ทายาทรุ่นที่ 3 รับช่วงกิจการสำเร็จแค่ 12%

ดูจะเป็นความท้าทายสำหรับทายาทกิจการรุ่นที่3 ที่ถูกประเมินว่าการรับช่วงกิจการของคนรุ่นนี้มีโอกาสประสบความสำเร็จแค่ 12% เท่านั้น

บริษัทไพรซ์วอเตอร์เฮาส์คูเปอร์ หรือPWC ได้ร่วมมือกับบริษัท Kudos Research และ Jigsaw Research ทำการสำรวจทายาทธุรกิจครอบครัวที่คาดว่าจะขึ้นเป็นผู้บริหารกิจการต่อจากรุ่นพ่อ-แม่ ของบริษัทที่มีรายได้มากกว่า 5 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี จำนวน 207 ราย ใน 21 ประเทศทั่วโลก โดยผลสำรวจพบว่า มีเพียง 12%ของธุรกิจครอบครัวเท่านั้นที่สามารถส่งต่อกิจการไปสู่รุ่นที่ 3 สำเร็จ และมีเพียง 1% เท่านั้นที่ส่งต่อกิจการถึงรุ่นที่ 5

จากผลการวิจัยพบว่า ความแตกต่างระหว่างวัย (Generation Gap) ทัศนคติ วิธีการบริหารงาน ถือเป็นหนึ่งใน 3 ช่องว่างหลัก ที่ผู้บริหารทั้งรุ่นเบบี้บูมเมอร์และเจ็นวายต้องปรับตัวเข้าหากัน โดยผลสำรวจระบุว่าคนรุ่นใหม่ถึง86% ต้องการที่จะสร้างสิ่งที่ถือเป็นก้าวสำคัญให้แก่องค์กรเมื่อพวกเขารับช่วงกิจการ

ขณะที่80%มีไอเดียสร้างสรรค์ใหม่ๆที่จะเปลี่ยนแปลงธุรกิจไปสู่การเติบโตในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นการเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ๆแนวทางการประกอบธุรกิจที่แตกต่างไปจากเดิม หรือแม้กระทั่งการลงทุนในด้านเทคโนโลยี และการใช้ประโยชน์จากสื่อออนไลน์ให้มากขึ้น

อย่างไรก็ดีอุปสรรคที่ทายาทเจ็นวายกำลังเผชิญในระยะข้างหน้าคือ การสร้างความน่าเชื่อถือให้แก่ตนเอง (Credibility Gap) โดยทายาทผู้ถูกสำรวจถึง 88% กล่าวว่า พวกเขาต้องทำงานหนักกว่าคนอื่นๆเพื่อพิสูจน์ว่าตนมีความพร้อมและมีคุณสมบัติที่แท้จริงในการสืบทอดกิจการ นอกจากนี้ทายาทเจ็นวายเกือบ 60% ยังระบุว่าการได้รับการเคารพนับถือจากเพื่อนร่วมงาน ก็ถือเป็นความท้าทายที่ยากลำบากที่สุดอีกประการหนึ่ง

บริษัทPCWแนะธุรกิจเจ้าสัวควรเร่งวางกลยุทธ์ และมีแผนงานในการสืบทอดกิจการล่วงหน้าอย่างน้อย 5-7 ปี เพื่ออุดช่องว่าง และสมานความแตกต่างในการดำเนินธุรกิจของตระกูลเพื่อให้ธุรกิจอยู่รอดและเติบโตได้ยั่งยืน

เจ้าของกิจการส่วนใหญ่ยังไม่มั่นใจยกกิจการให้ทายาท

แม้ว่าขนบธรรมเนียมเก่าๆของการสืบทอดกิจการของธุรกิจครอบครัวทั่วโลกจะเป็นการสืบทอดอำนาจจากรุ่นพ่อแม่สู่รุ่นลูกโดยอัตโนมัติแต่ความเชื่อนั้นอาจใช้ไม่ได้ในโลกธุรกิจปัจจุบันเสมอไป

ผลสำรวจพบว่ามีทายาทผู้ถูกสำรวจเพียง35%ที่มั่นใจว่าพ่อแม่จะยกตำแหน่งให้ตนเป็นผู้บริหารอย่างแน่นอนในขณะที่เกือบ30%เชื่อว่ามีความเป็นไปได้เท่านั้นและ73% เชื่อแค่ว่าตนจะได้ขึ้นมารับตำแหน่งบริหารในวันข้างหน้า แต่ไม่รู้เมื่อไหร่

สิ่งที่น่าสนใจพบว่ามีผู้ถูกสำรวจมากกว่าครึ่งที่บอกว่าตนไม่แน่ใจว่าลูกหลานจะมีทักษะหรือความมุ่งมั่นมากพอที่จะขึ้นมาบริหารกิจการให้ประสบความสำเร็จ ในขณะที่ 25% ต้องการที่ส่งผ่านความเป็นเจ้าของให้เท่านั้น แต่ไม่ใช่การบริหาร นี่ยังเป็นเหตุผลสำคัญว่าทำไมหลายๆองค์กรจ้างบุคลากรหรือคนนอก (ครอบครัว) เข้ามานั่งบริหารกันมากขึ้นในช่วงที่ผ่านมา

ข้างต้นยังสอดคล้องกับผลสำรวจที่พบว่า 64% ของทายาทเจ็นวายที่ถูกสำรวจเชื่อว่า พ่อ-แม่คงจะไม่ยอมวางมือจากกิจการที่พวกเขาบุกเบิกและสร้างมากับมือง่ายๆ

เมื่อมองแนวโน้มธุรกิจครอบครัวในประเทศ พบว่าธุรกิจครอบครัวในไทยในหลายๆอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็น ค้าปลีก อาหาร จะยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง เพราะธุรกิจครอบครัวมีบทบาทในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจมาช้านาน และยังมีส่วนผลักดันให้ตลาดเศรษฐกิจของประเทศเติบโต มีขนาดใหญ่เป็นอันดับสองในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้”

ทั้งนี้ มูลค่าธุรกิจครอบครัวไทยยังสูงถึงเกือบ 30 ล้านล้านบาท และมีบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯที่เป็นธุรกิจครอบครัว หรือบริหารกิจการโดยบุคคลในครอบครัว มากถึง 50.4%

PCW เชื่อว่า การสื่อสารระหว่างคนในครอบครัว หรือ Communication Gap เป็นปัจจัยภายในที่ต้องเร่งแก้ไขมากที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสังคมไทย ที่มักหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้า หรือพูดจาอย่างตรงไปตรงมา เพราะมองว่าเป็นการไม่ให้เกียรติผู้อาวุโส แต่ยิ่งมีการสื่อสารกันน้อย ยิ่งทำให้ขาดการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างสมาชิกครอบครัว เกิดความขัดแย้งสั่งสมที่ไม่จำเป็น

ส่วนปัจจัยภายนอก คือการปรับตัวให้ทันกับกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลก หรือ เมกะเทรนด์ ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรศาสตร์ การเพิ่มขึ้นของชุมชนเมือง และพฤติกรรมผู้บริโภค

ทั้งนี้ธุรกิจครอบครัวถือมีสัดส่วนคิดเป็น 30% ของบรรดาธุรกิจโลกระดับพันล้าน และยังเป็นรากฐานในการขับเคลื่อนสังคมและระบบเศรษฐกิจมหภาค โดยมีธุรกิจและรายได้รวมกันคิดเป็น 70-90% ของจีดีพีโลก

ข้อมูลจากธนาคารกสิกรไทย