เด็กยุคใหม่อยู่กับหน้าจอมากกว่า 6 ชั่วโมงต่อวัน

อาจเป็นเพราะรูปแบบของสื่อทีเปลี่ยนแปลงไป จากเด็กในอดีตที่มีเพียงแค่ทีวี หนังสือ และนิตยสารอยู่รอบตัว มาสู่เด็กในวันนี้ที่มีทั้งแท็บเล็ต สมาร์ทโฟน นาฬิกาอัจฉริยะ แว่นตาอัจฉริยะ เกม ยูทิวบ์ ทีวีที่เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตได้ ฯลฯ ส่งผลให้เด็กทุกวันนี้อยู่กับหน้าจอต่างๆ มากกว่าวันละ 6 ชั่วโมงแล้ว
       
การทำสำรวจดังกล่าวจัดทำขึ้นโดย Childwise และพบว่า เด็กๆ อายุระหว่าง 5-16 ใช้เวลาเฉลี่ย 6 ชั่วโมงครึ่งต่อวัน อยู่กับหน้าจอต่างๆ เปรียบเทียบกับเด็กในปี ค.ศ.1995 ซึ่งอยู่กับหน้าจอประมาณ 3 ชั่วโมงเท่านั้น ซึ่งแม้จะเป็นการสำรวจจากฝั่งตะวันตก แต่เชื่อว่าภาพดังกล่าวก็ได้เกิดขึ้นทั่วโลกอย่างเท่าเทียมกัน แถมในบางประเทศของเอเชีย สถานการณ์ดังกล่าวอาจรุนแรงกว่ามาก เช่น ในเกาหลีใต้ ที่มีการรายงานปัญหาการติดเกมของเด็กวัยรุ่นว่าอยู่ในขั้นรุนแรง และมีเด็ก 1 ใน 10 คนต้องเข้ารับการบำบัด
       
สำหรับการสำรวจในครั้งนี้พบว่า เวลาที่เด็กใช้ไปกับการดูทีวี เล่นเกมคอนโซล ใช้งานโทรศัพท์มือถือ คอมพิวเตอร์ หรือแท็บเล็ตนั้น กลุ่มวัยรุ่นชายคือ กลุ่มที่ใช้เวลาอยู่กับหน้าจอเหล่านี้นานที่สุด ราว 8 ชั่วโมงต่อวัน ส่วนเด็กผู้หญิงอายุ 8 ปี ใช้เวลาน้อยที่สุด ราว 3.5 ชั่วโมงต่อวัน
       
นอกจากนั้น ยังพบว่าเด็ก ๆ ในทุกวันนี้เป็นกลุ่มที่ทำงานบนหน้าจอหลายๆ ชนิดในเวลาเดียวกัน เช่น ดูทีวีไปด้วย เล่นอินเทอร์เน็ตไปด้วย
       
“สิ่งที่แตกต่างอย่างเห็นได้ชัดก็คือ ในยุค 90 สื่อที่เชื่อมกับเด็กๆ มีแค่ทีวีกับนิตยสาร แต่เด็กในปัจจุบันมีอุปกรณ์มากมาย ตั้งแต่แท็บเล็ต สมาร์ทโฟน เกมคอนโซล พวกเขาจึงใช้เวลากับหน้าจอต่างๆ ได้มากขึ้น” Matthew Nevard ผู้บริหารสถาบันวิจัยกล่าว
       
พฤติกรรมการรับชมทีวีของเด็กก็เปลี่ยนไปอย่างเห็นได้ชัด เนื่องจากพบว่า พวกเขาดูรายการทีวีผ่านยูทิวบ์มากกว่าดูทีวีแบบปกติเสียแล้ว
       
ส่วนบริการรับชมทีวีที่ต้องจ่ายเงินพิเศษเพิ่มเติมเช่น Netflix ก็พบว่า มีแนวโน้มเติบโตสูงเช่นกัน
       
นอกจากนี้ Childwise ยังได้เก็บข้อมูลเด็ก จำนวน 2,000 คน อายุ 5 16 ปีตั้งแต่ปี ค.ศ.1995 ถึงปัจจุบันมาโดยตลอด และพบว่า เด็กวัยรุ่นผู้หญิงในปัจจุบันใช้เวลากับหน้าจอต่างๆ ไปถึง 7.5 ชั่วโมงต่อวัน ขณะที่ในปี ค.ศ.1995 วัยรุ่นหญิงในยุคนั้นดูทีวีประมาณ 3.5 ชั่วโมงเท่านั้น
       
การศึกษาครั้งนี้ยังพบว่า อินเทอร์เน็ตคือ ตัวการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการรับข้อมูลข่าวสารของเด็กๆ
       
“อินเทอร์เน็ตมีความสำคัญต่อชีวิตเด็กมากขึ้น และทำให้พวกเขาเข้าถึงคอนเทนต์ที่มีคุณภาพได้มากขึ้น”
       
นอกจากนั้น อินเทอร์เน็ตยังทำให้เด็กมีอิสระในการเลือกชมสื่อที่พวกเขาสนใจมากกว่าเด็กในอดีตที่มีเพียงทีวี-นิตยสาร แถมสื่อเหล่านั้นไม่สามารถเลือกได้ เนื่องจากมีตารางในการออกอากาศที่ชัดเจน และนั่นทำให้การเชื่อมต่อสู่โลกออนไลน์กลายเป็นความต้องการขั้นพื้นฐานของเด็กยุคใหม่ไปโดยปริยาย พวกเขาจะนึกภาพของชีวิตที่ขาดอินเทอร์เน็ตไม่ได้อีกต่อไป
       
ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ทาง Childwise ยังได้จัดอันดับเว็บไซต์ยอดนิยมสำหรับกลุ่มเด็กเอาไว้ด้วย และยูทิวบ์ ก็ติดหนึ่งในสามมาโดยตลอดตั้งแต่ปี ค.ศ.2007 ส่วนเฟซบุ๊กนั้นระยะหลังตกลงไปแล้ว เนื่องจากเด็กๆ หันไปเล่นบริการใหม่อย่าง Snapchat มากกว่า การสำรวจยังพบว่า เด็กๆ พอใจต่อระบบ Privacy ของ WhatsApp และ Snapchat มากกว่า และการใช้แอปนั้นก็ทำให้รูปแบบการสื่อสารของเด็กๆ เปลี่ยนไปด้วย
       
“มันสะท้อนให้เห็นภาพของวัฒธรรมใหม่ ด้วยการใช้ภาพถ่ายในการแสดงเรื่องราว อารมณ์ และกิจกรรมที่เราทำอยู่” มร.Nevard กล่าว
       
ส่วนเว็บไซต์อย่างกูเกิลนั้นเป็นเพียง 1 ในไม่กี่เว็บไซต์ที่ยังคงติดอันดับความนิยมอย่างต่อเนื่องนานกว่า 10 ปีสำหรับเด็ก
       
การคาดการณ์ของรายงานดังกล่าวยังระบุด้วยว่า ในอีก 10 ปีข้างหน้า เราจะมีเด็กที่เติบโตและคุ้นเคยกับอินเทอร์เน็ตอย่างมากเกิดขึ้น และพวกเขาแทบจะนึกภาพไม่ออกเลยว่า โลกที่ไม่มีอินเทอร์เน็ตนั้นอยู่กันได้อย่างไร
       
ส่วน Internet of things ก็จะกลายเป็นของธรรมดาทั่วไปที่ทุกบ้านก็มีกัน ส่วนของใช้ในบ้านที่ไม่สามารถเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตได้ก็จะกลายเป็นสิ่งล้าสมัย หรือหาได้ยากมากขึ้น
       
นอกจากนี้ ยังมีความเป็นไปได้ว่า เด็กยุคต่อไปอาจมีอุปกรณ์บางอย่างบนร่างกายที่เป็น Wearable Tech เช่น นาฬิกาอัจฉริยะ หรือแว่นตาอัจฉริยะก็เป็นได้
       
เป็นไปได้ว่า ถึงยุคนั้น Screen Time ของเด็กอาจเพิ่มไปอีกเท่าตัว

ที่มา : http://manager.co.th/CbizReview/ViewNews.aspx?NewsID=9580000036534