เชลล์เผยผลการศึกษาระดับโลก ให้พร้อมรับมือกับการขยายตัวอย่างรวดเร็วของกรุงเทพฯ

สรุปประเด็นสำคัญของรายงานฉบับนี้
 
– เมืองที่มีการวางแผนอย่างดี จะมีส่วนช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้คนในเมืองได้มาก โดยเฉพาะโอกาสในการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ และความร่วมมือในการสร้างความเติบโตทางเศรษฐกิจ แต่หากเมืองต่างๆ มีการจัดการที่ไม่ดี คุณภาพชีวิตของคนในเมืองก็อาจลดลง สิ่งแวดล้อมในเมืองมีคุณภาพด้อยลง มีการเพิ่มก๊าซเรือนกระจก ผู้คนมีความเครียดมากขึ้น และอาจส่งผลให้เกิดความไม่มั่นคงทางการเมืองได้
 
– แนวทางการพัฒนาเมือง ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น โครงสร้างสาธารณูปโภคที่มีอยู่เดิม ปัจจัยทางสังคมและวัฒนธรรม สภาพทางภูมิศาสตร์ ความสามารถทางเศรษฐกิจ รวมถึงความสามารถของภาครัฐและสถาบันต่างๆ ในการวางแผนเพื่อความเติบโตของเมือง ดังนั้นจึงเป็นเรื่องธรรมดาที่บางเมืองประสบความสำเร็จในการพัฒนา ในขณะที่บางเมืองล้มเหลว
 
– แนวทางการพัฒนาเมืองนั้นไม่มีสูตรสำเร็จ และไม่มีการออกแบบใดที่จะเหมาะสมกับทุกเมือง
 
– อย่างไรก็ตาม ตัวอย่างของการพัฒนาเมืองที่ดีนั้นมีอยู่ และมีแนวทางสำคัญบางประการที่นักวางแผนสามารถนำไปปรับใช้ได้ เช่น เมืองที่มีประชากรอยู่กันอย่างหนาแน่น แต่มีการจัดการโครงสร้างสาธารณูปโภคอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งในแง่ของระบบขนส่งสาธารณะและบริการต่างๆ จะเป็นเมืองที่มีการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพมากกว่า เมื่อเทียบกับเมืองที่มีความหนาแน่นน้อยกว่าแต่ไม่มีการจัดการที่ดี
 
– เมืองที่มีประชากรอยู่อย่างหนาแน่นสามารถเป็นเมืองที่น่าใช้ชีวิตได้ ตราบใดที่มีการออกแบบ และจัดการที่ดี
 
– โครงสร้างสาธารณะในเมืองนั้น มีอายุการใช้งานที่ยาวนาน ดังนั้น การตัดสินใจในวันนี้จะมีส่วนกำหนดว่าเมืองนั้นจะสามารถใช้ทรัพยากรได้อย่างมีประสิทธิภาพหรือไม่
 
มีการคาดการณ์กันว่า เมื่อถึงปี พ.ศ. 2563 กรุงเทพฯ จะมีประชากรอยู่จำนวนกว่า 30 ล้านคน ซึ่งมากกว่าปัจจุบันถึงสามเท่า ส่งผลให้เกิดผลกระทบที่ตามมาคือ การขยายตัวแบบก้าวกระโดดของเมือง ซึ่งเราจำเป็นที่จะต้องทำความเข้าใจ และมีระบบการบริหารจัดการเมืองอย่างยั่งยืน รวมถึงการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าและมีประสิทธิภาพ เพื่อรักษาไว้ซึ่งความมั่นคงทางสังคมและเศรษฐกิจให้กับคนรุ่นหลัง 
 
ผลการศึกษาล่าสุดของเชลล์ ในหัวข้อ “เชลล์มองผ่านเลนส์สู่เมืองแห่งอนาคต” (New Lenses on Future Cities) ที่เปิดเผยเมื่อเร็วๆ นี้ โดยระบุว่า การขยายตัวของเมือง เป็นหนึ่งในปรากฏการณ์ทางสังคมยุคปัจจุบัน ซึ่งจะมีอิทธิพลอย่างใหญ่หลวงต่อความต้องการด้านพลังงานและรูปแบบการใช้พลังงาน ว่าจะมีการจัดการอย่างไรเพื่อให้เกิดความยั่งยืนและประสิทธิภาพสูงสุด  ที่สำคัญคือ สิ่งที่เกิดขึ้นนี้จะส่งผลโดยตรงต่อคุณภาพชีวิตของประชากรหลายพันล้านคนเลยทีเดียว
 
การศึกษาชิ้นนี้ได้ถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นประเด็นสนทนา ระหว่างตัวแทนจากหลายภาคส่วน ทั้งภาครัฐ  ภาคธุรกิจ และภาคสังคม โดยมีกระทรวงพลังงาน และบริษัท เชลล์แห่งประเทศไทย จำกัด ร่วมกันเป็นเจ้าภาพจัดงานนี้ขึ้น 
 
ดร. โช อุน คง หัวหน้าทีมนักวิเคราะห์ของเชลล์ กล่าวว่า “จากข้อมูลของหน่วยงานสำคัญทางด้านการพัฒนาการตั้งถิ่นฐานมนุษย์ขององค์การสหประชาชาติ (UN-HABITAT)  ได้ระบุว่า ภายในปี พ.ศ. 2593 จำนวนประชากรโลกจะเพิ่มขึ้นจาก 7 พันล้านคน เป็น 9 พันล้านคน ซึ่งในจำนวนนี้ ประชากรกว่าร้อยละ 70 จะอาศัยอยู่ในตัวเมือง ทำให้เรามองเห็นภาพได้ว่า การเปลี่ยนแปลงเช่นนี้จะมาพร้อมกับความต้องการด้านทรัพยากรที่เพิ่ม
ขึ้นอย่างมหาศาล ทั้งในด้านพลังงาน น้ำ และอาหาร”    
 
“เมื่อเมืองต่างๆ มีขนาดใหญ่ขึ้นและมีจำนวนมากขึ้น ผลกระทบต่อทรัพยากรสำคัญๆ เช่น พลังงาน น้ำ และอาหาร ย่อมสูงขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้เช่นกัน โดยมีการคาดการณ์กันว่า ความต้องการที่มีต่อพลังงาน น้ำ และอาหารจะเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 40-50 ภายในปี พ.ศ. 2573 ในขณะที่ความต้องการด้านพลังงานโดยเฉพาะจะเพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 80 ในช่วงกลางศตวรรษ  โดยส่วนใหญ่เป็นความต้องการจากเมืองต่างๆ ซึ่งจะเพิ่มจากร้อยละ 66 ในปัจจุบัน เป็นร้อยละ 80 ภายในปี พ.ศ. 2583”
 
“เมืองที่ได้รับการออกแบบและมีระบบการบริหารจัดการที่ดี จะเป็นตัวขับเคลื่อนให้เกิดการพัฒนาและความเจริญรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจ และยังช่วยเสริมสร้างให้เกิดนวัตกรรมและความร่วมมือกันของหลายๆ ภาคส่วนในสังคมได้  ในทางตรงข้าม เมืองที่ไม่ได้รับการพัฒนาอย่างเหมาะสม จะมีผลกระทบเชิงลบต่อคุณภาพชีวิตของผู้คนและสิ่งแวดล้อมของเมืองนั้นๆ ไม่ว่าจะเป็นการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่สูงขึ้น หรือแม้แต่เป็นสาเหตุของความขัดแย้งทางสังคมและการเมือง” ดร. โช อุน คง กล่าวเสริม
 
รายงานชุด “เชลล์มองผ่านเลนส์สู่เมืองแห่งอนาคต” เป็นผลการศึกษาของเมืองที่เป็นศูนย์กลางสำคัญๆ กว่า 500 เมือง และได้มีการแบ่งเมืองเหล่านี้ออกเป็น 6 กลุ่มตามระดับความต้องการใช้พลังงานและจุดที่เมืองจะมีการขยายตัวในอนาคต  ซึ่งประกอบด้วย เมืองขนาดใหญ่ที่กำลังขยายตัว (Sprawling metropolises) เมืองที่พัฒนาแล้วซึ่งมีประชากรหนาแน่น (Urban Powerhouses)  เมืองที่ร่ำรวย(Prosperouscommunities) เมืองหลักที่ยังไม่พัฒนา (Underdeveloped urban centres) เมืองที่มีคนยากจนอยู่หนาแน่น (Underprivileged crowded cities) และเมืองขนาดใหญ่ที่กำลังพัฒนา (Developing mega hubs) 
 
ดร.โช อุน คง ยังได้อธิบายเพิ่มเติมว่า แม้เมืองต่างๆ จะมีรายละเอียดและถูกแบ่งออกได้หลากหลายประเภท แต่ยังไม่มีวิธีการใดที่สมบูรณ์แบบที่สุดสำหรับจัดการด้านการขยายตัวอย่างยั่งยืนของเมือง เพราะแต่ละเมืองมีลักษณะเฉพาะตัว  นอกจากนี้ ยังต้องมีการพิจารณาถึงปัจจัยด้านความแตกต่างทางวัฒนธรรม และพฤติกรรมการอยู่อาศัยของประชากร ประกอบด้วยเช่นกัน  
 
“จริงๆ แล้ว ยังไม่มีรูปแบบการจัดการเมืองไหนที่เรียกได้ว่าสมบูรณ์แบบ หรือเป็นรูปแบบที่เราควรทำตาม เพราะแต่ละเมืองต้องคำนึงถึงทรัพยากรที่มีความสำคัญต่อเมืองเหล่านั้นแตกต่างกันไป เช่น พลังงานที่มีอยู่ และยังต้องพิจารณาด้วยว่า เมืองนั้นๆ จะสามารถนำทรัพยากรมาใช้อย่างไรให้เกิดความคล่องตัวและมีประสิทธิภาพในระยะยาวได้  นอกจากนี้ ยังต้องมีการวางแผนและบริหารจัดการอย่างบูรณาการและเชื่อมโยงถึงกันได้อย่างมีประสิทธิภาพอีกด้วย” 
 
ในประเทศไทยเอง มีหลายหน่วยงานที่ช่วยกันหาทางแก้ปัญหาด้านความต้องการและความท้าทายต่างๆ ที่เกิดจากการขยายตัวอย่างรวดเร็วของเมืองต่างๆ รวมถึงกรุงเทพฯ ด้วยเช่นกัน จากมุมมองของนักพัฒนาเมือง ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ผศ.ดร.นิรมล กุลศรีสมบัติ ผู้อำนวยการ ศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง หรือ UddC (Urban Design and Development Center) หนึ่งในผู้ร่วมเสวนา กล่าวว่า “ดิฉันรู้สึกชื่นชมและสนใจผลการศึกษาที่ทางบริษัท เชลล์ ได้จัดทำขึ้นในครั้งนี้ เพราะผลการศึกษาชุดนี้มีความสำคัญอย่างมากที่จะช่วยให้เราเห็นภาพชัดเจนขึ้นว่า สิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นกับเมืองของเรานั้นมีอะไรบ้าง โดยเฉพาะในเรื่องของพลังงาน ซึ่งเป็นเรื่องที่ประเทศไทยกำลังเผชิญอยู่ จากปัญหาการขยายตัวของเมืองอย่างรวดเร็ว”
 
“ดิฉันเชื่อว่า UddC สามารถนำผลการศึกษาของเชลล์ มาต่อยอดเสริมกับความเชี่ยวชาญที่เรามีอยู่ เพื่อช่วยให้การวางแผนโครงการต่างๆ ครอบคลุมการจัดการด้านการใช้พลังงานได้อย่างคุ้มค่า และเป็นประโยชน์กับทุกคนในอนาคต โดยเฉพาะการพัฒนาโครงการระบบขนส่งมวลชน ที่เอื้อประโยชน์ต่อชุมชนผู้ที่มีรายได้น้อย รวมถึงผู้คนที่กระจายตัวอยู่รอบนอกเมือง  พวกเราทราบกันดีอยู่แล้วว่า กรุงเทพฯ ตั้งอยู่ในจุดที่มีความได้เปรียบทางภูมิศาสตร์ และเป็นประตูเชื่อมออกไปสู่ประเทศอื่นๆ ในอาเซียนได้เป็นอย่างดี  
 
ดังนั้น การวางผังเมืองอย่างรอบคอบเพื่อให้เกิดการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เมืองสามารถรับมือกับจำนวนประชากรที่
เพิ่มขึ้นอย่างมหาศาลในอนาคตได้เป็นอย่างดี ในขณะที่สามารถจัดการการใช้ทรัพยากรด้านพลังงานได้อย่างคุ้มค่าในอนาคตได้ด้วย 
 
“วิสัยทัศน์ของ UddC คือการรักษาสมดุลของการขยายตัวประชากรในกรุงเทพฯ โดยโครงการที่เรากำลังดำเนินการอยู่คือ โครงการ “เมืองเดินได้” 
(Walkable City) ซึ่งเน้นพัฒนาให้ส่วนต่างๆ ของเมืองชั้นในที่มีประชากรหนาแน่น มีทางเท้าที่เหมาะสมมากขึ้น เพื่อกระตุ้นให้ผู้คนที่ใช้ชีวิตอยู่ในบริเวณนี้หันมาเดินเท้ากันให้มากขึ้นในช่วง 5-10 ปีข้างหน้า โดยแนวคิดนี้สอดคล้องกับผลการศึกษาที่เชลล์นำมาเปิดเผย ซึ่งตอกย้ำถึงความจำเป็นในการหันมาศึกษาถึงวิธีที่จะทำให้เราสามารถใช้พลังงานได้อย่างยั่งยืน
 
นอกเหนือจากแนวคิดของ ดร. ผศ.ดร.นิรมล กุลศรีสมบัติ ที่ต้องการกระตุ้นให้เกิดโครงการใหม่ๆ ที่พัฒนาขึ้นเพื่อส่งผลต่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของคนในเมืองแล้ว  นาย จอน ซีลี่ หัวหน้าฝ่ายออกแบบของบริษัทรับออกแบบ มาร์ค แอนด์ จอร์ดี้ ยังร่วมให้ข้อมูลเกี่ยวกับผลงานที่ต้องการปรับเปลี่ยนระบบรถไฟฟ้าในเมืองให้มีประโยชน์มากยิ่งขึ้น ด้วยแนวคิดในการเพิ่มพื้นที่สำหรับการปั่นจักรยาน รวมถึงการสร้างสวนลอยฟ้าให้คนเมืองได้พักผ่อนหย่อนใจ  ซึ่งหากโครงการนี้ประสบความสำเร็จในการก่อสร้าง กรุงเทพฯ จะมีพื้นที่สีเขียวเพิ่มขึ้นอีกกว่า 75,000 ตารางเมตร จากปัจจุบันที่กรุงเทพฯ ยังมีพื้นที่สีเขียวในปริมาณน้อย เมื่อเทียบกับจำนวนประชากรที่อยู่กันอย่างหนาแน่น 
 
“โครงการนี้ เราไม่ได้มองเฉพาะการพัฒนาระบบขนส่งที่คนรุ่นต่อๆ ไปสามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างยั่งยืนเท่านั้น แต่เรายังต้องการพัฒนาเพื่อให้มีพื้นที่สีเขียวที่ทุกคนสามารถใช้ร่วมกันได้ด้วย และหากโครงการนี้ประสบความสำเร็จ กรุงเทพฯ จะกลายเป็นเมืองแรกในเอเชียที่มีการพัฒนาพื้นที่ในรูปแบบที่ไม่เคยเห็นที่ไหนมาก่อน  และกรุงเทพฯ ก็จะไม่ถูกมองว่า เป็นเมืองที่เต็มไปด้วยมลภาวะ เหมือนเมืองอื่นๆ ในเอเชียอีกต่อไป แต่จะเป็นเมืองที่ได้รับการออกแบบภายใต้แนวคิดสีเขียว ที่ตอบโจทย์การใช้ชีวิตของคนในสังคมและวิถีของคนไทย
 
ทางด้าน นายโสภณ ฉิมจินดา พิธีกรรายการโทรทัศน์ชื่อดัง ซึ่งเป็นทั้งคอลัมนิสต์และนักพูดเพื่อสร้างแรงบันดาลใจ ได้เข้าร่วมเสวนาโดยได้กล่าวว่า 
“การอาศัยในเมืองใหญ่และการใช้ระบบขนส่งมวลชนนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับทุกคนอยู่แล้ว และยิ่งสำหรับผู้พิการด้วยแล้ว เรื่องนี้ก็ยิ่งกลายเป็นเรื่องที่ยากขึ้นไปอีก อย่างไรก็ตามผมมองเห็นว่าเมืองของเรากำลังพัฒนาไปในทิศทางที่ดีขึ้น ผมอยากเห็นหน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง 
ให้ความสำคัญกับคนทุกกลุ่ม และนำข้อจำกัดที่มีอยู่ไปพิจารณาร่วมด้วยหากมีการริเริ่มโครงการอะไรใหม่ๆ ผมอยากเห็นกรุงเทพฯ เป็นเมืองที่น่าอยู่และน่าใช้ชีวิต ไม่ว่าสำหรับคนปกติหรือคนพิการ”
 
ทั้งนี้ ดร. โช ได้เน้นย้ำเพิ่มเติมว่า สิ่งที่สำคัญมากต่อการรับมือกับการขยายตัวของเมืองคือ การที่หลายฝ่ายในสังคมต้องให้ความร่วมมือกันจัดการกับความท้าทายต่างๆ  เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุด โดยกล่าวว่า “สิ่งที่สำคัญอีกอย่าง คือ แผนดำเนินงานระยะยาวที่เกิดจากการวางแผนโดยผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย โดยมีความยืดหยุ่นและกรอบระยะเวลาที่เพียงพอต่อการทำให้แนวคิดนั้นๆ เป็นจริงได้อย่างชัดเจน  
 
การวางผังเมืองต้องคำนึงด้วยว่าคนในเมืองนั้นๆ สามารถรับมือกับความเปลี่ยนแปลงได้แค่ไหน นอกจากนี้การพัฒนาเมืองให้ประสบความสำเร็จยังต้องเกิดจากการพัฒนาและลงทุนทางด้านการศึกษา สาธารณูปโภค รวมถึงเทคโนโลยีต่างๆ อีกด้วย 
 
การวางผังเมืองและจัดการเมืองที่มีการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าและมีสภาพแวดล้อมที่น่าอยู่นั้น เป็นเรื่องที่ท้าทายมาก แต่ถ้าทุกฝ่ายทั้งภาครัฐบาล เอกชน และภาคสังคม  ให้ความร่วมมือกันอย่างดีแล้ว เรื่องดังกล่าวย่อมเป็นไปได้ 
 
“ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ผลการศึกษาเรื่อง “เชลล์มองผ่านเลนส์สู่เมืองแห่งอนาคต” จะมีส่วนแสดงให้ทุกคนเห็นว่า การขยายตัวของเมืองเป็นเรื่องที่สำคัญและส่งผลกระทบโดยตรงต่อทุกชีวิต ทั้งในเรื่องความต้องการพลังงานและและคุณภาพชีวิต และนี่คือเหตุผลที่ทำให้เชลล์เชื่อมั่นว่า ความร่วมมือระหว่าง ภาครัฐ เอกชน และภาคสังคม จะเป็นสิ่งที่ยืนยันได้ว่า เราทุกคนร่วมกันตัดสินใจเลือกสิ่งที่ดีที่สุดให้กับอนาคตของเราทุกคน  
 
ในส่วนของเชลล์ เราจะยังคงเดินหน้าหาวิธีที่จะทำให้เมืองใหญ่มีความน่าอยู่และมีการใช้พลังงานอย่างยั่งยืน สำหรับพวกเราทุกคนต่อไป” ดร. โช กล่าวสรุป 
 
ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับผลการศึกษา “มองผ่านเลนส์สู่เมืองแห่งอนาคต” 
 
สามารถดูได้ที่  www.shell.com/futurecities