“เคเอฟซี” ทุ่ม 2,700 ล้านบาท รุก “ไดร์ฟทรู-ดิจิตอล”

เป็นที่แน่นอนแล้วว่า “ไดร์ฟทรู” ได้กลายเป็นยุทธศาสตร์หลักในการรุกตลาดของ “เคเอฟซี” ในปีนี้ และด้วยการที่เข้ามาเป็นน้องใหม่ในวงการไดร์ฟทรู ทำให้เคเอฟซีต้องติดสปีดในการขยายอยู่พอสมควรเพื่อให้ทันคู่แข่งอย่าง “แมคโดนัลด์” ที่ได้ใช้โมเดลมานานหลายสิบปีแล้ว

แผนลงทุนให้ปี 2558 เคเอฟซีจึงทุ่มงบที่สูงสุดในประวัติศาสตร์ 2,700 ล้านบาท ซึ่งเน้นทั้งในส่วนโมเดลร้านแบบไดร์ฟทรู และทางด้านระบบไอที โดยที่มีแผนขยายร้านแบบไดร์ฟทรูเพิ่มอีก 15 สาขา จากเดิมที่มี 10 สาขา เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้งบลงทุนก็ขยับสูงขึ้นด้วยเช่นกัน เพราะรูปแบบร้านไดร์ฟทรูจะใช้เงินลงทุนมากกว่ารูปแบบร้านธรรมดาถึง 50%

ในส่วนของระบบไอทีและดิจิตอล ได้พัฒนาให้ระบบเร็วขึ้นตั้งแต่การออเดอร์หน้าเคาท์เตอร์ไปจนถึงระบบหลังบ้าน รวมไปถึงพัฒนาหน้าเว็บไซต์ใหม่เพื่อรองรับการสั่งผ่านสมาร์ทโฟน ที่ปัจจุบันมีการสั่งผ่านช่องทางนี้ถึง 30% ซึ่งจะใช้งบลงทุนทางด้านไอทีทั้งหมด 300 ล้านบาท ถือเป็นการรีเฟรชระบบไอทีครั้งใหญ่ของเคเอฟซี 

ปัจจุบันมีสาขารวม 531 สาขา แบ่งเป็นร้านธรรมดา 478 สาขา ร้านแบบคีออส 43 สาขา และไดร์ฟทรู 10 สาขา ปีที่แล้วเปิดสาขาไปทั้งหมด 65 สาขา เป็นไดร์ฟทรู 10 สาขา ตั้งเป้าเปิดสาขาในปีนี้อีก 55 สาขา แบ่งเป็นร้านธรรมดา 40 สาขา และไดร์ฟทรู 15 สาขา มีการออกเมนูชั่วคราวใหม่อีก 17 เมนู (รวมทั้งเมนูข้าว เบอร์เกอร์ และของหวาน) ปีที่แล้วมีการออก 12 เมนู แต่ละเมนูจะมีระยะเวลา 1 เดือน งบลงทุนทั้งหมด 2,700 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วที่ใช้งบลงทุน 2,200 ล้านบาท ใช้งบลงทุนด้านไอที 300 ล้านบาท โดยที่เป็นการลงทุนครั้งใหญ่ด้านระบบไอทีและดิจิตอล ทั้งการทำเว็บไซต์ใหม่เพื่อรองรับการสั่งทางสมาร์ทโฟนมากขึ้น งบการตลาดทั้งหมด 700 ล้านบาท แบ่งเป็นงบด้านออนไลน์ 10% เพิ่มจากปีที่แล้วที่ใช้ 5% สัดส่วนรายได้แบ่งเป็นจากร้านธรรมดา 85% เดลิเวอร์รี่ 10% และไดร์ฟทรู 5% วางเป้าหมายระยะยาวว่าในปี 2563 จะมีทั้งหมด 800 สาขา โดยที่สิ้นปี 2558 จะมีทั้งหมด 586 สาขา ในปี 2557 มีรายได้เติบโต 9% และตั้งเป้าเติบโต 10-11% ในปี 2558 ปัจจัยในการเลือกทำเลตั้งสาขาของเคเอฟซี คือ พื้นที่อยู่ในชุมชน มีทราฟฟิคผู้คนสัญจรไปมา และต้องอยู่ในพื้นที่ที่จะใช้เวลาจัดส่งสินค้าผ่านช่องทางเดลิเวอร์รี่ไม่เกิน 10 นาที ถือเป็นมาตรฐานสัคัญของเคเอฟซี