญี่ปุ่น เพื่อเป็นชอตคัตในการขยายธุรกิจ โดยจะส่งผลทั้งบู๊ทส์และวัตสัน รวมทั้งดรักสโตร์ของไทย ที่กำลังถูกท้าทายจากสงครามของดรักสโตร์เพื่อสุขภาพและความงามครั้งใหม่