โลก15 ปีข้างหน้า ของ “บิลล์ เกตส์”

เป็นอีกหนึ่งเจ้าพ่อวงการไอทีที่ระยะหลังหันไปทุ่มเทให้กับกิจกรรมการกุศล และถึงกับเคยดื่มน้ำที่ผลิตจากของเสียได้อย่างคล่องคอ ล่าสุด บิลล์ และเมลินดา เกตส์ สองสามีภรรยาคนดังได้ออกมาเผยถึงมุมมองของพวกเขาต่อโลกในอีก 15 ปีข้างหน้า (นับจากปี ค.ศ. 2015) อีกครั้ง ผ่าน 2015 Gates Annual Letter โดยมีใจความดังนี้
 
1. อายุขัยโดยเฉลี่ยของคนในประเทศยากจนจะยืนยาวขึ้น 
 
บิลล์ เกตส์ระบุว่า เขามองเห็นถึงโอกาสในการเข้าถึงระบบสาธารณสุขที่ดีขึ้นในกลุ่มประเทศยากจน และในอนาคตอัตราการเสียชีวิตในกลุ่มเด็กของประเทศยากจนจะลดลงกว่าครึ่ง ส่วนโรคเช่นโปลิโอ โรคพยาธิกิเนีย โรคเท้าช้างก็จะไม่มีอีกต่อไปด้วย นอกจากนั้นยังอาจพัฒนาวัคซีนเพื่อป้องกันโรคอันตราย เช่น ไข้มาลาเรีย ไม่ให้แพร่จากคนสู่ยุง และยุงสู่คนได้อีก รวมถึงสามารถพัฒนาชุดทดสอบที่ระบุได้ว่าบุคคลคนนั้นติดเชื้อมาลาเรียแล้วหรือไม่ได้สำเร็จ
 
ในอีกมุมหนึ่ง เขายังมองว่า โลกยุคต่อไปจะยังคงแบ่งคนออกเป็นสองกลุ่ม กลุ่มแรกคือคนในประเทศร่ำรวยที่มักจะตื่นเต้นกับเทคโนโลยีใหม่ๆ เสมอ อีกกลุ่มคือโลกของคนยากจนที่จะได้ดีใจว่าลูกของตนเองไม่ต้องเสียชีวิตตั้งแต่เด็กอีกต่อไป ส่วนโอกาสทางการศึกษา ตลอดจนการได้รับประทานอาหารที่มีประโยชน์สำหรับคนกลุ่มยากจนจะยังคงเป็นเรื่องห่างไกลอยู่เช่นเดิม
 
2. แอฟริกาจะผลิตอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกายได้มากขึ้น
 
ในมุมนี้ บิลล์ เกตส์ระบุว่า การรับประทานอาหารที่ไม่ถูกต้องได้ส่งผลต่อสุขภาพ และการเติบโตของเด็กๆ ในทวีปแอฟริกามายาวนาน โดยเด็กๆ ได้รับผลกระทบจนทำให้การเจริญเติบโตไม่เป็นไปตามวัย และไม่สามารถศึกษาเล่าเรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ
 
เพื่อให้เปลี่ยนไปสู่สิ่งที่ดีขึ้น บิลล์ เกตส์ระบุว่า แอฟริกาจะเปลี่ยนไปทำเกษตรแนวทางใหม่ที่นำเทคโนโลยีต่างๆ เข้ามาช่วย เช่น การคัดเลือกสายพันธุ์ การปลูกพืชหมุนเวียน การหาตลาด จะช่วยให้แอฟริการอดพ้นจากปัญหานี้ได้ และจะทำให้แอฟริกามีอาหารที่ดีต่อสุขภาพสำหรับคนในทวีปได้บริโภคมากขึ้น
 
ซึ่งตัวช่วยที่ดีในกรณีนี้อาจเป็นการรับข้อมูลข่าวสารที่จำเป็นต่อการทำการเกษตร เช่น ใช้สมาร์ทโฟนที่สามารถทำนายสภาพอากาศได้ เป็นต้น
 
3. ธุรกิจดิจิตอลแบงกิ้งจะเติบโตและเจาะกลุ่ม “คนจน” 
 
ในจุดนี้บิลล์ เกตส์มองว่า ในอนาคตจะมีคนหันไปใช้บริการทำธุรกรรมทางการเงินผ่านมือถือกันมากขึ้น ซึ่งในวันนั้นอาจเป็นตัวเลขสูงถึง 2 พันล้านคนเลยทีเดียว การทำให้กลุ่มคนยากจนเข้าถึงบริการดังกล่าวได้จะช่วยให้ธุรกิจนี้มีรายได้มากขึ้นนั่นเอง
 
ยกตัวอย่างเช่นในบังกลาเทศ มีบริการชื่อ bKash เปิดขึ้นเมื่อ 4 ปีก่อน ปัจจุบันมีคนทำธุรกรรมทางการเงินผ่านบริการดังกล่าวถึง 2 ล้านรายการต่อวัน และเกือบถึง 1 พันล้านรายการต่อเดือน
 
ปัญหาหลักของธุรกิจนี้คือการทำให้ประเทศกำลังพัฒนาปรับกฎระเบียบให้สอดคล้องกับเทรนด์ใหม่ๆ ได้อย่างรวดเร็ว
 
4. ซอฟต์แวร์จะปฏิวัติวงการการศึกษา
 
ในอีก 15 ปีข้างหน้าอาจเป็นยุคที่เราจะได้เห็นการศึกษาพัฒนาไปสู่สิ่งที่ดีกว่า เนื่องจากระบบเครือข่ายมีการพัฒนาให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้เรียนมากขึ้น และอุปกรณ์เช่นสมาร์ทโฟนจะอยู่ในราคาที่รับได้มากขึ้น นั่นจึงอาจทำให้ยอดผู้ลงทะเบียนเรียนผ่านระบบออนไลน์มีเพิ่มสูงขึ้น คอร์สการสอนแบบออนไลน์จะเป็นทรัพย์สมบัติของโลก ที่ซึ่งคนทุกคนสามารถเข้าถึงได้ถ้ามีสมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ตนั่นเอง
 
ก็ได้แต่หวังว่าในอีก 15 ปีข้างหน้าจะไม่ต้องประกาศให้สมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ตกลายเป็นอวัยวะส่วนหนึ่งของร่างกายไปด้วย 

ที่มา: http://manager.co.th/CbizReview/ViewNews.aspx?NewsID=9580000010761