พบเด็กยุคดิจิตอลเน้น “เขียนโปรแกรม-สร้างหุ่นยนต์”

อาจเป็นอนาคตที่หลายคนยังไม่ตระหนัก และปรับตัว แต่โลกกำลังเปลี่ยนไป รวมถึงรูปแบบของอาชีพการงานที่เราทุกคนทำอยู่นี้ด้วย โดยรายงานจากบีบีซีระบุว่า ในอนาคตอีก 20 ปีข้างหน้า งาน 35 เปอร์เซ็นต์ของมนุษย์จะถูกระบบอัตโนมัติเข้ามายึดครองไปทำแทน ส่วนงานที่ยังเหลืออยู่สำหรับมนุษย์นั้นก็ต้องการคนที่มีความรู้ด้านเทคโนโลยีในระดับที่สูงกว่าทุกวันนี้เข้ามารับผิดชอบ
       
เทรนด์การเปลี่ยนแปลงข้างต้นนั้นทำให้หลายๆ ประเทศมีคำตอบสำหรับการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของตนเอง ด้วยการเพิ่มทักษะทางด้านคอมพิวเตอร์ลงในหลักสูตรของเด็กๆ ยกตัวอย่างเช่น ในอังกฤษ การสอนเขียนโปรแกรมกลายเป็นเรื่องที่ถูกบรรจุลงในหลักสูตรของโรงเรียน และการพัฒนาแอป รวมถึงการสอนเกี่ยวกับเทคโนโลยีการพิมพ์ 3 มิติ ก็กลายเป็นเรื่องที่พบเห็นได้ทั่วไป
       
ขณะที่กลุ่มครอบครัวที่เคยปฏิเสธการให้ลูกหลานทั้งในวัยทีน หรือวัยเตาะแตะได้เล่นอุปกรณ์จำพวกแท็บเล็ต ก็อาจต้องเริ่มเปลี่ยนความคิด
       
เด็กนักเรียนกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ที่ถูกสัมภาษณ์โดย innovation charity Nesta ระบุว่า พวกเขาได้เคยสร้างบางสิ่งบางอย่างบนระบบดิจิตอลมาแล้วทั้งสิ้น
       
โดยสิ่งที่พวกเขาสร้างมีตั้งแต่ ภาพ (76 เปอร์เซ็นต์) เพลง (53 เปอร์เซ็นต์) เว็บไซต์ (53 เปอร์เซ็นต์) เกมคอมพิวเตอร์ (53 เปอร์เซ็นต์) แอป (46 เปอร์เซ็นต์) หุ่นยนต์ (34 เปอร์เซ็นต์) และการพิมพ์สามมิติ (31 เปอร์เซ็นต์)
       
ส่วนสถานที่ที่เด็กๆ ได้ทำกิจกรรมทางด้านเทคโนโลยีนั้นมาจากในห้องเรียน 66 เปอร์เซ็นต์ ทำร่วมกับเพื่อนๆ 40 เปอร์เซ็นต์ ทำร่วมกับพ่อแม่-ผู้ดูแล 27 เปอร์เซ็นต์ เป็นกิจกรรมของชมรมพิเศษหลังเลิกเรียน 15 เปอร์เซ็นต์ ทำร่วมกับลูกพี่ลูกน้อง 15 เปอร์เซ็นต์ ทำในคลาสพิเศษ 6 เปอร์เซ็นต์ และทำผ่านระบบออนไลน์ 1 เปอร์เซ็นต์
       
ด้านผู้ให้บริการโทรคมนาคมอย่างโวดาโฟน ก็มีโครงการสอนเด็กๆ และผู้ปกครองในการอยู่ในโลกไซเบอร์อย่างปลอดภัย รวมถึงเทคนิคต่างๆ ที่ช่วยเพิ่มทักษะในด้านดิจิตอลให้แก่ผู้ปกครอง โดยเป็นการเล่นเกม และตอบคำถามบนเว็บไซต์
       
ข้อดีของการสอนเด็กๆ เขียนโปรแกรมยังไม่จำกัดเฉพาะในเด็กหัวดี แต่เด็กที่ไม่ประสบความสำเร็จในระบบการเรียนการสอนตามหลักสูตรก็อาจได้พบจุดเด่นของตนเองด้วยเช่นกัน โดย Coder Dojo องค์กรที่จัดอบรมการเขียนโปรแกรมหลังเลิกเรียนเผยว่า ในเด็กกลุ่มที่ปัญหาด้านการเขียนนั้น เมื่อได้มาสร้างเกมบน Scratch ก็ช่วยให้เด็กมีความเข้าใจในรูปประโยคดีขึ้น รวมถึงสามารถเขียนคำต่างๆ ได้ดีขึ้น หรือในเด็กที่มีปัญหา และต้องออกจากการเรียนไประยะหนึ่ง แต่เมื่อพบว่า ตนเองสามารถเขียนโปรแกรมได้ดีก็มีความมั่นใจมากขึ้น และกลับเข้าเรียนร่วมกับเพื่อนๆ ได้อีกครั้ง
       
“เด็กคนนี้สามารถสร้างเกมได้ และได้กลับไปเรียนหนังสืออีกครั้ง เมื่อถามว่าเขาจะจะทำอะไรที่โรงเรียน เด็กคนนี้ตอบว่า เขาจะโชว์เกมที่เขาสร้างให้เพื่อนๆ ดู ตอนนี้เด็กคนนี้กลับไปเรียนหนังสือได้ดี และมีความมุ่งมั่นมากกว่าเดิม” มร. Johny Claffey อาสาสมัครของชมรมกล่าว
       
ในปีที่ผ่านมา ชมรมเขียนโปรแกรมของ Coder Dojo มีเด็กเข้าร่วมกว่า 130,800 คน ซึ่งรูปแบบการเรียนการสอนของชมรมดังกล่าวก็แตกต่างจากการสอนเขียนโปรแกรมทั่วไป โดยเด็กจะได้รับโจทย์ และถูกกระตุ้นให้หาทางไขโจทย์เหล่านั้น แต่บรรยากาศในการเรียนจะไม่กดดันเด็กเท่ากับในโรงเรียน

ที่มา : http://manager.co.th/CyberBiz/ViewNews.aspx?NewsID=9580000050133