7 เทคโนโลยีเพื่อความปลอดภัยของ “ผู้สูงอายุ”

เชื่อว่าคนไทยส่วนมากได้มีโอกาสทราบถึงสถิติที่กระทรวงสาธารณสุข ออกมาประกาศกันดีแล้วว่า ประเทศไทยจะก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (Aged Society) อย่างสมบูรณ์ในราวปี พ.ศ.2568 กล่าวคือในประชากรทุกๆ 5 คน จะมีผู้สูงอายุ 1 คน ซึ่งหากผู้สูงอายุทุกคนสุขภาพแข็งแรงเหมือนเช่นคนหนุ่มสาว ก็คงไม่มีใครต้องกังวล 
 
แต่ความเป็นจริงไม่ใช่เช่นนั้น เพราะผู้สูงอายุในปัจจุบันต้องเผชิญต่อโรคเรื้อรัง และความเสื่อมของร่างกายตามธรรมชาติมากมาย ยกตัวอย่างเช่น ข้อเสื่อม สายตาไม่ดี มีปัญหาด้านการบดเคี้ยว ความดันโลหิตสูง เบาหวาน อีกทั้งยังมีแนวโน้มต้องอยู่คนเดียวเพิ่มมากขึ้นด้วย
 
ความกังวลของลูกหลานที่ต้องให้พ่อแม่สูงอายุอยู่บ้านตามลำพัง ขณะที่ตัวเองต้องออกไปทำงานหาเงินเป็นสิ่งที่หนักหนาพอสมควร ทีมงาน Cyberbiz จึงมองหาเทคโนโลยีใหม่ๆ และไอเดียดีๆ ที่สามารถตอบสนองความต้องการของผู้สูงอายุ ตลอดจนลูกหลานที่เป็นห่วงเป็นใยมาฝากกัน จะมีอะไรบ้างนั้นไปติดตามกันเลยค่ะ
 
ความกังวลข้อที่ 1 : ถ้าเกิดเหตุฉุกเฉินกับพ่อแม่ จะทำอย่างไรให้ท่านสามารถติดต่อลูกๆ ได้
 
การลบความกังวลข้อนี้คงไม่ใช่การหาสมาร์ทโฟนรุ่นไฮเทคที่สุดมาให้คุณพ่อคุณแม่ใช้ เพราะจากข้อมูลของศูนย์วิจัย Pew Research Center สหรัฐอเมริกา พบว่า สมาร์ทโฟนในปัจจุบันค่อนข้างใช้งานยุ่งยากเกินไปสำหรับผู้สูงอายุ โดยเฉพาะปุ่ม และตัวหนังสือที่หน้าจอที่มีขนาดเล็กจนท่านมองไม่ถนัด การหาโทรศัพท์ที่มีฟังก์ชันการใช้งานไม่ยากนัก รวมถึงมีขนาดปุ่มใหญ่ๆ ฟอนต์หน้าจอใหญ่ๆ และเสียงดังฟังชัด มาให้พ่อแม่ใช้งานแทนก็อาจช่วยให้ท่านติดต่อลูกๆ ได้สะดวกมากขึ้น หรือไม่เช่นนั้นอาจมองหาโทรศัพท์สำหรับเด็กที่มีปุ่มไม่กี่ปุ่ม พร้อมฟังก์ชันการทำงานง่ายๆ เช่น กด 1 โทร.หาลูกคนที่ 1 กด 2 โทร.หาลูกคนที่สองมาให้ท่านใช้ก็ช่วยได้เช่นกัน
 

 
ความกังวลข้อที่ 2 : พ่อแม่ชอบทำความสะอาดบ้าน
 
เป็นความเคยชินของคนเป็นพ่อแม่ที่ต้องดูแลบ้านมาตลอดชีวิต ดังนั้น เมื่อท่านมีเวลาว่างในวัยชรา ก็มักอยากทำงานบ้านเล็กๆ น้อยๆ พอให้ชีวิตมีสีสัน แต่สำหรับลูกหลานที่อยากแบ่งเบาภาระในจุดนี้ และไม่ต้องการจ้างแม่บ้านมาช่วยดูแล ก็อาจมองหาหุ่นยนต์ดูดฝุ่นอัตโนมัติ iRobot มาวิ่งดูดฝุ่นในบ้านแทนก็ได้ โดยหุ่นยนต์ตระกูล iRobot นี้มีหลายรุ่นหลายฟังก์ชัน บางตัวก็แค่ดูดฝุ่นเฉยๆ แต่บางตัวสามารถทำความสะอาดพื้นได้เลยทีเดียว เช่น รุ่น Scooba ที่เจ้าของเพียงใส่น้ำ หรือสเปรย์ทำความสะอาดลงไปในเครื่องก็ปล่อยให้มันออกไปทำความสะอาดพื้นได้แล้ว
 
ความกังวลที่ 3 : พ่อแม่มักจะลืมกินยา
 
ใครที่อยู่ในแวดวงเทคโนโลยีคงร้องอ๋อเลยทีเดียวกับปัญหานี้ เพราะมีสิ่งประดิษฐ์ของบรรดาสตาร์ทอัปรุ่นใหม่ที่สามารถลดความกังวลข้อนี้ไปได้อย่างง่ายดาย โดยมีทั้งในรูปแบบแอป และเป็นอุปกรณ์ช่วยเตือนให้กินยาตามเวลา เช่น MD.2 ที่จะมีเสียงเตือนในเวลาที่ต้องรับประทานยา เมื่อพ่อแม่สูงอายุเดินไปกดปุ่ม (ปุ่มใหญ่ๆ บนเครื่อง) ยาที่กำหนดไว้ก็จะไหลออกมาจากช่อง เรียกได้ว่าป้องกันการหยิบยาขาด-เกินได้เลย (ลูกๆ ที่บรรจุยาลงในกล่องต้องรอบคอบด้วยนะคะ) อย่างไรก็ดี ผลิตภัณฑ์ในกลุ่มนี้ค่อนข้างมีตัวเลือกมากมาย และระดับราคาก็แตกต่างกันด้วย บางตัวอาจเป็นแอปฟรีไม่มีค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด
 
ความกังวลข้อที่ 4 : พ่อแม่อาจลืมว่าทำแกงหม้อใหญ่ไว้ในครัว
 
อีกกลุ่มอุปกรณ์ที่น่าสนใจก็คือ ระบบอัจฉริยะที่ช่วยตัดไฟเครื่องครัว เพราะผู้สูงอายุมักมีโอกาสลืมว่าทำกับข้าวเอาไว้ และหันไปทำอย่างอื่นจนอาหารไหม้ได้ ซึ่งเทคโนโลยีเหล่านี้ค่อนข้างมีหลากหลาย บางเจ้าอาจเพียงแค่ตัดไฟอัตโนมัติ แต่บางเจ้าอาจทำได้ถึงขั้นว่า ป้องกันไม่ให้เตาไฟใช้ความร้อนสูงเกินกว่าที่ลูกๆ กำหนดเลยทีเดียว
 
ความกังวลข้อที่ 5 : พ่อแม่หกล้ม
 
บริการที่เหมาะสมอาจเป็นคอลล์เซ็นเตอร์ 24 ชั่วโมงสำหรับผู้สูงอายุ โดยจะมีสายรัดข้อมือให้ท่านสวม หากเกิดเหตุฉุกเฉินกับท่านขึ้นมาเมื่อใดก็เพียงกดปุ่มบนสายรัดข้อมือ ระบบจะส่งสัญญาณผ่านโทรศัพท์ไปยังคอลล์เซ็นเตอร์ และคอลล์เซ็นเตอร์จะรีบติดต่อลูกหลาน หรือบุคคลที่ระบุไว้โดยทันที
 

 
ความกังวลข้อที่ 6 : มีแขกมาเยี่ยมแต่ผู้สูงอายุไม่ได้ยินเสียงกริ่ง
 
ปัญหาด้านการได้ยินที่มักเกิดต่อผู้สูงอายุอาจทำให้แขกที่มาเยี่ยมต้องยืนรอหน้าบ้านนานกว่าปกติ เพราะกดกริ่งก็แล้ว โทรศัพท์เข้ามาก็แล้ว ท่านก็ยังไม่ได้ยิน ในกรณีที่บ้านไม่ได้เลี้ยงสุนัขด้วยยิ่งแล้วใหญ่ เพราะหากมีสุนัข อย่างน้อยมันก็จะเห่าเสียงดังจนคนในบ้านต้องออกมาดู แต่ในแวดวงเทคโนโลยีก็มีทางแก้สำหรับปัญหานี้เช่นกัน โดยได้มีการพัฒนาระบบไฟขึ้นแทนกริ่งแบบเดิม หากมีคนมากดกริ่งหน้าบ้าน ไฟดวงนี้ก็จะสว่างขึ้น หรืออาจกระพริบเป็นระยะให้ผู้สูงอายุได้สังเกตนั่นเอง
 
ความกังวลข้อที่ 7 : อยากรู้ว่าพ่อแม่ และบ้านปลอดภัยดีไหม
 
แม้ทุกวันนี้เราจะสามารถโทรศัพท์แบบเห็นหน้าอีกฝ่ายได้แล้ว แต่ผู้สูงอายุบางท่านก็ยังจำวิธีใช้งานแอปเหล่านั้นกันไม่ค่อยได้ บางทีอาจจะดีกว่าหากติดตั้งระบบมอนิเตอร์ “บ้านทั้งหลัง” กันเลย ยกตัวอย่างแนวคิดของระบบ eNeighbor ของสหรัฐอเมริกา ที่เป็นการติดเซ็นเซอร์ไว้ตามจุดต่างๆ ของบ้าน เช่น ลูกบิดประตู เก้าอี้ ห้องน้ำ เตียงนอน ฯลฯ เพื่อให้สามารถตรวจสอบความเคลื่อนไหวภายในบ้านได้อย่างทันใจลูกหลาน
 
แม้เทคโนโลยีที่นำมาเสนอบางส่วนอาจหาผู้บริการไม่ได้ในประเทศไทย แต่ก็อาจเป็นโอกาสดีสำหรับนักพัฒนาชาวไทยที่จะคิดบริการใหม่ๆ ขึ้นมาเสริมในจุดที่ขาดหายไป เพื่อเตรียมตัวรองรับสังคมผู้สูงอายุที่ใกล้จะมาถึง
 
ข้อสำคัญก่อนจ่ายเงินค่าเทคโนโลยีคือ ต้องไม่ลืมว่าสิ่งที่ซื้อมาเพื่อดูแลคนที่คุณรัก และรักคุณนั้นต้อง “อ่านง่าย” เพราะเวลาเกิดเหตุให้ใช้งาน คนที่ต้องอ่านข้อความ หรือข้อมูลบนเครื่องคือพ่อแม่สูงอายุ “ใช้ง่าย” (แค่กดปุ่มเดียวได้ยิ่งดี) และ “มีบริการช่วยเหลือที่เหมาะสม” หากเลือกได้เช่นนี้ เชื่อแน่ว่าสินค้าเทคโนโลยีที่เคยเป็นไม้เบื่อไม้เมากับผู้สูงอายุมายาวนานจะถูกมองเป็นเพื่อนคู่คิดมิตรคู่บ้านอย่างรวดเร็ว