3 นายกธุรกิจฯ ชี้เศรษฐกิจไทยปี 58 “แพะอมโรค-รับบาป”

3 นายกสมาคมธุรกิจภาคเอกชนฟันธงปี 2558 “แพะอมโรค” นายกสมาคมมีเดียฯ ชี้ชัดประเทศไทยยังเหนื่อย ธุรกิจต้องดิ้นรน สินค้ากลุ่ม FMCG ขาดงบโฆษณา ด้านนายกสมาคมค้าส่งฯ ย้ำเป็นปี “แพะอมโรค” เพราะปัญหายังมีอีกมาก ต้องระวังเป็นพิเศษ ส่วนนายกสมาคมหนังสือฯ บอกยังมึนกับเศรษฐกิจไทยดีหรือไม่ดีกันแน่ หลายปัญหาเพียงแค่หยุดแต่ยังไม่จบ


      
นางวรรณี รัตนพล นายกสมาคมมีเดียเอเยนซี่และธุรกิจสื่อแห่งประเทศไทย หรือ MAAT กล่าววิเคราะห์ถึงภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศไทยในปี 2558 หรือปีมะแม (แพะ) ว่า ทิศทางประเทศไทยในปี 2558 ถือเป็นปีแพะที่ต้องดิ้นรนและต้องแข่งขัน เพราะสถานการณ์ต่างๆ ขึ้นอยู่กับรัฐบาลเป็นสำคัญว่านโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจที่จะเปิดตัวออกมาใหม่นั้นจะได้ผลมากน้อยเพียงใด แต่ในภาพรวมแล้วถือเป็นปีที่ยังเหนื่อยอยู่ โดยเฉพาะในกลุ่มอุตสาหกรรมโฆษณาแม้ว่าจะมีแนวโน้มดีกว่าปี 2557 ก็ตาม
      
*** ปีแพะยังต้องเหนื่อยอยู่อีก ***
      
จากที่หลายฝ่ายประเมินว่าจีดีพีของประเทศน่าจะอยู่ที่ 3.5-4% โดยอุตสาหกรรมโฆษณามูลค่า 1 แสนกว่าล้านบาทน่าจะโตได้ถึง 6-8% แต่จากการที่ชาวนายังมีปัญหารายได้ยังไม่เข้ามา เงินที่จะเข้ามาต้องรอดูผลผลิตในรอบถัดไป ถ้าชาวนาไม่มีเงิน กำลังซื้อก็จะไม่มี กลุ่มสินค้า FMCG (Fast Moving Consumer Goods) ก็จะไม่มีงบลงโฆษณาประชาสัมพันธ์ เพราะตลาดใหญ่อยู่ต่างจังหวัดเป็นหลัก
      
โดยรวมในปี 2558 อุตสาหกรรมโฆษณามีแนวโน้มดีขึ้น แต่กลุ่มสินค้า FMCG อาจจะทำงานเหนื่อยมากที่สุด ไม่น่าจะดีเท่าที่ควร แต่ถือว่าดีขึ้นเมื่อเทียบกับปี 2557 เนื่องจากถ้าชาวนาไม่มีเงิน กลุ่ม FMCG ก็จะไม่ดี ตามมาด้วยรีเทลก็จะไม่ดีตาม โดยเฉพาะซูเปอร์มาร์เกต
      
“ส่วนกลุ่มธุรกิจที่น่าจะเติบโตได้สูงนั้นน่าจะเป็นเทเลคอมหากมีการประมูล 4G ได้จริง ส่วนทีวีดิจิตอลน่าจะดีขึ้นตามตัวเลขผู้ชมที่เข้าถึง เงินโฆษณาก็จะไหลเข้ามามากขึ้น ซึ่งต้องอยู่ที่คอนเทนต์รายการด้วยว่าจะสามารถดึงคนดูได้มากแค่ไหน ทั้งนี้ มองว่าในเดือนมกราคมหลายฝ่ายยังไม่พร้อม เงินที่จะไหลเข้ามาอาจจะไม่ต่อเนื่อง ต้องดูอีกสักระยะจึงจะเห็นภาพชัดเจน” นางวรรณีกล่าวสรุป

*** ปีแพะรับบาป-แพะอมโรค ***

นายสมชาย พรรัตนเจริญ นายกสมาคมค้าปลีก-ส่งไทย กล่าวประเมินถึงภาพรวมเศรษฐกิจไทยในปี 2558 ว่า ทุกธุรกิจต้องระวังมากขึ้นและต้องติดตามสถานการณ์ทุกอย่างให้มาก เป็นปีที่ทุกคนต้องระวังให้มาก โดยเฉพาะเรื่องการส่งออก เพราะเศรษฐกิจเราไม่ได้แข็งแรงเอง พอมีปัญหาเรื่องการส่งออกเพราะเมื่อประเทศที่เป็นคู่ค้ามีปัญหาเราก็รับปัญหาไปด้วย เราไม่ได้พึ่งพาแขนขาลำแข้งของเราเองมากนัก
      
“ถ้าหากไตรมาสแรกของปีนี้ราคาน้ำมันยังมีปัญหาอยู่ กลุ่มประเทศที่ผลิตน้ำมันส่งออกก็จะโดนผลกระทบหนัก กำลังซื้อของประเทศเหล่านั้นที่เป็นผู้ผลิตและผู้ส่งออกน้ำมันก็กระทบลดลงไปด้วย เช่น รัสเซีย เป็นต้น ซึ่งก็เป็นประเทศคู่ค้ากับเราเหมือนกัน หากมองในประเทศ กำลังซื้อของคนไทยเราตอนนี้ก็ไม่ได้มีมากพอ เมื่อภาวะการค้าส่งออกอ่อนแอ เห็นมีข่าวว่ายุโรป หรืออเมริกาจะตัดสิทธิจีเอสพีเราอีก ส่วนการท่องเที่ยวพอได้อยู่ ภาคเกษตรกรรมก็ไม่ค่อยดี”
      
“ตอนนี้สหรัฐอเมริกาก็ปลดล็อกเราจากประเทศที่มีรายได้ต่ำเป็นประเทศที่มีรายได้ปานกลางแล้ว ดังนั้นเขาอาจจะไม่สงสารเราเท่าใดแล้วเพราะเราเป็นประเทศที่มีรายได้ปานกลาง เขาอาจจะมองว่าเราแข็งแรงแล้วอาจจะไม่ให้ความช่วยเหลือ หรือว่าสิทธิพิเศษอะไรทางการค้าก็เป็นได้ แต่เมื่อหันมามองดูตัวเราเอง เราอยู่กับสภาพนี้ บ้านเมืองยังมีปัญหา เศรษฐกิจก็ยังฝืดเคือง เราขายของที่คนรวยคนมีเงินเขาซื้อหรือยัง ก็ไม่ใช่ ประเทศไทยเป็นประเทศที่ใช้จ่ายงบประมาณสูงมากและกู้เงินต่างประเทศมากด้วย ประเทศก็เหมือนกับครอบครัว คือ ถ้าพ่อบ้านซึ่งเป็นผู้นำประเทศหาเงินไม่เก่ง แต่คนในบ้านใช้เงินเก่ง มันก็จบกันพอดี”
      
“หากประเมินภาพรวมปี 2558 ที่เป็นปีแพะแล้ว ผมมองว่ามันอาจจะเป็นแพะอมโรค เพราะถ้าดูเผินๆ แล้วประเทศไทยเราเหมือนกับแข็งแรงแล้ว แต่จริงๆ ไม่ใช่เลย เรายังมีโรคภายในอยู่มากมายที่มองไม่เห็น เป็นเหมือนแพะอมโรค ทั้งโรคการเมือง โรคส่งออก โรคเศรษฐกิจ โรคข้าว โรคน้ำมัน เต็มไปหมด ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องเร่งรีบแก้ไขโดยเร็ว” 

*** หวั่นเป็นปีแพะบูชายัญ ***


      
นายจรัญ หอมเทียนทอง นายกสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย (PUBAT) ให้มุมมองถึงเศรษฐกิจไทยปี 2558 ว่า ปัจจัยลบในปี 2558 คือ ทุกคนไม่รู้ว่าประเทศไทยของเรามีภาวะเศรษฐกิจเป็นอย่างไรแน่ ในด้านดีหรือไม่ดีก็ดูไม่รู้ เพราะคลุมเครือมาตลอดตั้งแต่ปีที่แล้ว เหมือนกับว่าเราเป็นแพะอมโรค หรือแพะรับบาป แต่โดยส่วนตัวแล้วไม่อยากให้เป็นแพะบูชายัญ เพราะจะยิ่งหนักหนาสาหัสเข้าไปใหญ่
      
เขามองว่า ปี 2558 เป็นปีที่ทุกคนต้องระมัดระวังให้มากขึ้น ต้องมีความรอบคอบในการทำมากขึ้น จะลงทุนอะไรก็แล้วแต่ต้องทำการศึกษาให้ละเอียด มองหน้ามองหลังให้ดี การทำสินค้าออกสู่ตลาดตัวหนึ่งต้องคำนึงถึงคุณภาพให้มากที่สุดเป็นอันดับแรกมากขึ้นด้วย เพราะผู้บริโภคจะเลือกเองมากขึ้น ส่วนผู้ผลิตเองก็คงต้องติดตามสถานการณ์ให้ดี อย่างไรก็ตาม ภาวะโดยรวมแล้วยังไม่ค่อยที่จะเอื้ออำนวยเท่าใดนัก และทุกอย่างดูเหมือนว่าเป็นการหยุดเท่านั้นแต่ไม่ได้จบ
      
สำหรับในมุมมองของธุรกิจด้วยแล้ว นายจรัญมองว่า ตลาดหนังสือในปี 2557 ที่ผ่านมามีมูลค่าประมาณ 2 หมื่นกว่าล้านบาท อยู่ในภาวะทรงตัวซึ่งไม่ได้เติบโตแต่อย่างใดและก็เป็นเช่นนี้มาหลายปีแล้ว เพราะภาพรวมเศรษฐกิจไม่ค่อยดี ร้านหนังสือที่เป็นเชนก็มีเปิดปิดสลับกันไป ขณะที่คนซื้อหนังสือส่วนใหญ่แล้วคือคนชนชั้นระดับกลางซึ่งกลุ่มคนเหล่านี้ได้รับผลกระทบอย่างมากเมื่อปีที่แล้ว
      
อย่างไรก็ตาม เมื่อปีที่แล้วสมาคมฯ ได้มีโอกาสพบกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม และได้เสนออย่างไม่เป็นทางการไปว่าต้องการให้ธุรกิจหนังสือและที่เกี่ยวข้องเข้าไปอยู่ในความดูแลรับผิดชอบของกระทรวงวัฒนธรรม เพราะจะได้มีความเกี่ยวเนื่องกับงานที่ดูอยู่แล้ว เช่น หอสมุดแห่งชาติ แต่ทำไมเรื่องหนังสือจึงไม่ได้ดูแล ซึ่งหลังจากปีใหม่แล้วทางสมาคมฯ คงจะสานต่อแนวคิดดังกล่าวด้วยการเข้าพบกับ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมอย่างเป็นทางการอีกครั้งหนึ่ง
      
“เราหวังว่ารัฐบาลที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งชุดนี้จะมีนโยบายและท่าทีที่ชัดเจนเกี่ยวกับตลาดหนังสือ ที่จะสนับสนุนและส่งเสริมวงการหนังสือทั้งผู้ผลิต ผู้จัดจำหน่าย เจ้าของร้านหนังสือ และผู้พิมพ์ให้มีความแข็งแกร่งมากขึ้นอย่างไร เพราะที่ผ่านมารัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งต้องเป็นห่วงเรื่องฐานเสียงคะแนนของตัวเองมากกว่า” นายจรัญกล่าวในที่สุด

ที่มา : manager.co.th
http://www.manager.co.th/iBizChannel/ViewNews.aspx?NewsID=9580000003662