โหยหาโลกใบเก่า… ธุรกิจเพลงสะพัด ยุคแผ่นเสียงครองเมือง! (ชมคลิป)

“หลักหมื่น” คือตัวเลขที่คอเพลงทุกวันนี้ยินยอมจ่ายให้กับ “ไวนิล” หรือการฟังเพลงผ่านวัตถุวงกลมขนาด 12 นิ้วที่เรียกว่า “แผ่นเสียง” เพียงหนึ่งแผ่น ขอแค่ได้ครอบครองสะสม Collection หายาก และได้มีโอกาสให้โสตประสาททำความรู้จักกับประสบการณ์ทางดนตรีที่ร่ำลือกันว่าไพเราะยิ่งกว่าฟังผ่านซีดีหรือระบบดิจิตอลใดๆ เป็นเทรนด์โลกที่ลามมาระบาดในไทย ส่งให้ธุรกิจนี้เป็นวงจรเก็งกำไรแห่งใหม่ของนักลงทุน ทั้งยังถือเป็นความหวังใหม่ของการอยู่รอดของ “ร้านขายเพลง” ในวันที่ผู้คนนิยมเสพเพียงดนตรีฟรีบนโลกออนไลน์
 

 

กระแสโก้มาแรง-กระแสเก็งกำไร

 

 
“แผ่นตอนนี้ที่ราคาเป็นหมื่นๆ ก็มี เพชรพิณทอง, จรัล มโนเพ็ชร อยู่ที่ประมาณ 8,000 ราคามันขึ้นเนื่องจากแผ่นมันหายากมาก มันคือแผ่นที่ประเทศไทยผลิตให้คนไทยฟังตั้งแต่ยุคก่อน และที่ทำให้มันแพงมากเพราะทุกวันนี้โรงงานผลิตแผ่นเสียงประเทศไทยไม่มีแล้ว ยุบไปหมดแล้ว ทำให้ไม่มีใครไปลงทุนผลิตเพลงยุคนี้ขึ้นมาใหม่ได้อีก กลายเป็นคนอยากได้มากเพราะแผ่นที่มีในยุคนั้นมีเหลือไม่กี่แผ่น เหลืออยู่ประมาณ 200-300 แผ่น ขณะที่ความต้องการจะซื้อมี 4,000-5,000 คน” 
 
โอ-ชัชวาลย์ สุรเดช ผู้คร่ำหวอดในวงการเพลงและผู้หลงใหลในแผ่นเสียงเข้าขั้นนักสะสม บอกเล่าความเป็นไปผ่านประสบการณ์ตรง ในฐานะ Selector ผู้คัดสรรแผ่นเสียงจากทั่วทุกมุมโลกมาไว้ในร้านๆ เดียว และร้านนั้นก็คือร้านขายแผ่นเสียงของเขาเองซึ่งใช้ชื่อว่า “Recoroom vinyl & audio vintage”
 

 
แม้จะเพิ่งเปิดตัวร้านอย่างเป็นทางการไปได้ไม่นาน แต่ความรักและความรู้ที่มีต่อสิ่งเหล่านี้ก็ไม่ได้ด้อยไปกว่าใคร ถ้านับจากระยะเวลาที่เริ่มเข้ามาเป็นพ่อค้าตระเวนหาแผ่นเสียงมาขายก่อนจะมีหน้าร้านอย่างทุกวันนี้ ก็นับเป็นระยะเวลากว่า 7 ปีแล้ว จึงทำให้โอพอจะมองออกว่า อะไรทำให้จู่ๆ การฟังเพลงผ่านแผ่นเสียงกลับมาได้รับความนิยมเปรี้ยงปร้างจนเรียกได้ว่าเป็นเทรนด์ของคนรุ่นใหม่อยู่ในขณะนี้ ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะกระแสฮิปสเตอร์ที่คนพูดถึงในช่วงหลังๆ และการใช้ชีวิตแบบ Slow Life อีกส่วนหนึ่งอาจเป็นผลมาจากกระแสโลกและการเก็งกำไรของนักลงทุน
 
“กระแสมันมาจากฝรั่งอเมริกา ยุโรปครับ แล้วค่อยลามมาที่อื่น คนเกือบค่อนโลกหันมาฟังแผ่นเสียง-ไวนิลกันส่วนใหญ่ เพราะเบื่อการดาวน์โหลดที่มีแค่เสียง นอกนั้นการจับต้องได้มันหายไปหมด มันเลยทำให้คนเบื่อ อย่างอเมริกา อังกฤษ หรือญี่ปุ่นนี่เล่นกันหนักมาก ถึงขนาดศิลปินออก Single ก็ออกมาเป็นแผ่นเสียง ผมก็ไม่รู้ว่าเขาต้องการอะไร แต่เขาอาจจะมองเห็นว่าเทรนด์ของคนฟังเพลงมันมาทางนี้ คือนอกจากยอดดาวน์โหลดที่จะได้แล้ว อาจจะมองว่าแผ่นเสียงจะช่วยเพิ่มมูลค่าของเพลงได้แม้แต่ John Mayer ที่ดังจากยอดดาวน์โหลดเพลง แต่ทำไมเขาถึงมีแผ่นเสียงออกมา และปรากฏว่าแผ่นเสียงกลับขายดีกว่าด้วย ค่ายใหญ่ๆ อย่าง Universal วงไหนมีแผ่นเสียงออกมากลับขายได้ดีวงที่ไม่มี”
 
แท้จริงแล้ว แผ่นเสียงที่ขายๆ กันในต่างประเทศส่วนใหญ่ราคาอยู่ที่ 800-1,000 บาทเท่านั้น ไม่ได้มีราคาสูงอะไรมากมาย แม้แต่อัลบั้มเก่าๆ ที่ถูกนำมาผลิตใหม่หรือที่เรียกว่า “Re-Issue” นั้น ก็จะขายในราคาเดียวกัน เพียงแต่เป็นสินค้าที่ไม่อยู่ในสายตาของเหล่านักสะสมแผ่นเสียงซึ่งต้องการแผ่น Original ซึ่งผลิตในจำนวนจำกัดในปีนั้นๆ มากกว่า โดยล็อตการผลิตหนึ่งจะปั๊มออกสู่ตลาดได้มากสุดไม่เกิน 50,000 แผ่น และเหตุผลเดียวกันนี้เองที่ทำให้อัลบั้มหายากเหล่านี้ยิ่งแพงเข้าไปอีกเมื่อเอามาขายในไทย ส่งให้พื้นที่ซื้อขายส่วนนี้กลายเป็นแหล่งทองสำหรับการเก็งกำไรแห่งใหม่ของนักลงทุน!
 

 
“แผ่นที่ Re-Issue ขึ้นมา นักสะสมจะมองว่ามันมีคุณค่าไม่เท่ากับแผ่นที่ผลิต ณ ปีนั้น เพราะระบบเสียงมันจะเป็นระบบโมโน เสียงที่ออกมาจะเต็มอิ่มกว่า อย่างแผ่นของวง The Beatles ผลิตในปี 1960 กว่าๆ พอมาขายตอนนี้ก็ราคาหลายหมื่นแล้ว ผมเคยซื้อแผ่นที่หลังกระทรวง สมัยก่อนราคา 100-200 บาท แต่ตอนนี้ 4,000 เข้าไปแล้ว บางแผ่นเป็นหมื่นๆ ก็มี ที่แพงสุดในร้านตอนนี้มีแผ่นละ 25,000 บาท
 
ผมมองว่าเป็นเรื่องที่ดีนะที่กระแสแผ่นเสียงกลับมา แต่ขอให้คนที่สะสม คนที่ซื้อแผ่นเสียง เป็นคนที่ซื้อไปฟังกันจริงๆ อย่าซื้อไปเก็บไว้เพราะคิดว่าต่อไปแผ่นนี้ราคาจะขึ้นอีกเท่าไหร่วะ ตอนนี้ 5,000 แล้ว อีก 2 ปีจะขึ้นถึง 10,000 มั้ยถ้าคิดแบบนั้นมันจะยิ่งเป็นการทำร้ายแผ่นเสียงมากกว่า บางคนเห็นอัลบั้มที่หายากๆ ราคาพุ่งๆ ก็จะยอมลงทุนซื้อมากกว่าคนอื่นหน่อยเพื่อหวังปล่อยขายในอนาคต คนกลุ่มนี้มีเยอะนะ แต่ถามว่าเขาทำผิดอะไรมั้ยที่ซื้อเก็งราคาเอาไว้ ไม่ผิดหรอกครับ แต่มันเกิดผลกระทบ อาจจะทำให้คนฟังเพลงเข้าถึงแผ่นเสียงได้ยากมากขึ้น”
 

รัก-อนันต์ นักวิจารณ์เพลงชื่อดัง
 
“1,000 บาท” คือราคาที่คอลัมนิสต์ชื่อดังผู้คร่ำหวอดในวงการเพลงแจ๊ซอย่าง รัก-อนันต์ ลือประดิษฐ์ บอกว่าเป็นราคาที่เหมาะสมและพอรับได้สำหรับการซื้อขายแผ่นเสียงในประเทศไทยฉบับที่เป็น Re-Issue แต่ทุกวันนี้กลับแพงกว่าที่ควรจะเป็นถึง 2 เท่า จึงปฏิเสธไม่ได้ที่การเสพดนตรีด้วยวิธีนี้จะถูกมองว่าเป็น “รสนิยมหรูหราสำหรับชนชั้นมีอันจะกิน”
 
“มันหรูหราขนาดที่ว่าแผ่นเสียงที่ผลิตใหม่ในไทย แผ่นปั๊มขายใหม่เล่นกันอยู่ที่ 2,000 กว่าบาท ซึ่งผมว่าราคามันรุนแรงเกินไป เพราะจริงๆ แล้วแผ่นเสียงที่ผลิตใหม่ขายใหม่ในอเมริกา เขาก็ขายกันอยู่ประมาณ 10 กว่าเหรียญ (400-500 บาท) เท่านั้นเองครับ เพราะฉะนั้น ในไทยถ้าอยู่ในราคาที่พอรับได้ก็ไม่ควรจะเกิน 1,000 บาท ด้วยราคาเท่านี้มันเลยทำให้กระแสคนเสพแผ่นเสียงในเมืองไทยมันเหมาะกับคนที่มีกำลังซื้อนิดนึง ส่วนคนที่มีเบี้ยน้อยหอยน้อยก็อาจจะเน้นฟังผ่านดิจิตอลไป หรือหาแหล่งที่ซื้อได้ด้วยราคาไม่แพงนัก ลงทุนกับเครื่องเล่นที่ไม่ต้องถึงหลักแสนหลักล้าน เอาแค่หลักพันหลักหมื่นก็คงจะยังพอหาได้อยู่”
 

 

ร้านแผ่นเสียง = ทางรอดใหม่ของร้านขายเพลง?

 

 
“ราคาแผ่นพุ่ง-คอเพลงยอมจ่าย-คนขายเก็งกำไร-เจ้าของลิขสิทธิ์ได้ทุนคืน” ด้วยปรากฏการณ์คลั่งแผ่นเสียงที่กำลังเติบโตขึ้นเรื่อยๆ ในขณะนี้ ทำให้ร้านขายแผ่นเสียงถูกมองว่าอาจเป็นทางรอดทางใหม่ของร้านขายเพลงในประเทศไทย เพราะนอกเหนือจากยอดดิจิตอลดาวน์โหลดแล้ว ซีดี-ดีวีดีก็แทบทำกำไรไม่ได้ เมื่อช่วงต้นปี บริษัท BKP 1990 จำกัด ซึ่งเป็นตัวกลางขายแผ่นซีดีรายใหญ่ตลอด 33 ปีในไทยก็เพิ่งปิดตัวลงอย่างเป็นทางการ เป็นสัญญาณเตือนว่าการฟังเพลงผ่านวัตถุวงกลมขนาดเล็กชนิดนี้กำลังจะหายไป แล้วแทนที่ด้วยวัตถุวงกลมขนาดใหญ่อย่างแผ่นเสียงและระบบดิจิตอล
 
“ตอนนี้แผ่นเสียงเริ่มกลายเป็นเทรนด์ไปแล้ว นึกไม่ถึงเลยว่าวันนึงเดินไปไหนแล้วจะเจอแต่ร้านแผ่นเสียง ถ้าเป็นเมื่อ 10 ปีที่แล้วมันไม่มีทางเกิดขึ้นได้ ทุกวันนี้ไปในห้างฯ ก็มีแผ่นเสียงขายแล้ว ก็ถือว่ากำลังเป็น mass แล้ว แต่เป็น mass อยู่ในกลุ่มคนเล็กๆ อยู่นะครับ” คมสัน นันทจิต นักวิจารณ์เพลงชื่อดังช่วยวิเคราะห์ปรากฏการณ์แปลกใหม่นี้ 
 
แต่ถึงจะมีร้านขายแผ่นเสียงใหม่ๆ ผุดขึ้นราวกับดอกเห็ดมากกว่าเดิมขนาดไหน คมสันยังคงมองว่าการซื้อขายตรงนี้ไม่น่าจะเป็นแรงผลักหลักที่ช่วยให้แหล่งขายเพลงอยู่รอดได้เหมือนยุคที่มีร้านขายเทป-ซีดีเกลื่อนมุมเมือง
 
“เอาเข้าจริงๆ ที่บอกว่ามันเป็นกระแสอยู่ตอนนี้ ถามว่ามันมีกลุ่มคนฟังจริงๆ อยู่กี่คน ผมว่ากระแสการฟังแผ่นเสียงทุกวันนี้มันคงไม่ได้ช่วยให้งานเพลงขายได้มากขึ้นอะไรเยอะแยะ หรือไม่ได้ช่วยให้วงดนตรีอยู่รอดได้หรอก ยกตัวอย่างง่ายๆ ถ้าวง Bodyslam ทำเพลงชุดใหม่ออกมา ถึงจะทำออกมาเป็นแผ่นเสียงด้วย แต่ตลาดแผ่นเสียงก็ไม่ได้มาช่วยทำให้วง Bodyslam อยู่รอดได้นะ ตลาดแผ่นเสียงจะเป็นตลาดอีกแบบหนึ่ง แฟนเพลงที่จะสนับสนุนศิลปินเหล่านั้นมันอาจจะมีกลุ่มคนฟังแผ่นเสียงอยู่ แต่กลุ่มมันไม่ใหญ่พอหรอกที่จะทำให้วงดนตรีวงนั้นอยู่รอดได้ ถ้าผลิตออกมา 500 แผ่นในไทย มันไม่มีผลอะไรในการเปลี่ยนแปลงวงการเพลงหรอกผมว่า”
 

 
แล้วการกลับมาของแผ่นเสียงจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงแบบไหน? นักวิจารณ์เพลงตัวจริงอย่าง รัก-อนันต์ ลือประดิษฐ์ ตอบได้เลยว่าปรากฏการณ์นี้จะเป็นใบเบิกทางไปสู่วัฒนธรรมการฟังดนตรีในเชิงลึกของ “คอเพลงตัวจริง” 
 
“เทียบกับสมัยก่อนที่มีเทปคาสเซ็ตขายอยู่ตามป้ายรถเมล์เมื่อ 20 ปีที่แล้ว เทปชุดหนึ่งขายได้เป็นล้าน ทุกวันนี้ขายให้ได้ 30,000 ก็เก่งแล้ว ยอดขายมันต่ำลงมาก แผ่นเสียงก็เป็นแค่ทางเลือกหนึ่งครับที่จะช่วยให้เพลงขายได้ เพราะแผ่นเสียงมัน Copy ไปไม่ได้ แต่ตลาดที่ขายได้มันก็จะเล็กลงไปด้วย ไม่ได้ใหญ่เหมือนสมัยขายเทป-ซีดีเมื่อก่อน 
 
ตอนนี้หลายๆ คนอาจจะมองว่าเพลงเป็นของฟรี เป็นสิ่งที่จะเข้าถึงเมื่อไหร่ก็ได้ แต่ถ้าแผ่นเสียงแล้ว คุณจะได้ประสบการณ์ที่มันลึกขึ้น เข้าถึงเพลงได้มากขึ้น เพราะฉะนั้น บุคลิกของคนที่ฟังแผ่นเสียง ถ้าไม่โอ้อวดตัวเองเกินไปก็จัดว่าเป็นคนที่ฟังเพลงจริงจังหน่อยถ้าเทียบกับคนฟังทั่วไป เป็นคนที่รักดนตรีและต้องการเสพธรรมชาติของดนตรีที่ดี ฟังแผ่นเสียงมันก็จับต้องได้ และในแผ่นเสียงมันก็จะมีอาร์ตเวิร์ก มีข้อมูลรายละเอียดเกี่ยวกับนักดนตรี ศิลปิน บางทีฟังจากอินเทอร์เน็ตหรือ MP3 คุณอาจจะไม่มีข้อมูลเหล่านี้
 

 
ถ้าพูดถึงตัวเนื้อเสียง ผมว่าฟังจากแผ่นเสียงจะสบายกว่าฟังจากซีดี อันนี้มันมีการพิสูจน์มาแล้วระดับหนึ่งว่าฟังแผ่นเสียงแล้วเราสามารถฟังได้นานกว่าซีดีจริงๆ สมมติว่าเราฟังเพลงทั้งวัน ให้เพลงมันกล่อมเกลาเราอยู่ในบ้านช่วงวันหยุด ถ้าฟังแผ่นเสียงมันไม่ล้าหู เสียงมันจะฉ่ำกว่า ในขณะที่ซีดีเสียงมันจะแห้ง ฟังแล้วยังชวนให้ล้า ยังทำให้รู้สึกกระหายอยู่”
 
แต่ถึงแผ่นเสียงจะได้รับการขนานนามว่าเป็นสุดยอดแห่งประสบการณ์การฟังเพลงมากขนาดไหน ท้ายที่สุดก็สู้ระบบเสียงจากการแสดงสดไม่ได้อยู่ดี “เพราะฉะนั้น ถ้าคนจะลงทุนห้องฟังเพลงเป็นล้านๆ บางคนเป็นหลายสิบล้าน ผมว่าเอาเงินเหล่านั้นไปลงทุนกับการฟังดนตรีสดไม่ดีกว่าเหรอ ตั๋วใบละ 500 ก็มีแล้วฟังดนตรีคลาสสิก นักดนตรีมาเล่นเกือบ 100 คน ผมไม่เห็นด้วยกับคนที่ลงทุนหลายๆ ล้านแต่ไม่เคยไปฟังดนตรีสดเลย 
 

 
ถึงที่สุดแล้ว สื่อผลิตซ้ำเหล่านี้มันเป็นความบันเทิงของคนในยุคศตวรรษที่ 20-21 แต่ลองย้อนกลับไปศตวรรษที่ 18-19 คนยุคนั้นเขาไม่เคยมีประสบการณ์การฟังเพลงผ่านซีดี แผ่นเสียง หรือดิจิตอลแบบนี้มาก่อนนะเพราะไม่มีเทคโนโลยีขนาดนั้น ทุกคนเลยต้องฟังเพลงจากดนตรีสดเท่านั้น ถ้าคนเป็นเจ้าขุนมูลนายจะจ้างนักดนตรีมาเล่นให้ฟัง ถ้าเป็นชาวบ้านก็ต้องหัดร้องรำทำเพลง ถ้าเป็นผู้ชายจะไปจีบผู้หญิงก็ต้องร้องเพลงเล่นดนตรีให้ฟัง ไม่มีหรอกเอา Soundabout ไปเปิด ส่ง Line ส่งลิงก์ต่างๆ ให้ฟังเพลงอย่างทุกวันนี้ 
 
หรือที่บางคนชอบฟังเพลงผ่าน Youtube แล้วคิดว่าเป็นปลายทางสุดท้าย ผมว่ามันน่าจะเป็นแค่ไกด์มากกว่าว่าถ้าเราชอบฟังเพลงแบบนี้ เราต้องไปหาแบบที่คุณภาพเสียงดีๆ กว่านี้มาฟัง หรืออย่างแผ่นเสียงเองก็เป็นแค่ความสะดวกของคนในยุคปัจจุบันที่อยากจะหาความบันเทิงผ่านเทคโนโลยี ถึงที่สุดแล้ว เราต้องไม่หลงไปกับเทคโนโลยีทั้งหมด”
 

 

เสพของจริง อมตะตลอดกาล!

 
 
 
ในยุคที่เต็มไปด้วยการแข่งขันรีบเร่ง ผู้คนจึงโหยหาวิถีชีวิตช้าๆ และต่างเสาะหาความสุขความทรงจำในวันเก่าๆ “ไวนิล” หรือ “แผ่นเสียง” จึงกลายเป็นตัวแทนของวันวาน เล่นเสียงผ่านระบบอะนาล็อกเพื่อเติมเต็มจิตวิญญาณให้แก่ผู้คนยุคดิจิตอล และนี่คือเหตุผลจาก โอ๋-สิเหร่ จิรภัทร อังศุมาลี คอลัมนิสต์เลื่องชื่อด้านตัวโน้ต ที่จะบอกเล่าว่าอะไรทำให้แผ่นวงกลม 12 นิ้วนี้กลับมาโลดแล่นบนเครื่องเล่นอีกครั้ง ไม่มลายหายไปเป็นสสารที่ถูกลืมเหมือนอย่างเทปหรือวิดีโอ
 
“ยุคสมัยนี้มันดีตรงที่หาข้อมูล แค่นั่งเคาะๆ ก็ได้มาหมดแล้ว เทียบกับสมัยก่อนกว่าจะได้อะไรมามันไม่ง่าย กว่าจะได้แผ่นเพลงซักแผ่นหนึ่งต้องไปหาไปดูเอง ต้องไปตามอ่านข้อมูลและไม่ได้ซื้อมาทีหนึ่งเป็นสิบๆ แผ่น สมัยก่อนใครไปก่อนก็ได้ก่อน ต้องสนิทกับคนขายร้านแผ่นเสียง ถ้าแผ่นไหนมาขอให้โทร.บอกหน่อยนะ และจะสั่งซื้อจากเมืองนอกก็เป็นไปไม่ได้ เขาไม่ส่งให้อยู่แล้วคนซื้อรายย่อยๆ ซื้อแผ่นเดียว ยุคนั้นไม่เหมือนยุคนี้ อาจจะเป็นเพราะเราได้มายากก็เลยเห็นคุณค่ามากกว่าเด็กยุคนี้ ตรงนี้คือหัวใจของมันเลย
 

 
และด้วยความเป็นอะนาล็อกของมันเลยยิ่งทำให้ใกล้เคียงกับเสียงธรรมชาติที่สุด เป็นเสียงที่ไม่ถูกดัด แต่เสียงดิจิตอลมันจะถูกดัดอยู่แล้ว อย่างผมเป็นคนยุคอะนาล็อก เล่นแต่ซีดี ไม่โหลด MP3 เลย แต่เคยลองฟังเพลงที่คนส่งลิงก์มาให้เหมือนกัน ผมว่าเสียงมันต่างกันเยอะนะ เสียงมันเหมือนจะดีแต่จริงๆ แล้วเสียงมันดับไปถ้าเทียบกับเสียงแผ่นของเดิม มันขาดเนื้อเสียงอะคูสติกและความเป็นธรรมชาติ เหมือนเสียงรายละเอียดของเครื่องเป่าต่างๆ อย่างทรัมเป็ตมันจะถูกบิดไปหน่อย มันจะไม่เป็นธรรมชาติของทรัมเป็ตจริงๆ ที่เคยฟัง 
 
เอาเป็นว่าถ้าคุณอยากได้อะไรที่มันจริง แล้วก็ลึก ให้ความรู้สึกที่เข้าไปในจิตใจของเรา แผ่นเสียงมันให้ได้ แต่ซีดีอาจจะยังไม่ถึง ถ้าคุณต้องการเสียงที่เป็นของจริง ใกล้เคียงกับเสียงเวลาไปนั่งดูคอนเสิร์ตอยู่หน้าเวทีก็ต้องเลือกฟังแผ่นเสียง”
 

 
ท่ามกลางความฉาบฉวยแห่งยุคสมัย ผู้คนเข้าถึงเพลงออนไลน์ได้ง่ายๆ กดฟังจนจบไปหลายต่อหลายเพลงโดยไม่รู้ด้วยซ้ำว่าชื่อเพลงและชื่อศิลปินคือใคร แผ่นเสียงจึงเปรียบเสมือนการคืนสมดุลให้แก่จิตวิญญาณของคนรักเสียงเพลง ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับแต่ละคนว่าจะฟังได้ลึกซึ้งไปถึงระดับไหน 
 
ระดับที่ 1 “ฟังแบบผ่านหู” ระดับที่2 “ฟังแบบเริ่มซึมซับ” ระดับที่ 3 “ฟังแบบวิเคราะห์” และระดับที่ 4 “ฟังแบบทะลุแตกฉาน” แยกเป็นคอร์ดๆ ออกมาได้ “แต่คนฟังทั่วไปไม่ต้องถึงขนาดนั้นหรอก แค่มีความสุขและได้เห็นความงดงามของเสียงก็พอแล้วครับ อาจจะฟังแค่ระดับ 2-3 ก็พอ” คุณรัก-อนันต์ คอลัมนิสต์และคอเพลงตัวจริงบอกเอาไว้
 
“ถ้าไม่อยากฟังเพลงสะเปะสะปะก็อาจจะลองมาฟังแผ่นเสียงดูครับ เพราะมัน Script ข้ามเพลงไปไม่ได้ ถึงมันจะมีร่องเพลงให้เลือกช่วงเพลง 1-3 หรือ 3-5 แต่ส่วนใหญ่คนเขาจะฟังทั้งอัลบั้ม ทำให้ฟังได้เต็มอัลบั้มมากขึ้น ถึงจะยังพอจะเลื่อนเปลี่ยนเพลงได้ แต่มันก็ไม่ง่ายเท่าคอมพิวเตอร์หรือฟังจากซีดี 
 
มันทำให้เราละเมียดละไมมากขึ้น เหมือนเป็นแรงเฉื่อยทางวัฒนธรรมอย่างหนึ่งที่ทำให้เรากลับมาหาโลกเก่าที่ฝรั่งเขาจะใช้คำเรียกว่า Good Old Days เป็นวันเวลาที่สวยงาม คนรุ่นพ่อรุ่นแม่เคยได้สัมผัส ยิ่งโลกหมุนเร็วไปเท่าไหร่ คนยิ่งจะอยากมีแรงเฉื่อยให้อยู่ในโลกเก่าๆ ได้นานที่สุดเท่าที่จะนานได้ 
 
คนฟังจะได้อะไร เขาจะได้สิ่งที่จับต้องได้ ได้มวลเสียง ความละเมียดละไม ได้โลกเก่า ได้วิถีชีวิตแบบเดิมๆ แทนที่เราจะฟังอะไรที่ง่ายๆ ผ่านคอมพิวเตอร์ เราก็ได้มาฟังอะไรที่เป็นธรรมชาติมากขึ้น เพราะแผ่นเสียงมันเป็นอะนาล็อก ตรงข้ามกับดิจิตอลที่เข้ารหัสแบบ 1010 แต่อะนาล็อกคืออะไรที่ไม่มีตะเข็บ มันเนียนกว่า เพราะฉะนั้น คุณค่ามันอยู่ตรงนี้มากกว่า ลึกลงไปกว่าการฟังแผ่นเสียง ลึกลงไปกว่าเรื่องการมองฟอร์แมต มันคือเนื้อหาของดนตรีมากกว่าซึ่งเป็นการให้เรากล่อมเกลาจิตใจให้เราเป็นคนละเอียดลึกซึ้ง ตรงนั้นแหละที่น่าจะเป็นเป้าหมายปลายทางสำคัญที่สุด”
 

 
ต่อให้วันหนึ่งกระแสการเล่นแผ่นเสียงจะซาลงไปอีกหรือไม่ได้รับความนิยมอย่างที่เป็นอยู่ตอนนี้ แต่คุณโอ-ชัชวาลย์ เจ้าของร้าน“Recoroom vinyl & audio vintage” บอกเลยว่าไม่เสียดายอะไรที่ได้ลงทุนเปิดร้านนี้ เพราะเขาไม่เคยมองว่าสิ่งที่ทำอยู่คือเรื่องของธุรกิจที่ต้องเน้นการเก็งกำไร แต่แค่อยากทำในสิ่งที่รักแบบนี้ต่อไปเรื่อยๆ ไม่ว่ามันจะเป็นกระแสหรือไม่ก็ตาม 
 
“ที่แผ่นเสียงกลับมาได้เพราะเขาอยู่ของเขาอย่างนั้นเรื่อยๆ ไม่หวือหวา เหมือนกับคนที่สะสมนั่นแหละครับผมว่า คนที่ฟังเพลงจริงๆ ที่เป็น Music Lover จะไม่สะทกสะท้านกับกระแสขึ้นลงหรอก ร้านที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับแผ่นเสียงจริงๆ ถ้ามีใจที่มุ่งมั่น ใจที่รักการฟังเพลงจริงๆ ไม่ใช่ทำเพราะคิดว่า เฮ้ย! ทำแล้วได้กำไร ทำแล้วเท่ ทำแล้วนู่นนี่นั่น ผมว่าแบบนั้นจะอยู่ไม่ได้นาน พอถึงจุดหนึ่ง กระบวนการธุรกิจเป็นธรรมดาที่มีขึ้นมีลง ช่วงธุรกิจลง คนกลุ่มที่ทำเพราะเท่หรือเหตุผลอย่างอื่นจะตีโพยตีพาย แต่คนอย่างพวกผม ไม่รู้สึก คิดว่าแล้วไงล่ะ เพราะผมก็ยังฟังเพลงจากแผ่นเสียงทุกวัน ลูกผมก็ยังฟังเพลงจากแผ่นเสียง ยังไงก็รู้สึกว่าไม่ขาดทุนเพราะผมมีความสุขจากการฟังเพลง 
 
บางครั้งลูกค้าต่อราคาผมเยอะๆ บางทีผมแบ่งให้ ลูกค้าบอกผมต่อราคาเล่นๆ แล้วคุณจะเอากำไรมาจากไหน ผมบอกกำไรผมมาจากการที่ผมได้ฟังแล้ว ผมมีความสุข ผมเติมเต็มของผมแล้ว ผมแบ่งให้พี่ฟังได้ไม่เป็นไร ผมเน้นความเป็น Selector ผม ผมไปซื้อแผ่นของผมเองเรื่อยๆ ผมไม่ได้ไปรับแผ่นมา เพราะฉะนั้น ถ้าวันใดวันนึงผมจะตายผมก็มีความสุข แค่ได้เลือกแผ่นมาให้คนอื่น ผมก็มีความสุขแล้ว เงินที่ผมจ่ายไป ต้นทุนผมมันอยู่ตรงนี้หมดแล้ว 
 
เอาแผ่นมาขายให้คนอื่นฟังและผมก็ได้ตังค์กลับมา ผมก็พอแล้ว แค่นั้นผมก็มีความสุขพอแล้ว มันต้องอยู่ด้วยโจทย์นี้แหละที่สำคัญ ไม่ใช่การเอาเงินเป็นที่ตั้ง เอาความสุขเข้าว่าดีกว่าครับ เอาความจริง เอาความเป็นเพื่อน ถึงจะอยู่รอดได้ในธุรกิจแผ่นเสียงอย่างมีความสุข”
 

ด้วย “ใจรัก” จึงทำให้ธุรกิจไวนิลบรรเลงต่อไปได้อย่างช้าๆ
 

 
บทความโดย ASTV ผู้จัดการ Lite
เรื่องและคลิป: อิสสริยา อาชวานันทกุล
ภาพ: พลภัทร วรรณดี
ขอบคุณสถานที่: ร้าน “Recoroom vinyl & audio vintage” เอกมัย ซ.10 
ขอบคุณภาพบางส่วน: แฟนเพจ “Recoroom vinyl & vintage audio”
 
 
ชมคลิป “ย้อนวันวานผ่านแผ่นเสียง @Recoroom”