เบื้องหลังซีอีโอทวิตเตอร์ลาออก!!

การประกาศลาออกของดิค คอสโทโล (Dick Costolo) ซีอีโอทวิตเตอร์ (Twitter) กลายเป็นข่าวหน้าหนึ่งของสื่อในแวดวงเทคโนโลยีแทบทุกหัว และด้วยข่าวนี้ได้ทำให้หุ้นของบริษัทที่ซบเซามานานพุ่งขึ้นถึง 7% สะท้อนให้เห็นถึงบางสิ่งในการตัดสินใจครั้งนี้ได้ดี โดยเฉพาะในฟากนักลงทุนที่อาจมองว่านี่เป็นข่าวที่พวกเขาเฝ้ารอมานาน ซึ่งเบื้องหลังการลาออกครั้งนี้ มีความเป็นไปได้ว่าเพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการควบรวมกิจการ
       
โดยทางทวิตเตอร์ได้มีการทวีตแจ้งข่าวนี้ออกไป พร้อมกันนั้น ก็ได้มีข้อความต้อนรับ ‘แจ็ค ดอร์ซีย์’ (Jack Dorsey) ผู้ร่วมก่อตั้งทวิตเตอร์ในฐานะรักษาการซีอีโอเข้ามาทำหน้าที่แทน โดยจะมีผลตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคมนี้เป็นต้นไป (คอสโทโล นั้นจะไปดำรงตำแหน่งบอร์ดของทวิตเตอร์) และหลังจากนี้ ทางทวิตเตอร์จะมีการตั้งคณะกรรมการสรรหาซีอีโอผู้มาดำรงตำแหน่งคนใหม่ โดยมีเกณฑ์ว่าจะเป็นคนนอก หรือคนในองค์กรก็ได้ แต่ต้องรัก ‘ทวิตเตอร์’ เป็นชีวิตจิตใจนั่นเอง
       
ฟากผู้ใช้ทวิตเตอร์ก็เริ่มมีเสียงเรียกร้องขอซีอีโอ ‘ผู้หญิง’ เข้ามารับหน้าที่บริหารทวิตเตอร์บ้างแล้ว โดยใจความหลักของการเรียกร้องนี้คือ การต้องการสร้างความหลากหลายในองค์กร พร้อมกันนั้น ได้มีการยกตัวอย่างชื่อของหญิงแกร่งในแวดวงเทคโนโลยีอย่าง ‘เชอร์รีล แซนเบิร์ก’ ผู้บริหารระดับสูงของเฟซบุ๊ก (Facebook) ว่า เป็นตัวอย่างที่น่าจะเหมาะสมต่อตำแหน่งซีอีโอของทวิตเตอร์ด้วย ซึ่งในจุดนี้ต้องรอดูต่อไปว่า คณะกรรมการสรรหาของทวิตเตอร์จะฟังเสียงจากผู้ใช้งานหรือไม่ด้วย
       
ส่วนสาเหตุสำคัญที่นำมาสู่ การประกาศลาออกในครั้งนี้คือ การพลาดเป้าด้านตัวเลขผู้ใช้งานของทวิตเตอร์ที่เกิดขึ้นเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา โดยบริษัทพลาดจากเป้าหมายที่วอลล์สตรีทคาดการณ์ว่าจะมีรายได้เพิ่มขึ้น และประกาศว่ามีตัวเลขขาดทุน 162 ล้านเหรียญสหรัฐ ความผิดพลาดในครั้งนั้นทำให้มูลค่าหุ้นของบริษัทลดฮวบลงถึง 30% อีกทั้งยังถูกนักวิเคราะห์ตั้งข้อสังเกตว่า ทวิตเตอร์อาจมีปัญหาด้านความสามารถในการเติบโตเสียแล้ว โดย eMarketer ได้มีการประมาณการตัวเลขผู้ใช้งานของทวิตเตอร์ว่าเติบโตอยู่ที่ 14.1% ต่อเดือน ซึ่งถือเป็นตัวเลขที่ลดลงเมื่อเทียบกับเมื่อ 2 ปีก่อน ที่อัตราการเติบโตอยู่ที่ 30% เลยทีเดียว และในปี ค.ศ. 2019 eMarketer คาดการณ์ว่า อัตราการเติบโตของผู้ใช้ทวิตเตอร์จะเหลือแค่ 6% เท่านั้นด้วย
       
สิ่งที่น่าสนใจหลังการสมัครใจลาออกเองของ ดิค คอสโทโล นั้นคือ การเปิดเผยเอกสารที่ระบุว่า เขาพลาดโอกาสรับเงินชดเชยก้อนใหญ่ไปอย่างน่าเสียดาย โดยหากเขาถูกไล่ออกเขาจะได้รับเงินชดเชยมูลค่า 3.2 ล้านเหรียญสหรัฐจากบริษัท แต่ถ้าทวิตเตอร์ ‘ขายกิจการ’ คอสโทโล ในฐานะซีอีโออาจได้รับเงินชดเชยสูงถึง 25 ล้านเหรียญสหรัฐเลยทีเดียว ส่วนการลาออกเองนั้นพบว่า เขาจะไม่ได้รับผลตอบแทนใดๆ เลย แม้กระทั่งหุ้นของบริษัทก็ถูกยกเลิกไปด้วย
       
อย่างไรก็ตาม รายงานจาก Business Insider ระบุว่า เขายังมีหุ้นของทวิตเตอร์ที่ถือครองเอาไว้ก่อนหน้านี้อีกประมาณ 8 ล้านหุ้น ซึ่งมีมูลค่าประมาณ 300 ล้านเหรียญสหรัฐด้วย
       
สิ่งที่น่าสนใจอีกประการหนึ่งหลังการลาออกของซีอีโอคนปัจจุบันก็คือ การตอกย้ำข่าวลือที่ว่า ทวิตเตอร์อาจอยู่ในระหว่างการมองหาเจ้าของกิจการคนใหม่เข้ามาดูแลแทน และชื่อของผู้ที่ให้ความสนใจก็คือ ‘กูเกิล’ (Google) ยักษ์ใหญ่แห่งวงการเทคโนโลยีนั่นเอง
       
ด้วยมูลค่าตลาดที่สูงถึง 24 พันล้านเหรียญสหรัฐ ทวิตเตอร์กลายเป็นบริษัทที่ยากจะถูกซื้อกิจการได้โดยบริษัทขนาดกลาง หรือขนาดเล็ก ผู้ที่มีศักยภาพที่จะซื้อทวิตเตอร์ได้อย่างน้อยจึงต้องเป็นบรรดาบิ๊กเนมทั้ง หลาย และนิวยอร์กไทม์ ก็ได้เคยรายงานว่า บิ๊กเนมอย่าง ‘กูเกิล’ คือผู้แสดงออกว่าสนใจจะซื้อกิจการทวิตเตอร์

เหตุผลที่ทำให้กูเกิลสนใจ ทวิตเตอร์ ส่วนหนึ่งมาจาก ‘Google+’ ไม่ประสบความสำเร็จในโลกโซเชียลมีเดีย จนทำให้ Vic Gundotra บอสของ Gooble+ ต้องถอนตัวออกไป และกูเกิลก็ตัดสินใจหั่นฟีเจอร์บางตัวของ Google+ แยกออกมาเป็นบริการแบบสแตนด์อะโลน เช่น Google Photos ในงาน Google I/O 2015 ที่ผ่านมา

การผนึกกำลังกับทวิตเตอร์จะช่วยให้กูเกิลสามารถพัฒนาความสามารถด้าน โฆษณาให้ทวิตเตอร์ไล่ตาม ‘เฟซบุ๊ก’ ได้ทัน และกลายเป็นขุมทรัพย์แหล่งใหม่ของกูเกิลอีกตัวหนึ่ง โดยในปัจจุบัน ทวิตเตอร์มีส่วนแบ่งตลาดโฆษณาบนอินเทอร์เน็ตของสหรัฐอเมริกาเพียง 3.6 %เท่านั้น ส่วนเฟซบุ๊ก มีส่วนแบ่งถึง 18.5% (กูเกิลครองอันดับหนึ่งที่ 36.9 %)

เปลี่ยนนโยบาย?
       
ในวันเดียวกับการประกาศลาออกของซีอีโอ ทวิตเตอร์ก็ได้ประกาศยกเลิกข้อกำหนดให้ผู้ใช้ส่งข้อความถึงกันโดยตรง หรือดีเอ็ม (direct message) ได้เพียง 140 ตัวอักษร เปลี่ยนเป็นการส่งข้อความได้สูงสุด 10,000 ตัวอักษร ข้อมูลเบื้องต้นระบุว่า การเปลี่ยนแปลงนี้จะมีผลในช่วงเดือนกรกฎาคม อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงนี้จะยังไม่ครอบคลุมระบบการส่งข้อความทวีต (Tweet) ทั่วไป โดยทวิตเตอร์จะยังจำกัดจำนวนตัวอักษรในการทวีตไว้ที่ 140 ตัวอักษรเช่นเดิม
       
เบื้องต้น นักวิเคราะห์เชื่อว่า ทวิตเตอร์ยอมทิ้งจุดเด่นของตัวเองเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้ใช้ และนักลงทุน โดยความยาวข้อความ DM ที่เพิ่มขึ้นจะทำให้ผู้ใช้ได้รับข่าวสารความยาวพิเศษ จุดนี้ผู้ใช้สามารถตั้งค่าเพื่องดรับข้อความ DM ยาวยืดได้หากไม่ต้องการ
       
‘The Return of Jack Dorsey’
       
ส่วนการกลับมารับหน้าที่รักษาการซีอีโอของ แจ็ค ดอร์ซีย์ นั้น อาจกล่าวได้ว่าเป็นอีกช่วงเวลาหนึ่งที่ทวิตเตอร์จะน่าติดตามไม่ใช่น้อย เพราะทุกวันนี้เขากลายเป็นเจ้าของทรัพย์สินมูลค่า 2.4 พันล้านเหรียญสหรัฐ และได้ครอบครองบ้านพักสุดหรูริมทะเลในซานฟรานซิสโก มูลค่า 9.9 ล้านเหรียญสหรัฐ อีกทั้งนี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่เขาต้องรับตำแหน่งดังกล่าว เพราะเขาคือผู้ร่วมก่อตั้งทวิตเตอร์ ร่วมกับ บิซ สโตน (Biz Stone) และอีวาน วิลเลี่ยมส์ (Evan Williams) และรับหน้าที่ซีอีโอ เมื่อปี ค.ศ.2006 หรือ 9 ปีก่อนหน้านี้
       
โดยการเป็นซีอีโอในยุคแรกเริ่มของทวิตเตอร์ ดอร์ซีย์ ในวัย 30 ปีต้นๆ ได้รับคำวิจารณ์จากหลายฝ่ายมากมาย ซึ่งส่วนมากเป็นไปในทิศทางที่ว่า เขาเป็นคนเก่ง มีความคิดสร้างสรรค์ แต่ยังไม่ใช่สำหรับงานบริหาร
       
สุดท้ายเขาได้ออกจากบริษัทไป เมื่อปี ค.ศ. 2008 และไปสร้างบริษัท Square ผู้ให้บริการการทำธุรกรรมทางการเงินซึ่งเขารับหน้าที่ซีอีโอ ดังนั้น การรับหน้าที่รักษาการซีอีโอที่ทวิตเตอร์นั้น ทำให้เขาต้องควบตำแหน่งซีอีโอทั้ง 2 บริษัทเลยทีเดียว
       
แม้จะเป็นเศรษฐีพันล้าน แต่ไลฟ์สไตล์ของ มร.ดอร์ซีย์ ยังคงไม่ต่างจากคนทั่วไป เขาเคยแม้แต่นั่งรถเมล์ไปทำงาน ซึ่งเขาเผยว่า เหตุที่ทำเช่นนั้นเพราะต้องการศึกษาความเป็นไปของตลาด การขึ้นรถเมล์ทำให้เขาได้เห็นว่ามีคนใช้งานอินสตาแกรมมากขึ้น รวมถึงแอปอย่าง Vine และ Snapchat ก็เช่นกัน นอกจากนั้น ยังได้เปรียบเทียบการใช้งานระหว่างเฟซบุ๊กกับทวิตเตอร์อีกด้วย
       
ไลฟ์สไตล์อื่นๆ ที่น่าสนใจของ ‘แจ็ค ดอร์ซีย์’
       – ชอบศิลปะ และงานออกแบบ
       – ชอบการบิน
       – มักโพสต์ภาพถ่ายลงบนทวิตเตอร์เสมอๆ
       – แอ็กเคานต์ทวิตเตอร์ของแจ็ค ดอร์ซีย์ มีผู้ติดตามกว่า 3 ล้านคน
       – มีรูปแบบการรับประทานอาหารที่ค่อนข้างชัดเจน โดยทุกวันจันทร์เขาจะไปที่ร้าน Aziza วันอังคารไปที่ร้าน Zuni วันพุธไปที่ร้าน Mint วันพฤหัสไปที่ร้าน Tiburon
       – ได้รับการยกย่องว่าเป็นชาวเทคโนโลยีที่แต่งกายมีสไตล์มากที่สุดรายหนึ่ง

ที่มา http://manager.co.th/CyberBiz/ViewNews.aspx?NewsID=9580000069129