เกษียณสบายๆ แบบไหนที่เราอยากได้

ในชีวิตของคนหนึ่งคน วัฏจักรของชีวิตคงหนีไม่พ้น วัยเด็กเรียนหนังสือมีพ่อแม่ดูแล วัยทำงานหาเลี้ยงตนเองสร้างรากฐานของชีวิตให้มั่นคง และล่วงเลยถึงปัจฉิมวัยใช้ชีวิตอย่างสงบหลังจากเหน็ดเหนื่อยกับการทำงานมาเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 35 ปี แต่การจะใช้ชีวิตอย่างสงบในบั้นปลายชีวิตได้นั้น ต้องเกิดจากการวางแผนเตรียมความพร้อมให้กับชีวิตไว้เป็นอย่างดี

นางนพวรรณ เจิมหรรษา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า “คนวัยหนุ่มสาวอาจยังไม่เคยคิดว่าเมื่อตัวเองเกษียณแล้วต้องมีเงินเท่าไหร่จึงจะพอใช้หลังจากเกษียณ แต่ละคนจะมีจำนวนเงินที่ตนเองต้องการใช้หลังเกษียณไม่เท่ากัน ซึ่งปัจจัยที่ทำให้แต่ละคนแตกต่างกันคือ คุณภาพชีวิตที่ต้องการ ยิ่งคุณภาพชีวิตดี ยิ่งต้องใช้เงินจำนวนมากขึ้น รวมถึงลักษณะนิสัยการใช้เงิน และความสามารถในการหารายได้ในช่วงวัยทำงาน ชีวิตหลังเกษียณนั้นเราสามารถออกแบบเองได้ โดยมีวัตถุดิบเป็นเงินเก็บจากการวางแผนออมเงินตั้งแต่ในวัยทำงาน การวางแผนออมเงินก่อนการใช้จ่าย การวางแผนใช้จ่ายเงินให้มีเงินเหลือออมเพิ่มเติม และการวางแผนการลงทุนเพื่อให้เงินออมงอกเงยจนบรรลุเป้าหมายเกษียณที่ตั้งไว้”

เราสามารถเลือกได้ว่าเราต้องการคุณภาพชีวิตหลังเกษียณระดับไหน ซึ่งเราสามารถแบ่งชีวิตหลังเกษียณได้ 3 ระดับ

เกษียณขั้นต้น หรือการใช้ชีวิตหลังเกษียณแบบไม่อด มีเงินเพียงพอใช้ในแต่ละเดือนสำหรับค่าใช้จ่ายจำเป็น เช่น ปัจจัยสี่ และค่าสาธารณูปโภค คิดคร่าวๆ เช่นค่าอาหารเครื่องดื่ม (ประมาณ 6,000 บาท/ เดือน), ค่าน้ำค่าไฟ (ประมาณ 1,500 บาท/ เดือน), ค่าเดินทาง (ประมาณ 1,000 บาท/ เดือน), ค่าเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม (ประมาณ 1,500 บาท/ เดือน) รวมเฉลี่ยประมาณเดือนละ 10,000 บาท ยังไม่นับค่าที่อยู่อาศัย (ซึ่งอาจจะมีอยู่แล้ว) และค่ารักษาพยาบาล (ใช้สิทธิ์ประกันสุขภาพ 30 บาทรักษาทุกโรค)  นั่นหมายความว่า หากคนไหนมีเงินใช้ไม่ถึงเดือนละ 10,000 บาท ก็น่าจะเกิดปัญหาทางการเงินในอนาคตแน่ๆ อาจต้องให้ลูกหลานเลี้ยง หรือขายทรัพย์สินที่มีเพื่อประทังชีวิตก็เป็นได้

เกษียณแบบพอเพียง คือการรักษาคุณภาพชีวิตหลังเกษียณให้เท่ากับตอนที่ยังมีงานทำอยู่ มักใช้วิธีประมาณค่าใช้จ่ายเฉลี่ยในอนาคตหลังเกษียณเทียบกับ 50 – 70% ของรายได้ก่อนเกษียณ  ร่วมทั้งกันสำรองเผื่อค่ารักษาพยาบาลในสถานพยาบาลระดับเดียวกับที่เราเคยใช้บริการก่อนเกษียณเข้าไปด้วย

เกษียณแบบเหลือเฟือ เป็นการเก็บเงินเกษียณให้มากกว่าการเกษียณแบบพอเพียง หมายความว่าเราจะต้องเก็บเงินเกษียณแบบพอเพียงไว้เป็นพื้นฐานก่อน แล้วบวกเพิ่มด้วยเงินที่คาดว่าจะใช้พิเศษเมื่อเกษียณ เช่น การเดินทางท่องเที่ยว ของใช้เพื่อแสดงฐานะ ทั้งเครื่องประดับ นาฬิกา กระเป๋า รถ รวมทั้งบางคนอาจต้องการมีมรดกเป็นเงินก้อนเอาไว้ให้ลูกหลาน ยิ่งมีความต้องการพิเศษมาก ก็ต้องมีการวางแผนการเงินที่คำนึงถึงเป้าหมาย และเงินเฟ้อเพิ่มเติมจากแผนเกษียณอย่างพอเพียงไปตามเป้าหมายของแต่ละบุคคล

การเตรียมพร้อมแบบมองกันยาวๆ สามารถทำได้และวางแผนตั้งแต่เริ่มทำงาน และมีรายได้ การคำนวณเงินที่เพียงพอใช้จ่ายหลังเกษียณอายุนั้นจำเป็นต้องคำนึงถึงจำนวนปีที่เราจะใช้ชีวิตอยู่หลังเกษียณ และค่าครองชีพที่มีแนวโน้มสูงขึ้นทุกปีตามอัตราเงินเฟ้อ ซึ่งโดยเฉลี่ยเท่ากับ 3% ต่อปี จึงจะเป็นตัวเลขที่แท้จริงของเงินก้อนหลังเกษียณที่เราควรจะมีต่อคุณภาพชีวิตหลังเกษียณแต่ละระดับ และแม้ว่าทุกวันนี้จะมีรูปแบบการเก็บออมเงินเพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับเกษียณหลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการฝากเงินประเภทต่างๆ, การซื้อกองทุน, หุ้นกู้, อสังหาริมทรัพย์ หรือการทำประกัน  สิ่งสำคัญในการบริหารเงินก่อนเกษียณ และในวัยเกษียณ ควรเน้นความปลอดภัยของเงินต้นเป็นหลัก ในขณะเดียวกันผลตอบแทนรวมของการลงทุนก็ควรมากกว่าหรือเท่ากับเงินเฟ้อ เพื่อให้ไม่สูญเสียอำนาจการซื้อของเงินก้อนหลังเกษียณ

บัญชีเงินฝากประจำ “ซูเปอร์ ซีเนียร์” ระยะเวลาฝาก 30 เดือน สำหรับผู้ใหญ่วัยเกษียณอายุ 55 ปีขึ้นไป ดอกเบี้ยสูงสุด 3.5% ต่อปี รับดอกเบี้ยทุกเดือน เริ่มต้นฝากขั้นต่ำที่ 100,000 – 3,000,000 บาทต่อคน พร้อมรับความคุ้มครองชีวิตอุบัติเหตุสูงสุด 3 ล้านบาท ความคุ้มครองกระดูกแตกหัก และค่ารักษาพยาบาลจากอุบัติเหตุสูงสุด 10,000 บาทต่อครั้งไม่จำกัดจำนวนครั้งโดยไม่ต้องสำรองจ่าย

สนใจสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ธนาคารกสิกรไทยทุกสาขาทั่วประเทศ หรือ K-Contact Center 02-888- 8888