3 อนาคตร้อนแรงของ Facebook

สงกรานต์เมืองไทยว่าร้อนแล้ว แต่ประเด็นร้อนจากเครือข่ายสังคมยักษ์ใหญ่อย่างเฟซบุ๊ก (Facebook) กลับเพิ่มดีกรีองศาเดือดไม่แพ้กัน เพราะอนาคต 3 ทิศทางที่เฟซบุ๊กกำลังบอกโลกว่าพร้อมเติบโตในช่วง 10 ปีนับจากนี้กลับดูแหวกแนวจากบริการปัจจุบันของเฟซบุ๊ก ทั้งการมุ่งพัฒนาสินค้าเทคโนโลยีภาพเสมือนจริงหรือวีอาร์ (Virtual reality) การเตรียมลู่ทางไว้สำหรับบริการอินเทอร์เน็ตผ่านหุ่นยนต์เครื่องร่อนหรือโดรน (drone)และเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI)

      
ทั้ง 3 อนาคตนี้ถูกฉายภาพชัดเจนในงานประชุมนักพัฒนา F8 ที่เฟซบุ๊กจัดขึ้นเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมาท่ามกลางผู้เข้าร่วมงานมากกว่า 3,000 คน โดยเฟซบุ๊กสะท้อนชัดเจนว่าพันธกิจหลักของบริษัทในระยะยาวคือการทำให้เฟซบุ๊กเป็นมากกว่าแหล่งกดไลค์และเปี่ยมด้วยประโยชน์กับชีวิตประจำวัน

      
***แชร์ความรู้สึกด้วยคอมพ์สวมศีรษะ
      
สัญญาณที่เฟซบุ๊กบอกโลกชัดเจนในงาน F8 คือการไม่หยุดอยู่ที่การเป็นช่องทางที่เปิดให้ผู้ใช้สื่อสารกันด้วยการแชร์ภาพ ข้อความ หรือวิดีโอ แต่เฟซบุ๊กในอนาคตจะทำให้ผู้ใช้แชร์ ‘ความรู้สึก’ ถึงกันได้ จุดนี้ซีอีโอมาร์ก ซักเกอร์เบิร์ก ยืนยันว่า Rift คือแพลตฟอร์มที่เหมาะกับรูปแบบการติดต่อสื่อสารในอนาคตของเฟซบุ๊กเนื่องจากผู้ใช้จะได้รับประสบการณ์ใหม่ที่ต่างจากการสื่อสารด้วยภาพ ข้อความ หรือวิดีโอ

      
ซีอีโอมาร์ก ซักเกอร์เบิร์ก แห่งเฟซบุ๊กเคยอธิบายไว้ชัดเจนเมื่อครั้งประกาศเทเงิน 2 พันล้านเหรียญสหรัฐซื้อกิจการผู้ผลิตคอมพิวเตอร์สวมศีรษะ ‘โอคูลัส ลิฟต์ ‘(Oculus Rift) เมื่อปี 2014 ที่ผ่านมา ว่า Rift คือแพลตฟอร์มใหม่เพื่อการสื่อสาร ขณะเดียวกันก็เป็นแพลตฟอร์มสำหรับประสบการณ์ใหม่หลากหลายด้านซึ่งไม่ได้จำกัดเฉพาะเกม โดยยกตัวอย่างว่าภาพเสมือนจริงจาก Rift ไม่เพียงทำให้คอเกมได้รับประสบการณ์ความรู้สึกสนุกสมจริงยิ่งขึ้น แต่ยังช่วยให้การเรียนการสอนของนักเรียนและครูทั่วโลกมีสีสันกว่าเดิม หรือแม้แต่การประชุมทางไกลที่ผู้ใช้จะได้ความรู้สึกเหมือนพบเจอตัวจริงโดยไม่ต้องเดินทาง

      
เรียกว่าเหมาะกับทั้งวงการเกม คอนเสิร์ต งานสังสรรค์ครอบครัว กีฬา หรือแม้แต่เพศสัมพันธ์
      
นอกจากนี้ นโยบายอาสาเป็นแหล่งรวมแอปพลิเคชันของเฟซบุ๊กยังทำให้เป็นไปได้ว่าเฟซบุ๊กในอนาคตจะให้บริการแอปพลิเคชันนานาชนิดที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีแสดงภาพเสมือนสมจริงด้วย โดยในงาน F8 มีการฉายวิดีโอสาธิตการทำงานของ Oculus Rift บนระบบเฟซบุ๊ก ว่าผู้ใช้สามารถชมวิดีโอสามมิติ 360 องศาบนหน้าข่าวสาร Facebook News Feeds ขณะเดียวกันก็สามารถติดตามชมวิดีโอบน YouTube ซึ่งถ่ายด้วยกล้องจำนวน 24 ตัวที่เลื่อนเข้าออกเพื่อให้ผู้ชมได้เห็นภาพต่างมุมมอง

      
การสาธิตอนาคตของ Rift นี้เกิดขึ้นหลังการแถลงข่าวเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ครั้งนั้นซีอีโอเฟซบุ๊กพูดถึงOculus Rift ในงานแถลงผลประกอบการว่าแว่นสวมศีรษะ VR จะเป็นการเดิมพันระยะยาวสำหรับวงการคอมพิวเตอร์ในอนาคต โดยทุก 10 ถึง 15 ปี แพลตฟอร์มใหม่ของคอมพิวเตอร์จะแจ้งเกิดบนโลก Oculus Riftจึงเป็นเหมือนการเตรียมตัวของเฟซบุ๊กเพื่อให้โลกเสมือนจริงและการซ้อนภาพได้มีบทบาทเต็มที่ในอนาคต

      
ซีอีโอเฟซบุ๊กเชื่อมั่นว่าแว่น Oculus Rift จะต้องกลายเป็นโครงการใหญ่ที่มียอดจำหน่ายหลักร้อยล้านชุดอย่างไรก็ตาม หนุ่มมาร์กยอมรับว่าแม้จะต้องใช้เวลาหลายปีกว่าจะไปถึงจุดนั้น แต่เฟซบุ๊กก็จะยังทุ่มเทสร้างอุปกรณ์ก่อนใคร เพื่อดึงดูดกลุ่มผู้ใช้และปัจจัยแวดล้อมอื่นๆให้ VR กลายเป็นธุรกิจที่ยั่งยืน

      
สำหรับแว่นสวมศีรษะ Oculus Rift มีจุดเริ่มต้นมาจากโครงการเปิดหมวกระดมทุนสาธารณะผ่านเว็บไซต์คิกสตาร์ทเตอร์ (KickStarter) ปัจจบุัน Oculus Rift ยังผลิตออกมาเฉพาะรุ่นต้นแบบสำหรับนักพัฒนาและยังไม่มีกำหนดการวางขายให้บุคคลทั่วไป

***เครื่องร่อนคือคำตอบ
      
เฟซบุ๊กนั้นประเมินว่าวิกฤติเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ไม่ครอบคลุมนั้นทำให้ประชากรโลก 1,100-2,800 ล้านคนไม่สามารถออนไลน์ได้ในขณะนี้ ดังนั้นเพื่อให้สามารถเข้าถึงคนกลุ่มนี้ซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 16-40% ของประชากรโลก เฟซบุ๊กจึงตัดสินใจสร้างและพัฒนาเครื่องร่อนหรือโดรน (drone) ที่สามารถส่งสัญญาณอินเทอร์เน็ตได้ผ่านระบบดาวเทียม

      
วันที่ 2 ของการจัดงาน F8 เฟซบุ๊กเปิดตัว ‘อากวีลา’ (Aquila) เครื่องร่อนสำหรับกระจายสัญญาณอินเทอร์เน็ตให้แก่ประชากรพันล้านคนทั่วโลก โดยจุดเด่นของโดรน Aquila คือปีกของเครื่องที่มีความยาวกว่า 47.6 เมตรเทียบเท่ากับเครื่องบินโบอิ้ง 767 แต่น้ำหนักของเครื่องกลับเบากว่ารถยนต์หนึ่งคัน

      
เหตุผลที่ Aquila ต้องมีน้ำหนักเบาคือภารกิจการบินอยู่บนอากาศให้ได้นาน 3 เดือน โดยภารกิจท้าทายนี้จะเกิดขึ้นบนพลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งจะทำให้ Aquila ขึ้นบินอยู่ที่ระดับความสูง 60,000-90,000 ฟุต ก่อนจะส่งสัญญาณอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงลงมายังพื้นโลก คาดว่าวิธีนี้จะเข้าถึงผู้ใช้งานในพื้นที่ห่างไกลได้นับพันล้านคน

      
ทั้งหมดนี้ เฟซบุ๊กระบุว่าบริษัทจะเริ่มทดสอบประสิทธิภาพการบินของ Aquila ในช่วงฤดูร้อนปีนี้ แต่การใช้ในเชิงพาณิชย์อย่างแท้จริงนั้นคาดว่าต้องใช้เวลาอีกหลายปี

      
ซีอีโอมาร์กยืนยันว่าแผนการพัฒนา Aquila นี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการอินเทอร์เน็ตดอทโออาร์จี (Internet.org) ที่มีจุดประสงค์หลักคือการเชื่อมต่อโลกเข้าด้วยกัน โดยเชื่อว่าอากาศยานในลักษณะนี้จะสามารถให้บริการอินเทอร์เน็ตแก่ประชากรโลกที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลได้มากถึง 10% โดยที่ไม่ต้องลงทุนโครงสร้างพื้นฐานใดเพิ่มเติม

      
***ปัญญาประดิษฐ์รับมือข้อมูลล้น
      
เฟซบุ๊กมองว่าเมื่อโลกเชื่อมถึงกันมากขึ้นในอนาคต ชาวออนไลน์จะถูกมหาสมุทรข้อมูลถาโถมให้เลือกใช้จนหยิบจับไม่ถูก ทั้งภาพ วิดีโอ เว็บเพจ รวมถึงคอนเทนต์ดิจิตอลมากมายที่จะเพิ่มจำนวนจนกลายเป็นฟองสบู่ไม่รู้จบ ดังนั้นเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์หรือ artificial intelligence (AI) นี้เองที่จะเป็นระบบอัจฉริยะซึ่งจะทำให้ชาวออนไลน์หยิบข้อมูลที่ต้องการมาใช้ได้รวดเร็วทันใจ

      
ภาพอนาคตที่เฟซบุ๊กวางไว้คือ แทนที่ชาวออนไลน์จะต้องเสียเวลาเลื่อนหรือ scrolling ไปตามคลังภาพเพื่อเลือกหาภาพที่ต้องการ แต่ในอนาคตผู้ใช้จะสามารถเอ่ยปากบอกลักษณะภาพให้เฟซบุ๊กแสดงผลขึ้นมาเองได้ เช่น ภาพรอยเท้าบนชายหาด หรือภาพสุนัขบนสเก็ตบอร์ด เป็นต้น

      
จุดนี้ผู้บริหารเฟซบุ๊กระบุว่าเทคโนโลยีการค้นหาภาพในปัจจุบันนั้นยังต้องพัฒนาอีกมาก เนื่องจากข้อจำกัดของระบบที่ยังไม่เข้าใจความต้องการของผู้ใช้ดีพอ ทั้งหมดนี้ทำให้เฟซบุ๊กตั้งทีมงาน AI เพื่อพัฒนาระบบซึ่งจะลดข้อจำกัดที่เกิดขึ้น

      
หนึ่งในความพยายามของเฟซบุ๊กที่ถูกยกตัวเองมาโชว์ในงาน F8 คือการพัฒนาให้ระบบค้นหาสามารถวิเคราะห์เนื้อหาเกี่ยวกับกีฬา รวมถึงเนื้อหาเชิงธรรมชาติอื่นที่ชาวโลกให้ความสนใจในวงกว้าง เพื่อให้ระบบไอทีสามารถจำแนกประเภทภาพและวิดีโอได้เหมือนที่มนุษย์มอง

      
ถึงบรรทัดนี้ เชื่อว่าหลายคนรู้สึกถึงความร้อนแรงของสมรภูมิเครือข่ายสังคมออนไลน์ในอนาคตแล้วเรียบร้อย

ที่มา : http://manager.co.th/Cyberbiz/ViewNews.aspx?NewsID=9580000041677