รู้จักกับ “จูเนียร์-วัชร วัชรพล” ผู้กุมบังเหียน ไทยรัฐทีวี

วัชร วัชรพล ผู้บริหารรุ่นที่ 3  ของ “ไทยรัฐ” ก้าวขึ้นคุมบังเหียน “ไทยรัฐทีวี”  ที่ถือเป็นก้าวสำคัญของหนังสือพิมพ์หัวสีรายใหญ่กระโดดลงมาเล่นธุรกิจทีวีเต็มตัว

วัชรเป็นบุตรชายคนโตของ “ยิ่งลักษณ์ วัชรพล” บุตรสาวคนโตของ “กำพล วัชรพล” เป็นหลานตาที่ใช้นามสกุล “วัชรพล” ตามความประสงค์ของ “กำพล” ที่ต้องการให้หลานทุกคนใช้นามสกุล “วัชรพล” และชื่อเล่น “จูเนียร์” คือการสื่อถึงการเป็น “จูเนียร์” ของคุณตา เขามีน้องสาวอีก 2 คนคือ จิตสุภา และ ธนวลัย วัชรพล ซึ่งจิตสุภาได้เข้ามาช่วยงานในตำแหน่งเจ้าหน้าที่บริหารสายงานกลยุทธ์และการตลาด

“วัชร” ศึกษาที่ประเทศไทยที่โรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจนถึงชั้น ม.1 ถูกส่งไปโรงเรียนประจำที่สวิส ที่ Institute Monterasa Montreux 2 ปี เรียน ม.2 – ม.3 ซึ่งทำให้เขาได้ภาษาฝรั่งเศสมาอีกหนึ่งภาษา จากนั้นก็ไปเรียนไฮสกูลที่อเมริกา ที่ Suffield Academy จากนั้นเขาเลือกเรียน Business Marketing ที่มหาวิทยาลัย Hofstra University ที่นิวยอร์ก ใช้ชีวิตที่นั่นรวมประมาณ 5 ปีครึ่ง

หลังเรียนจบ วัชร เริ่มต้นชีวิตการทำงานในอาณาจักรไทยรัฐ ด้วยการบุกเบิกสื่อใหม่ ๆ อย่าง สื่อออนไลน์ ภายใต้บริษัทที่ตั้งขึ้นใหม่ที่สะท้อนถึงทายาทรุ่นที่ 3 คือ “Trend VG3” ที่ย่อมาจาก Thairath Electronic News Development Vacharaphol Generation 3 ดูแลเว็บไซต์ข่าว ไทยรัฐออนไลน์ ควบคู่ไปกับการหาช่องทางการขยายธุรกิจใหม่ๆ
 
เมื่อ 1-2 ปีที่แล้ว วัชร ได้ก้าวเข้าสู่ธุรกิจเคเบิลทวี จากการที่ตระกูลวัชพล ได้เข้าไปลงทุนร่วมกลุ่ม CTH ของวิชัย ทองแตง เพื่อเป็นการชิมลางในธุรกิจนี้ ก่อนจะก้าวเข้าสู่ธุรกิจทีวีอย่างเต็มตัว ด้วยการประมูลทีวีดิลิตอลช่อง 32 ความคมชัดสูง และถือการลงทุนครั้งใหญ่ที่สุดของไทยรัฐ นับตั้งแต่เคยลงทุนซื้อแท่นพิมพ์มา ด้วยงบลงทุนทั้งหมด 6,000 ล้านบาท และตั้งเป้าเป็น 1 ใน 5 ช่องดิจิตอลยอดนิยม ภายใน 3 ปี โดยช่วงปีแรกจะงบลงทุนผลิตรายการในปีแรก 1,000 ล้านบาท ตั้งเป้าจะมีรายได้ไม่ต่ำกว่า 500 ล้านบาท

ส่วนไลฟ์สไตล์ส่วนตัว จูเนียร์ หรือ วัชร ได้อิทธิพลในช่วงที่เรียนอยู่นิวยอร์มาค่อนข้างมาก ชีวิตที่นิวยอร์กมีกลุ่มเพื่อนคือวงไทเทเนียม ซึ่งหลายคนอาจเคยเห็นเขาแต่งตัวสไตล์ฮิพฮอพที่มีสีสัน แต่เมื่อโตขึ้นแนวเสื้อสีดำ กางเกงยีนส์ และเอิร์ธโทน เป็นภาพที่หลายคนเห็นเขาบ่อยครั้ง ซึ่งเป็นแนวเดียวกับ “สตีฟ จ็อบส์” ซีอีโอของแอปเปิล ที่ไม่เพียงเขาชื่นชอบความสามารถจนเป็นไอดอลเท่านั้น แต่ยังเป็นสาวกแอปเปิลเหมือนคุณแม่ ที่ติดผลิตภัณฑ์ของแอปเปิลตั้งแต่คอมพิวเตอร์จนมาถึงไอแพด (และเชื่อว่าเร็วๆ นี้ ไอโฟน 4 คงอยู่ในมือ)

“วัชร” ยังชื่นชอบ ชอบสะสมงานศิลปะแนวป๊อปอาร์ต สตรีทอาร์ต ในห้องทำงานของเขา จึงเต็มไปด้วยหนังสือแนวอาร์ต และที่มีจำนวนมากที่สุดคือ ตุ๊กตาที่ลูกตาเป็นกากบาท เหมือนตุ๊กตาของเล่น แต่เล่นอะไรไม่ได้มาก แต่มีดีไซน์ ของศิลปินที่ชื่อว่า Kaws ที่ “วัชร” ชื่นชอบเพราะเป็นศิลปินสตรีทอาร์ตที่นิวยอร์กที่ว่ากันว่าเสมือนเป็น “แอนดี วอร์ฮอล” ศิลปินแนวป๊อปอาร์ตที่โด่งดังคนต่อไป

มีมากแค่ไหนนั้น คำตอบคือ “ไม่เคยนับ” แต่ละตัวราคาสูงหลักหมื่น อย่างตัวใหญ่ที่วางไว้ทางเข้าออฟฟิศ แหล่งที่ซื้อก็มีทั้งจากต่างประเทศ และอีเบย์ นอกจากนี้ยังมีตุ๊กตารูปทรงกระต่าย Dunny ที่เป็น Platform Toy ให้ศิลปินไปวาดใหม่ได้ อีกชิ้นที่สะดุดตาคือพระพิฆเนศบนวิทยุ ที่มี 200 ตัวในโลก และเขาได้มาจากอีเบย์

สิ่งที่ได้จากการสะสมนั้น “วัชร” บอกว่า “เพลินดีครับ ไม่เหมือนอยูในออฟฟิศ ที่บ้านก็มี รกมาก”

นอกจากนี้ยังมีผลงานเพลงและภาพวาดรูปของ “บ๊อบ มาร์เลย์” มีหนังสือกราฟิกที่หาซื้อมาเพื่อแชร์ให้ทีมงานได้ร่วมศึกษาเพิ่มเติม หรือแม้แต่ความชอบส่วนตัวอย่าง “ราเมน” ก็มีหนังสือเผื่อใครอยากเปิดดู
“วัชร” กับสังคมไฮโซ หรือการออกงานสังคมนั้น ดูจะไม่ไปด้วยกัน เพราะเขาบอกว่า ชอบอยู่เงียบๆ มากกว่า ด้วยคำยืนยันว่า “ผมไม่ชอบ ผมขอบอยู่เงียบๆ เราทำธุรกิจข่าว ไม่อยากเป็นข่าวเอง เห็นอยู่เยอะแล้ว ไม่อยากไป แต่ถ้าเป็นงานของพรรคพวก ผมไปให้โดยความเต็มใจ แต่ถ้าเป็นงานสังคม ผมไม่ค่อยชอบไป พยายามจะเลี่ยงด้วยซ้ำ”

เพราะความเป็นไทยรัฐที่มุมหนึ่งอาจส่งเสริมให้ดัง แต่อีกมุมหนึ่งคือความกดดัน ซึ่งเขาบอกว่า “ก็มีส่วนด้วย ถ้าเราไปข้างนอกเราก็ต้องระมัดระวังตัวเองหน่อย ดูว่าอะไรเหมาะ อะไรควรหรือเปล่า เพราะแน่นอนต้องมีคนจับตา และคอยจับผิดผม โดนสแต็มป์กลางหน้าไว้แล้ว”

 

ข่าวเกี่ยวเนื่อง : http://www.goo.gl/BqTu8N